โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอน 4 การจัดการเมล็ดพันธุ์หอมแดง และกระเทียม ในระบบเกษตรอินทรีย์

            หอม กระเทียม ถือเป็นวัตถุดิบที่สำคัญที่อยู่คู่กับห้องครัว แต่รู้หรือไม่ว่า หอม กระเทียม ที่นำมาปรุงทำอาหารนั้นมีที่มาอย่างไร ในครั้งนี้ได้นำข้อมูลเส้นทางหอม กระเทียม จากงานงานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร” วันที่ 7 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ได้มีตัวแทนเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานได้ร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนและประสบการณ์ในการผลิตหอม กระเทียม ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และมหาสารคาม โดยมีรายละเอียดดังนี้

กรณีหอมแดง โดย คุณปราณี มรรคนันท์ สมาคมคนทาม จังหวัดศรีสะเกษ

            จากการทำงานส่งเสริมพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่เกี่ยวกับข้อมูลการผลิตหอมแดงในอำเภอศรีไศลซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปลูกหอมมากที่สุดของจังหวัดศรีสะเกษ พบว่าในกระบวนการผลิตหอมทั่วไปจะผลิตที่ 55-70 วัน ซึ่งระยะการเก็บเกี่ยวนี้จะผันไปกับราคา กล่าวคือ “หากราคาดีเกษตรกรจะเร่งเก็บหอมที่มีอายุ 55-60 วัน ซึ่งในช่วง 60 วันนี้จะมีการฉีดพ่นเคมีป้องกันโรคแมลงไม่ต่ำกว่า 10-15 ครั้ง” แต่ถ้าปีไหนราคาไม่ดีเกษตรกรก็จะเก็บหอมที่มีอายุ 65-70 วัน ถ้าอายุวันเกินไปกว่านี้หัวหอมจะใหญ่เกินไป/หัวแตกปริและเสี่ยงกับเชื้อราที่จะเข้าไปไหนหัวของหอมที่จะทำให้เน่าได้ การใช้สารเคมีในแปลงผลิตหอมแดงส่วนใหญ่จะใช้มากในการคลุมหญ้า เมล็ดต้องคลุกยาก่อนปลูกเพื่อป้องกันเชื้อรา และถ้าปีไหนเกษตรกรเจอโรคเน่าใบไหม้ หนอนระบาด ใบเปื่อย หรือเป็นโรคหมานอนก็จะมีการฉีดพ่นยาตามการระบาด จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงร่วมกับพี่น้องในพื้นที่จำนวน 9 รายนำร่องปลูกหอมแดงอินทรีย์โดยได้รับความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์จากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสุรินทร์ ที่สุดท้ายมีเกษตรกรเพียง 3 รายที่ยังคงปลูกร่วมกัน อย่างไรก็ตามการนำร่องผลิตหอมแดงในระบบอินทรีย์ยังคงไปไม่พ้นการใช้สารเคมี หากช่วงใดหอมราคาดีก็จะมีนายหน้าในพื้นที่มาเหมาเป็นแปลงในลักษณะ “ขายหอมเขียว” ถ้าปีไหนราคาถูกก็จะยังคงมีนายหน้ามาเหมาซื้ออย่างเช่นปีนี้หอมสดจากแปลงประมาณ 5-7 บาท/กก เกษตรกรที่มีการลงทุนสูงก็ยอมขาดทุนไม่ได้ก็จำต้องทำทุกวิธีหากเจอเชื้อราก็พ่นยาซึ่งส่งผลให้ต้นทุนสูงมาก โดยโรงเก็บหอมจะมีการเก็บในโกดังที่มีโรงตากกลางทุ่งนาและพ่นยาเชื้อรา

เส้นทางการเดินทางของหอมแดง

            จังหวัดศรีสะเกษจะเริ่มมีหอมเฉพาะช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม จากนั้นจะเอาหอมจากภาคเหนือ หอมอุตรดิตถ์หอมพิจิตรมาประทับตราเป็นหอมศรีสะเกษ โดยคนในพื้นที่บรบือจะไปขนเอาหอมมาตัดแต่ง/มัดเป็นจุกหอม หลังจากหอมในไทยหมดก็จะนำหอมจากประเทศมาเลเซียและเวียดนามเข้ามาโดยส่งเข้ามาทางจังหวัดศรีสะเกษ พอเข้ามาศรีสะเกษก็จะประทับตราเป็นหอมศรีสะเกษ จากนั้นนำไปขายช่วงตีสองตีสามที่ตลาดท่าเรือของจังหวัดศรีสะเกษที่จะมีการซื้อหอมจากนายทุนเพื่อตกลงซื้อขาย หากตกลงราคาแล้วก็จะขนหอมจากตลาดท่าเรือไปอีกหมู่บ้านหนึ่งเพื่อให้หมู่บ้านนั้นตัดแต่งหอม/มัดจุกหอมโดยคิดกิโลกรัมละ 3 บาท หลังจากแต่งเสร็จก็จะมีรถมาขนไปส่งปลายทาง

