นอกเหนือจากกิจกรรมการประกวดผลทุเรียนบ้าน การประกวดสวนทั้งสวนที่มีทุเรียนเก่าแก่ยังเป็นอีกกิจกรรมที่แปลกใหม่และน่าสนใจยิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในงาน “ป่าเรียน ป่าเย็น ภูมิปัญญาชุมชนแก้วิกฤตโลกเดือด ครั้งที่ 1” จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2567 ที่ไร่วุฒิภัทร ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านใหม่ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
กิจกรรมการประกวดนี้เรียกว่าการประกวด “ป่าเรียน” ดังนั้นจึงเท่ากับเป็นการประกวดสวนสมรมที่จะต้องมีทั้งต้นทุเรียนและพืชพันธุ์อื่นๆ อยู่ร่วมกัน มีระบบนิเวศซึ่งเป็นธรรมชาติแบบป่า มิใช่แบบแปลง
เกณฑ์ที่ใช้ในการประกวดที่มี 7 ประการจึงถูกกำหนดให้สะท้อนมิติที่สำคัญของความเป็นสวนสมรม โดยที่มีข้อแรกที่เป็นเรื่องของทุเรียนโดยตรง เพื่อให้เกิดความเฉพาะเจาะจงในความเป็นสวนสมรมแบบป่าเรียน
เกณฑ์ 7 ข้อดังกล่าวประกอบด้วย (1) เรื่องของอายุต้นทุเรียนและวิธีการ/เทคนิคการปลูก (2) ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ท้องถิ่น (3) การจัดการสวนและต้นทุเรียน (4) การใช้ประโยชน์ เช่น เรื่องเศรษฐกิจครัวเรือน รวมถึงเรื่องนวัตกรรมและภูมิปัญญาเดิม (5) การไม่ใช้สารเคมีตลอดช่วงอายุต้นทุเรียน (6) ระบบนิเวศ ได้แก่เรื่องของความหลากหลาย ความสมบูรณ์ และการอนุรักษ์ และ (7) เรื่องราว/เรื่องเล่าของสวน รวมทั้งวิสัยทัศน์และมุมมองของเจ้าของสวน
สวนที่ส่งเข้าประกวดในงานนี้มีด้วยกัน 9 สวน พบว่า ทั้งหมดเป็นสวนที่ถูกส่งต่อมาสู่รุ่นต่อรุ่น มีทั้งการอนุรักษ์รักษาต้นทุเรียนเดิมไว้และการปลูกเพิ่ม แต่บางต้นก็เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการที่กินทุเรียนบ้านใต้โคนต้นและทิ้งเมล็ดไว้ ทั้งนี้ ในแง่ของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ของประเทศไทย บรรพบุรุษจะมีการปลูกทุเรียนบ้านเพื่อแบ่งให้ลูกทุกคนเป็นมรดกอย่างหนึ่ง โดยบางสวนก็ถือว่ามีสมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน
ในปัจจุบัน สวนทุเรียนบ้านมักเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สวนยางและสวนทุเรียนพันธุ์อย่างหมอนทอง ที่เจ้าของสวนปลูกเป็นพืชส่วนใหญ่ของพื้นที่ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่สวนมี 12 ไร่ จะแบ่งเป็นสวนทุเรียนบ้านบริเวณริมน้ำ ลำห้วย หรือบริเวณที่มีความชุ่มชื้นประมาณ 2 ไร่ พื้นที่ 10 ไร่ จะปลูกยางพาราหรือปลูกทุเรียนบ้านจากเมล็ดเพื่อตัดต้นเสียบยอดเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ชะนี อื่นๆ เพราะต้นทุเรียนบ้านมีความทนทานต่อโรคพืช และเติบโตได้ดีในพื้นที่ ดูแลง่าย การปลูกทุเรียนบ้านส่วนมากไม่ต้องใช้สารเคมีหรือปุ๋ยบำรุง ต้นทุเรียนบ้านสามารถเติบโตได้เอง โดยทั่วไป สวนทุเรียนบ้านจะมีการถางเพียงปีละ 1 ครั้ง คือ ช่วงที่รอเก็บผลผลิตของทุเรียนบ้าน
นอกจากนั้น ภายในสวนทุเรียนบ้านจะมีพืชอื่นร่วมด้วย เช่น สะตอ สละ มังคุด ลูกเหนียง ลูกนาง ผักกูด ส้มแขก บอน หรือพืชอื่นๆ ที่เจ้าของสวนหรือสมาชิกในครอบครัวชอบบริโภค นิยมปลูกริมน้ำ ลำคลอง หรือที่ที่มีความชุ่มชื้น หรือบริเวณเขตแดน เพื่อแบ่งเขตสวนกับญาติพี่น้อง เป็นต้น
จากการสำรวจทั้ง 9 สวนที่เข้าประกวดและรวบรวมข้อมูลอย่างง่าย ทำให้เห็นข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้ (1) ต้นทุเรียนบ้านอยู่ในช่วงอายุ 0 – 100 กว่าปี (2) มีต้นทุเรียนบ้านที่ให้ผลผลิตแล้วมากกว่า 127 ต้น (3) รวมพื้นที่ป่าเรียนกว่า 38 ไร่ (4) มีพืชสมุนไพรและผักพื้นบ้านกว่า 120 ชนิด โดยที่บางสวนเพียงสวนเดียวก็มีเกือบ 100 ชนิด และ (5) มีไม้ป่าในสวนกว่า 20 ชนิด
มีทุเรียนบ้านบางต้นให้ผลผลิตมากกว่า 200 ลูก/ต้น ทำให้แบ่งการใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคเอง (ทานสุก ทำอาหารคาวหวาน) แบ่งปันญาติพี่น้อง ทำบุญ จำหน่าย แปรรูป เช่น ทำทุเรียนกวน ฯลฯ
ในฐานะกรรมการตัดสินการประกวดป่าเรียนคนหนึ่ง ผศ.ดร.ปราโมทย์ แก้ววงศ์ศรี จากศูนย์บริการการศึกษาภาคใต้ตอนล่าง คณะศิลปศาสตร์ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน สมุทรสงคราม กล่าวแสดงความรู้สึกว่า ตนเองโชคดีมากที่ได้มีโอกาสไปเห็นแปลงของทุกคน ทั้ง 9 สวนที่เข้าร่วมประกวด
“ทุกแปลงมีดีแต่ไม่เหมือนกัน มีสิ่งที่ดีในทุกแปลง” นั่นคือข้อสรุปที่กระชับและได้ใจความของ ผศ.ดร.ปราโมทย์
จากนั้น ผศ.ดร.ปราโมทย์ได้ยกตัวอย่างสวนจำนวน 5 แห่งมากล่าวถึงว่ามีดีอย่างไร โดยไล่เรียงไปทีละสวน
“สวนคุณสุคนธ์ บุญสุย ของในสวนขายได้เงินหมด ถามว่าต้นทุเรียนมีกี่ต้น มีเพียงไม่กี่ต้นเท่านั้น แต่มีพืชอื่นในสวนที่สามารถขายได้ เช่น บอนยายรัด มะนาว กล้วย ในสวนนั้นมีป่าเรียนซึ่งเป็นแหล่งน้ำซับของสวน ประโยชน์ของน้ำซับตรงนั้นมีมากมาย ไหลตลอดปี ไม่เคยแห้งตลอดทั้งปี ทุกสวนมีดีอยู่แล้ว แค่ต้องไปจัดระบบบ้าง
“สวนป้ายินดีตั้งอยู่ในหุบ ต้นทุเรียนมีแต่ต้นใหญ่ สูง ปรากฏอยู่ในสวน แสดงว่าเราอนุรักษ์ไว้ สิ่งที่มีอยู่เราต้องรู้ว่าดีอย่างไร สวนเรียนแบบป่าเรียนดีอย่างไร
