โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโจด 

1. ชื่อศูนย์ :กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโจด 

2. ที่ตั้งและภูมินิเวศ : 
          2.1 ที่ตั้ง : นาแปลงรวมเป็นพื้นที่พัฒนาสายพันธุ์ข้าว มี 2 แห่ง 
                    1) ในพื้นที่นาของนางเยาวภา พรมวงศ์ จำนวน 2ไร่ 
                    2) ในพื้นที่นาของนางพรรณี เชษฐ์สิงห์ จำนวน 1 ไร่ 
          2.2 ลักษณะภูมินิเวศ : เป็นทุ่งราบ ดินร่วนปนทราย 

3. ขนาดพื้นที่นาแปลงรวม : 3ไร่ (แปลงที่ 1 จำนวน 2 ไร่ แปลงที่ 2 จำนวน 1 ไร่) 

4. ความเป็นมา :
 
          กลุ่มแม่บ้านเดิมทำเกษตรแบบใช้สารเคมี ต่อมาคุณสุมณฑา เหล่าชัย ซึ่งทำเกษตรกรรมธรรมชาติอยู่กับกลุ่มอโศก มาชวนทำเกษตรปลอดสารเคมี โดยกล่าวถึงโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย ได้ชวนเกษตรกรบ้านโจดเข้าโครงการ 4 ครอบครัว ซึ่งมีครอบครัวของนางดวงจันทร์ พิมพิลา นางพิสมัย พุทธะปะ นางเยาวภา พรมวงศ์ และนางพรรณี เชษฐ์สิงห์ ที่เข้าโครงการเพราะการทำเกษตรแบบเคมีมานาน ปลูกยาสูบ (ยาพันธุ์เตอร์กิต) ส่งผลต่อสุขภาพของคนในครอบครัว และสัตว์เลี้ยงไก่เป็ดตายจากเหตุที่ลงไปกินหนอนในนาข้าว 
          ปี พ.ศ. 2543 สมาชิกโครงการเริ่มออกไปเรียนรู้เรื่องเกษตรนอกชุมชน ปี พ.ศ. 2544 มีการศึกษาดูงาน เรียนรู้เรื่องการทำน้ำหมัก ปรับปรุงบำรุงดิน ปุ๋ยพืชสด ซึ่งเรื่องการปรับปรุงบำรุงดินเป็นอันดับแรกของการทำเกษตรอินทรีย์ เรียนรู้เรื่องอายุของข้าว พันธุกรรมข้าว เช่น การตัดข้าวปน การผสมพันธุ์ข้าว พบว่าข้าวปัจจุบันเหลือเพียง 2 สายพันธุ์ คือมะลิ 105 และ กข 6 เรียนรู้เรื่องพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับพื้นที่บ้านโจด ส่วนเรื่องไม้ผล มีการนำพันธุ์ต่างถิ่นมาปลูกเพื่อขาย เช่น เงาะ ทุเรียน แต่ดูแลรักษาไม่ได้ ไม่เหมาะกับพื้นที่ สำหรับเรื่องพันธุ์ข้าว เกิดความคิดว่าน่าจะเป็นพันธุ์พื้นบ้านที่จะทำให้ลดละเลิกสารเคมีได้ เพราะสมัยพ่อแม่ก็ไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา เมื่อได้ความรู้จากการไปศึกษาดูงานและเรียนรู้ในชุมชนแล้วก็มาปรับเปลี่ยนในแปลงของสมาชิกโครงการในปี พ.ศ. 2544 
