โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากปี 2567 สู่ปี 2568 ในกลุ่มไลน์ที่ชื่อ “สวนผักคนจนเมือง (ภูมิใจ พูนสุข เลียบวารี)” มีความคึกคักและบรรยากาศเปี่ยมสุขอย่างเห็นได้ชัด มีการสื่อสารส่งข่าวและภาพถ่ายผลผลิต รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กันแบบรัวๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดผัก การนำมาปรุงอาหาร การนำมาจัดเป็นตระกร้าผักปลอดภัยเพื่อส่งมอบให้ญาติมิตรที่รักในฐานะของขวัญปีใหม่ ตลอดจนการเก็บขายสร้างรายได้

ข้อความอย่างเช่น “เก็บผลผลิตมาเป็นอาหารเย็นได้แล้วค่ะ มะเขือ ผักสลัด คะน้าก็ผัดปลาเค็มได้แล้ว” ซึ่งมีภาพสำรับกับข้าวส่งตามหลังมาด้วย

“ตัดส่งขายครับ” ข้อความนี้ส่งมาพร้อมภาพกำลังตัดผักบุ้งจีนในแปลง

“แปลงเลียบวารีครับ…ทำเป็นของขวัญปีใหม่ครับ” ภาพประกอบคือตระกร้าและเข่งผักแบบจัดสวย

“ขายผักสลัดและผักคะน้าได้ค่าเมล็ดพันธุ์แล้วจ้า”

ฯลฯ

ทั้งหมดนี้มีความยินดีและภูมิใจแฝงอยู่เต็มเปี่ยม

ขณะเดียวกัน ข้อความชื่นชมและให้กำลังใจก็มีแทรกแซมมาเป็นระยะ เช่น “ผักสวยทุกแปลงเลยค่ะ” “เยี่ยม” “อิจฉา…” “เห็นแปลงผักเป็นระเบียบมีผักขึ้นเขียว สวยงามมากค่ะ”

ฯลฯ

“สวนผักคนเมือง” จะยิ่งมีความหมายมากเมื่อเป็น “สวนผักคนจนเมือง”

ภูมิใจ-พูนสุข-เลียบวารีคือชุมชน 3 แห่งที่จัดได้ว่าเป็นชุมชนของคนจนเมืองหลวง โดยชุมชนภูมิใจอยู่ที่เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ ส่วน “บ้านพูนสุข” เป็นศูนย์พักคนไร้บ้าน จังหวัดปทุมธานี และ “เลียบวารี” คืออาคารสวัสดิการที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการคนจน ตั้งอยู่ที่เขตหนองจอก กรุงเทพฯ

ชุมชนทั้ง 3 แห่งนี้ได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมหลักสูตรสวนผักคนเมืองเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา กิจกรรมดังกล่าวจัดโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) หรือ มกย. ร่วมกับเครือข่ายสลัมสี่ภาค มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย หรือ มพศ. จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีอาจารย์เกศศิรินทร์ แสงมณี หรืออาจารย์เติ้ล เป็นวิทยากรหลัก

การอบรมดังกล่าวเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่สำหรับภารกิจขับเคลื่อนงานสวนผักในเมืองของชุมชนคนจนเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล ซึ่งเกิดขึ้นอีกครั้งจากความมุ่งมั่นของ มกย. โดยได้รับการร่วมมือและสนับสนุนจาก มพศ.

ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้อำนวยการ มกย. ระบุว่า กลุ่มคนจนในเมือง โดยเฉพาะคนจนเมืองที่ได้รับความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักที่โครงการสวนผักคนเมืองต้องการทำงานด้วย เพื่อมุ่งสร้างศักยภาพการพึ่งตนเอง ให้สามารถหลุดพ้นจากวงจรที่เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงอาหาร จากภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพิ่มความมั่นคงทางอาหารในยามที่พวกเขาต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมานับว่ายังไม่บรรลุเป้าหมาย กล่าวคือ การอบรมผ่านไป การให้ทุนเกิดขึ้น สวนผักก็ปรากฏให้เห็น แต่การดำรงอยู่ไม่ยั่งยืน กลายเป็นเพียงวงจรลักษณะ “ทำสักพักแล้วก็พัก…พักยาว…จนถึงเลิกไปเลย”

แต่ทาง มกย. และ มพศ. ก็ยังไม่ละความพยายามที่จะตอบโจทย์สำคัญที่ว่า คนจนเมืองจะพึ่งตัวเองด้านอาหารได้อย่างไร ดังนั้นจึงทำให้เกิดการพูดคุยและหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน กระทั่งเกิดการขับเคลื่อนร่วมกันอีกครั้ง โดยมีการอบรมเป็นจุดเริ่มต้น

ปัญหาคลาสสิก “คนปลูกไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ปลูก”

“งานสวนผักคนเมืองประสบความสำเร็จได้ดีกับคนชั้นกลาง ๆ ในเมือง แต่กับคนจนเมืองมีข้อจำกัดมาก เช่น เรื่องเวลา พื้นที่ และไม่มีใครคิดว่าจะเป็นอาชีพได้” ผู้อำนวยการ มกย. สะท้อนบทเรียนการทำงานร่วมกับกลุ่มคนจนในเมืองที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก

ทั้งนี้ ตั้งแต่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ บุกเบิกงานโครงการสวนผักคนเมือง โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ได้ทำงานกับชุมชนภูมิใจ ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ รวมทั้งชุมชนศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน (บ้านพูนสุข) จังหวัดปทุมธานี มาก่อนแล้ว

“เราทำกับเขามาหลายรอบ อาจารย์เติ้ลอบรม 2-3 ครั้งแล้ว เคยให้ทุนโครงการเขาด้วย แต่เป็นโครงการย่อย ๆ มีคนอบรมแล้วกลับมาทำชั่วคราว แล้วก็เลิกร้างกันไป” ผู้อำนวยการ มกย. เล่า

“คนปลูกไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ปลูก” คือปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น

ผู้อำนวยการ มกย. ขยายความประเด็นดังกล่าวว่า “ปัญหาที่ผ่านมา คนปลูกมาช่วยกันปลูก แต่ไม่ได้กิน ส่วนคนกินไม่ได้ปลูก พอเป็นพื้นที่สาธารณะ ทุกคนก็คิดว่าเป็นของตัวเอง ก็เลยไม่สำเร็จ พอปลูกไปครั้งสองครั้งก็เหนื่อยกัน และไม่ปลูกแล้ว คนที่เข้ามาดูแลพื้นที่ก็ไม่มี เราก็สรุปบทเรียนการทำงานร่วมกัน แล้ววางแผนใหม่”

ผู้อำนวยการ มกย. กล่าวต่อว่า ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในชุมชนภูมิใจกับศูนย์พักฯ บ้านพูนสุขนั้นคล้ายคลึงกัน และเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้บทเรียน ทำให้ต้องปรับแผนการทำงานร่วมกันใหม่

