ดร.กฤษฎา บุญชัย ผู้ประสานงานเครือข่าย Thai Climate Justice for All และเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เป็นหนึ่งในวิทยากรเสวนาหัวข้อเรื่อง “ความสำคัญของพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพท่ามกลางความท้าทายในสถานการณ์ปัจจุบัน” ซึ่งเป็นวงเสวนาที่จัดขึ้นในงาน “เทศกาลข้าวใหม่ ปี 2568” เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2567 ที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ตำบลไทรม้า จังหวัดนนทบุรี
“ความหลากหลายทางชีวภาพท่ามกลางโลกเดือดและภัยพิบัติ” คือหัวข้อย่อยหรือโจทย์ที่ ดร.กฤษฎา ได้รับ ซึ่งตามสาระที่นำเสนอออกมาสามารถขมวดได้เป็น 5 ประเด็นย่อย
มองจุดเชื่อมโยงโลกร้อนกับความหลากหลายทางชีวภาพผ่านกรณีปลาหมอคางดำ
ดร.กฤษฎาเปิดประเด็นด้วยการหยิบยกกรณีปลาหมอคางดำขึ้นมาพูดถึง ในฐานะสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพกับเรื่องโลกร้อน โดยให้ข้อมูลว่า จุดเริ่มต้นของผู้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ปลาหมอคางดำต้องการได้พันธุ์ที่ทนทาน ผลผลิตเติบโตเร็ว แม้ส่วนหนึ่งอาจเป็นปัจจัยเรื่องตลาด แต่อีกปัจจัยหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศและทางสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรและอาหารทุกชนิดตกต่ำลง
ในประเทศไทยได้มีการประเมินว่าผลผลิตจะลดลงประมาณ 15-20% ในอีกประมาณ 10-20 ปีข้างหน้า หรืออาจจะเร็วกว่านั้น และในระดับโลกก็มีการพยากรณ์เช่นกันว่าจะมีการขาดแคลนอาหาร นี่จึงเป็นช่องทางให้กลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจขนาดใหญ่พยายามใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือมาหาทางแก้ปัญหาและสร้างประโยชน์
ดังนั้นจึงเกิดการเพาะพันธุ์ที่ทำให้เป็นพันธุ์ที่ทนทานต่อภูมิอากาศทุกสภาพนิเวศ ซึ่งกลายเป็นเอเลียนสปีชีส์ (Alien species) ดังเช่นปลาหมอคางดำ
“ถ้าถามว่าปลาหมอคางดำตอบโจทย์เรื่องโลกร้อนไหม ตอบเลย เพราะมันทนทุกอย่าง ร้อนเย็นอยู่ได้ น้ำเน่าเสียก็อยู่ได้ แต่มันไปตอบปัญหาอื่นได้ไหม ไม่เลย กลับกันมันไปทำให้ความหลากหลายของอาหาร ความมั่นคงอาหาร และอีกหลายอย่างลดลงและพังพินาศไป
“คือ แทนที่เราจะแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างระบบนิเวศที่ดี เอาพันธุกรรมพื้นบ้าน เอาปลาท้องถิ่น หรือพยายามรักษาให้เกิดระบบนิเวศที่ทำให้เกิดระบบอาหารที่สมบูรณ์ขึ้น แต่เรามุ่งไปที่เทคโนโลยีบางอย่างที่มีผลกระทบ”
จากนั้น ดร.กฤษฎาได้เล่าถึงเวทีวิชาการเกี่ยวกับเรื่องสภาวะโลกรวนที่เพิ่งมีการจัดขึ้น โดยที่มีข้อเสนอจากเวทีดังกล่าวระบุถึงเรื่องการปรับปรุงภาคการเกษตร และแนวทางหนึ่งคือการปรับปรุงพันธุ์