          เริ่มนำข้าวพื้นบ้านจากเวทีแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ซึ่งชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน (ราฟ่า) จัดที่พนมไพรปี พ.ศ. 2543 มาปลูก เช่น ข้าวเล้าแตกซึ่งมีรวงใหญ่ เมล็ดโต ให้ผลผลิตมาก ข้าวเจ้าแดง ข้าวเหลืองอ่อนซึ่งแปรรูปทำขนมจีนได้ ข้าวป้องแอ้ว ปลูกเพื่อปีใดข้าวไม่พอกินก็จะได้เก็บเกี่ยวก่อนเพราะเป็นข้าวเบา เมื่อมีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านแล้วเหลือจากกินในครัวเรือนแล้วจะเอาไปทำอะไร เนื่องจากโรงสีไม่รับซื้อ และขณะนั้นยังไม่มีนาแปลงรวม มีปัญหาเรื่องโรงสีไม่ซื้อ จึงปลูกเพื่อกินในครัวเรือนเป็นหลัก และทดลองประเมินว่าเหมาะกับพื้นที่หรือไม่ รวมถึงดูอายุของข้าวเพื่อประโยชน์ในการจัดการแปลง (แรงงานในการเก็บเกี่ยว) ผลที่เกิดขึ้นคือเหมาะกับพื้นที่บ้านโจด เพราะไม่ต้องใช้ปุ๋ย เป็นการลดต้นทุน 
          ปี พ.ศ. 2546 มีงบประมาณจากโครงการ ส่งเสริมเรื่องการตลาด เนื่องจากมีฐานจากการเป็นกลุ่มแม่บ้าน คือกลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีบ้านโจด จึงคิดเรื่องการแปรรูป มีการไปเรียนเรื่องการทำขนมจีนจากเจ้าของธุรกิจทำขนมจีน(ข้าวเจ้าแดงที่ปลูกเอง)ที่โพนทอง กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโจด จึงไปเอาพันธุ์ข้าวเจ้าแดงของเขามาเพื่อขยายพันธุ์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2547-2551 กลุ่มกลับมาทำขนมจีนขายได้สักระยะ แต่เนื่องจากเกิดปัญหาน้ำเสียและส่งกลิ่นเหม็น จึงหยุดทำขายประจำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา หลังจากนั้นนานๆ ครั้งจะทำ เช่น ในงานประเพณี กิจกรรมกลุ่ม เป็นต้น 
          ปี พ.ศ. 2547 มีโครงการ “กินปลาข่อน นอนนา พาเพิ่งข้าว” ซึ่งเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภูมินิเวศร้อยเอ็ดจัดที่ต.ศรีวิลัย อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด (บ้านพ่อผา สารรัตน์) เป็นเวลา 2 วัน เป็นคาราวานรถไปเยี่ยมแปลงของสมาชิกที่ปลูกข้าวพื้นบ้านตั้งแต่บ้านโจดไปจนถึงบ้านนาวี ต.ศรีวิลัย ในขบวนเมื่อถึงช่วงลงแปลงนา วิทยากร คือ อ.เดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งร่วมคาราวานไปด้วยจะสอนวิธีคัดเลือกพันธุ์ในแปลง และไปแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์การทำนาอินทรีย์ในนา 
          ปี พ.ศ. 2548 จัดงานประเพณีบุญกุ้มข้าวใหญ่ในชุมชนที่วัดสุนทรนิวาสเป็นปีแรก เป็นเวลา 2 วัน มีการสู่ขวัญข้าว กลุ่มได้ทำนิทรรศการความรู้เรื่องพันธุกรรมข้าว ออกร้านขายผลิตภัณฑ์ การแสดงเกี่ยวกับวัฒนธรรมข้าว แข่งขันตำข้าว นวดข้าว และมีการระดมข้าวเข้ากองทุนข้าว (ธนาคารข้าวมีกติกาคือ ยืมพันธุ์อะไร ให้คืนพันธุ์ใดก็ได้ เพราะข้าวมีคุณค่าเท่ากัน ตีราคาเท่ากัน) จากนั้นคนในชุมชนก็เริ่มถามหาข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่เคยมีแต่หายไป