ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต
“สวนสมรม” คือคำตอบ
“ในวันนี้ เราทุกคนและเกษตรกรชาวสวนน่าจะรับรู้ถึงสภาวะโลกเดือดแล้วว่ามีผลกระทบอย่างไรต่อเกษตรกรรม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียน ภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารระดับโลก เพราะมีผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น หรือที่เราเรียกว่าโลกเดือด หรือภาวะของความแล้งติดต่อกันยาวนาน ปริมาณฝนที่มากกว่าปกติ เหล่านี้จะส่งผลกับพืชมากที่สุด เพราะคนร้อนไม่เป็นไร คนร้อนก็ไปเปิดพัดลมเปิดแอร์ สัตว์ก็สามารถโดดลงน้ำ หรือหนีไปที่ที่อุณหภูมิต่ำกว่าได้ แต่พืชหนีไม่ได้ เพราะไม่มีขา” ดร.อาภา หวังเกียรติ แห่งวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเกริ่นถึงสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตระดับโลกซึ่งส่งผลต่อสรรพชีวิตอย่างเห็นภาพ
อาจารย์อาภาร่วมเป็นวิทยากรคนหนึ่งในวงเสวนาหัวข้อ “ป่าเรียน ป่าเย็น” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมเชิงวิชาการของงานที่ชื่อ ““ป่าเรียน ป่าเย็น” ภูมิปัญญาชุมชนแก้วิกฤตโลกเดือด ครั้งที่่ 1” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2567 ที่ไร่วุฒิภัทร ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านใหม่ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
วิกฤตจากคุณสมบัติเฉพาะที่ไม่เหมาะปลูกเชิงเดี่ยว
นอกจากจะเป็นนักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศ ดร.อาภายังเป็นผู้บริโภคที่นิยมชมชอบทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งไม่เพียงทำหน้าที่เสาะหามาชิม หากแต่ยังสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อให้ความหลากหลายคงอยู่สืบทอดไปสู่คนรุ่นหลังได้บริโภคกันต่อไป ปัจจุบันจึงเป็นที่ทราบกันในวงการว่า อาจารย์อาภาเป็นผู้รู้เกี่ยวกับทุเรียนคนหนึ่ง
“ทุเรียนมีความเฉพาะของพืช เช่น (1) ทุเรียนจะเติบโตได้ดีในอุณหภูมิที่ 25-35 องศา หากมากกว่านี้จะทนไม่ได้และตาย เวลาเกิดสถานการณ์แบบนี้พืชจะตายหมู่ สังเกตปรากฏการณ์นี้มีให้เห็นได้ที่ภาคตะวันออก หรือทะเล ถ้าอุณหภูมิ 30 องศา ปะการังจะตายหมด (ปะการังฟอกขาว) ปีนี้อุณหภูมิที่จันทบุรีสูงกว่า 40 องศา บางสวนที่ปลูกทุเรียนมูซานคิงตายหมู่มากกว่า 50% ของสวน (2) เวลากลางคืนทุเรียนต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่เกิน 25 องศา ที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ออกดอก ผสมพันธุ์ และ (3) ความชื้นก็มีความสำคัญ ทุเรียนต้องการความชื้นสัมพัทธ์ 70-90 เปอร์เซ็นต์ ถ้าความชื้นสัมพัทธ์ไม่ได้ ทุเรียนก็ตาย”
จากสิ่งที่ ดร.อาภาบรรยาย จะเห็นได้ว่า ด้วยคุณสมบัติเฉพาะของทุเรียน เมื่อประกอบเข้ากับสถานการณ์ความแปรปรวนด้านสภาพภูมิอากาศ ทำให้พืชอย่างทุเรียนไม่เหมาะสมที่จะปลูกแบบเชิงเดี่ยว ส่วน “มูซานคิง” ที่มีการเอ่ยถึงนั้น คือชื่อสายพันธุ์ทุเรียนของมาเลเซียที่ว่ากันว่าได้รับความนิยมบริโคสูงสุดในมาเลเซีย จีน และไต้หวัน
“ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตจะส่งผลกระทบอย่างมากกับทุเรียนที่ปลูกเป็นพืชชนิดเดียวทั้งแปลง อย่างหมอนทอง มูซานคิง ชะนี ก้านยาว การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ความเสี่ยงในการตายหมู่จะสูง จะเห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์ที่ภาคตะวันออก”
ดร.อาภาย้ำประเด็น ก่อนสรุปเชื่อมโยงไปถึงความเป็น “สวนสมรม” ซึ่งเป็นรูปแบบสวนของภาคใต้ที่มีพืชเติบโตอยู่ด้วยกันอย่างผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นไม้ใหญ่เช่นทุเรียนบ้าน ทุเรียนพันธุ์ ยางพารา มังคุด จำปาดะ ลองกอง หรือพืชผักพื้นล่างและไม้เลื้อยอย่างผักกูด ผักหนาม เต่าร้าง ดาหลา บอนยายรัด รวมถึงสมุนไพรพื้นบ้านต่างๆ
วิกฤตจากทุนจีน
“สถานการณ์ทุเรียนในประเทศไทยตอนนี้ ทุนจีนเข้ามาเยอะมาก ที่ชุมพรเข้ามาเป็นหมู่บ้านปลูกทุเรียน ล้งทุเรียนก็เป็นของทุนจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับทุเรียนในอนาคต
“แม้ในมาเลเซียเองก็มีประเด็นที่จีนเข้าไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกทุเรียน และส่งเสริมให้ปลูกบนเขา ตัดป่าออกและปลูกทุเรียนแบบชนิดเดียว มาเลเซียจึงถูกโจมตีว่าเป็นประเทศที่ทำให้เกิดโลกร้อน เพราะว่าเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นสวนทุเรียน
“ทุนจีนน่ากลัวมาก ตอนนี้ถ้าไปแถวห้วยขวางที่เรียกว่าเยาวราชน้อย จะมีร้านอาหารที่คนจีนเป็นเจ้าของ มีเมนูเป็นภาษาจีน พูดภาษาจีน
“การรุกคืบเข้ามาของทุนจีนในเรื่องสวนทุเรียน เพราะจีนเป็นประเทศที่คลั่งไคล้การกินทุเรียนมาก จึงคิดว่าในอนาคตจะส่งผลต่อการปลูกทุเรียนในประเทศไทย คือมีแนวโน้นที่เกษตรกรทั่วไปจะปลูกทุเรียนชนิดเดียวแบบแปลงใหญ่ และจีนอาจจะเข้ามาควบคุมตั้งแต่การปลูกจนถึงการตลาด”
วิกฤตจากบรรทัดฐาน “ทุนใหญ่ไม่ต้องรับผิดชอบ”
จากการรุกเข้ามาของทุนจีน ดร.อาภา ได้กล่าวเชื่อมโยงถึงปัญหาสืบเนื่องในเรื่องที่ทุนใหญ่ในประเทศไทยมักถูกปล่อยลอยนวล ถึงแม้กระทำความผิด
“ปัญหาที่เกิดจากทุนใหญ่ในประเทศไทยจะไม่มีใครรับผิดชอบ ตัวอย่างเช่น กรณีปลาหมอสีคางดำ หมูเถื่อน การส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวโพด ซึ่งพอข้าวโพดของประเทศเพื่อนบ้านถูกกว่าก็ไปซื้อของเพื่อนบ้าน หมูที่ประเทศไทยแพงก็ไปซื้อหมูที่เป็นโรคมาขายและนำเข้าสู่ระบบตลาดของตัวเอง ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่า เวลามีทุนใหญ่เข้ามา ทั้งทุนใหญ่ในไทยและจีน เวลามีผลกระทบเกิดขึ้นจะไม่มีใครรับผิดชอบ”
ดังนั้น เมื่อกลับมาพูดถึงเรื่องทุเรียน ดร.อาภาฟันธงว่า “กรณีการปลูกทุเรียนเชิงเดี่ยว แน่นอนว่าต่อให้ไม่มีภาวะโลกร้อนก็จะมีปัญหาโรคพืช ศัตรูพืช และมีการใช้สารเคมีเข้มข้นสูง เพราะปัจจุบันเกษตรกรลงทุนเรื่องสารเคมีกับการปลูกทุเรียนสูง หากเราปล่อยให้ทุนจีนรุกคืบและเปลี่ยนป่าบ้านเราไปเป็นภูเขาทุเรียนเชิงเดี่ยวแน่นอนว่าเราที่อยู่ข้างล่าง เจอสารเคมีแน่นอน”
