ข้อมูลพื้นฐาน
รายงานการสำรวจ ”ผลกระทบทางเศรษฐกิจ-สังคมของโควิด-19 ต่อครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยในชุมชนเกษตรกรรม” จัดทำขึ้นโดยหน่วยปฏิบัติการวิจัยชาวนาร่วมสมัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิชีววิถี กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 17-26 พฤษภาคม 2563 โดยแบบสำรวจจำนวน 1,002 ชุด จำนวน 15 จังหวัด 5 ภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เห็นถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยต่อมิติทางเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ การปรับตัวแสวงหา และการเข้าถึงมาตรการการเยียวและฟื้นฟูจากรัฐ
การสำรวจได้แบ่งตามลักษณะพื้นที่ชุมชนคือ ชุมชนใกล้เมือง (กึ่งเมือง-กึ่งชนบท) ร้อยละ 23.6 ชุมชนชนบท ร้อยละ 62.5 ชุมชนห่างไกลจากเมือง (ชุมชนบนดอย ฯลฯ) ร้อยละ 14.0 และแบ่งประเภทชุมชนตามลักษณะพืชหลัก คือ ชุมชนชาวนา ร้อยละ 54.4 ชุมชนพืชเชิงพาณิชย์ ร้อยละ 29.0 (ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง หรืออื่น) และ ชุมชนสวนผัก/ผลไม้ ร้อยละ 16.6
บทสรุป
ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยมีการผลิตและแหล่งรายได้ที่หลากหลาย กล่าวคือ รายได้ที่มาจากการแปรรูป ค้าขาย และแรงงานนอกภาคการเกษตร ผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 แม้จะเกิดขึ้นในทุกมิติของชีวิตแต่ก็ได้รับผลกระทบน้อยกว่า ผลกระทบของโควิด-19 ต่อคนจนเมือง (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์และคณะ, รายงานการสำรวจผลกระทบจากโควิด-19 ต่อชีวิตคนจนเมือง, 2563) และได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้คนที่มีชีวิตทางเศรษฐกิจในภาคบริการหรือภาคท่องเที่ยว
การผลิตพืชหลักหรือพืชพาณิชย์และไม้ผลได้รับผลกระทบระดับหนึ่ง แต่ผลกระทบรุนแรงนั้นเกิดขึ้นกับการผลิตพืชบางชนิดเท่านั้น เช่น ยางพารา หรือผักผลไม้บางกลุ่ม แต่ไม่ได้เกิดผลกระทบจนกระทั่งไม่มีรายได้จากการผลิต ส่วนรายได้จากการค้าขายและการแปรรูป แม้ได้รับผลกระทบทำให้รายได้ไม่เท่าเดิมแต่ก็พอสามารถปรับตัวในการประกอบอาชีพระดับชุมชน เช่น ตลาดชุมชน การเปิดร้านค้าหน้าบ้าน ฯลฯ
ผลกระทบต่อรายได้จากแรงงานนอกภาคเกษตร มีครัวเรือนที่มีสมาชิกตกงาน ร้อยละ 20.5 และมีครัวเรือนที่สมาชิกมีรายได้นอกภาคเกษตรลดลง ร้อยละ 24.1 ของจำนวนครัวเรือนที่มีสมาชิกหารายได้นอกภาคเกษตร และพบว่า มีแรงงานนอกภาคเกษตรกรรมกลับบ้านจำนวนไม่มากนัก (ร้อยละ 4.1) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า รายได้ในมิติดังกล่าวนี้ไม่ได้หดหายไปอย่างสิ้นเชิง สมาชิกครัวเรือนเหล่านี้ยังมีรายได้พอประมาณและเห็นโอกาสที่จะหารายได้จากแหล่งดังกล่าวนี้
ภาพดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยมีความยืดหยุ่นสูง (resilience) มีความหลากหลาย มีการผลิตและแหล่งรายได้ที่หลากหลายเพื่อประคองชีวิตทางเศรษฐกิจในยามวิกฤติ เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรในภาคการผลิตอื่น
ในขณะเดียวกัน ผลกระทบด้านความมั่นคงทางอาหารนั้น ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก เนื่องจากยังพออาศัยแหล่งอาหารจากแปลงการผลิตของครัวเรือน แหล่งอาหารจากฐานทรัพยากร และการพึ่งพาอาศัยกันในมิติวัฒนธรรม เช่น การแลกเปลี่ยนอาหารในชุมชน และยังสามารถซื้ออาหารได้จากแหล่งตลาดชุมชนที่หลากหลาย ทั้งตลาดเขียว หรือรถเร่/รถพุ่มพวง ตลาดหน้าบ้านซึ่งกลายเป็นทั้งแหล่งรับประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนและเป็นกลไกหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจชุมชน การอาศัยมิติด้านความสัมพันธ์ทางสังคม เครือข่ายทางสังคมในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยการแลกเปลี่ยนผลผลิต อาหารการกิน การบริจาค ฯลฯ เหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นระบบเศรษฐกิจฐานรากและต้นทุนด้านเครือข่ายความสัมพันธ์ในชุมชนที่เกื้อหนุนให้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยสามารถปรับตัว และคอยช่วยประคับประคองให้ชีวิตพออยู่รอดในสภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงเช่นนี้