“มูลนิธิฯ เราเองก็มีบทเรียน ทางมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยกับเครือข่ายคนจนเมืองเขาก็มีบทเรียนของเขา เลยมาคุยกันว่า ถ้าจะต่อ จะเอายังไงดี เพราะเขาก็ยังเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากให้เขาทำสวนผักอินทรีย์”

การเริ่มต้นใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ชาวชุมชนส่วนหนึ่งจาก 2 ชุมชนดังกล่าว จึงได้เข้าร่วมการอบรมเกี่ยวกับวิธีการและกระบวนการปลูกผักอินทรีย์ในเมืองอีกครั้ง โดยมีรายใหม่อย่างอาคารสวัสดิการที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการคนจน “เลียบวารี” เข้ามาร่วมโครงการนี้เป็นครั้งแรกด้วย จึงรวมกันกลายเป็น 3 ชุมชนที่เข้าร่วมการอบรมที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุมอาคารสวัสดิที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการคนจน เลียบวารี เขตหนองจอก กรุงเทพฯ

การอบรมดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันสรุปบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาของชุมชนภูมิใจและศูนย์พัฒนาฯ บ้านพูนสุข เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกันใหม่อีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองชุมชนใช้พื้นที่ส่วนกลางเพื่อทำสวนผักคนเมือง จนทำให้สมาชิกชุมชนโดยรวมรู้สึกว่าตนเองมีสิทธิในผลผลิตที่เกิดขึ้นด้วย นั่นจึงเป็นที่มาของปัญหาคนกินไม่ได้ปลูก และคนปลูกไม่ได้กิน

วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานโครงการ มพศ. และตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค เปิดเผยว่า โดยภาพรวมของปัญหาดังกล่าว ว่าเกิดขึ้นกับชุมชนภูมิใจเป็นหลัก เนื่องจากเป็นชุมชนซึ่งสมาชิกมีที่มาจากชุมชนถูกไล่รื้อจากพื้นที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ทำให้แต่ละคนต่างมีสภาพความเปราะบางในแต่ละด้านของตัวเอง ขาดความแข็งแรงทางด้านจิตใจที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรให้เกิดความต่อเนื่อง

“แต่ละคนต่างมีสภาพความเปราะบางในแต่ละด้านของตัวเอง จิตใจที่จะลุกขึ้นมาปลูกผักด้วยกันก็ยาก เพราะรู้สึกว่าไปจัดการเรื่องอื่นก่อน และผักราคา 5-10 บาทเท่านั้น ซื้อกินได้

“ถามว่าทุกคนปลูกไหม พยายามมาหลายรอบแล้ว เขาก็ปลูก ปลูกเสร็จก็มีคนเข้าไปเก็บ เพื่อนก็ปรารถนาดี ปลูกไว้ช่วยกันดูแล ช่วยกันเก็บกิน งั้นก็ช่วยกันหยอดเงินมาเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ แต่ว่าผลไม่เกิดขึ้นจริง มีแต่คนปลูก และมีแต่คนเก็บ แต่ไม่มีคนดูแล ไม่มีใครมาช่วยกัน”

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานสวนผักคนเมืองร่วมกับ มกย. ครั้งล่าสุดนี้ สมาชิกชุมชนจึงตั้งต้นด้วยการวางกฎกติการ่วมกัน เพื่อจัดการกับพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นพื้นที่เช่า สำหรับสมาชิกที่มีความตั้งใจเข้าร่วมโครงการฯ

ตั้งกติกากันใหม่ ให้คนทำสวนผักเช่าใช้พื้นที่ส่วนกลาง

ชุมชนภูมิใจมีการปรับแผนงานใหม่ จากเดิมที่ใช้พื้นที่ส่วนกลางทำแปลงสวนผักคนเมืองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ครั้งนี้ สมาชิกชุมชนที่สนใจร่วมโครงการฯ ต้องเช่าพื้นที่ส่วนกลางกับสหกรณ์เคหะสถานบ้านมั่นคงภูมิใจ จำกัด

“ในเมื่อพื้นที่ทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่ทุกคนต้องจ่ายเงินมาตามสัดส่วน ก็ให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่เช่า และประกาศตกลงร่วมกันว่าจะมีค่าเช่าเท่าไหร่ ใครสนใจจะมาปลูก เราก็ต้องเข้าไปหนุนช่วยปรับพื้นที่ ปรับผัง ปรับแปลง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ จะเข้าไปช่วยทำร่วมกับ มพศ.” ผู้อำนวยการ มกย. อธิบาย และยืนยันว่า ทาง มกย. พร้อมสนับสนุนงบประมาณด้วย

“งานนี้เรามีเงินเป็นโครงการให้เขาเลยสำหรับขยับเรื่องนี้ มีคนมาทำงาน ประสานงาน มีคนช่วยดูแล อีกส่วนสำหรับปรับพื้นที่แปลง โดยอาจารย์เติ้ลจะช่วยดูว่า จะต้องปรับพื้นที่แบบไหน การจัดการน้ำ การปรับระดับพื้นที่ จะมีเงินอีกก้อนมาสนับสนุน คนปลูกก็มาสมัคร ให้ตกลงร่วมกันเลยว่า จะมีข้อตกลงอะไรบ้างในการใช้พื้นที่ มีแปลงหนึ่งเป็นกลุ่มเด็กเยาวชนก็มาเช่าด้วย”

ทางด้านเตือนใจ เกษมศรี แกนนำชุมชนภูมิใจเปิดเผยว่า เพื่อป้องกันปัญหาเดิมในเรื่องคนปลูกไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ปลูก จะทำป้ายปักชื่อแบ่งขอบเขตกันให้ชัดเจนด้วยว่าใครเป็นเจ้าของแปลง รวมทั้งติดป้ายประกาศ คนที่เข้ามาเก็บต้องติดต่อกับเจ้าของแปลงก่อน หากไม่ได้รับอนุญาตจะถูกปรับร้อยเท่าและดำเนินการตามกฎหมาย

ต้องตั้งใจและตั้งมั่นตั้งแต่แรก พร้อมลงทุนและลงแรง

วรรณาบอกเล่าว่า รอบนี้ถือว่ามีผู้ให้ความสนใจมาก “มีคนลุกขึ้นมาจะช่วยทำถึง 11 แปลง เราก็คิดเรื่องระบบการจัดการบริหารพื้นที่ร่วมกัน ไม่ใช้พื้นที่เปล่า ๆ แต่จ่ายค่าตอบแทนให้กับสหกรณ์ฯ ภายใต้การทำเกษตรปลูกผักรอบนี้”

ด้านเตือนใจ เกษมศรี แกนนำชุมชนภูมิใจ กล่าวว่า คณะกรรมการชุมชนมีมติให้ทำสัญญาเช่าทั้งหมด 11 แปลง ในจำนวนนี้รวมแปลงของเยาวชนด้วย 1 แปลง ขนาดของแปลงประมาณคร่าว ๆ ที่ 10 คูณ 5 เมตร ค่าเช่าแปลงละ 100 บาทสำหรับปีแรก หากสวนผักคนเมืองให้ผลผลิตดี จะพิจารณาทบทวนค่าเช่าใหม่

