โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

            หลังจากมีโอกาสได้พูดคุยกับ ณฐา ชัยเพชร หรือพี่จ๋า ถึงวิถีเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตของตัวเองให้เป็นการปลูกป่ายาง หรือปลูกพืชร่วมยาง เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น ก็พบว่า การมีความรู้เรื่องเทคนิคการปลูกและปรับเปลี่ยนการผลิตอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆในชีวิตอีกมากมายที่มีส่วนช่วยหนุนเสริมให้พี่จ๋าประสบความสำเร็จ อยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาได้

ปัจจัยที่ช่วยให้สำเร็จ

            หัวใจสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปรับเปลี่ยนของพี่จ๋าประสบความสำเร็จขึ้นมาได้นั้น ก็คือ การจดบันทึกอย่างสม่ำเสมอ

            พี่จ๋าเปิดสมุดบันทึกให้ดู ในนั้นมีรายละเอียดทั้งหมด ว่าในแต่ละวัน ของแต่ละเดือน และแต่ละปี ในแปลงนั้น มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่นกรีดยางไปกี่วัน ได้น้ำยางเท่าไหร่ ขายได้เท่าไหร่ เก็บผักอะไรได้บ้าง ขายได้เท่าไหร่ ตลอดจนปลูกอะไรเพิ่มบ้าง

            การจดบันทึก ทำให้พี่จ๋าตอบทั้งตัวเอง และผู้อื่นได้อย่างชัดเจนว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังเผชิญนั้น การกรีดยางทำได้น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น

ปี 2556 เดือนตุลาคม กรีดยางได้ 10 วัน แต่ในปี 2565 เดือนตุลาคม กรีดยางได้แค่ 1 วัน  ปี 2556 เดือนพฤศจิกายน กรีดยางได้ 12 วัน แต่ในปี 2565 กรีดได้แค่ 7 วัน  และ ปี 2556 เดือนธันวาคม กรีดยางได้ 7 วัน ปี 2565 กรีดยางได้แค่ 1 วัน เท่านั้น

นอกจากนี้ การจดบันทึกการเก็บผลผลิต และการขายผลผลิตต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ยังทำให้พบว่าการปลูกพืชผักอื่น ๆ ที่มาหนุนเสริมในสวนยาง ช่วยสร้างรายได้เสริมในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ทำให้สามารถวางแผนการใช้จ่ายในครัวเรือนได้

            ความมีวินัยในการจดบันทึกอย่างสม่ำเสมอของพี่จ๋า ทำให้อดสนใจไม่ได้ว่าอะไรทำให้พี่จ๋าเป็นนักจดบันทึกได้แบบนี้ พี่จ๋าก็เลยเล่าให้ฟังว่า ปกติก็เป็นคนชอบจดบันทึกชีวิตประจำวันอยู่แล้วว่าทำอะไรบ้าง และตอนช่วงที่แต่งงาน มีคนมาสอนให้ทำบัญชีครัวเรือน ก็เลยเริ่มหัดจดบันทึก ทำบัญชีอย่างละเอียด จนทำให้รู้ว่ารายรับ รายจ่ายในครัวเรือนมาจากไหนบ้าง และจากการจดบันทึก ก็ทำให้สามีตระหนักว่าค่าใช้จ่ายที่มีมากจนแทบไม่พอนั้น มาจากค่าเหล้าและบุหรี่ของตนเอง และตัดสินใจเลิกในที่สุด ก็เลยเห็นความสำคัญของการบันทึกเรื่อยมา และยังคงทำอยู่อย่างสม่ำเสมอ

            นอกจากการเป็นนักจดบันทึกแล้ว พี่จ๋ายังเป็นนักเรียนรู้ และสังเกตอยู่ตลอดเวลาด้วย เช่นบ่อน้ำที่ขุดไว้ในสวนยางตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ พี่จ๋าก็สามารถบอกได้ว่าเดิมก่อนจะปลูกป่า น้ำจะแห้งตอนเดือน 5 แต่พอหลังปี 48 ที่ปลูกป่า น้ำก็เริ่มแห้งช้าลง คือแห้งเดือน 8 พอมาปีที่แล้วน้ำมาแห้งตอนเดือน 10 ทำให้เห็นว่าการมีพืชร่วมยางนี้ มีส่วนช่วยให้ดินสามารถอุ้มน้ำไว้ได้มากขึ้นจริง ๆ

            ไม่เพียงเรื่องบ่อน้ำ แต่รวมถึงการสังเกตพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่ขึ้นในสวนยางของตัวเอง เรียกว่าเดินไปทางไหน พี่จ๋าก็บอกได้หมดว่าพืชหน้าตาแบบนี้ชื่ออะไร มีประโยชน์ยังไง เอาไปใช้ทำอะไรได้ ถามว่าพี่จ๋ารู้ได้ยังไง พี่จ๋าก็บอกว่า ก็ได้ความรู้จากการไปแลกเปลี่ยนกับคนที่ต่าง ๆ แล้วก็กลับมาดูในพื้นที่ตัวเอง หลายอย่างเรามี แต่เราไม่เคยรู้

            คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งที่พบในตัวพี่จ๋า คือการเป็นนักทดลอง ไปเรียนรู้ที่ไหนมา ก็นำมาทดลองปฏิบัติด้วยตัวเอง เช่น ไปร่วมประชุมแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกมา ตระหนักว่าราคาข้าวจะแพงขึ้น พี่จ๋าก็กลับมาเรียนรู้และลงมือปลูกข้าวไร่ ทำนา ที่สำคัญยังได้นำเอาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านหลากหลายสายพันธุ์มาฟื้นฟูในชุมชน และส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มีข้าวพื้นบ้านกินด้วย

            หรือเมื่อรู้เท่าทันสถานการณ์ของสภาพอากาศว่าจะแล้งจัด ก็เตรียมรดน้ำทุเรียนไว้ล่วงหน้า ทำให้ปีนั้นทุเรียนยังคงออกลูกเป็นร้อยเลย

            อย่างไรก็ตาม พี่จ๋าบอกว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนี้เป็นความท้าทายที่ใหญ่และยากมาก เพราะต้องเรียนรู้และปรับตัว ต้องทดลองอยู่ตลอด บางครั้งแม้จะทำตามวิธีเดิมที่เคยคิดว่าได้ผล เช่น รดน้ำทุเรียนล่วงหน้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลเหมือนเดิมทุกครั้ง ดังนั้นต้องหมั่นสังเกต หมั่นเรียนรู้ และหมั่นทดลอง ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

            พี่จ๋าพูดถึงการเป็นเกษตรกรในยุคปัจจุบันให้ฟังว่า ทุกวันนี้เกษตรกรต้องเป็นนักเรียนรู้ และต้องทำเป็นทุกอย่าง ไม่ใช่ปลูกเป็นอย่างเดียว แต่ต้องรู้ว่าสามารถนำมาใช้อะไรได้บ้าง จะแปรรูปยังไง จะสื่อสารกับผู้บริโภคยังไง จะสร้างตลาด จะเชื่อมโยงเครือข่ายได้ยังไง และยังต้องรู้วิธีการบริหารจัดการด้วย ทั้งบริหารจัดการแปลง บริหารจัดการการเงิน ทุกอย่างต้องเท่าทันกับยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลง

            ทุกวันนี้ พี่จ๋าใช้วิธีสื่อสารผ่าน Facebook ของตัวเองที่ใช้ชื่อว่า ธรรมชาติเพื่อชีวิต ทำให้ผู้คนจำนวนมากได้แรงบันดาลใจ บางคนก็มาขอปรึกษาว่าจะปรับเปลี่ยนต้องทำอย่างไรบ้าง ควรปลูกอะไร แบบไหน ที่สำคัญคือ ยังเป็นช่องทางสำคัญที่พี่จ๋าใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค กลายเป็นช่องทางที่ทำการตลาด ส่งขายผลผลิตต่าง ๆ มากมาย เรียกได้ว่าลูกค้าหลักของพี่จ๋าเป็นลูกค้าทางช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีทั้งผู้บริโภคทั่วไปทั่วประเทศ และเชฟที่ต้องการสร้างสรรค์เมนูจากผักพื้นบ้าน ที่สำคัญ พี่จ๋าไม่เพียงขายผลผลิตในแปลงตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวเชื่อม สร้างเครือข่าย และจัดหาผลผลิตจากสมาชิกในชุมชนไปกระจายส่งให้ผู้บริโภคตามที่ต่าง ๆ ด้วย

