กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ตำบลหนองห้าง
1. ชื่อกลุ่ม : กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ตำบลหนองห้าง
2. ที่ตั้งและภูมินิเวศ :
2.1 ที่ตั้ง : นาแปลงรวมและสำนักงานชั่วคราวอยู่ภายในบริเวณแปลงนาของนายผจง เพ็งศรี เลขที่ 291 ม.4 ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
2.2 ลักษณะภูมินิเวศ :เป็นภู ลักษณะดินเป็นดินเหนียว ทำนาแบบขั้นบันได อาศัยน้ำฝน
3. ขนาดพื้นที่นาแปลงรวม : 4 ไร่
4. ความเป็นมา :
ประมาณปี พ.ศ. 2546 คุณปิยะ สีฐาน ชาวตำบลหนองห้างและเป็นสมาชิกเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก แนะนำและชวนให้นายผจง เพ็งศรี และนายสมาน สุขไซแสง เข้าโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย นายผจงจึงได้เข้าร่วมประชุมที่อ.กุฉินารายณ์และอ.นาคู และได้เข้าโครงการนำร่องฯ นายผจงเองมีความรู้พื้นฐานเรื่องการเพาะเห็ดและการจัดสภาพแปลงที่มีความหลากหลาย เมื่อเข้าโครงการนำร่องฯ ได้ทำปุ๋ยหมัก เกษตรผสมผสาน ปลูกสมุนไพรอย่างน้อย 50 ชนิด ทำสวนผักสวนครัว ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ขุดบ่อน้ำ และสนับสนุนทำคอกหมู เริ่มปรับจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตรมาเป็นไม่ใช้สารเคมี ในปีแรกในครอบครัวไม่มั่นใจในแนวทางเกษตรอินทรีย์กลัวว่าจะไม่ได้ผลผลิตเพียงพอ แต่ก็ทำต่อไป จนปีที่สามไม่ได้ใช้สารเคมีอีกเลย
ต่อมาอีก 5 ปีประมาณปี พ.ศ. 2551 ได้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภูมินิเวศน์กาฬสินธุ์-นครพนม ไปประชุมที่อาศรมไทบ้านดอนแดง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ในการประชุมมีการพูดถึงเรื่องพันธุกรรมและแลกเปลี่ยนพันธุกรรม ภูมินิเวศน์สุรินทร์ อุบลราชธานีและยโสธร ได้เริ่มทำเรื่องพันธุกรรมคืบหน้าไปแล้ว แต่ภูมินิเวศน์กาฬสินธุ์ยังอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไม่ได้เพราะไม่ได้ทำอย่างจริงจัง นายผจงมีความคิดว่าเขาทำได้แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้
ประมาณปี พ.ศ. 2552 น.ส.นุจนาด โฮมแพน เป็นผู้ประสานงานเรื่องงานวิจัยไทบ้านของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เข้ามาทำงานในพื้นที่เรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านของต.หนองห้าง พบว่ามีข้าวพื้นบ้านที่แต่ละครัวเรือนปลูกเฉลี่ยครัวเรือนละ 5 สายพันธุ์ และพันธุ์ข้าวทั้งหมดในพื้นที่มี 27 สายพันธุ์
ปี พ.ศ. 2553 นายผจงตัดสินใจทำงานเรื่องพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านต่อ นายผจงได้สะสมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านและเพาะกล้าข้าวแจก มีกลุ่มคนที่สนใจมาขอกล้าข้าว เช่น เหนียวแดง โสมาลี สาวอุดร กอเดียว อีน้อย อีโพน เป็นต้น นายผจงเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวมาจากพี่น้องเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เวทีแลกเปลี่ยนพันธุกรรมสายนาวัง งานแลกเปลี่ยนพันธุกรรมที่จ.มหาสารคามและจ.ยโสธร และชาวบ้านที่ยังมีข้าวพันธุ์เก่าแก่ในบ้านม่วงไข่ บ้านกุดบอด อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ซึ่งในช่วงเดียวกันนั้นเจ้าหน้าที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานได้เข้ามาสนับสนุนเรื่องความรู้ด้านพันธุกรรมข้าวที่อาศรมไทบ้านดอนแดงในเรื่องการบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ และปี พ.ศ. 2556 เครือข่ายโรงเรียนชาวนาสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนชาวนายโสธร นายผจงและสมาชิก 1 คน ได้ไปเรียนที่ยโสธร ได้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการผสมพันธุ์ข้าว จนปัจจุบันนี้กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์เป็นโรงเรียนชาวนาที่ส.ป.ก.กาฬสินธุ์สนับสนุน นายผจงได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรที่บ้านคำม่วง ที่อบต.สายนาวังเกี่ยวกับการทำแปลงอนุรักษ์พันธุ์ข้าว การเพาะกล้า การปักดำ เป็นต้น สมาชิกกลุ่มช่วงแรกมี 7 ครอบครัวปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 14 ครอบครัว