“คำนี้กำกวมมาก ผมฟังนักวิชาการอย่างน้อย 2 คนมีการพูดถึงจีเอ็มโอ (GMOs) และยีนอิดิตติ้ง (Gene Editing) และกระแสโลกมาทางนี้เช่นกัน คือ การเอาจีเอ็มโอมาตอบเรื่องการทนทานต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และแก้ปัญหาผลผลิตที่ตกต่ำ ประเด็นก็คือว่า เทคโนโลยีแบบนี้ หรือเอเลียนสปีชส์แบบนี้ เราลองดูบทเรียนจากปลาหมอคางดำได้ว่าจะเกิดผลอะไรตามมา
“ถ้ากลับไปสมมติฐานเบื้องต้นว่า ทำไมเราต้องห่วงปัญหาเรื่องโลกร้อน แน่นอนว่าผลกระทบหนึ่งเป็นเรื่องของภัยพิบัติ อาจเป็นเรื่องฟ้าฝนที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำ แต่ข้อสำคัญคือมันไปทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารลดลง ส่วนเทคโนโลยีเหล่านี้กำลังบอกว่าตอบโจทย์โลกร้อน แต่ก็ไปทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพและอาหารลดลงอยู่ดี ซึ่งเป็นมุมด้านกลับที่ทำให้เห็นว่า แทนที่จะแก้ปัญหา มันกลับวนมาสู่ปัญหาใหม่”
ความสำคัญของเกษตรนิเวศต่อการดูดซับคาร์บอน
ในประเด็นเกี่ยวกับระบบการเกษตร ดร.กฤษฎากล่าวถึงระบบเดิมของประเทศไทยว่าเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งพันธุกรรมและนิเวศ แต่เมื่อถูกปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ก็แทบไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพหรือมีน้อยมาก ทั้งนี้ แปลงปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ฯลฯ พบว่ามีการปลดปล่อยคาร์บอนและมีเทนในอัตราที่สูงมาก ทำให้หน้าดินสูญเสียศักยภาพเพราะถูกทำลาย
“อย่าลืมว่า มีงานศึกษาที่พบว่า หากหน้าดินมีอินทรียวัตถุอย่างน้อย 1 ซม. ก็มีความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงมาก แต่ระบบไร่เชิงเดี่ยวได้ทำลายหน้าดินและทำลายระบบนิเวศที่เกื้อกูล ซึ่งไม่เพียงแต่คาร์บอนเท่านั้น ความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติก็ต่ำ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในระบบเกษตรต่าง ๆ หลายที่ที่เผชิญกับความเสี่ยงที่สุดมักจะเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวที่ไม่มีความหลากหลายทางนิเวศและพันธุกรรมมากนัก”
ดร.กฤษฎายังชี้ชวนให้มองภาพที่กว้างไปกว่านั้น ว่า องค์ความรู้ปัจจุบันยอมรับแล้วว่า ภูมินิเวศเขตร้อนชื้นที่อยู่ในโซนเส้นศูนย์สูตรของโลก ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในนั้น คือระบบนิเวศที่เก็บกักคาร์บอนฯ ได้ดีที่สุด สูงถึง 25% ของคาร์บอนฯ ที่ปล่อยทั่วโลก โดยที่ระบบนิเวศแบบอื่นเทียบไม่ติด อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเป็นไปในทางไม่ดีนัก โดยในปี ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมามีการประเมินว่า ป่าทั่วโลกมีการดูดซับคาร์บอนได้น้อยลงมาก ส่วนหนึ่งมาจากการที่คุณภาพของป่าและระบบนิเวศต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง
ในทำนองเดียวกัน ดร.กฤษฎาระบุว่า ระบบเกษตรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในเขตร้อนชื้นก็มีศักยภาพสูงในการดูดซับคาร์บอนและการตั้งรับปรับตัวกับโลกร้อน