อยากได้ไปปลูก เช่น ข้าวก่ำ คำผาย สันป่าตอง ขี้ตม ขาวใหญ่ กลุ่มไปหาพันธุ์พื้นบ้านมาเพิ่ม ในการทำโครงการ มีสมาชิก 4 ครอบครัว และมีสมาชิกขยายที่ได้ไปเรียนรู้แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตอีก 19 คน ซึ่งมีฐานหลักคือกลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีบ้านโจด (กลุ่มแม่บ้าน) รวมเป็น 23 ครอบครัว จนทุกวันนี้คนในชุมชนก็ยังเรียกกลุ่มที่เคยเข้าร่วมโครงการนำร่องฯ ว่า “พวกนำร่อง” 
          หลังจากนั้นเป็นช่วงจบโครงการนำร่องฯ (ปีพ.ศ. 2546-2557) สมาชิกโครงการมีอยู่หลายหมู่บ้านและอยู่ห่างกัน จึงปรึกษากันว่าถ้าชุมชนไหนพร้อมที่ทำงานด้วยตัวชุมชนเอง เพราะชุมชนมีแกนนำและมีงบประมาณที่กู้ยืมไปอยู่แล้วก็ให้จัดการกลุ่มเอง และให้หางบประมาณเพิ่มเติมจากท้องถิ่น เช่น อบต. สำหรับกลุ่มฯ บ้านโจดมีประสบการณ์ในการทำงานกับหน่วยงานราชการ เช่น ทอเสื่อ ทอผ้า แต่หาตลาดยาก เพราะในละแวกท้องถิ่นก็ผลิตกันเกือบทุกครัวเรือน และไม่มีผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย จึงมาคิดงานบนฐานการผลิตอาหารปลอดภัยคือการทำตลาดข้าวกล้องและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตอนแรกขายในหน่วยงานระดับจังหวัด เช่น โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เครือข่ายโรงเรียน โรงพยาบาลตำบล ซึ่งเขารู้จักกลุ่มฯ บ้านโจดจากงานบุญกุ้มข้าวใหญ่และที่กลุ่มไปออกร้าน เป็นต้น ความคาดหวังที่จะให้พี่น้องในชุมชนผลิตอาหารปลอดภัยและปรับเปลี่ยนวิถีการกินของคนในชุมชน ถือว่าเป็นการหาทางออกให้แก่พี่น้องชาวนาในพื้นที่ด้วย จึงต้องหาตลาดในระดับที่กว้างขึ้น เพื่อให้พี่น้องในชุมชนเกิดแรงจูงใจ จึงไปหาตลาดระดับใหญ่ เช่น อโศก ยโสธร หน่วยงานราชการ จึงไปดูงานเรื่องโรงสี เมื่อหน่วยงานราชการจัดงานกลุ่มก็ไปออกร้าน ในด้านการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ นางพรรณี เชษฐ์สิงห์ ได้ขอรับรองจากกรมการข้าว (ออแกนิคไทยแลนด์) 
          ปี พ.ศ. 2557 เป็นปีแรกและผ่านมาตรฐาน ปี พ.ศ. 2557 มีสมาชิกทั้งหมด 31 คนซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกเก่าโครงการนำร่องฯ กับสมาชิกที่ไม่เคยร่วมโครงการ และมีหน่วยงานส.ป.ก.เข้ามาทำงานกับชุมชนต่อในเรื่องพันธุกรรมข้าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยให้ตัวแทนไปอบรมโรงเรียนชาวนาที่ยโสธรและมหาสารคาม แล้วกลับมาทำแปลงต้นแบบและเป็นวิทยากรอบรมในชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายเพิ่มเติมให้กลุ่มในเรื่องการทำตลาดและสถานการณ์นโยบาย 

