โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ พี่จ๋า ณฐา ชัยเพชร ​กลุ่มเกษตรพื้นบ้านตำบลวังใหญ่ อ.เทพา จ.สงขลา มุมมองความรัก(ษ์) ที่มีต่อข้าวพื้นบ้าน ท้องนา อาชีพชาวนา ชาวสวน ชาวไร่  ซึ่งจะว่าไปแล้ว พี่จ๋า คือเกษตรกรแกนนำในพื้นที่ ที่กำลังรักษาและเชื่อมโยงความหลากหลายของพันธุกรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น สร้างการเรียนรู้กับคนทุกกลุ่มวัยเพื่อสืบสานภูมิปัญญาเอาไว้  

วันนี้เทศกาลข้าวใหม่ 2567 มีโอกาสพูดคุยกับพี่จ๋า เกี่ยวกับความรัก การรักษา และการอนุรักษ์ข้าวที่พี่จ๋าและกลุ่มกำลังทำงานกันอย่างแข็งขัน จึงขอนำเรื่องราวบางส่วนมาส่งต่อถึงผู้อ่านทุกท่าน

พี่จ๋าเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำนาว่า “พี่ก็ไม่รู้ว่าพี่มีปมอะไรในใจไหมนะ​ แต่ว่าอันหนึ่งคือ​ ก่อนหน้าที่จะกลับมาปลูกข้าว​ เวลาพี่เห็นนาร้าง​ พี่จะรู้สึกว่าใจมันฝ่อ​ ใจมันห่อเหี่ยว​ เหมือนน้ำตาจะไหล​ แต่พอเวลามองไปที่ท้องนาแล้วเห็นข้าวที่มันเขียว​ หรือสีทอง​ หัวใจพี่จะพองโตคับอกและปลื้มปริ่ม​ 

เมื่อก่อนพี่รอให้คนอื่นทำ​สิ่งที่เป็นความฝันที่พี่อยากเห็น อย่างเรื่องการทำนา การปลูกข้าว พี่ก็ฝันไว้ว่าอยากเห็นแบบนี้แบบนั้น แต่พอมันไม่เห็นเหมือนที่ใจหวัง​ แล้วเราทำยังไงให้เราได้เห็นภาพที่เราฝัน​ เลยตระหนักว่า ถ้าเรารอให้คนอื่นทำให้เราเห็นมันยาก​ ก็ต้องมาทำเอง​ เพื่อให้ความฝันนั้นเป็นจริงขึ้นมา

เริ่มจากเมื่อ ปี​ 2549​  หลังจากไปอบรมเรื่องการคัดพันธุ์ข้าวกับอาจารย์เดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญ​ มันรู้สึกมีพลังเยอะมาก​ และช่วงนั้นก็เห็นนาร้างจำนวนมากในชุมชน​ ในหมู่บ้านของน้องสาว​ สุดท้ายก็มารวมกลุ่มขับเคลื่อน​เรื่องข้าวอินทรีย์​ เริ่มจากข้าวนาก่อน​ แล้วก็ขยับมาทำเรื่องข้าวไร่​ ในปี​ 2560​ เดินทางไปเชื่อมร้อยกับเครือข่ายต่างพื้นที่​ จนได้พันธุ์ข้าวไร่กลับคืนมาปลูกในชุมชน​ จำนวน​ 12​ สายพันธุ์​ จากเดิมที่เหลือแค่​ 6 สายพันธุ์ ตอนที่สำรวจข้อมูลในปี​ 2558

“สำหรับ 1 ใน 12​ สายพันธุ์ที่โดดเด่นในพื้นที่ คือ​ ข้าวช่อขิง​ เป็นข้าวนาปี​ ลักษณะ​เด่นคือ ต้นข้าวจะคงทน​ สามารถปรับสภาพเพื่อความอยู่รอด​ น้ำแล้งเขาก็อยู่ได้​ พอน้ำเยอะเขาก็สามารถยืดตัว​ไม่ให้ต้นข้าวล้มได้ ให้ผลผลิตสูง​  รสชาติมีความหวาน​ ความมัน​ หลังจากนำข้าวช่อขิงไปตรวจคุณค่าทางอาหารแล้ว​ พบว่า สรรพคุณเด่นที่สุดคือ​ เป็นข้าวที่มีโฟเลทสูง ในคนท้องถ้าขาดสารนี้จะทำให้ลูกที่คลอดออกมามีปัญหาเรื่องปากแหว่งเพดานโหว่ได้ ​ เราก็เอาข้อมูลคุณค่าทางอาหารนี้กลับมาคืนให้กับชุมชน​ อย่างน้อย​ชาวนาคนไหนที่เขาจะปลูกข้าว เพื่อจำหน่าย​นี่ก็เป็นช่องทางหนึ่ง ที่จะช่วยเสริมกำลังใจในการทำนา