ในฐานะแกนนำชุมชนภูมิใจ เตือนใจเองได้เข้าร่วมกับโครงการฯ ด้วย โดยเช่าที่จำนวน 1 แปลง ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกชุมชนเกิดความเชื่อมั่น ว่า เมื่อผู้นำทำได้ เขาก็น่าจะทำได้ และมีความหวังว่า ครั้งนี้น่าจะทำได้

“เมื่อก่อนตรงนี้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง เราไม่กล้าจับต้อง ไม่กล้าที่จะเสนอ เพราะทุกคนจ่ายพื้นที่ตรงนี้ร่วมกัน เราไม่กล้าที่จะไปใช้ประโยชน์ พอจุดประกายว่าเรามาใช้ประโยชน์ได้ ขอเช่า ไม่ได้ใช้ฟรี ๆ เพื่อทำประโยชน์สร้างรายได้ พื้นที่จะไม่รกร้าง สมาชิกที่ไม่มีงานทำจะมีแหล่งรายได้ ถึงจะไม่มีรายได้มากก็ประหยัดค่าใช้จ่าย อย่างตะไคร้ ใบมะกรูด กรุงเทพฯ ต้องซื้อทุกอย่าง เราปลูก 5-10 บาทก็ยังได้ ไม่ต้องซื้อข่า ตะไคร้แล้ว เอาเงินมาให้ลูกหลานได้กินขนม มันก็มีเหตุมีผลสู้กันได้”

ย้อนดูภูมิหลังของชุมชน “ภูมิใจ

ภูมิใจเป็นชุมชนตั้งใหม่เมื่อไม่กี่ปีก่อน เกิดจากการรวมตัวของหลายชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลอง ได้แก่ ชุมชนแบนตาโพ เขตคลองสามวา ชุมชนคลองเป้ง เขตวัฒนา ชุมชนลาดบัวขาว เขตสะพานสูง ชุมชนอยู่เย็น เขตลาดพร้าว และชุมชนใต้ทางด่วนดินแดง เขตดินแดง ชุมชนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบชุมชนริมคูคลองเพื่อคืนพื้นที่คลองสร้างเขื่อนระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือบางชุมชนก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบที่ดินสาธารณะในกรุงเทพฯ อาจเพื่อนำไปสร้างสวนสาธารณะให้เป็นที่พักผ่อนของคนเมือง หรือเพื่อเป็นที่ดินสาธารณะของกรุงเทพมหานคร รวมถึงเพื่อการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน

พูดง่าย ๆ คือ ที่มาของชุมชนภูมิใจเป็นการมารวมกันของบรรดาชุมชนที่ถูกไล่รื้อออกมาจากกลางเมืองหลวงนั่นเอง

สถานการณ์ไล่รื้อชุมชนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการไล่รื้อส่วนใหญ่ไม่มีความเป็นธรรม มีทั้งใช้ความรุนแรง มีนโยบายที่เปิดทางให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชนเข้ารื้อถอนบ้านเรือนได้ตามอำเภอใจ ไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ เนื่องจากการขับไล่คนจนออกนอกเมืองมักตั้งอยู่บนข้อกล่าวอ้างว่า พวกเขาเป็นผู้บุกรุกในที่ดินสาธารณะรวมทั้งที่ดินส่วนบุคคล จึงมีความชอบธรรมที่จะไล่รื้อ

ในขณะที่คนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง หาบเร่แผงลอย เก็บหาซื้อของเก่า ซึ่งไม่ได้รับหรือไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านต่าง ๆ ของรัฐอยู่แล้ว การไล่รื้อจึงเป็นการซ้ำเติมชีวิตของผู้คนเหล่านี้

กลับมาในกรณีของชุมชนภูมิใจ คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 เห็นชอบให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง (พ.ศ. 2559-2561) พม. จึงมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นหน่วยงานหลักดำเนินโครงการตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคง ที่เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

บทบาทของ พอช. จะเป็นฝ่ายสนับสนุน และให้สินเชื่อสร้างบ้านระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ ส่วนชุมชนต้องรวมตัวกันตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถาน และบริหารจัดการกันเอง ทั้ง 5 ชุมชนที่ถูกไล่รื้อออกจากกลางเมืองดังกล่างจึงรวมตัวในนามชุมชนภูมิใจ ตั้งสหกรณ์ยื่นขอสินเชื่อเพื่อจัดซื้อที่ดินในซอยประชาร่วมใจ 43 เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ ประมาณ 12 ไร่ สำหรับสร้างบ้านเรือนถาวรจำนวน 145 หลัง และมีพื้นที่ส่วนกลางให้สมาชิกชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่วิ่งเล่นของเด็ก รวมถึงเป็นที่ตั้งศูนย์ประสานงานของชุมชน

นับแต่ปี 2561 ภูมิใจมีสมาชิกชุมชนชุดแรกเข้าอยู่อาศัยตั้งแต่เป็นเพียงบ้านพักชั่วคราวไม่กี่หลังคาเรือน ปัจจุบันมีผู้พักอาศัยประมาณ 40 ครัวเรือน ที่เหลือต้องยื่นขอสินเชื่อกับ พอช. รอบที่สอง หลังจากผู้รับเหมาประสบปัญหาขาดทุนไม่สามารถสร้างบ้านที่เหลือต่อไปได้

การสร้างที่อยู่แห่งใหม่นี้ ส่งผลให้ผู้คนต้องปรับตัวทั้งการหาซื้อที่ดิน หาสถานศึกษาสำหรับบุตรหลานที่ใกล้ชุมชนแห่งใหม่ รวมทั้งหาช่องทางอาชีพใหม่ จากเดิมที่เคยออกรับจ้าง รับเหมาก่อสร้าง หาบเร่แผงลอย เปิดร้านขายของชำ เก็บหาซื้อของเก่าในพื้นที่ใกล้ชุมชน เมื่อออกไปอยู่ชานเมืองห่างไกล อาชีพเหล่านี้ก็หายวับไปพร้อมกัน ซึ่งการปรับตัวที่เกิดขึ้นล้วนเกี่ยวข้องกับสถานะทางเศรษฐกิจหรือการมีรายได้ที่เพียงพอกับรายจ่ายด้านต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น

ภูมิหลังของศูนย์พัฒนาฯ บ้านพูนสุข

ศูนย์พัฒนาฯ บ้านพูนสุขอยู่ในความดูแลของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย หรือ มพศ. มีเป้าหมายเป็นศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคม ศูนย์ฯ เริ่มเปิดให้เข้าพักอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 มีพื้นที่ทั้งหมด 2 ไร่ 3 งาน

