โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

วันที่ 2 และ 14 พฤษภาคม 2561 ณ บ้านตาลลูกอ่อน ต.เจดีย์ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

ผู้ให้สัมภาษณ์: คุณกนกพร ดิษฐกระจันทร์ (คุณเล่)

กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

  1. ข้อมูลทั่วไป

กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทองก่อตั้งเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2550 เป็นการรวมตัวของเกษตรกรที่ต้องการลดต้นทุนการผลิตข้าว เพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอโดยไม่ทำให้ที่ดินของตนหลุดจากการครอบครอง ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกทั้งเกษตรกรที่ทำนาข้าวอินทรีย์ และเกษตรกรที่ทำนาแบบลดต้นทุน โดยมีสมาชิกที่ทำเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด 22 ราย และมากกว่า 100 รายที่ทำนาข้าวแบบลดต้นทุน พื้นที่ทำนาของสมาชิกที่ทำข้าวอินทรีย์แบบนาปรังมีประมาณ 200 กว่าไร่ (ปรังแล้ง: ธันวาคม – มีนาคม, และปรังฝน: พฤษภาคม-กรกฎาคม/สิงหาคม) มีผลผลิตประมาณ 100 กว่าตันข้าวเปลือกต่อรอบการผลิต (หอมประทุม, หอมสุพรรณ 1, ข้าวเหนียวดำ, หอมมะลินิล และขาวตาเคลือบ) และนาข้าวอินทรีย์แบบนาปีประมาณ 67 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 23-26 กว่าตันข้าวเปลือกต่อรอบการผลิต (หอมมะลิแดง และหอมมะลิ 105)

คุณเล่เป็นแกนนำและวิทยากรแลกเปลี่ยนเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ ให้กับคนในชุมชน และนอกพื้นที่ คุณเล่ได้รับแรงบันดาลใจในการทำนาข้าวอินทรีย์จากการเข้าร่วมอบรมที่มูลนิธิข้าวขวัญ จากนั้นเริ่มนำองค์ความรู้มาปรับใช้ในแปลงข้าวของตนเอง ซึ่งมีพื้นที่ทำนาทั้งหมด 9 ไร่สำหรับทำนาปรัง 2 รอบการผลิต ปริมาณผลผลผลิตในรอบแรกของการทำอินทรีย์ของคุณเล่ได้ประมาณ 650 กิโลกรัม/ไร่ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันสามารถผลิตข้าวได้เฉลี่ยประมาณ 900-1,000 กิโลกรัม/ไร่ และสูงสุดเคยได้ผลผลิตถึง 1,300 กิโลกรัม/ไร่ (พันธุ์หอมประทุม) และมีต้นทุนการผลิตข้าวอินทรีย์ประมาณ 1,300 บาท/ไร่

  1. การจัดการนาข้าวอินทรีย์

2.1 เทคนิคการทำนาหว่าน

2.1.1 การแช่ข้าว (หว่านแบบข้าวงอกยาว)

  • แช่ข้าว 24 ชั่วโมง
  • บ่มข้าว 3-4 คืน โดยไม่ต้องรดน้ำ => ข้าวจะตั้งต้นเร็ว วิธีการแบบนี้คุณเล่แนะนำว่าควรหว่านมือจะมีประสิทธิภาพดีกว่าเครื่องพ่น อีก 3-4 วันข้าวเริ่มแทงเขียว หรือถ้าไม่แน่ใจก็รออายุข้าวไม่เกิน 5 วัน ก็เอาท่วมข้าวได้เลย 15 วัน ประมาณ 4-15 เซนติเมตร หากทำวิธีการแบบนี้จะไม่มีปัญหาข้าวไม่ตั้งหน่อ ข้าวจะไม่มีการตายและข้าวจะไม่ลอย เพราะข้าวติดดินแล้ว ประมาณ 7 วันข้าวก็โผล่พ้นน้ำ

 

หมายเหตุ:

  • หากเลือกหว่านข้าวสั้น => จะคุมน้ำไม่ได้ และมักจะมีปัญหาเรื่องข้าวไม่ตั้งหน่อ ตาข้าวจะเน่า เพราะหน่อข้าวยังไม่เริ่มแทงขึ้น น้ำร้อนก็จะเน่า
  • หากเอาน้ำท่วมที่ระดับน้ำดังกล่าวน้ำจะไม่ร้อน
  • น้ำที่แช่ข้าวควรผสมจุลินทรีย์ป่าหรือไตรโคเดอร์มาร์ น้ำ 100 ลิตร ต่อ จุลินทรีย์ 1 ลิตร