การเก็บพันธุ์หอม

            การจัดการพันธุ์หอมนั้นมี 2 รูปแบบ คือ หอมต่าว และหอมทำเมล็ดพันธุ์ หอมต่าวคือการปลูกซ้ำคือเอาหอมเล็กมาทำเป็นหัวใหญ่เพื่อนำมาพันธุ์ในรอบถัดไป เวลาคัดหอมทำพันธุ์จะคัดเอาหอมที่หัวใหญ่ที่สุดเอาไว้ (หากพบว่าแปลงไหนหอมใหญ่แปลงค่อนข้างสมบูรณ์ก็จะกันไว้สำหรับทำพันธุ์) ประมาณช่วงเมษายนต้องลงปลูกซ้ำให้มีอายุ 35 วันให้เก็บทำพันธุ์เรียกหอมต่าว (ขนาดหัวจะเล็กประมาณปลายนิ้วก้อย) ส่วนหอมทำเมล็ดพันธุ์นั้นในพื้นที่จะมีบริษัทเข้ามาทำร่วมกับเกษตรกรในการทำเมล็ดพันธุ์ซึ่งตอนนี้มีกลุ่มเกษตรกรที่เริ่มเรียนรู้ในการปลูกหอมจากเมล็ดพันธุ์

การผลิตหอมในระบบเกษตรอินทรีย์

            ด้วยข้อสงสัยว่าทำไมเกษตรกรถึงไม่สามารถผลิตหอมแดงในระบบอินทรีย์ได้จึงตัดสินใจผลิตด้วยตนเองที่สุดท้ายได้บทเรียนเบื้องต้นคือ 1) หอมแดงเป็นพืชที่อ่อนไหว/อ่อนแอ ต้องมีการจัดการ/ดูแลแปลงอย่างเข้มข้น และ 2) การปลูกหอมนั้นห้ามใส่ขี้ไก่เพราะเป็นตัวนำเชื้อราทำให้เกิดเป็นโรคหมานอน ซึ่งการให้ปุ๋ยเป็นเรื่องสำคัญ ปุ๋ยทุกชนิดต้องหมักก่อนเพราะถ้าไม่หมักก็จะทำให้ต้นหอมยุ่ยเปื่อย ปุ๋ยที่เหมาะคือขี้วัว-ขี้ควายดีที่สุด ขี้หมูได้เล็กน้อย ปัจจุบันเก็บพันธุ์หอมได้ 3 สายพันธุ์ คือ หอมพิจิตร หอมเดือยไก่ และหอมแดงศรีสะเกษ แต่ละพันธุ์มีลักษณะเฉพาะ หลังจากที่กลับมาทำเรื่องเมล็ดพันธุ์ก็เริ่มทำต่อเนื่อง ปัจจุบันทำหอมพิจิตร ส่วนหอมเดือยไก่เป็นพันธุ์ที่ปลูกมาตั้งแต่พ่อแม่ที่มีลักษณะพันธุ์แตกกอได้ดี หอมเดือยไก่เป็นพันธุ์ที่ขายดีมากเพราะว่าหอมเดือยไก่จะเล็กเรียวเหมือนขาไก่ กลิ่นไม่เผ็ดจัดจ้าน เวลากินกลิ่นขึ้นจมูกไม่มากเหมาะกับการกินสด

กรณีหอม กระเทียม โดย พ่อสมดี กาลเพิ่ม กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษบ้านม่วงใหญ่ ตำบลโพธิ์งาม อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

            ปัจจุบันทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสานทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยพันธุ์ที่ผลิตหลักในแปลงคือ หอมแดง หอมแบ่งหรือหอมขาว และกระเทียม พันธุ์หอมและกระเทียมที่ปลูกในแปลงนั้นเก็บพันธุ์มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย

เทคนิคการผลิตหอม กระเทียม

  • การปลูกหอม กระเทียมในแต่ละปีต้องย้ายสลับแปลงปลูก หากปลูกซ้ำแปลงเดิมจะทำให้หัวหอมมีขนาดเล็กและไม่แข็งแรงมีใบหงิกงอ
  • การเตรียมพันธุ์หอมแดงสำหรับปลูกนั้นให้แกะเปลือกหอมออกจนกว่าจะแกะด้วยมือไม่ได้ จากนั้นให้ตัดปลายกลีบจนเห็นปลาย/ยอดเขียว ส่วนกระเทียมก็แกะกลีบออกมาเช่นกันแต่สำคัญคืออย่าให้เปลือกแตกเพราะถ้าเปลือกแตกแล้วกระเทียมจะไม่งอก/เน่า (กระเทียมไม่ต้องตัดปลายกลีบเหมือนหอม)
  • การที่จะปลูกหอมและกระเทียมในระบบอินทรีย์ได้นั้น 1) ดินต้องดี และมีการเตรียมดินที่ดีโดยการไถพรวนตากไว้ จากนั้นหว่านไดโลไมท์ให้รอบแปลงพร้อมกับตีดินให้ขนาดดินก้อนเล็กลง และตากแดดไว้อีกครั้งเพื่อให้เชื้อโรคตาย/เมล็ดหญ้าตาย จากนั้นขึ้นแปลงโดยไม่ต้องให้กว้างมากนักประมาณ 20 เมตร (ถ้ากว้างเกินจะทำให้ถอนหญ้ายาก) รองพื้นด้วยขี้หมู ซึ่งก่อนการใช้มูลสัตว์ต่างๆ นั้น ต้องผ่านกระบวนการหมักย่อยสลายก่อนโดยเก็บใส่ถุงไว้ประมาณ 1-2 เดือนตากไว้ หากขนาดแปลงประมาณ 1.20×20-30 เมตร จะใช้ขี้หมูประมาณครึ่งถุง
  • วิธีเก็บทำพันธุ์นั้นให้คัดจากหอมที่หัวใหญ่แข็งแรงไม่มีโรค ส่วนการคัดพันธุ์กระเทียมให้เลือกหัวใหญ่จำนวนกลีบมากและมีขนาดกลีบใกล้เคียงกัน ฤดูกาลปลูกหอม/กระเทียมที่เหมาะที่สุดคือฤดูหนาวที่มีหมอก หากปีไหนไม่ค่อยมีหมอกกระเทียมจะไม่ค่อยขึ้นหรือขึ้นแต่ไม่ค่อยสมบูรณ์เท่ากับการมีหมอก โดยจะเริ่มปลูกช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน กระเทียมอายุประมาณ 75-90 วันถึงเก็บเกี่ยวแต่ถ้าปลูกเดือนธันวาคมจะทำให้เก็บเกี่ยวล่าช้า/พ้นช่วงฤดูหนาวจะส่งผลให้ต้นกระเทียมไม่สมบูรณ์
  • วิธีการการเก็บหอม/กระเทียมนั้นให้ดึงต้นขึ้นในแนวตรงและมัดรวมกันให้ไปผึ่งในร่ม

วงจรชีวิตของหอม กระเทียม

            กระเทียมมีวงจรชีวิต 1 ปี ส่วนหอมมีวงจรชีวินนาน 6 เดือน ถ้าจำนวนวันนานกว่านี้กระเทียมและหอมจะเริ่มฝ่อ และด้วยหอมมีอายุการเก็บเกี่ยวที่เร็วกว่ากระเทียมคือประมาณ 60-75 วัน หรือสังเกตจากลำต้นหากบีบแล้วลำต้นอ่อนหรือหักพับก็แสดงว่าเริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้ว หากอายุหอมถึงเดือนมิถุนายนหัวจะเริ่มเหี่ยว (หากปลูกเดือนนี้หอมจะไม่ค่อยดี/ไม่แข็งแรง) ดังนั้นควรปลูกช่วงเมษาพฤษภาไม่เกินเดือนมิถุนาปลูกให้เสร็จ ใช้เวลา 35-45 วัน สามารถเก็บเกี่ยวและเก็บไว้ได้นานอีก 6 เดือน จากนั้นเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคนสามารถปลูกหอมได้อีก 1 รอบ ซึ่งถ้าไม่ปลูกหอมช่วงนี้หอมจะเน่าเพราะหมดวงจรชีวิต

อ้างอิง: งานมหกรรมแลกเปลี่ยนพันธุกรรมพื้นบ้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการจัดการเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกร” วันที่ 6-7 มิถุนายน 2565 ณ  บ้านสวนซุมแซง  ตำบลท่าขอนยาง  อำเภอกันทรวิชัย  จังหวัดมหาสารคาม

บทความแนะนำ