ในการเข้าพักอาศัยมีการแบ่งเกณฑ์ ทั้งแบบชั่วคราวเป็นห้องโถงใหญ่จำนวน 1 ห้อง แบบประจำเป็นตึกสองชั้นทั้งหมด 30 ห้อง ค่าเช่าเดือนละ 200 บาท และแบบมั่นคงแยกต่างหากอีก 8 ห้อง ค่าเช่าเดือนละ 400 บาท ส่วนค่าน้ำ-ค่าไฟ ใช้วิธีหารเฉลี่ยจ่ายร่วมกัน

ปัจจุบันมีสมาชิกชุมชนไม่นับเป็นครัวเรือนเข้าพักทั้งที่อยู่ประจำและหมุนเวียนมากกว่า 40 คน ด้านการจัดการศูนย์พักฯ สมาชิกชุมชนบริหารจัดการกันเอง โดยมีกิจกรรมพัฒนาฝึกทักษะ ส่งเสริมอาชีพ ตลาดนัดหน้าศูนย์พักฯ สำหรับสมาชิกได้ประกอบอาชีพสร้างรายได้

ศูนย์พัฒนาฯ บ้านพูนสุขนี้ยังเป็นหนึ่งในสองพื้นที่นำร่องภายใต้โครงการสวัสดิการที่อยู่อาศัยราคาถูกของกระทรวง พม. ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งดำเนินการโดย พอช. โครงการสวัสดิการที่อยู่อาศัยราคาถูกเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่อยู่ในชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุกไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท รวมถึงกลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มแรงงานรายวัน หรือกลุ่มที่เพิ่งเข้าเมืองมาหางานทำ ที่เข้าไม่ถึงแหล่งที่พักอาศัยในเมือง

มุ่งหน้าสร้างพื้นที่ผลิตอาหาร-ลดรายจ่ายในครัวเรือน

ในวันอบรมเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2567 ก่อนอื่น แกนนำและสมาชิกจาก 3 ชุมชนกว่า 30 คน ได้กล่าวถึงความตั้งใจและความคาดหวังของการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ว่าจะนำชุมชนลดรายจ่ายในครัวเรือนลงให้จงได้

“ทำไว้ใช้จ่ายในครอบครัว ถ้ามีผลผลิตเยอะ เอาไว้ขายในชุมชน” เป็นคำกล่าวของ “พี่คอน” จากชุมชนภูมิใจ

ส่วน “พี่นุ้ย” จากชุมชนเดียวกันบอกว่า “เป็นแหล่งอาหารของครอบครัวเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะเราอยู่ไกลพื้นที่ตลาด”

และอีกคนจากชุมชนภูมิใจ “พี่แอ๋ว” ระบุเป้าประสงค์ว่า “เพื่อเสริมสร้างรายได้ เพราะไม่มีอาชีพหลัก”

ในขณะที่ “พี่จั้ม” ผู้รับหน้าที่ดูแลกลุ่มเยาวชนของชุมชนภูมิใจบอกว่า “ช่วยกันทำ เอาไว้กินเวลามีกิจกรรม ที่เหลือไว้ขายทำกองทุนของเยาวชน เวลาขาดอะไรก็เอาเงินกองทุนไว้ใช้จ่าย”

“ให้พี่น้องห้องเช่าร่วมกันทำเป็นพื้นที่การเรียนรู้ จะทำให้เป็นรายได้สำหรับคนที่อยู่ในศูนย์ฯ และห้องเช่า” “พี่กรรณิการ์” ในฐานะตัวแทนจากศูนย์พัฒนาฯ บ้านพูนสุขกล่าว

ด้าน “พี่วรรณา” เจ้าหน้าที่ มพศ. ผู้ดูแลอาคารสวัสดิการฯ เลียบวารี ระบุว่า “ตั้งใจเป็นศูนย์เรียนรู้นำร่อง เพื่อที่จะทำเกษตรให้ครบวงจร เพราะที่ตรงนี้เป็นพื้นที่เปิด เวลาคนมาประชุม หรือมาใช้ประโยชน์ที่นี่ หรือเป็นที่ของผู้สูงอายุ”

ประกาศพันธสัญญาร่วมกันและตั้งกฎลุยจริง

จากนั้นทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้อำนวยการ มกย. หรือ “พี่แป้น” ได้กล่าวถึงความคาดหวังของทางมูลนิธิ

“สิ่งที่เป็นความคาดหวังของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ คือ พวกเรามีอาหารแน่นอน และเราคาดหวังว่า แปลงเหล่านี้อย่างน้อยลดรายจ่ายของครัวเรือน ฉะนั้นกินอะไรปลูกอันนั้นก่อน งานนี้หวังให้สร้างรายได้ได้จริง ลดรายจ่ายได้จริง”

ผู้อำนวยการ มกย. ยังได้สื่อสารกับสมาชิกของทั้ง 3 ชุมชนอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจนว่า “สัญญาไหมว่า 3-4 เดือนนี้จะอยู่ด้วยกันตลอด ถ้าใครคิดว่าไม่ไหว เปิดประตูออกไปก่อนได้ แต่ถ้ายังนั่งอยู่ตรงนี้ 4 เดือนบอกว่าส่งการบ้านอะไรต้องกลับไปทำ ถ้าใครไม่พร้อมที่จะส่งการบ้าน ที่จะทำงานร่วมกัน ที่จะมีอาจารย์เติ้ลคอยถามว่าไปถึงไหน ไปออกแบบแปลงหรือยัง ไปพรวนดินหรือยัง ไปปรับปรุงดินหรือยัง ไปทำปุ๋ยหมักไว้หรือยัง ใครไม่พร้อมออกประตูไปได้เลย ถ้าใครยังนั่งอยู่แปลว่าทุกคนสัญญาร่วมกันแล้วนะ”

ปรากฏว่า กว่า 30 ชีวิตที่เข้าร่วมอบรมสวนผักคนเมือง ไม่มีใครเดินออกจากห้องประชุม

จากนั้นพี่แป้นจึงขอคำมั่นสัญญา ว่า นับจากวันนี้ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันให้ตลอดรอดฝั่ง และทำตามข้อตกลงหรือกฎกติกาตามที่ตกลงกันไว้ รวมทั้งจะต้องส่งการบ้านเพื่อให้มีการติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ

ส่วนอาจารย์เติ้ล ในฐานะวิทยากรหลักสูตรสวนผักคนเมือง ทำความเข้าใจกับผู้เข้าอบรมก่อนเริ่มบรรยายว่า ในการอบรมครั้งนี้ ทุกคนต้องส่งการบ้าน

“หวังว่ารอบนี้จะเกิดขึ้นได้จริง ๆ อย่างน้อยเวลาตามงาน พี่ ๆ ส่งงาน ว่าทำไปถึงไหน อะไร อย่างไรแล้ว ไม่ใช่หายไป ไม่มีความต่อเนื่อง พอไม่ต่อเนื่องก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วชุมชนทำจริงหรือไม่จริง หรือเพราะฝากเขาทำ แค่เปลี่ยนคนทำ หรือยังอยู่”