5. วัตถุประสงค์การจัดตั้งกลุ่ม : 
          1) หนุนเสริมให้สมาชิกของศูนย์ได้รู้จักการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพ 
          2) สนับสนุนให้สมาชิกได้รับความรู้เกี่ยวกับการคัดเลือก และการดูแลรักษาเมล็ดพันธุ์ตลอดถึงการเก็บเกี่ยวให้ถูกวิธี 
          3) เสริมสร้างความเข้มแข็งของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน 
          4) สืบสานประเพณีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของการทำนา 

6. โครงสร้างกลุ่มและสมาชิก :
 
          โครงสร้าง        ประธาน           นางพรรณีเชษฐ์สิงห์ 
                              รองประธาน       นายน้อม พิมพ์บูลย์ 
                              กรรมการ          นางริศร เชษฐ์สิงห์ 
                              กรรมการ          นายกำจัด อุยสูงเนิน 
                              กรรมการ          นายอุเทน บัวนาเมือง 
                              เลขานุการ        นางเยาวภา พรมวงศ์ 
                              เหรัญญิก          นางสุรินทร์ ศรีสุระ 
          สมาชิก 

          ต.นาเมือง           บ้านโจด หมู่ 9           จำนวน 31 คน 
                    1) นางเยาวภา พรมวงศ์ 
                    2) นางพรรณี เชษฐ์สิงห์ 
                    3) นางจันทร์เพ็ญ อาทิตย์ตั้ง 
                    4) นางริศร เชษฐ์สิงห์ 
                    5) นางลัย โคตรมูล 
                    6) นางบุญเลี้ยง ทรงศรี 
                    7) นางพวงพันธ์ นาเมืองรักษ์ 
                    8) นางอาภรณ์ ขันเงิน 
                    9) นางทองปน คำโคตรสูนย์ 
                    10) นางบุญมี โคตุมูล 
                    11) นางสุรินทร์ ศรีสุระ 
                    12) นายน้อม พิมพ์บูลย์ 
                    13) นายกำจัด อุยสูงเนิน 
                    14) นายอุเทน บัวนาเมือง 
                    15) นางประยงค์ เชษฐ์สิงห์ 
                    16) นางสมปอง พันชัย 
                    17) นางเปี้ยง ไชยรัตน์ 
                    18) นางดวงจันทร์ พิมพิลา 
                    19) นางมะลิ ประทุมทิพย์ 
                    20) นางสมวน นาเมืองรักษ์ 
                    21) นายแสง รัศมีมูลเดช 
                    22) นางพิสมัย พุทธะปะ 
                    23) นางมาลี สุทธิประภา 
                    24) นางสำราญ เชษฐ์สิงห์ 
                    25) นางจอมศรี แสนสุข 
                    26) นายสมศักดิ์ บัวนาเมือง 
                    27) นางสมพิศ เขาพันธ์ 
                    28) นางอัมพร อวนทอง 
                    29) นายคำ โคตรมูล 
                    30) นางหนูคล้าย ภูมิเลิศ 
                    31) นางปรียา ภูมิเลิศ 

7. กิจกรรมของกลุ่ม :
 
          1. ประชุมตามวาระ/สถานการณ์ เช่น ก่อนฤดูการผลิต ก่อนดำนาแปลงรวม เกี่ยวข้าว เป็นต้น 
          2. รวบรวมอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน 
          3. พัฒนาปรับปรุงพันธุกรรมข้าว           
          4. ประเมินเพื่อค้นหาพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ 
          5. บันทึกลักษณะประจำพันธุ์ข้าว 
          6. รณรงค์เผยแพร่ 
                    6.1 ประชาสัมพันธ์ผ่านงานบุญชุมชน (งานบุญกุ้มข้าวใหญ่/บุญเดือนสาม) 
                    6.2 ประชาสัมพันธ์ผ่านออกร้านจัดนิทรรศการในงานประจำจังหวัด อำเภอ ตำบล 
                    6.3 ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิดีทัศน์ เรื่องชีวิตข้าว ชีวิตคน ของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นต้น 
          7. งานแลกเปลี่ยนพันธุกรรมภาคอีสาน 
          8. ขยายเครือข่ายการพัฒนาและผลิตเมล็ดพันธุ์ ร่วมกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและกรมการข้าวตั้งโรงเรียนชาวนาในชุมชนและมีผู้รู้จากกลุ่มเป็นวิทยากร 
          9. งานนโยบาย ร่วมผลักดันนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน และผลักดันให้มีการยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตราย 4 ชนิด และคัดค้านอนุสัญญายูปอฟ รวมถึงติดตามนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร เช่น เอฟทีเอ ดับบลิวทีโอ เป็นต้น 
          10. เป็นวิทยากรเรื่องการแปรรูปอาหาร เช่น ขนมจีน แหนมเห็ด เห็ดสวรรค์ 
          11. กองทุนข้าว สำหรับครัวเรือนที่ข้าวไม่พอกินเพราะฝนทิ้งช่วงได้กู้ยืมและส่งคืน อัตรา 100 กิโลกรัมส่งคืน 110 กิโลกรัม (10 กิโลกรัม คืน 11 กิโลกรัม) ถือเป็นการกระจายพันธุ์ให้หลากหลายในชุมชน เพราะมีกติกาให้ส่งคืนพันธุ์อะไรก็ได้ ถือว่าให้คุณค่าข้าวเท่ากัน 

8. ผู้รับผิดชอบ/ผู้ประสานงาน : 
          1. นางเยาวภา พรมวงศ์ บ้านเลขที่ 78 หมู่ที่ 9 บ้านโจด ต.นาเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด หมายเลขโทรศัพท์ 082-4872661 
          2. นางพรรณี เชษฐ์สิงห์ บ้านเลขที่ 13หมู่ที่ 9 บ้านโจด ต.นาเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด หมายเลขโทรศัพท์ 081-3922131 

9. ผู้ให้ความรู้/ผู้สื่อสารเรื่องราวภายในกลุ่ม :
 
          1. นางพรรณี  เชษฐ์สิงห์            เทคนิคการปลูก การผสมพันธุ์ข้าว การพัฒนาพันธุ์ การบันทึกลักษณะพันธุ์ข้าว การประเมินพันธุ์ข้าวของกลุ่ม มาตรฐานพันธุ์ข้าวการวางแผนผังแปลงเกษตร 
          2. นางเยาวภา  พรมวงศ์            การบริหารจัดการกลุ่ม การส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน 
          3. นางลัย  โคตรมูล                 การแปรรูปข้าวเจ้าแดงเป็นแป้งเพื่อทำขนมจีนและ การทำขนมจีน 
          4. นางบุญมี  โคตุมูล               การแปรรูปข้าวเจ้าแดงเป็นข้าวปาด (ขนมเปียกปูน) 
          5.นางเลี้ยง  ทรงศรี                 การเพาะเห็ดนางฟ้า 
          6. นายสุราวุธ  เชษฐ์สิงห์          การทำน้ำส้มควันไม้ (สมาชิกในครัวเรือนนางพรรณี เชษฐสิงห์) 

10. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน : 
          1. ภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตไม่แน่นอน 
          2. ขาดแคลนแรงงานในแปลงนาส่วนตัว 
          3. ไม่มีโรงสีข้าวพื้นบ้าน เพราะโรงสีในชุมชนไม่รับสี เพราะกลัวข้าวพื้นบ้านสีแดงสีดำไปปนกับข้าวรายอื่น จึงไปสีข้าวที่ต่างหมู่บ้าน ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่ม 
          4. ไม่มีสถานที่ที่เหมาะสมในการแปรรูปอาหาร ที่เก็บข้าว และผลิตภัณฑ์ 

11. แนวทางการทำงานและทิศทางการทำงาน/ความต้องการการสนับสนุนจากภายนอก :
 
          1. โรงสีข้าวกล้อง โรงเก็บข้าว และโรงบรรจุข้าวที่มีไฟฟ้าเข้าถึง 
          2. สถานที่แปรรูปอาหารที่มีไฟฟ้าเข้าถึง 

12. ความโดดเด่น : 
          กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโจด มีฐานสมาชิกเป็นกลุ่มส่งเสริมอาชีพสตรี มีการแปรรูปข้าวและอาหารท้องถิ่นขายในชุมชนและภายนอกได้ ไม่ซื้อเมล็ดพันธุ์จากภายนอกเนื่องจากพันธุ์ที่ผลิตเอง มีคุณภาพมากกว่า 

บทความแนะนำ