“สวนป้าสมปองที่ทำฝายชะลอน้ำถือว่าดีมาก เป็นการชะลอน้ำไว้ใช้ ได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตรงนั้น การที่เราทำตรงนั้นเป็นการปกปักพื้นที่ของเรา เป็นวิวัฒนาการ ฉะนั้นสวนของเราทุกวันนี้จะเป็นไปตามวิวัฒนาการ ต้นไม้ใช้สอยจะค่อยๆ หายไป จะเหลือแต่ไม้ผล เมื่อก่อนเวลาหักล้างถางพงก็จะเว้นไม้ป่าไว้บ้าง เพื่อเอามาไว้เป็นไม้ใช้สอย
“สวนป้ามะลิ จากการสังเกตตอนลงแปลงพบว่าต้นลูกมุด(ภาษาใต้) ขนาดสองคนโอบ ต้นไม้ในสวนบางต้นยอดตาย อาจจะเกิดจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมบังคับ บางต้นฟ้าผ่า ซึ่งไม่ตาย เดี๋ยวคงแตกกิ่งใหม่ ต้นไม้ตายก็เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ได้
“สวนนายชะเวง ข้อดีคือเป็นสวนรุ่นก่อน แต่นายชะเวงมาทำเพิ่ม ปลูกต้นไม้เพิ่มจากเดิมที่มี ระบบนิเวศเป็นทั้งที่ดอนและในหุบ นายชะเวงรู้จักเว้น รู้จักการเอาสิ่งที่มีในที่ดอน ในที่หุบ มาสร้างคุณประโยชน์ สร้างคุณค่า และนำของในสวนมาขายบ้าง”
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ปราโมทย์ กล่าวในเชิงภาพรวมด้วยว่า ในพื้นที่นั้นไม่ได้มีเพียง 9 สวนนี้ แต่สวนอื่นๆ และป่าเรียน ป่าเย็นที่อื่นๆ ก็มีของดีอยู่เช่นเดียวกัน ซึ่งควรที่จะได้มีการโฆษณาออกไป เพราะคนส่วนใหญ่ก็มีส่วนได้ผลประโยชน์ทางอ้อมจากป่าเรียน ป่าเย็นด้วย นั่นคือการได้สิ่งแวดล้อมที่ดี ส่วนในระยะยาวนอกเหนือจากการอนุรักษ์เอาไว้แล้ว ยังควรต้องมีการจัดระบบใหม่ เพื่อให้เข้ากับคนรุ่นใหม่และสามารถใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
“เราอนุรักษ์สวนแบบนี้ไว้ น้ำจะไม่มีวันแห้ง หากสวนแบบนี้หายไป ไม่นานสายน้ำสายคลองก็แห้ง เราทำตรงนี้จะได้ประโยชน์ทั้งกับคน กับสังคม อยากให้ทำ แต่ทำแบบคนรุ่นใหม่ ที่ไม่เหมือนรุ่นทวด เอาของดีที่มีประโยชน์ใส่เข้าไป ให้หลากหลาย เข้ากับภูมิประเทศ เช่น ปลูกตรงไหน ปลูกใต้ต้นอะไร ต้นไหนคู่กับต้นไหน สิ่งที่เราทำมันเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต หรืออาจเรียกว่าเป็นตู้เย็นมีชีวิต ไม่ต้องเสียบไฟ แต่ก็มีอาหารสดให้เก็บกิน” ผศ.ดร.ปราโมทย์ กล่าวทิ้งท้ายไว้
สำหรับผลของการประกวดสวนสมรม “ป่าเรียน ป่าเย็น” ในงาน “ป่าเรียน ป่าเย็น ภูมิปัญญาชุมชนแก้วิกฤตโลกเดือด ครั้งที่ 1” ปรากฏว่า สวนที่ชนะเลิศคือสวนคุณชะเวง ธรรมโร รองชนะเลิศอันดับ 1 คือสวนคุณใจ พรมประกอบ รองชนะเลิศอันดับ 2 คือสวนของคุณมะลิ ประดิษฐ์ และรองชนะเลิศอันดับ 3 คือสวนของคุณสุคนธ์ บุญสุย
…
ทั้งนี้ เราจะนำเสนอให้เห็นความรุ่มรวยและความมหัศจรรย์ที่น่าสนใจของสวนทั้ง 9 แห่งที่เข้าร่วมประกวดต่อไป
ผลการตัดสินการแข่งขันการประกวดสวนสมรม “ป่าเรียน ป่าเย็น”