5. วัตถุประสงค์การจัดตั้งกลุ่ม :
1. เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการทำเกษตรของสมาชิกจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์
2. เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านและขยายพันธุ์สู่แปลงสมาชิกและเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
3. เพื่อแปรรูปข้าวขายออกสู่ตลาด
6. โครงสร้างกลุ่มและสมาชิก :
นายเวียงจันทร์ ทำนาผล ที่ปรึกษากลุ่ม
นายบำรุง คะโยธา ที่ปรึกษากลุ่ม
น.ส.นุจนาด โฮมแพน ที่ปรึกษากลุ่ม
เจ้าหน้าที่ส.ป.ก.กาฬสินธุ์ ที่ปรึกษากลุ่ม
น.ส.ธัญรัศมิ์ บัวระภา ที่ปรึกษากลุ่ม
สมาชิกกลุ่ม 14 ครอบครัว ได้แก่
1. นายผจง เพ็งศรี ประธาน/ผู้ประสานงาน
2. นายสีคูณ อุทโท รองประธาน/ผู้ประสานงาน
3. นายกัน พ้นทุกข์ เลขานุการ
4. น.ส.กมลวรรณ ประกันตะ เหรัญญิก
5. นางคำพอ อุทโท สมาชิก
6. นายดอน หนองสา สมาชิก
7. นางเขียน ไชยขันธ์ สมาชิก
8. นางบุญสวน กุลชาติ สมาชิก
9. นางกลม อุทโท สมาชิก
10. นางยอดฟ้า กุลชาติ สมาชิก
11.นายประกาศ จิตจักร สมาชิก
12.นางสด ศรีหาตา สมาชิก
13. นายขุน ศรีแนน สมาชิก
14. นางเจียม เพ็งวัน สมาชิก
ข้อตกลง/กติกากลุ่มสมาชิกต้องร่วมกิจกรรมสม่ำเสมอ หากไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมหลายครั้งติดต่อกัน ประธานกลุ่มจะพิจารณาให้ออกจากกลุ่ม
7. กิจกรรมของกลุ่ม :
1. เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องโรงเรียนชาวนา
2. ออกร้านจัดนิทรรศการเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องพันธุกรรมข้าว
3. จำหน่ายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านและข้าวกล้อง ข้าวสีของกลุ่มและผัก
4. อนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน
5. บันทึกลักษณะประจำพันธุ์ข้าว
6. ประชุมตามวาระสถานการณ์
7. ร่วมหุ้นลงทุนทำวิสาหกิจขายข้าวของกลุ่ม
8. ธนาคารพันธุ์ข้าว โดยให้สมาชิกยืมข้าวเปลือกไปสีเพื่อบริโภคในกรณีขาดแคลนหรือยืมไปปลูก
9. กองทุนปุ๋ยอินทรีย์ให้สมาชิกทำร่วมกันและแบ่งกันใช้
8. ผู้รับผิดชอบ/ผู้ประสานงาน :
1. นายผจง เพ็งศรี บ้านเลขที่ 291 หมู่ 4 บ้านห้วยม่วง ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ หมายเลขโทรศัพท์ 080-7594106
2. นายสีคูณ อุทโท บ้านเลขที่ 215 หมู่ 4 บ้านห้วยม่วง ต.หนองห้าง อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ หมายเลขโทรศัพท์ 087-2234696
9. ผู้ให้ความรู้/ผู้สื่อสารเรื่องราวภายในกลุ่ม :
1. นายผจง เพ็งศรี การเพาะเห็ดชนิดต่างๆ การทำปุ๋ยชีวภาพ การคัดพันธุ์ และผสมพันธุ์ข้าว
10. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน :
1. สมาชิกมาไม่ตรงเวลานัดหมายการทำกิจกรรมหรือประชุม ทำให้ทำกิจกรรมไม่เต็มที่
2. สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาวในการทำกิจกรรม
11. แนวทางการทำงานและทิศทางการทำงาน/ความต้องการการสนับสนุนจากภายนอก :
1. ต้องการงบประมาณจัดการขุดสระน้ำเพิ่มเติมเพราะในพื้นที่น้ำไม่เพียงพอ
2. โรงสีแปรรูปข้าวของกลุ่ม
12. ความโดดเด่น :
กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านตำบลหนองห้าง เป็นกลุ่มชาวภูไท รักษาพันธุกรรมท้องถิ่นไว้ได้หลากหลายพันธุ์ มีการฝึกอบรมเรื่องการเพาะเห็ดชนิดต่างๆ และการทำปุ๋ยชีวภาพ