2.1.2 การเตรียมแปลง

  • ปั่นย่ำหมักทิ้งไว้ 15 วัน
  • หลังจากนั้น ปั่น ย่ำเทือก ชักร่องน้ำ หว่านได้ตามปกติ เทือกที่ย่ำควรย่ำหลายๆ

หมายเหตุ: ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพในการควบคุมหญ้าให้เพิ่มขึ้น ต้องมีการไถเพื่อล่อหญ้าก่อนปลูกข้าว 1 รอบ จากนั้นรอให้ต้นหญ้าโตเกือบออกดอกแต่อย่าให้ออกดอก เพื่อให้หญ้าเป็นอินทรียวัตถุ (ประมาณ 1 เดือน) และก่อนที่จะไถอีกรอบให้เอาจุลินทรีย์ดินป่า (แบบหมักไม่ใช้กากน้ำตาล) เดินฉีดพ่นให้ทั่วแปลง จากนั้นไถและหมักกับน้ำจุลินทรีย์ดินป่าจนกว่าน้ำจะแห้ง และจากนั้นไถเตรียมแปลงเพื่อหว่านข้าว โดยคุณเล่เลือกทำวิธีแบบนี้อยู่ 3 ปีจนกว่าจะหมดปัญหาเรื่องหญ้า

2.1.3 หลังหว่าน 3-5 วัน เอาน้ำออก ช้าสุดไม่เกิน 7 วัน ในช่วงที่อากาศหนาว (ต้นข้าวจะสูงประมาณสองข้อนิ้วมือ)

2.1.4 ขังน้ำประมาณ 4-15 เซนติเมตร (ควรเอาตาข่ายมากันหอยช่วงสูบน้ำเข้านาข้าว)

2.1.5 กรณีที่น้ำใส: ให้จัดการแปลงนาโดยรักษาน้ำไม่ให้ใส เหมือนเป็นการกรองแสงไม่ให้ส่องตรงพื้นดินเพื่อลดการงอกของเม็ดหญ้า โดยการปล่อยเป็ด (แต่ต้องหว่านข้าวบางเพื่อให้มีช่องให้เป็ดว่ายน้ำได้) ลงทุ่ง ประมาณ 1-2 ตัวต่อไร่ (แต่จะไม่ปล่อยเป็ดในช่วงข้าวตั้งท้อง) เป็ดจะไม่ไปจิกต้นข้าว แต่เป็นจะเป็นตัวสร้างน้ำให้ขุ่น พร้อมกับช่วยควบคุมหอยเชอร์รี่ในนาข้าว โดยสามารถปล่อยเป็ดลงทุ่งหลังจากปลูกข้าวได้อายุ 15 วันไปแล้ว

2.2 เทคนิคการเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวอินทรีย์

2.2.1 การเตรียมดินก่อนปลูกข้าว

  • ไม่เผาฟางข้าว
  • หลังจากเก็บเกี่ยว ให้ไถกลบ 1 รอบ เพื่อหมักฟางพร้อมกับเทจุลินทรีย์ดินป่าฉีดพ่น
  • กรณีฉีดพ่น: ต้องเอาจุลินทรีย์ดินป่าที่ไม่ได้ผสมกับกากน้ำตาลเพราะเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราในใบข้าว
  • กรณีราดในนาข้าว: สามารถเอาจุลินทรีย์ดินป่าที่ผสม/หมักกับกากน้ำตาลมาราดในนาข้าว ซึ่งถือว่าเป็นการให้จุลินทรีย์ทางดิน

2.2.2 หลังจากปลูกข้าวได้ 15 วัน ก่อนถึงช่วงข้าวตั้งท้อง สามารถเอาจุลินทรีย์ดินป่าผสมกับน้ำที่เตรียมสำหรับสูบเข้านา โดยทำเป็นระบบน้ำหยดตั้งไว้เหนือท่อส่งน้ำ ประมาณ 4 รอบ ปริมาณการใช้น้ำจุลินทรีย์ป่า 10-30 ลิตร/ไร่ ขึ้นกับความสมบูรณ์ของดินในนานั้นๆ

หมายเหตุ:

  • ข้อสังเกตุของการทำจุลินทรีย์ดินป่า: ในช่วงเตรียมหัวเชื้อจุลินทรีย์ ให้เลือกเชื้อราที่เป็นสีขาวหรือสีแดงเท่านั้น หากเป็นสีอื่น เช่น สีดำ, สีส้ม หรือ สีขาวปนดำ จะเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่ดี อย่าใช้เด็ดขาด

2.2.3 มีการฉีดพ่นน้ำหมักจุลินทรีย์จากดินใต้ขุยไผ่อย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 4 ครั้ง/รอบการผลิต การทำจุลินทรีย์จากดินใต้ขุยไผ่มีวิธีการทำดังต่อไปนี้

  • ดินใต้ขุยไผ่หรือดินดี 1 กก โดยให้สังเกตดินคือจะพบเป็นราสีขาว (ให้เก็บราสีขาวอย่างเดียว เพราะเป็นเชื้อราดี)
  • ใบไผ่แห้งประมาณ 2-3 กำมือ
  • รำละเอียด 1 กก
  • น้ำตาลทรายแดง 1 กก หรือ ฝักคูน/ฝักฉำฉา (ทุบ) 2 กก

หมายเหตุ:

  • ฝักคูนมีสรรพคุณฆ่าแมลง/หนอนได้ แต่ต้องทุบให้แตกตอนหมัก และควรแยกหมักจะได้ผลดีกว่าหมักรวม และไม่ควรหมักเกิน 3 เดือน
  • วิธีการเทน้ำหมักจุลินทรีย์คือทำเป็นก๊อก และเปิดให้หยดตรงหน้าท่อสูบน้ำเพื่อให้น้ำหมักกระจายได้ทั่วแปลงนา

2.2.4 การลดปริมาณข้าวปลูกต่อไร่จาก 30 กก/ไร่ เปลี่ยนเป็น 5-7 กก/ไร่ หากเกษตรกรมีการจัดการแบบนี้ได้จะเป็นการเพิ่มปริมาณการแตกกอของต้นข้าว, ประหยัดเมล็ดพันธุ์ และได้เมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ได้น้ำหนักกว่าการปลูกข้าวปกติโดยทั่วไป

2.2.5 การเก็บพันธุ์ข้าว

หากมีการปรับใช้เทคนิคการจัดการข้าวอินทรีย์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว แต่เกษตรกรยังไม่ทำพันธุ์ข้าวไว้เอง ก็ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ในระดับที่ควร เนื่องจากข้าวที่ซื้อจากข้างนอกที่ไม่ได้ปลูกจากนาของตนเองนั้นจะมีการเติบโตที่ไม่สมบูรณ์เท่ากับพันธุ์ที่เก็บเอง เพราะพันธุ์ข้าวตอบสนองการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันซึ่งใช้เวลาในการปรับตัว คุณเล่ได้แนะนำว่า หากต้องการทำเมล็ดพันธุ์นั้น ควรทำนาโยนหรือดำนาดีกว่าการทำนาหว่าน เพราะจะได้เมล็ดพันธุ์ที่สมบูรณ์และแข็งแรง ดังเช่นกรณีของคุณเล่ดังต่อไปนี้

  • แปลงที่ทำเป็นพันธุ์จะดำนาแบบปลูกข้าวต้นเดียวหรือทำนาโยน จากนั้นจะคัดเลือกกอที่ใหญ่, รวงไหนได้เยอะที่สุด และเมล็ดเต็มที่สุดจะเลือกมาทำพันธุ์ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพันธุ์เพราะข้าวตอบสนองต่อสภาพดินเราแล้ว

2.3 เทคนิคการทำข้าวกอ

การปลูกข้าวตอช่วยลดต้นทุนการผลิต, ย่นอายุข้าวให้สั้นลง 30 วัน, และช่วยลดการเกิดหญ้าในนาข้าว โดยมีวิธีการจัดการดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้รถเกี่ยวข้าวเกี่ยวให้เตี้ย หรือใช้เครื่องตัดหญ้าตัดให้เหลือเพียงข้อล่าง เพื่อทำข้าวตอ (คุณเล่แนะนำให้ตัดหลังเกี่ยวข้าวสด) ถ้าคิดจะย่ำตอข้าวต้องย่ำให้ตอเก่าให้ตาย ทำยังไงก็ได้ให้ข้าวมันงอกจากกอเดิม ไม่แนะนำให้เอาตอแล้วย่ำ เพราะมันแตกตามข้อแล้วรากไม่ลงดิน อาจทำให้ต้นข้าวไม่สมบูรณ์ เวลาเกี่ยวข้าวแล้วไม่ต้องเก็บฟางออก คือพอครบ 3 วันก็เอาน้ำจุลินทรีย์จากดินขุยไผ่มาฉีดพ่นจากนั้นฟางก็จะย่อยสลายแล้วเอาน้ำเข้าก็จะไม่ทำให้เกิดแก๊ส
  • การทำข้าวตอต้องมีฮอร์โมนช่วยปริมาณข้าวถึงจะได้ข้าวเท่ากับของเดิม แต่ทำรอบสามต้องเพิ่มมากขึ้น แต่ผลผลิตไม่เท่ากับข้าวตอรอบแรกเพราะความสมบูรณ์ลดลง

2.4 การควบคุมหญ้า

2.4.1 การหมักฟาง

การหมักฟางเป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมหญ้า และการปรับปรุงบำรุงดิน โดยช่วงการเกี่ยวข้าวควรแจ้งกับเจ้าของรถเกี่ยวว่าให้กระจายฟางเพราะเราไม่ได้เผาฟางข้าว หลังจากนั้นควรหมักฟางทิ้งไว้อย่างน้อย 15 วัน ถ้าหากแปลงนาใดที่ไม่ได้หมักฟางข้าวมักจะเจอปัญหาข้าวต้นเหลือง เพราะนาข้าวยังไม่ได้ผ่านกระบวนการหมักจึงทำให้เกิดแก๊สได้ ซึ่งปกติถ้าเราพบว่าต้นข้าวเป็นสีเหลืองส่วนใหญ่เข้าใจว่าต้นข้าวตาย แต่ความจริงแล้วต้นข้าวจะยังขึ้นอยู่แต่เราต้องปล่อยน้ำให้แห้ง จนสังเกตดินเป็นลักษณะแตกระแหงอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อให้แก๊สกระจายออกตามรอยแตกของดิน แก๊สดังกล่าวเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานของจุลินทรีย์ในการย่อยสลายยังไม่สมบูรณ์ (น้อยกว่า 15 วัน) จากนั้นค่อยเติมน้ำเข้าแปลงนาโดยการผสมน้ำหมักจุลินทรีย์ท้องถิ่นที่ทำจากดินใต้ขุยไผ่ควบคู่กับการหมักฟางทุกครั้ง

2.4.2 การฉีดพ่นน้ำหมักสาบเสือ

กรณีที่เกษตรกรต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมหญ้าได้ดีขึ้น คุณเล่แนะนำให้นำน้ำหมักสาบเสือฉีดพ่นแปลงนาเพื่อคลุมหญ้าหลังจากหว่านข้าว โดยมีสูตรดังต่อไปนี้

  • สาบเสือ 3 กก
  • น้ำตาลทรายแดง/กากน้ำตาล 1 ลิตร หรือ ฝักคูน/ฝักฉำฉา 2 กก
  • น้ำจุลินทรีย์ท้องถิ่น 1 ลิตร
  • น้ำ 10 ลิตร

วิธีการเอาไปใช้: ใช้ฉีดคลุมหญ้า หลังจากหว่านข้าวและเอาน้ำออกแปลงนาก็สามารถฉีดพ่นได้เลย น้ำหมักสูตรนี้ไม่มีผลกับพืชที่งอกแล้ว และไม่ได้มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าหญ้าแต่เป็นการคลุมการงอกของวัชพืช โดยใช้น้ำหมักสาบเสือ 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร และน้ำหมักจุลินทรีย์จากดินป่า 10 ลิตร หรือ น้ำหมักสาบเสือ 1,000 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร และน้ำหมักจุลินทรีย์ท้องถิ่น 100 ลิตร (อย่าใส่ปริมาณเยอะ เพราะจะมีผลกระทบต่อต้นข้าวได้) กรณีฉีดพ่นฮอร์โมนไข่ ฮอร์โมนหอย ฮอร์โมนปลา เพื่อใช้ฉีดพ่นทางใบไม่ควรใช้เกิน 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ 300 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร

หมายเหตุ: หากไม่มีสาบเสือสามารถใช้มะละกอ หรือ สับปะรด 3 กก แทนได้ แต่ต้องหมักนาน 1 เดือน

ภาพประกอบ

บทความแนะนำ

การเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นวิถีรักษาความหลากหลายพันธุกรรมพืช ….แต่การส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยว และการจำกัดสิทธิการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นปัจจัยทำให้พันธุกรรมพืชลดลง : สุพจน์ หลี่จา