การลงมือทำและส่ง “การบ้าน” คือกฎกติกาหลักที่มีการกำหนดขึ้นมา นอกจากนั้นยังมีการวางระบบเรื่องการมีพี่เลี้ยงและจะมีการลงตรวจแปลงอีกด้วย

มั่นใจ “ภูมิใจ” ทำได้

ในฐานะที่เป็นผู้ประสานงานโครงการ มพศ. วรรณากล่าวถึงชุมชนภูมิใจว่ามีลักษณะเป็นชุมชนที่รวมสารพัดปัญหามาอยู่ด้วยกัน

“หลายคนตกงานและอาจจะมีปัญหาความไม่พร้อมที่จะต้องไปหางานทำ ส่วนหนึ่งจะมีปัญหาเด็กเยอะ มีผู้สูงอายุ อาจจะมีวัยทำงานบ้างที่ต้องออกไปทำงานข้างนอก กลายเป็นชุมชนที่รวมสารพัดปัญหามาอยู่ด้วยกัน ด้วยความที่ไม่เคยอยู่ด้วยกันมาก่อน ทุกคนต่างดิ้นรนหาเงินค่าเช่าที่ดิน ค่าปลูกบ้านใหม่ แต่พอย้ายมา งานเดิมที่เคยทำก็อาจจะไม่ได้ทำ เพราะเดินทางไม่ไหว ตอนหลังมีปัญหาสุขภาพ บางคนมีปัญหาครอบครัว ติดเหล้า ติดสุรา มีหมด”

อย่างไรก็ตาม ในความเปราะบางที่ซ้อนทับความเปราะบางหลายชั้น วรรณามองว่า ชาวภูมิใจกลับมีจุดแข็ง โดยเห็นได้จากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทุกคนสามารถลุกขึ้นมาจัดการปัญหาร่วมกับ มพศ. และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ตั้งจุดพักคอยและระบบดูแล โดยไม่มีใครเสียชีวิตเลย

“จุดแข็งของชุมชนจึงถือว่ามีอยู่ เพียงแต่ขาดระบบบริหารจัดการที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า จะสามารถปลูกผักกินเองเพื่อลดรายจ่ายหรือขายได้อย่างไร หรือทำอะไรที่มากกว่าไปเก็บผักของเพื่อน” วรรณากล่าวอย่างมีอารมณ์ขัน

“บ้านพูนสุข” ตั้งเป้าใช้สวนผักเป็นกิจกรรมบำบัดคนไร้บ้าน

ในส่วนของศูนย์พักฯ บ้านพูนสุข วรรณาเผยว่า ที่นี่มีความเปราะบางค่อนข้างสูงเช่นกัน ทั้งในความเป็นคนไร้บ้านอยู่แล้ว และระยะหลัง ผู้เข้ามาอยู่อาศัยจำนวนมากยังเป็นกลุ่มเปราะบาง มีทั้งผู้สูงอายุ คนพิการบางส่วน และผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย ส่วนกลุ่มที่ทำสวนผักคนเมืองเป็นคนชอบปลูกผัก แต่ก็มีคนชอบเก็บเช่นเดียวกับชุมชนภูมิใจ

สำหรับการดำเนินการครั้งนี้ก็ยังคงใช้พื้นที่ส่วนกลางทำสวนผักคนเมืองเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา แต่มีการจัดการเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจน

“สามสี่คนที่ชอบปลูกผักส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ ก็คาดหวังว่า การปลูกผักจะพอทำเป็นอาชีพได้บ้าง โดยนำผลผลิตวางขายตลาดนัดหน้าศูนย์พักฯ ซึ่งแต่เดิมมีอยู่แล้วเพื่อให้สมาชิกชุมชนได้ประกอบอาชีพสร้างรายได้ รวมทั้งแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับผู้ที่มาเช่าห้องพัก ซึ่งมีทั้งหมด 5 ห้อง มีส่วนร่วมเพื่อลดรายจ่ายด้วย”

ผู้ประสานงานโครงการ มพศ. เปิดเผยด้วยว่า ในอนาคตคาดหวังให้ที่นี่เป็นสถานที่ฟื้นฟูบำบัดคนไร้บ้าน

“เราอยากให้การเกษตรครั้งนี้เป็นการฟื้นฟูบำบัดคนไร้บ้าน บางคนอาจจะมีปัญหาสุขภาพจิต ไม่รู้จะไปไหนก็นั่งอยู่ตรงนั้น ได้ลุกขึ้นมาช่วยกันปลูกแปลงเกษตร ผักออกดอกออกผลอาจจะช่วยเขาฟื้นฟูไม่ให้เฉา จุดเด่นบ้านพูนสุขจะเป็นการฟื้นฟูสุขภาพของคนไร้บ้าน อาจจะเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการฟื้นฟูสุขภาพจิตของคนไร้บ้าน”

ตั้งใจทำโต๊ะปลูกเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ

ส่วนกรรณิการ์ ปู่จินะ แกนนำเครือข่ายคนไร้บ้าน ผู้ดูแลศูนย์พักฯ บ้านพูนสุข บอกว่า ในการเข้าร่วมโครงการฯ ครั้งนี้ เธอมีความหวังอยู่ที่การลดรายจ่ายและสร้างอาชีพให้กับสมาชิกชุมชน

“อย่างน้อย ๆ เขาเห็นเราทำ เขาเดินมาถาม เราบอกเลยว่า ถ้าคุณทำ คุณจะได้กิน ถ้าคุณอยากได้กิน คุณต้องลงมือทำ น่าจะมีความหวังอยู่ ถ้าเรามาทำให้เขาเห็น เพราะด้านหน้าศูนย์พักฯ เป็นช่วงหัวโค้ง ไม่เชิงเป็นตลาด เป็นพื้นที่เปิดให้กลุ่มเปราะบางมาหารายได้ ขายส้มตำ อาหารตามสั่ง น้ำ มีอยู่ร้านนึงเป็นร้านของคนไร้บ้าน อยากขายอะไรก็เอาไปขาย ตั้งใจว่าครั้งนี้ได้ผลผลิตจะเอาไปวางขาย เพราะช่วงก่อน ในศูนย์พักฯ มีปลูกเห็ด ผัก จะมีคนเข้ามา บางทีก็มาขอซื้อ บางทีร้านอาหารตามสั่งกะเพราไม่มี ตะโกนมาบอก มีกะเพราไหม ก็เก็บไปให้เขา จะมีพี่ที่ดูแลอยู่ 3-4 คน ปัจจุบันมีผลผลิตที่ยังเก็บกินได้ เช่น มะนาว มะละกอ มะม่วง และพืชผักสวนครัว ซึ่งมีขายบ้าง แต่ไม่มาก อย่างมะนาวเป็นของศูนย์พักฯ โดยตรงเลย ไปซื้อมาปลูก 3-4 ต้น พอขายได้ค่ากาแฟ 40-50 บาท”

สำหรับสวนผักคนเมืองที่จะบุกเบิกใหม่ กรรณิการ์เผยว่า จะทำโต๊ะปลูกเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุ โดยดึงผู้สูงอายุที่มีทั้งหมดประมาณ 10 คนมาร่วมกันปลูกผักด้วย เนื่องจากศูนย์พักฯ บ้านพูนสุข กำลังทำเรื่องฟื้นฟูให้กับผู้สูงอายุ

“ตอนนี้ทำเรื่องการฟื้นฟูให้กับผู้สูงอายุ บางคนสามารถที่จะถักโคเช ทำอะไรได้ เราก็ซื้อไหมมาให้เขาถัก ไม่ให้เขานั่งเฉย ๆ ทำได้ 4-5 วัน เขาบอกว่าทำให้เขารื้อฟื้นความจำ ทำให้เขาไม่เป็นอัลไซเมอร์ เพราะไม่มีอะไรจะนั่งคุยกัน แต่พอมีของทำ เขาจะมีเวลาคิด จนเขาบอกว่า จะตายอยู่ที่ศูนย์ฯ ไม่ไปไหนแล้ว ลูกมารับก็ไม่ไปแล้ว”

ในฐานะผู้ดูแลศูนย์พักฯ บ้านพูนสุข กรรณิการ์ระบุถึงปัญหาเรื่องคนปลูกไม่ทันได้เก็บผลผลิต ซึ่งเป็นปัญหาลักษณะเดียวกับชุมชนภูมิใจ ว่า เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันใหม่ เช่น ถ้าเก็บผลผลิตแล้วนำไปขายเหมือนกับที่ผ่านมา ต้องนำเงินเข้าส่วนกลาง เพราะเป็นพื้นที่ส่วนกลาง

วาดหวังสร้างศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองที่ “เลียบวารี”

ในส่วนของอาคารสวัสดิที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการคนจน “เลียบวารี” ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตหนองจอก กรุงเทพฯ ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่นำร่องภายใต้โครงการสวัสดิการที่อยู่อาศัยราคาถูกเช่นเดียวกับศูนย์พัฒนาฯ บ้านพูนสุข ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2 ไร่ มีห้องเช่าทั้งหมด 14 ห้อง มีห้องน้ำในตัว โดยมี 2 ขนาด คือขนาด 16 ตร.ม. คิดค่าเช่าเดือนละ 1,500 บาท กับอีกขนาดที่เล็กกว่าคิดค่าเช่าเดือนละ 1,200 บาท บริเวณที่พักมีห้องประชุมให้บริการแบบเสียค่าใช้จ่าย และมีพื้นที่สีเขียวด้านหน้าอาคารสวัสดิการฯ เป็นพื้นที่กลางให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์และพักผ่อนหย่อนใจ

อาคารสวัสดิการฯ เพิ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 2566 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ มพศ. ซึ่งอาคารสวัสดิการฯ ได้เข้าร่วมโครงการสวนผักคนจนเมืองในรอบนี้ด้วย

สำหรับแผนการทำงานของอาคารสวัสดิการฯ เลียบวารี วรรณา ในฐานะเจ้าหน้าที่ มพศ. ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลภาพรวมโครงการสวนผักฯ เล่าว่า ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างอาคารใหม่ๆ ที่นี่ก็เริ่มทดลองปลูกพริกบนที่ดินด้านหน้าสุดของทางเข้าอาคารสวัสดิการฯ เนื่องจากเป็นดินเหนียว พบว่าให้ผลผลิต รวมทั้งต้นขี้เหล็ก และมะเขือที่เติบโตได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการดูแลและความใส่ใจมากกว่า ส่วนตัวจึงเช่าพื้นที่กับสมาคมคนไร้บ้านเพื่อร่วมโครงการสวนผักฯ ด้วย

“เราขอทำแบบสบายใจ เป็นพื้นที่เราทดลองขอเช่า เราจะได้รู้สึกว่า ใครจะมาเก็บหรือมาทำอะไร จะได้รู้ว่าพื้นที่ตรงนี้มีเจ้าของ มันต้องมีกติการ่วมกันว่า ถ้าคุณจะเก็บต้องทำยังไง อาจจะเป็นจุดเรียนรู้ที่เขาไปพัฒนาในชุมชนได้ อยากจะทดลองทำให้ชาวบ้านเห็น อยากจะบอกเขาว่า ถ้าคุณทำเกษตรจริงๆ คุณต้องทำมันให้มีรายได้  เพราะฉะนั้นต้องทำให้เหมือนมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ดิน ถ้าคุณทำคุณต้องจ่ายค่าเช่า จะแบ่งเป็น 2 ล็อก แปลงใหญ่ที่ปลูกพริกจะเป็นพื้นที่จ่ายค่าบำรุงปีละ 2,000 บาท และกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับคนที่มาเช่าห้องพัก รวมทั้งหมด 14 ห้อง ปลูกผักลดค่าใช้จ่าย และทำตลาดด้วย เนื่องจากชุมชนย่านนี้ เราเห็น เราอยากจะทำตลาดที่เป็นอาหารปลอดภัย ให้คนเข้ามาเรียนรู้ และในอนาคตสำหรับรองรับผู้สูงอายุ กับคนพิการ ฯลฯ”

ดังนั้นเป้าหมายในส่วนชุมชนเลียบวารีก็คือจะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้เลียบวารีสวนผักคนเมือง โดยจะใช้พื้นที่ส่วนกลางด้านหน้าทางเข้า

อบรมแค่เป็นก้าวแรก ที่เหลือคือ “การบ้าน” ของทุกคน

เนื่องจากทั้ง 3 ชุมชนมีข้อตกลงร่วมกันว่า ทุกคนต้องส่งการบ้านกับอาจารย์เติ้ลในฐานะที่ปรึกษา โดย มพศ. มีเจ้าหน้าที่ 3 คนรับผิดชอบโครงการฯ แบ่งหน้าที่ดูแลภาพรวม และเป็นพี่เลี้ยงช่วยแก้ปัญหา รวมทั้งคอยติดตามความก้าวหน้าตลอดระยะเวลา 4 เดือน

ผู้เข้าอบรมจาก 3 ชุมชน จึงมีการกำหนดและนัดหมายที่จะปฏิบัติการในขั้นตอนต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน เริ่มตั้งแต่กำหนดให้เดือนธันวาคม 2567 เป็นเวลาที่จะย้ายต้นกล้าจากถาดเพาะลงแปลงที่จัดเตรียมไว้แล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เพื่อรอเก็บเกี่ยวผลผลิตชุดแรกก่อนปีใหม่

ส่วนอีก 2 เดือนที่เหลือ ตามตารางงานที่ทุกคนกำหนดไว้ร่วมกัน ในเดือนมกราคม 2568 จะเป็นช่วงลงพื้นที่ดูงานทั้ง 3 ชุมชน/แปลง และสุดท้ายเป็นการถอดบทเรียนและจัดการความรู้ “สวนผักคนจนเมือง” ในเดือนกุมภาพันธ์ก่อนที่จะปิดโครงการฯ

ส่วนแผนในระยะยาว ผู้อำนวยการ มกย. เล่าว่า ทางเครือข่ายสลัม 4 ภาคจะเป็นหลัก นั่นคือ “จะพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกทั้งที่เลียบวารีกับพูนสุข ส่วนภูมิใจจะเป็นทั้งศูนย์ฝึกและต้นแบบที่จะขยายไปกับพี่น้องคนอื่น ๆ ด้วย”

ทางด้านวรรณาแสดงความเห็นว่า “ครั้งนี้ เชื่อว่าสวนผักคนเมืองเกิดขึ้นได้แน่ แม้อาจไม่เกิดอย่างเต็มรูปแบบเหมือนกับภาพที่อาจารย์เติ้ลนำมาแสดงในวันอบรม เพราะในระยะเวลาที่ทำโครงการฯ ค่อนข้างสั้นกับการจะไปทำให้เกิดผล แต่จะเริ่มเห็นร่องรอยว่า พวกเขาทำจริง และเราจะเห็นจุดที่เป็นศูนย์เรียนรู้ ที่อาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่จะเห็นคนหันมาปลูกผัก อย่างน้อยมีแน่นอนที่ชุมชนภูมิใจ 11 ครัวเรือน เช่นเดียวกับศูนย์พัฒนาฯ บ้านพูนสุข จะเห็นแปลงผักเกิดขึ้น และอาคารสวัสดิการฯ เลียบวารี จะต้องเกิดศูนย์เรียนรู้ให้ได้”

ทำไมจึงต้องสร้าง “สวนผักคนจนเมือง” ให้จงได้

เหตุที่ มกย. จัดให้คนจนเมืองซึ่งได้รับความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการสวนผักคนเมือง ก็ด้วยความตระหนักห่วงใยว่า เมืองมีความเปราะบางและเสี่ยงขาดความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะในยามที่เกิดวิกฤต ดังเช่นวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา

ยิ่งสำหรับชาวชุมชนแออัดที่ปกติต้องเผชิญกับปัญหารายได้ไม่มั่นคงในแบบที่ชุมชนเรียกว่า “หาเช้า กินค่ำ” หรือแม้กระทั่ง “หามื้อ กินมื้อ” เรื่องการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะเพียงเข้าถึงอาหารให้ได้พอเพียงประทังชีพก็ดีแล้ว ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตที่ก่อให้เกิดภาวะ “งานหาย รายได้หด” การนำพาชีวิตให้อยู่รอดจึงยิ่งเป็นเรื่องยากลำบาก รวมทั้งมีปัญหาการเข้าถึงอาหารได้น้อยลง

ในส่วนของชุมชนภูมิใจ ซึ่งเป็นชุมชนเกิดใหม่จากการรวมตัวของชุมชนแออัดหลายแห่งที่ถูกไล่รื้อออกจากกลางเมือง ไปตั้งอยู่ที่เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ เมื่อช่วงเกิดเหตุการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ความหวังของคนในชุมชนภูมิใจกับการมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยและที่ดินแห่งใหม่นั้นก็ได้ชะลอและถูกลดทอนลง

ในขณะที่รายได้ที่พอมีพอกินและพอที่จะผ่อนชำระค่าสร้างบ้านและที่ดินที่วางแผนไว้นั้นพลิกผันไปจากเดิม ส่งผลต่อการผ่อนชำระค่าที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ บางรายจำใจต้องลดหรือตัดชิ้นงานบางส่วนของที่อยู่อาศัยลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่อีก 14 รายสำหรับสมาชิกในเฟส 2 ของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยได้ขอยกเลิกสิทธิไปเลย

ถึงแม้ชุมชนได้รับความช่วยเหลือแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการชะลอเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับการผ่อนชำระค่าที่ดินและค่าก่อสร้างบ้านแล้วก็ตาม แต่ความไม่แน่นอนของรายได้ที่เกิดขึ้น ทำให้จำเป็นต้องตัดสินใจที่จะเลือกทางใดทางหนึ่งเพื่อความอยู่รอดกับวิกฤตที่เกิดขึ้น 

นอกจากนั้นชุมชนยังมีแนวทาง ทั้งการจัดการตนเอง และการช่วยเหลือจากภายนอก เช่น

  • ใช้จ่ายอย่างประหยัดและพึ่งพิงหาอาหารจากแหล่งธรรมชาติ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีอยู่รอบ ๆ ชุมชนที่มีปลาธรรมชาติหลากหลายชนิด การเก็บหาพืชผักอย่างสะเดา ขี้เหล็ก รวมทั้งพยายามปลูกพืชผักในพื้นที่ว่างที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ รวมทั้งบริเวณพื้นที่รอบ ๆ บ้านชั่วคราว เพื่อนำมาทำอาหารบริโภคในครัวเรือนและแบ่งปันให้กับคนในชุมชนด้วยกัน ซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านค่าอาหารลงไปได้
  • รวมกลุ่มเพื่อหนุนเสริมและช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักของการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของชีวิตและชุมชน การรวมตัวของสมาชิกในชุมชนภายใต้เครือข่ายสลัม 4 ภาค นอกจากทำให้ชุมชนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและที่อยู่อาศัยโดยที่ไม่ต้องถูกไล่รื้อเหมือนที่ผ่านมา ชุมชนยังได้รับการสนับสนุนยกระดับพัฒนาทั้งด้านคุณภาพชีวิต การมีอาชีพที่จะมีรายได้เสริมในครัวเรือน ล้วนเกิดจากการรวมกลุ่มของคนในชุมชน ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น
  • การได้รับแบ่งปันอาหารจากเครือข่ายภาคประชาชน อย่างกลุ่มปันอาหารปันชีวิต และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) รวมถึงเครือข่ายสลัม 4 ภาค โดยชุมชนภูมิใจได้นำสิ่งของที่ได้รับบริจาคส่งต่อให้กับสมาชิกและชุมชนใกล้เคียงด้วย ทั้งยังตั้งครัวกลางเพื่อทำอาหารสำเร็จจำหน่ายในราคาถูก 10-20 บาท หรือแจกจ่ายให้กับผู้ที่เดือดร้อน ส่วนรายได้ที่เกิดขึ้นถูกนำมาสมทบเป็นกองกลางสำหรับการซื้อวัตถุดิบในการทำอาหารของครัวกลางต่อไป ทั้งการแบ่งปันและตั้งครัวกลางช่วยลดรายจ่ายไปได้อย่างมาก
  • ประสบการณ์จากงาน “ปันอาหาร…ปันชีวิต”