“เมื่อก่อนชาวบ้าน​ไม่รู้เรื่องการขายข้าวเลย​ ทางใต้เขาทำนา ปลูกข้าวไว้บริโภค​ เขาไม่ได้เน้นขาย​ พอเราลงไปทำความเข้าใจ​ ให้เขาได้ลองคิดว่าข้าวพื้นบ้านนี้ ถ้าคุณไม่กินข้าวนี้นะ​ แต่ถ้าคุณปลูกได้ก็สามารถขายได้​ ช่วงหลังจากปี​ 2560​ เราขายข้าวพื้นบ้านได้เยอะขึ้น​

พอมาช่วงโควิด-19​ คนไม่ได้ออกไปทำงาน​นอกพื้นที่​ คนต้องอยู่แต่ในชุมชน​ คนไหนที่ไม่มีที่นาเป็นของตัวเองก็มองไปที่นาร้าง​ แล้วไปขอทำนา​ เพราะทางใต้เขาไม่มีเรื่ิองเช่านา​ มีแต่ทำนาหวะ ซึ่งในความหมายคือ การลงทุนทำนาร่วมกัน ​โดยเจ้าของนาหว่านกล้าให้​ ส่วนค่าไถนั้นคนทำนากับเจ้าของนาออกกันคนละครึ่ง​ พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้ก็แบ่งครึ่งกัน​ แต่ทำแบบต่างคนต่างเก็บ หรือบางคนไป รับจ้างเก็บข้าว​ แต่เดิมรับเป็นเงิน​ ก็เริ่มเปลี่ยนมารับเป็นข้าวแทน​ เพราะช่องทางการหาเงินมันมีหลายช่อง​ ขายผัก​ ขายผลไม้​ กรีดยาง​ แต่ว่าตอนนี้คนให้ความสำคัญเรื่องข้าว​ เพราะว่าตอนนี้คนในชุมชน พูดกันเยอะ​ว่า​ ต้องเตรียมเรื่องอาหารไว้

สำหรับความท้าทายของชาวนา หลังจากมีโอกาสมาทำเรื่องการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ​ หลังจากได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้​กับกลุ่มอื่น​ จากภาคอื่น​ จากคนในชุมชนเอง​  

ทุกคนเรียน​รู้แล้วว่า​ ความมั่นคงทางอาหารมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย​ ถ้าเราไม่ผลิตเอง​ และพี่มองว่า การทำข้าวไร่​ การทำพืชไร่ คือช่องทางเดียวที่เราจะรักษาความมั่นคงทางอาหารไว้ได้​ เพราะว่าใน ไร่ มันมีทั้งถั่ว มีทั้งเผือก​ มีทั้งมัน​ มีทั้งขิง​ ข่า​ ตะไคร้​ พริก​ มะเขื​อ​ บวบ​ แตง​ ถ้าเรื่องพืชไร่หายไป​ เราก็ไม่มีความมั่นคงทางด้านอาหารแล้ว​ เพราะต้องซื้อทุกอย่าง​”

ส่วนเรื่องสภาพภูมิอากาศ​ที่มันเปลี่ยนไป​ จากเดิมที่เราเคยดำนาเสร็จก่อนออกพรรษา​ ตอนนี้ออกพรรษา​แล้ว​ ทอดกฐินไปแล้ว​ 1 เดือน​ นาตอนนี้กำลังดำกันอยู่​ เพราะว่าก่อนหน้านี้ไม่มีน้ำ​ ฤดูกาลทำนามันขยับออกมาเรื่อยๆ

ตอนนี้กลุ่มเราคุยกันเบื้องต้น​ อาจจะเปลี่ยนพันธุ์ข้าว​ จากที่เป็นข้าวนาปี​ ใช้เวลา​ 5-6 เดือน​ เราอาจจะต้องเปลี่ยนเป็นพันธุ์​ข้าวอายุสั้นลง​ ใช้เวลา 3-4 เดือน​ แต่ว่าเราอาจจะต้องคัดพันธุ์​ข้าวใหม่อีกรอบ เพื่อที่จะให้มันทน และรับมือกับสภาพอากาศที่มันเปลี่ยนแปลงได้​ และชาวบ้านแต่ละคนจะใช้พันธุ์​ข้าวอย่างน้อย​ 3 ชนิดในการทำนา​ คือ​ ข้าวเบา​ อายุ​ 4 เดือน​กว่า ข้าวกลาง​ อายุ​ประมาณ​ 5 เดือน​ และข้าวหนัก​ ประมาณ​ 6 เดือน เพื่อลดความเสี่ยง​