ทิศทาง ความหวัง ความฝัน

          เมื่อถามถึงทิศทาง ความหวัง ความฝันในอนาคต พี่จ๋าบอกว่า เมื่อก่อนฝันอยากมีที่ดินเยอะ ๆ แต่ตอนนี้คิดว่าไม่ต้องการที่ดินเยอะ แต่ตั้งใจจะออกแบบที่ดินให้มีความผสมผสาน ครบวงจร และมีมูลค่ามากขึ้น คือทำ 10 ไร่ที่มี ให้มีมูลค่าเท่ากับ 100 ไร่ คือมีพื้นที่ที่ปลูกไม้เศรษฐกิจ คือยางพารา มีพื้นที่ปลูกผลไม้จำพวก ส้มแขก จำปูริง มะพูด สะตอ สละ ทุเรียน มีพื้นที่ปลูกผักพื้นบ้าน มีพื้นที่ปลูกข้าว มีพื้นที่ปลูกพืชไร่เสริมเข้าแปลง เช่น พวกถั่ว งา ข้าวโพด มีพื้นที่ปลูกพืชหัว เช่น พวกเปราะหอม ข่า และอาจมีพื้นที่ทำปศุสัตว์ เลี้ยงไก่ เลี้ยงมดแดง นอกจากนี้ในพื้นที่นี้ยังอาจได้เห็ดป่าที่กินได้อีกจำนวนมาก ที่เกิดขึ้นเองจากระบบนิเวศน์ที่ฟื้นฟูตัวเองขึ้นมา ทั้งเห็ดโคน เห็ดระโงก เห็ดแครง เห็ดจมูกหมู เห็ดชานหมาก เป็นต้น

นอกจากนี้พี่จ๋ายังตั้งใจอยากจะทำงานข้อมูล จดบันทึกรวบรวมพืชพันธุ์ที่เกิดขึ้น ให้คนได้รู้จักประโยชน์ รู้จักวิธีนำไปใช้ เป็นแรงจูงใจคนร่วมกันรักษาพืชพันธุ์พื้นถิ่นที่มีประโยชน์เหล่านี้เอาไว้ให้มากขึ้นกว่าเดิม

การงานอีกอย่างที่พี่จ๋าตั้งใจจะทำมากขึ้น คือ การทำงานกับเด็ก ด้วยความที่ตระหนักว่าทุกวันนี้ระบบการศึกษาแยกขาดจากวิถีชีวิตการเกษตรอย่างมาก เด็ก ๆ ไม่ค่อยมีความรู้และไม่มีประสบการณ์เรื่องเกษตรเลย แม้จะเติบโตในครอบครัวเกษตรกร ทำให้เด็ก ๆ ไม่สนใจเรื่องนี้ พี่จ๋าเชื่อว่า การที่ได้พาเด็ก ๆ ได้สัมผัส เรียนรู้ และมีประสบการณ์ เช่น พาทำนา ดำนา เกี่ยวข้าว เด็กอาจจะยังไม่ได้ทำในวันนี้ แต่จะเก็บประสบการณ์นั้นไว้ในใจ และวันหนึ่งอาจได้นำกลับมาใช้

            แล้วด้วยความที่ตระหนักถึงการเรียนรู้ พี่จ๋าจึงมีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนในเกิดศูนย์เรียนรู้ที่วัดคลองยอง ซึ่งได้ขอพื้นที่วัด เป็นแปลงทดลองปลูกพืชพันธุ์นานาชนิด ทั้งเพื่อการอนุรักษ์ และเพื่อการทดลองปลูกในพื้นที่ อีกทั้งยังมีพื้นที่ป่าโดยรอบซึ่งเป็นที่เรียนรู้พืชพันธุ์พื้นบ้านมากมาย ตลอดจนมีพื้นที่นา ให้เด็กๆได้มาเรียนรู้และทดลองลงมือทำด้วยกัน พี่จ๋าบอกว่า พื้นที่ตรงบริเวณวัดนี้ มีพระช่วยดูแล ส่วนเรามีส่วนช่วยหาพืชพันธุ์มาให้ ผลผลิตที่ได้เวลาวัดมีงานบุญ ก็จะนำไปแบ่งปันให้ชาวบ้าน เวลาเด็กๆมาเรียนรู้ ก็จะมาเรียนรู้กันที่นี่   

            อาจกล่าวได้ว่า พี่จ๋า เป็นเกษตรกรคนหนึ่ง ที่แม้ว่าตอนนี้จะเป็นเพียงผู้หญิงคนเดียว ที่เป็นผู้นำครอบครัว และเป็นแรงงานหลักในครอบครัว เนื่องจากทั้งสามีและพ่อที่เคยอยู่ด้วยเสียชีวิตกันไปหมดแล้ว แต่พี่จ๋า ก็ไม่ได้ตั้งใจทำเกษตร เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองให้อยู่รอด และสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ในหัวใจยังคิดถึงชุมชน คิดถึงเด็ก ๆ ซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญของชุมชนอีกด้วย เพราะการที่เราจะอยู่รอดได้อย่างแท้จริงนั้น เราไม่อาจอยู่ได้ด้วยตัวเราเองเพียงคนเดียว

บทความแนะนำ