โครงการที่ชื่อว่า “กลุ่มปันอาหารปันชีวิต” ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยโครงการสวนผักคนเมืองของ มกย. ได้ร่วมกับมูลนิธิสุขภาพไทย ดำเนินโครงการขอรับบริจาคอาหารและเงินทุน เพื่อทำหน้าที่สองด้าน ด้านหนึ่งคือการอุดหนุนเกษตรกรกลุ่มที่ทำงานกับ มกย. ซึ่งประสบปัญหาการขายผลผลิต อีกด้านดำเนินการกระจายอาหารไปยังกลุ่มคนเปราะบางในเมือง

ทุก ๆ อาทิตย์ รถกระบะของกลุ่มปันอาหารฯ ที่บรรทุกอาหารเต็มคันจะนำอาหารซึ่งรับซื้อมาจากเกษตรกรเกษตรอินทรีย์กว่า 20 กลุ่ม เข้าไปแบ่งปันแก่ชุมชนกว่า 50 แห่งในเครือข่ายสลัม 4 ภาค รวมทั้งกลุ่มแรงงานนอกระบบ อาหารที่นำไปเป็นวัตถุดิบที่ยังไม่ผ่านการปรุง มีทั้งผัก ผลไม้ ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องปรุง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดขยะอาหารเหลือทิ้ง

โครงการดังกล่าวสิ้นสุดลงไปเมื่อการระบาดของโควิด-19 ยุติลง แต่แนวคิดระยะยาวเรื่องการพึ่งพาตนเองด้านอาหารโดยการสร้างแหล่งอาหารในชุมชนก็ยิ่งชัดเจนขึ้น นั่นคือเห็นว่าควรมีการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างมาเป็นพื้นที่เกษตรสำหรับเป็นแหล่งอาหารบริโภคในครัวเรือนและชุมชน รวมถึงมีสวัสดิการด้านต่างๆ ที่ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมให้ดีทั่วหน้า

ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้อำนวยการ มกย. กล่าวถึงความตั้งใจผลักดันงานสวนผักคนจนเมืองของ มกย. ว่ามีเป้าหมายหลายประการ ได้แก่

  • เพื่อมีอาหารคุณภาพดีสำหรับคนจนเมือง สามารถพึ่งตัวเองด้านอาหารได้บางส่วน ทั้งนี้ จากผลงานวิจัยของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุชัดว่า ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของคนจนเมืองเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ที่พวกเขาได้รับ
  • สวนผักคนเมืองสามารถสร้างรายได้ให้กับคนจนเมือง โดยเฉพาะผักอินทรีย์เป็นที่ต้องการสูงของตลาดแบบเมือง หรือกระจายให้ผู้คนรอบนอกที่เป็นเครือข่ายคนเมืองเข้าถึงอาหารได้ด้วย
  • สวนผักสามารถพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกเรื่องเกษตรในเมือง เพื่อขยายพื้นที่อาหารให้กับคนจนเมือง และเป็นศูนย์ฝึกของเครือข่ายคนจนเมือง เพื่อสนับสนุนกิจกรรมสวนผักคนเมืองให้กับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ ที่มีบุคลาการไม่เพียงพอ
  • ในระยะยาวสามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิด “ตลาดสีเขียว”
  • การทำเกษตรอินทรีย์ในเมืองในฐานะงานพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ทัศนีย์ประเมินว่า กว่าที่ มกย. จะเข้าไปหนุนเสริมสร้างศักยภาพให้ทั้ง 3 ชุมชนนี้เกิดความเข้มแข็งได้ คาดว่าต้องใช้เวลา 2-3 ปี  

“เราคิดว่าอาจจะต้องซัก 2-3 ปีที่เราจะมีโครงการไปสนับสนุนให้เขาเข้มแข็งและจัดการตัวเองได้ ถ้าเป็นศูนย์ฝึกเขาอาจจะขยายในส่วนของเขาเองต่อได้ จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่อาจต้องทำงานกับเขาก่อน อนาคตเขาตั้งใจจะทำอยู่แล้วในเรื่องของตลาด มีพื้นที่สองแห่งที่ปทุมธานีคล้ายกับเลียบวารี เป็นห้องเช่าอยู่ใกล้ตลาด ก็จะทำตลาดด้วย เขาอยากจะเปิดตลาดสีเขียวเหมือนกับที่ปทุมธานี ส่วนที่เลียบวารีเขามีตลาดแถว ๆ นี้ ภูมิใจก็ทำตลาดได้ เพราะมีคนในชุมชนเยอะ”

ในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ ทัศนีย์มั่นใจว่า การขับเคลื่อนงานสวนผักในเมืองกับกลุ่มคนจนเมืองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 จะสำเร็จผล เนื่องจากมีการพูดคุยและสรุปบทเรียนด้วยกันหลายด้านและหลายรอบแล้ว รวมทั้งมีการปรับการดำเนินการหลายส่วน

“เพราะเราเชื่อว่า อบรมเสร็จแล้วปล่อยไม่สำเร็จ แต่ว่าอบรมอย่างไรที่จะมีกระบวนการติดตามอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับที่ผ่านมาเราปรับหลักสูตรสวนผักคนเมือง คือ อบรมแล้วต่อเนื่อง ปฏิบัติแล้วส่งการบ้าน และดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมบุคลากรเจ้าหน้าที่ของ มพศ. เป็นตัวหลักเพื่อบริหารจัดการโครงการฯ ร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ

“เขาเองจะมีคนเป็นหลักขึ้นมา เมื่อก่อนคนสนใจปลูก คนสนใจทำ แต่ไม่มีคนดูแลจริงจัง ฉะนั้นเขาก็เตรียมคนที่จะเป็นหลัก เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ เขามีคนเคยทำ Young smart farmer มาก่อน อยู่ต่างจังหวัด ก็มาอยู่ในเมือง เขาก็ปลูกพริกขาย ทำอะไรขาย ให้มาเป็นคนหลัก เพราะเมื่อก่อนมีแต่ตัวหลักของเรา และคนที่มาปลูกเฉยๆ ไม่มีคนหลักที่เป็นเจ้าหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่เขาจะถนัดงานชุมชน ไม่ถนัดงานเกษตร เรามีงบประมาณสนับสนุนคนของเขาเป็นก้อน แล้วไปบริหารจัดการเอง คือให้มีคนทำงานประจำตรงนี้เลย”

หากความเป็นจริงเป็นไปดังแผนการข้างต้น เชื่อแน่ว่า การเริ่มต้นสร้างสวนผักคนจนเมืองครั้งนี้จะเป็นปรากฏการณ์ที่มีความหมายและมีคุณค่าอย่างยิ่ง

บทความแนะนำ

เชื่อมั่นว่าระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและการอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้านเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดความเสี่ยงเรื่องรายได้ เป็นภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ชุมชนได้แบ่งปันแลกเปลี่ยนระหว่างรุ่นสู่รุ่นและระหว่างเครือข่ายภาคีต่างๆ : มัทนา อภัยมูล