โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

การจัดการนาข้าวอินทรีย์ : กรณีนายเกียรติพงศ์ ลังกาพินธุ์ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ลุ่มน้ำลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน

1.แนวคิดและหลักการในการทำนา
แนวคิดในการทำนา

  • ใช้แนวคิดเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีองค์ประกอบหลัก 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ระบบนิเวศ ความเป็นธรรม และความดูแลเอาใจใส่
  • ใช้แนวคิดการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน โดยให้ชุมชนสามารถเข้าถึงอาหารอินทรีย์ผ่านตรงจากแปลงการผลิตและตลาดนัดในชุมชน

หลักการในการทำนา

  • เนื่องจากปลูกข้าวสำหรับการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก จึงเลือกที่จะปลูกพันธุ์พื้นบ้านที่นุ่มและมีความหอมมากกว่าข้าวที่นิยมของตลาดทั่วไป เช่น ข้าว กข6 หรือ ข้าวหอมมะลิ 105 เนื่องจากพันธุ์ข้าวดังกล่าวเป็นกลุ่มข้าวที่ผลิตมาเพื่อตอบสนองการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีในปริมาณที่สูง ซึ่งที่ผ่านมาได้ทดลองปลูกข้าว กข6 ในระบบเกษตรอินทรีย์ พบว่า ในปริมาณผลผลิตน้อยมากและเป็นโรคง่าย พอใกล้ถึงช่วงการเก็บเกี่ยวต้นข้าวก็ล้มง่ายและมักมีสัดส่วนข้าวลีบสูง ซึ่งตรงข้ามกับพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน เช่น ข้าวดอสายัญ ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของจังหวัดเชียงรายที่ได้นำมาทดลองปลูกในพื้นที่ พบว่า พันธุ์ข้าวสามารถเจริญเติบโตได้ดีในระบบเกษตรอินทรีย์ โดยมีลักษณะลำต้นข้าวที่แข็งแรง ทนต่อโรค และให้ปริมาณผลผลิตสูง โดยเฉลี่ยที่ 800 กก./ไร่ เป็นต้น
  • ก่อนเลือกพันธุ์ปลูกข้าวในแต่ละรอบการผลิต จะมีแปลงทดสอบสายพันธุ์ข้าวที่แลกเปลี่ยนมาจากเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในแต่ละภาค โดยนำมาทดสอบสายพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่องประมาณ 13-14 สายพันธุ์ แล้วคัดเลือกพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่เพื่อนำมาขยายพันธุ์เพื่อทดลองปลูกในรอบถัดไป พร้อมกับรายงานผลให้กับเครือข่ายฯ รับทราบเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลพันธุกรรมข้าวพื้นถิ่นภายในเครือข่ายผ่านการทดลองปลูกร่วมกัน

2.การจัดการนาข้าวอินทรีย์

2.1 การเตรียมแปลง

สำหรับการเตรียมแปลงนั้นมีการจัดการเช่นเดียวกับนาดำทั่วไป คือ เริ่มจากการไถ 1 ครั้ง และคราด 1 ครั้ง จากนั้นเอาน้ำในนาออกคล้ายกับการเตรียมนาหว่าน เพราะการทำนาโยนไม่ต้องการน้ำมากเพื่อที่เวลาโยนกล้าข้าวแล้วกล้าข้าวจะอยู่หน้าดินที่ต้องรอให้รากยืดลงไปสัมผัสกับหน้าดิน 1 คืน หากต้นกล้าตั้งต้นได้ก็จะทยอยเอาน้ำเข้านา

2.2 พันธุ์

พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกในรอบการผลิตปัจจุบันมี 2 สายพันธุ์ที่เป็นข้าวอายุสั้นประมาณ 110-120 วัน ได้แก่ ข้าวดอสายัญ และข้าวหอมอุบล เหตุที่เลือกพันธุ์ดังกล่าวเนื่องจากข้าวมีความนุ่ม หอม ทนต่อโรค ลำต้นแข็งแรง ให้ปริมาณข้าวมาก และสามารถเก็บพันธุ์ไว้ปลูกในรอบการผลิตถัดไปได้โดยที่ยังคงลักษณะพันธุ์ที่ดี/ไม่กลายพันธุ์

2.3 การเพาะกล้าและการปลูก

รูปแบบการปลูกข้าวของนายเกียรติพงศ์นั้นเลือกการปลูกแบบนาโยน ซึ่งเป็นรูปแบบการปลูกที่ประหยัดเวลา ลดต้นทุนในการผลิตด้านแรงงาน และประหยัดเมล็ดพันธุ์ที่ใช้เพียง 7 กก/ไร่ โดยมีเทคนิคการเพาะกล้า ดังนี้

  • ดินสำหรับการเพาะกล้านั้นควรเป็นดินดีที่ผ่านการร่อน ไม่ควรปั่นดินให้ละเอียดเพราะจะทำให้ดินแน่นทำให้กดทับน้ำไม่ระบาย
  • ใช้อัตราส่วนดินที่ผ่านการร่อน 11 กก. ต่อ พันธุ์ข้าว 1 กก. มาคลุกให้เข้ากันจากนั้นเอาไปเทลงในถาดเพาะ โดยอัตราส่วนดังกล่าวจะได้ถาดเพาะข้าวประมาณ 7-8 ถาด ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ดีจะได้กล้าข้าวประมาณ 3-7 เมล็ด/หลุม
  • หลังจากเพาะกล้า 15 วัน สามารถนำไปโยนกล้าได้

2.4 ศัตรูพืช: โรค แมลง และวัชพืช

จากประสบการณ์การทำนาที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาเรื่องโรคและแมลงน้อยมาก เพราะพันธุ์ข้าวที่เลือกไปปลูกในนานั้นเป็นพันธุ์ข้าวที่ผ่านการทดลองปลูกในแปลงทดลอง โดยมีลักษณะพันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ ลักษณะลำต้นแข็งแรง ทนต่อโรคและแมลง ส่วนเรื่องการจัดการวัชพืชนั้นจะสัมพันธ์กับการโยนกล้า คือ ช่วงที่โยนกล้านั้นจะทยอยปลูกอาทิตย์ละ 2 งาน เพื่อให้ทันต่อการจัดการหญ้าที่ไม่มากเกินไป ซึ่งการจัดการหญ้าที่ผ่านมาจะเป็นการใช้มือถอนควบคู่กับการใช้เครื่องตัดหญ้า

  • การดูแลรักษา

ด้วยสภาพดินในนาข้าวนั้นเป็นดินที่ดีอยู่แล้ว ทำให้การดูแลรักษาที่ผ่านมาจะเป็นการจัดการเรื่องวัชพืชเป็นหลัก

  • การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวข้าวที่ผ่านมาจะใช้เครื่องตัดหญ้าที่ดัดแปลงสำหรับตัดข้าวควบคู่กับการใช้เคียว ด้วยการใช้เครื่องทุ่นแรงในการเก็บเกี่ยวทำให้ไม่ต้องจ้างแรงงานเสริม ส่วนการตีข้าวนั้นใช้เครื่องนวดข้าวที่สามารถย่นเวลาได้มากและทุ่นแรงงานในการจัดการเทียบเท่าแรงงาน 10 คน โดยการใช้เครื่องนวดดังกล่าวทำให้ได้ฟางข้าวไว้ใช้และลดต้นทุนในการจ้างแรงงาน เพราะที่ผ่านมาทำได้ด้วยตนเองเป็นหลักไม่ได้จ้างแรงงานเลย

ภาพประกอบ

บทความแนะนำ