วิกฤตสงครามโลก
ดร.อาภายังกล่าวถึงอีกสถานการณ์วิกฤตระดับโลกที่มีแนวโน้มอาจเกิดขึ้น นั่นคือ สถานการณ์สงครามโลก เช่น กรณีรัสเซียกับยูเครน อิสราเอลกับปาเลสไตน์ ก่อนจะสรุปว่า ภายใต้สถานการณ์วิกฤตเหล่านี้ สวนสมรมจะเป็นทางออก
“เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์นี้ขึ้นไม่มีใครช่วยเรา มีแต่การพึ่งพาตนเอง ซึ่งสวนสมรมจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด เมื่อเรามีป่าแบบนี้ เราจะสามารถพึ่งพาอาหารได้ สถานการณ์โควิดทำให้เรารู้แล้วว่าป่าแบบนี้ทำให้เราพึ่งพาอาหารได้ และที่สำคัญป่าแบบนี้มียารักษาโรคด้วย
“ทิศทางปัจจุบันของกระทรวงสาธารณสุขมีความพยายามที่จะถอดฟ้าทะลายโจรออกจากยารักษาโควิด ถอดกัญชาเพราะจะให้บริษัทเข้ามาผูกขาดกัญชามากขึ้น แต่ถ้าเรามีแปลงสวนสมรมแบบนี้ ไม่ว่าโลกจะร้อนขึ้นหรือเกิดสงคราม เกิดทุนจีน เราก็สามารถพึ่งตนเองได้ ตั้งแต่เศรษฐกิจ อาหาร ยารักษาโรค จึงขอเรียกสวนแบบนี้ว่าเป็นเพชร”
สรุปว่าต้องรักษา “เพชร” ที่มีเอาไว้ให้ได้
“ฉะนั้นสวนสมรมแบบไร่วุฒิภัทรที่กำลังทำอยู่นั้น ถือเป็นทางออกของการปลูกทุเรียนในอนาคตที่จะทำให้สวนสมรมมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น”
“ลักษณะป่าแบบสวนสมรมนี้ อุณภูมิต่างจากที่เวทีเสวนาประมาณ 5 องศา ถ้าเราปลูกทุเรียนเชิงเดี่ยวเจออุณหภูมิ 45 องศา ตายเรียบ ทุเรียนจะอาศัยการผสมตามธรรมชาติ สวนทุเรียนที่ปลูกแบบพืชเชิงเดี่ยวต้องใช้การช่วยผสม กลางคืนต้องกวาดให้เกสรผสมกัน แต่ทุเรียนในป่าเรียนจะมีผึ้ง ชันโรง ค้างคาว ช่วยผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ การปลูกแบบนี้จะเป็นการคัดเลือกต้นที่แข็งแรงให้อยู่ได้
“ฉะนั้นเกษตรกรที่มีสวนแบบนี้อยู่แล้ว ไม่ควรจะเฉือนเพชรของตนเองให้กลายเป็นพลอย สวนสมรมสามารถอยู่ได้แม้อยู่ในสถานการณ์โลกเดือด เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพ สังเกตได้จากสวนทุเรียนบ้านไม่เคยเกิดโรคพืชระบาดปริมาณมาก ดังเช่น กรณีปาทังก้าที่ไปกินข้าวโพดในไร่ข้าวโพดทั้งหมด เพราะเมื่อแมลงมาจะไม่ใช่เป็นที่ที่มีอาหารเฉพาะแมลงตัวนั้น แต่จะเป็นแหล่งอาหารที่หลากหลายและมีเสถียรภาพในความแข็งแรงของพืช การรุกรานของโรคพืชจะยากกว่า
“ใครที่มีสวนสมรมในมือ ให้ตระหนักไว้เลยว่าเรามีเพชรอยู่ในมือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเข้ามาของทุนใหญ่ เช่น ทุนจีน ทุนซีพี การรองรับสถานการณ์โลกเดือด สงคราม คนที่มีฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ต้นทุนป่าเรียนในการพึ่งตนเอง เป็นหนทางที่เป็นทางเลือกที่คิดว่าอยู่ได้และอยู่รอดในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร”
บทสรุปของ ดร.อาภาไม่ซับซ้อน นั่นคือต้องรักษาเพชรในมือเอาไว้ อย่าได้เห็นแก่เงินที่เข้ามาล่อหลอก ซึ่งฉาบฉวยและปราศจากความยั่งยืน