การทำนาวิถีภาคใต้​ ใช้วิธีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน​ อย่างเช่น​ วันนี้จะดำนาของใครก็ไปช่วยกันดำ​ พอถึงฤดู​เก็บเกี่ยวก็เหมือนกัน​ ก็เลยเกิดความรักความสามัคคี​ในหมู่คณะ​ ในเครือข่าย​ และตั้งแต่ทำมา​ พี่ก็มองว่า มันมีแต่ขยายวงเพิ่มขึ้น​ ก็แสดงว่าความรักที่เราทุ่มเทกับตรงนี้​ มันเติบโต ตอนนี้พลังที่พี่ได้รับก็คือ พลังจากเด็กที่ทำให้หัวใจยังฟูและยังไปต่อได้​ เรามีช่วงวัยที่จะเกษียณอายุเหมือนกัน​ แต่ว่า ก่อนเกษียณ​ ช่วงเวลาที่เหลืออยู่​ ความรู้ที่มีอยู่​ พี่อยากส่งต่อให้คนรุ่นหลังให้ได้มากที่สุด​ การที่เราถ่ายทอดให้กับเด็ก​ เด็กไม่ได้ทำวันนี้หรอก​ แต่วันนึงที่เขาเจออะไรสักอย่างนึง​ ค้นพบตัวเองสักอย่างนึง​ ช่วงนั้นเขาก็จะกลับมาทำได้​ เอาตัวรอดได้​ พึ่งตัวเองได้”

สำหรับความสำคัญของเทศกลข้าวใหม่นั้น พี่จ๋ากว่าว่า ข้าวใหม่ถือเป็นข้าวที่มีประโยชน์​ที่สุดและอร่อย ที่สุด​ เพราะฉะนั้นคนที่ได้กินข้าวใหม่คือคนที่โชคดีที่สุดในปีนั้นๆ​ และประเทศไทยโชคดีที่สุดที่มีโอกาส​ได้กินข้าวใหม่ตลอดทั้งปี​ เพราะข้าวใหม่ในประเทศไทยออกไม่พร้อมกัน​ เริ่มจากภาคเหนือ​ ไล่ลงมาอีสาน​ ไล่ลงมาภาคกลาง​ มาจนถึงใต้บน​ แล้วก็ใต้ล่าง​ และอยากเชิญชวนให้คนที่ไม่เคยชิมข้าวใหม่ได้มาเที่ยว แงาน​เทศกาลข้าวใหม่ 2567 ที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)  มาชิมดูว่าข้าวใหม่ในแต่ละภาค​ มีรสชาติ​ยังไง​ และกินกับอะไรอร่อย

“คนส่วนมากมองว่าข้าวใต้เป็นข้าวแข็ง​ แต่ว่าคนโบราณเขาจะมีเทคนิคพิเศษ​ในการหุงข้าว​ เขาดูว่าวันนี้เขาแกงอะไร​ แล้วเขาจะหุงข้าวแบบไหน​ ยกตัวอย่าง เมนูกับข้าวที่มันแห้ง ๆ​ อย่างเช่น​ เนื้อแห้ง​ ปลาเค็ม​ ปลาทอด​ เขาก็จะหุงข้าวให้นิ่มหน่อย​ ก็คือใช้น้ำเยอะหน่อย​ แต่ถ้าเขาแกงส้ม​ แกงกะทิ​ แกงจืด​ เขาก็จะหุงข้าวให้แข็งหน่อยนึง​ เพื่อเวลากินกับน้ำแกง​ มันจะทำให้กลมกล่อม​ ไม่พะอืดพะอม”

พบกับพี่จ๋า และหลากหลายข้าวไร่ หลากหลายเมนูอาหารจากนิเวศเกษตรสวนสมรม พืชร่วมยางจากพื้นที่ภาคใต้ หรือหากสนใจเรื่องพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน เรียนรู้(จัก)พันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่เหมาะสมใน สถานการณ์โลกเดือด ก็มีเวิร์กชอปจากชาวนานักพัฒนาพันธุ์ข้าวตัวจริง ช่วงเวลา 13.30 – 15.00 น. ด้วยนะ

บทความแนะนำ