โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

วันศุกร์และเสาร์ที่ 25 -26 กันยายน 2552 โรงเรียนวัดศรีดอนชัย อ. สารภี จ. เชียงใหม่

เรียบเรียงโดย นาถพงศ์ พัฒนพันธ์ชัย  มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)

                เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า “เกษตรอินทรีย์ฯ” ได้กลายมาเป็นกระแสการพัฒนาหนึ่งของสังคมไทยและสังคมโลก ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรอินทรีย์เป็นรูปแบบเกษตรภายใต้ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตครบทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมดุลและยั่งยืน ซึ่งโดยทั่วไปจึงเรียกเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

เกือบยี่สิบปีที่มีการพัฒนา “เกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนครบทั้งระบบ” ขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ การทำ “ครบทั้งระบบ” หมายถึง การสร้างและพัฒนาความร่วมมือที่ดีของกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้บริโภคในการ จัดการการผลิต การแปรรูป ระบบตลาดที่เป็นธรรม องค์กรให้การรับรองมาตรฐานสินค้าและไร่นา และดำเนินกิจกรรมทางนโยบาย จนปัจจุบัน ได้เกิด “พื้นที่รูปธรรม” ทั้งในระดับไร่นา ครอบครัว กลุ่ม เครือข่าย กระจายไปตามอำเภอต่างๆ มากกว่า 18 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ รวมมากกว่า 3,000 ครอบครัว หรือ ประมาณ 2 % ของครัวเรือนเกษตรกรทั้งจังหวัด

           และเพื่อเพิ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์และผู้บริโภคในจังหวัดเชียงใหม่ให้มาก ขึ้น จนสามารถยกระดับเป็นจังหวัดต้นแบบเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งร่วมกันแก้ไขปัญหาของเกษตรกรด้านอื่นๆ อย่างบูรณาการ เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาการที่ดินทำกิน เป็นต้น สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนอำเภอสารภี ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายภาคประชาชนหลายภาคส่วน จึงได้จัดงานวันผู้ผลิตพบผู้บริโภคสีเขียวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักๆ คือ

           – เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ แนวคิดการพัฒนาชุมชนเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน “ชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน” รวมทั้งประสบการณ์การสร้างและพัฒนา “พื้นที่รูปธรรมเกษตรอินทรีย์” ทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และชาติ

           – เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์การแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการทั้งด้านการผลิต การแปรรูป ระบบตลาดชุมชนที่เป็นธรรม และระบบการรับรองมาตรฐานไร่นาเกษตรอินทรีย์ การจัดการทรัพยากรที่ดิน น้ำ ป่าและหนี้สินเกษตรกร ในระดับอำเภอและจังหวัด เชียงใหม่

           – และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการขยายผลเกษตรอินทรีย์ในระบบ เกษตร กรรมยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาชุมชนเชิงบูรณาการสู่ระดับตำบลและอำเภอ

           ทั้งนี้กิจกรรมที่มีในงาน ประกอบไปด้วย การเยี่ยมชมไร่นาเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

                การสัมมนาในหัวข้อต่างๆ เช่น การแก้ปัญหาที่ดินของเกษตรกรรายย่อยอย่างยั่งยืน พลังผู้บริโภคกับการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรในบทบาทที่มากกว่าการซื้ออาหาร แนวคิดและประสบการณ์การสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่รูปธรรมเกษตรอินทรีย์ในระบบ เกษตรกรรมยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และชาติ เป็นการออกซุ้มแสดงนิทรรศการการ ผลิต แปรรูป ตลาด การให้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ดิน น้ำ และป่า รวมทั้ง ตลาดนัดสินค้าเกษตรอินทรีย์ และพันธุ์พืช

                ทั้งนี้ สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เกิดขึ้นในเวทีคือ การที่กลุ่มองค์กรเกษตรกรจากแต่ละพื้นที่ได้ร่วมกันค้นหาแนวคิด ทิศทาง และแผนการพัฒนาชุมชน ที่มุ่งเน้นการจัดการตัวเอง เพื่อความสามารถในการพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ในประเด็นต่างๆ เช่น การฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาที่เป็นมาตั้งแต่ในอดีต การก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อความอยู่ได้ อยู่ดี มีสุข ของชุมชน รวมทั้งการใช้สิทธิของเกษตรกรในการเข้าไปใช้ทรัพยากรที่เป็นของเกษตรกรเอง แต่อยู่ในความควบคุมดูแลขององค์กรอื่นๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับนโยบาย

                ข้อสรุปของแนวคิดและทิศทางการจัดการตัวเองของชุมชน ประมวลได้ดังนี้

1. การฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาที่เป็นมาตั้งแต่ในอดีต

       1.1 ปัญหาหนี้สิน
– ประการแรกเกษตรกรต้องเลิกกู้/ไม่ก่อหนี้ใหม่
– สร้างการออมทรัพย์ภายในกลุ่ม         
– จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยปลดหนี้สินของคนในชุมชน          
– ผลักดันภาครัฐให้มีกองทุนเกษตรกรรมยั่งยืน สำหรับให้กู้ยืมเพื่อปลดหนี้สินโดยปลอดดอกเบี้ย หรือ การเข้าไปใช้ช่องกองทุนหมุนเวียนเพื่อกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน หรือ กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นต้น
 – การนำแนวทางธนาคารต้นไม้มาใช้

      1.2 ปัญหาที่ดินทำกิน
          – การรวมตัวกันจัดสรรที่ดินให้คนในชุมชน โดยการผ่อนระยะยาว
         – ผลักดันให้ อบต. ตั้งกองทุนซื้อที่ดินให้กับเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สิน
         – ขับเคลื่อนการดำเนินการจัดทำโฉนดชุมชน
         – แยกเขตป่าออกจากที่ทำกินของชาวบ้าน

2. แนวทางการก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อความอยู่ได้ อยู่ดี มีสุข ของชุมชน สรุป ตรงกันคือ “การทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน” โดยเน้นการขยายผลผ่านการสร้างรูปธรรมในพื้นที่ การจัดทำทำเนียบเกษตรกรเพื่อยกระดับการพัฒนางาน และการนำแนวทางเกษตรอินทรีย์เข้าสู่แผนยุทธศาสตร์ของ อบต. นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับการส่งต่อแนวคิดให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ปลูกฝังให้ลูกหลานสืบทอดแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนสืบ ไป

3. การเข้าไปใช้ทรัพยากรที่เป็นสิทธิของชุมชน เช่น งบประมาณของ อบต. หรือ จังหวัด ผ่านแนวทางต่างๆ เช่น
          – การรวมตัวให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อผลักดันให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นความสำคัญถึงการจัดทำแผน ยุทธศาสตร์ที่ต้องผ่านการมีส่วนร่วมจากชุมชน
         – การผลักดันตัวแทนจากกลุ่มองค์กรเกษตรกรเข้าไปสู่การเป็นฝ่ายบริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
         – การสร้างการเมืองภาคประชาชน เป็นต้น
        ทั้งนี้ ในช่วงสุดท้ายของกิจกรรม กลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภคเกษตรอินทรีย์ ได้พร้อมใจกันประกาศ “คำประกาศสารภี” เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการ “ปลดโซ่ตรวนของเกษตรกรทั้งแผ่นดิน” ดังนี้

คำประกาศสารภี

“พวกเราจะรวมตัวกัน…ปลดโซ่ตรวนของเกษตรกร ทั้งแผ่นดิน”

เรา..ใน ฐานะเกษตรกรและผู้บริโภคเกษตรอินทรีย์ได้ร่วมกันจัดงานผู้ผลิตพบผู้บริโภค เกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่ ณ โรงเรียนวัดศรีดอนชัย อำเภอสารภี จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกิจกรรมทั้ง 2 วันได้เพิ่มพูนความรู้ ความตระหนัก ถึงสิทธิเกษตรกรและความมีอิสระในการจัดการตัวเอง จึงขอประกาศร่วมกันว่า

1. พวกเราจะเน้นการพึ่งตนเอง สร้างความเป็นธรรมและสร้างการเจริญเติบโตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
2. จะพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเครือข่าย และร่วมมือกับผู้บริโภคในการจัดการระบบอาหารอินทรีย์ชุมชน ระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน น้ำ ป่า พันธุกรรมของชุมชนท้องถิ่น ระบบกองทุนชุมชน ระบบสุขภาพชุมชน ระบบการศึกษาชุมชน และแผนชุมชนให้กว้างขวางมากขึ้น
3. จะร่วมกันพัฒนาสิทธิเกษตรกร สิทธิผู้บริโภค และร่วมกันใช้สิทธินั้นให้ได้มาซึ่งทรัพยากร ทั้งระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และชาติ
พวกเราจะใช้ประกาศนี้เป็นแนวทางในการปฏิบัติของพวกเราต่อไป…

วันที่ 26 กันยายน 2552 ประกาศ ณ โรงเรียนวัดศรีดอนชัย ต.สันทราย อ.สารภี จ.เชียงใหม่

บทความแนะนำ