ทั้งนี้ มีงานศึกษาที่ได้ประมวลออกมาว่า ระบบเกษตรนิเวศ 1 ไร่ดูดซับคาร์บอนฯ ได้ประมาณครึ่งตันคาร์บอน ดังนั้นถ้าประเทศไทยสามารถมีเกษตรนิเวศ 25 ล้านไร่ ตามเป้าหมายของแผนเกษตรกรรมยั่งยืนที่เคยมีการศึกษาและเรียกร้องกัน การดูดซับคาร์บอนฯ ของประเทศไทยโดยระบบการผลิตด้านเกษตรกรรมก็จะทำได้ถึงประมาณ 10 กว่าล้านตันคาร์บอน
“เยอะนะครับ เพราะประเทศไทยปล่อยประมาณ 360 ล้านตัน ถ้าหักไป 10 กว่าล้านจากระบบการผลิตเกษตร ถือว่ามีผลมาก นี่เพียงในภาคผลิตอย่างเดียว ยังไม่นับรวมถึงภาคการจัดการ การบริโภค และภาคการขนส่ง ถ้ามีการปรับโครงสร้างที่เอื้อกับเกษตรนิเวศและระบบความหลากหลายชีวภาพ ก็จะสามารถเป็นคำตอบได้”
ชวนตั้งคำถามกับแนวนโยบาย “ความหลากหลายทางชีวภาพเครดิต”
ดร. กฤษฎาแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์และแนวโน้มในปัจจุบัน ว่ามีประเด็นน่าห่วงหลายเรื่อง เรื่องหลักแรกคือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นภัยคุกคามกระทบความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรุนแรงและโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาสารเคมี ยาปราบศัตรูพืช ซึ่งทำลายทั้งพื้นที่นิเวศ ทำให้แมลงต่าง ๆ ที่มีประโยชน์หายไป
“มันทำให้ศักยภาพของระบบนิเวศทั้งเกษตรและธรรมชาติถดถอยลง ความสามารถในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ของเราก็ลดน้อยลงด้วย”
แต่ปัญหาดังกล่าวจะยิ่งซับซ้อน หากการแก้ไขปัญหาดำเนินผิดทาง กล่าวคือ แทนที่จะฟื้นฟูเกษตรเชิงนิเวศ เน้นสร้างระบบอาหารที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ สร้างการบริโภคที่รับผิดชอบกับโลกร้อน เช่น การบริโภคที่หลากหลาย ไม่ใช่บริโภคโปรตีนจากสัตว์เป็นหลัก ซึ่งทำให้ระบบการผลิตต้องเป็นแบบพืชเชิงเดี่ยว หากแต่แนวทางแก้ปัญหาที่กำลังมีการพัฒนาขึ้นในปัจจุบันกลับมีแนวโน้มเลือกทางที่ผิดต่อไป
ยกตัวอย่าง หากพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ แม้นัยของสาระด้านหนึ่งเป็นเรื่องการคุ้มครองพื้นที่นิเวศหลักทั่วไป แต่อีกด้านกลับเป็นการเปิดทางให้กับเทคโนโลยีแบบจีเอ็มโอ หรือยีนอีดิตติ้ง ทั้งยังมีการเปิดทางแก่สิ่งที่เรียกว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพเครดิต” หรือ Biodiversity credit ขึ้นมาด้วย
“ตอนนี้ทางสถาบันเศรษฐกิจชีวภาพหรือ BEDO กำลังทำงานศึกษาเรื่องนี้ ว่าจะพัฒนาแนวนโยบายในเรื่อง Biodiversity Credit ขึ้น
“คิดดู…ถ้าบริษัทยักษ์ใหญ่ไปทำลายระบบนิเวศความหลากหลายทางชีวภาพในแม่น้ำ ในทะเล แต่บริษัทสามารถไปรักษาความหลากหลายทางชีวภาพที่อื่น แล้วมาชดเชยกับความเสียหายตรงนี้ นี่คือระบบ offset ของการชดเชยว่าด้วย Biodiversity Credit ได้