มิติด้านการเยียวยาและช่วยเหลือจากรัฐในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” พบว่า สมาชิกครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยที่หารายได้นอกภาคเกษตรกรรมยังตกหล่นหรือเข้าไม่ถึงการเยียวยาจำนวนมาก แม้จะมีการขยายทั้งวงเงินงบประมาณและการปรับกระบวนการพิจารณาตรวจสอบสิทธิ์ แต่สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ ความไม่เข้าใจต่อสภาพชีวิตของครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยที่มีชีวิตทางเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ การมุ่งเยียวยาครัวเรือนเกษตรกรที่มองเห็นอาชีพทางการเกษตรมิติเดียว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนซึ่งเป็นสมาชิกครัวเรือนดังกล่าวนี้ตกหล่นไม่ได้รับเงินเยียวยา เพราะโดนไล่ให้มารับเงินเยียวยาในฐานะเกษตรกร แต่การเยียวยาครัวเรือนเกษตรกรที่ให้หนึ่งครัวเรือนหนึ่งสิทธิ์ส่งผลให้สมาชิกในครัวเรือนคนอื่นๆ ที่มีแหล่งรายได้นอกภาคเกษตรกรรมไม่ได้รับเงินเยียวยา
ข้อเสนอ
จากผลการสำรวจและข้อค้นพบดังกล่าวมานี้จึงนำมาสู่ข้อเสนอบางประการดังนี้
ประการแรก ด้านทิศทางของการฟื้นฟูชีวิตภาคเกษตรกรรมชุมชนเกษตรกรรายย่อย รัฐต้องมองเห็นถึงศักยภาพของระบบเศรษฐกิจฐานรากและต้นทุนในชุมชนที่เกื้อหนุนให้ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยสามารถปรับตัวในสภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น ดังข้อค้นพบจากการสำรวจนี้ งบประมาณฟื้นฟูของรัฐจำนวน 4 แสนล้านบาทที่กำลังดำเนินการต้องมุ่งหนุนเสริมศักยภาพดังกล่าว เช่น ครอบคลุมอาชีพ ความหลากหลายของระบบการผลิตทางการเกษตร ตลาดหลากหลายประเภท และศักยภาพของฐานทรัพยากร และเครือข่ายทางสังคม-วัฒนธรรม ซึ่งสามารถรองรับวิกฤตการระบาดของโรค และวิกฤตต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น
ประการที่สอง ด้านกระบวนการฟื้นฟูชีวิตเศรษฐกิจฐานรากภายใต้งบประมาณ 4 แสนล้านบาท จำเป็นที่ต้องมีสร้างการส่วนร่วมร่วมอย่างกว้างขวางเพื่อให้บทเรียน ประสบการณ์จากชีวิตของผู้คนที่ดิ้นรนปรับตัวของครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นผู้คนจากฐานรากได้เป็นตัวแสดงสำคัญในการฟื้นฟูชีวิตของตนเอง รัฐไม่ควรดำเนินกระบวนการแบบลุกลี้ลุกลน รวบรัดรวมศูนย์โดยผ่านกลไกของหน่วยงานราชการต่างๆเป็นหลักอย่างเดียวแบบที่กำลังดำเนินการอยู่
ประการที่สาม มาตรการเยียวครัวเรือนเกษตรกรรายย่อย จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องมีความเข้าใจภาพชีวิตและวิถีการทำมาหากินของสมาชิกครัวเรือนเกษตรกรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เงินเยียวยาต้องครอบคลุมชีวิตสมาชิกครัวเรือนที่เป็นแรงงานนอกภาคเกษตรกรรม ส่วนการเยียวยาเกษตรกรที่มีการลงทะเบียนเกษตรกรต้องคำนึงถึงแรงงานรับจ้างและผู้ไร้ที่ดินที่ไม่มีแปลงการผลิตและไม่สามารถลงทะเบียนเกษตรกรได้
ประการที่สี่ เมื่อภาพชีวิตทางเศรษฐกิจของสมาชิกครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยมีฐานรายได้สำคัญอีกด้านหนึ่งที่มาจากแรงงานนอกภาคเกษตรกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างและจัดระบบสวัสดิการให้ครอบคลุมชีวิตแรงงานเหล่านี้
อ่านผลการศึกษารายงานการสำรวจ ”ผลกระทบทางเศรษฐกิจ-สังคมของโควิด-19 ต่อครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยในชุมชนเกษตรกรรม” ฉบับเต็มที่….