“อันนี้กำลังกลายเป็นปัญหาที่ไปกันใหญ่ แทนที่เราจะกลับมาอยู่บนหลักพื้นฐานที่ว่า ทำไมเราไม่รักษาความหลากหลายทางชีวภาพโดยตรง และเอาความหลากหลายในไร่นา ในป่า ในแปลง ในนิเวศ ในท้องทะเล เป็นภูมิคุ้มกันให้กับทั้งเกษตรกร สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างเศรษฐกิจ แต่เรากลับเอาเทคโนโลยีเข้าไปอยู่ในมือของกลุ่มเอกชนรายใหญ่ แล้วเขาก็ทำในนามอาหารสีเขียว เพิ่มความมั่นคงอาหาร ลดโลกร้อน ได้เครดิตทั้งคาร์บอนเครดิตบวกกับ Biodiversity Credit ขึ้นมาด้วย”
ปมที่ ดร.กฤษฎาทิ้งไว้และชวนให้คิดก็คือ ในเมื่อรัฐกำลังไปผิดทาง อาจเป็นหน้าที่ของประชาชนหรือไม่ ที่จะต้องช่วยกันส่งเสียงว่า จงกลับมาสู่ความหลากหลายทางชีวภาพ บนฐานของเกษตรนิเวศ ฐานของชุมชน เพื่อที่จะก่อให้เกิดแหล่งดูดซับคาร์บอน สร้างแนวป้องกันภัยพิบัติ สร้างเศรษฐกิจชีวภาพ ตลอดจนเปิดโอกาสและทางเลือกให้ตัวเราเองที่จะมีทางออกในยามเผชิญวิกฤตการณ์ ฯลฯ
ประเด็นที่ต้องติดตาม เนื่องจากอาจเป็นสิ่งลดทอนความหลากหลายฯ
สุดท้าย ดร.กฤษฎาได้เพิ่มเติมประเด็นหรือเรื่องที่ต้องติดตามจับตามอง นอกเหนือจากเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเครดิต ยังมีอีก 2 ประเด็นคือ
1) Digital Sequence Information – DSI
Digital Sequence Information หรือที่เรียกโดยย่อว่า DSI คือระบบฐานข้อมูลพันธุกรรมทั้งหมดของทุกประเทศที่จะถูกแปลงเป็นข้อมูลแบบดิจิทัล แล้วเชื่อมไปสู่ส่วนกลางของโลก ให้เข้าถึงกันได้อย่างไร้พรมแดน
ดร.กฤษฎาระบุว่า ในเวทีต่างประเทศว่าด้วยเรื่องข้อตกลงความหลากหลายล่าสุดมีการพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะเชื่อมโยงไปกับปัญหาที่มีอยู่แล้วก่อนหน้านี้ ทั้งในเรื่องการจดสิทธิบัตร/ทรัพย์สินทางปัญญา การครอบครองและการเข้าถึงแบบไม่เป็นธรรม
“มันกำลังจะเปลี่ยนให้ชีวิตที่อิสระกลายเป็นชีวิตที่มีเจ้าของ พันธุ์ก็ต้องถูกจำกัดว่าเป็นของใครของใคร กระบวนการแลกเปลี่ยนก็จะถูกลดทอนลง และการครอบงำของบริษัทข้ามชาติที่จะลดทอนความหลากหลายก็จะมีมากขึ้น หากเกิดการลดทอนก็จะทำให้เรามีความสามารถในการปรับตัวลดลงหรือต่ำลง”
2) การสร้างพื้นที่คุ้มครอง 30×30
การสร้างพื้นที่คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ 30×30 หมายความว่าพื้นที่อนุรักษ์ทางบก 30 และทางทะเล 30 ในประเด็นนี้มีแง่มุมที่น่าสนใจและท้าทายคือเรื่องของบทบาทภาคเอกชนที่กำลังได้รับการส่งเสริม
ดร.กฤษฎามองว่า ในแง่หนึ่งอาจเป็นข้อดี ว่าการอนุรักษ์ไม่จำเป็นต้องอยู่กับรัฐอย่างเดียว แต่ประเด็นน่าห่วงใยคือ ถ้าหากกลุ่มเอกชนเข้าไปด้วยผลประโยชน์ ทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา Biodiversity Credit และอื่นๆ
“อันนี้ก็จะกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับเราที่ต้องการรักษาความหลากหลายแบบมีอิสระและมีทางเลือก ว่าจะทำอย่างไร แต่ถ้าระบบกำลังพาไปแบบนั้น มันก็ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรที่กล่าวมา มันจะตอบโจทย์แค่ผลประโยชน์เอกชน ภายใต้วาทกรรมใหม่ๆ ที่อ้างเรื่องโลกร้อนและเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ”