โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 1 ระบบเกษตรยั่งยืนเป็นความมั่นคงทางอาหารในทุกวิกฤต

    ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นระบบการผลิตทางการเกษตร การแปรรูป การจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และหมายความรวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตของเกษตรกร การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีทางเกษตรกรรม ที่คำนึงและรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความสมดุล ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค รวมทั้งพัฒนาสถาบันทางสังคมของชุมชนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาระบบเกษตรกรรมที่เข้มแข็งและยั่งยืน

นิยามของระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
ในร่าง พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน พ.ศ….

จากนิยามของระบบเกษตรกรรมยั่งยืนดังกล่าวถือเป็นหลักคิดสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของสังคมไทยมากว่า 3 ทศวรรษเพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรให้มุ่งสู่ความยั่งยืนในหลายมิติที่มากกว่าการผลิตเพียงอย่างเดียว เส้นทางการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของคนเล็กคนน้อยได้พิสูจน์จนปรากฏรูปธรรมและปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์ทั้งในมิติของการสร้างอาหารปลอดภัย การมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร การรักษาสมดุลย์ของระบบนิเวศและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะเมื่อสังคมไทยต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต 

สถานการณ์วิกฤติจากการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตนี้ได้สร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงอาหารของคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น หรือการต้องกักตุนอาหารที่ถือเป็นภาพไม่คุ้นชินของสังคมไทย สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนถึงภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารของคนเมืองที่ส่วนใหญ่พึ่งพาธุรกิจอาหารแบบค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่เป็นหลัก ดังนั้นหากเกิดการชะงักของสายพานอาหารในระบบตลาดดังกล่าวก็ยากที่จะเลี่ยงผลกระทบต่อกลุ่มคนเหล่านี้ได้ แตกต่างไปจากการตลาดสีเขียวของระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูล และสร้างความมั่นคงทางอาหารทั้งในมิติของการสร้างการกระจายและการสร้างการเข้าถึงอาหารที่เป็นธรรมของทั้งสองฝ่าย

ในฝั่งของเกษตรกรผู้ผลิตอาหารก็มีมุมมองหลายมิติโดยผ่านระบบการเกษตร 2 ระบบ คือ ระบบเกษตรเคมีเชิงเดี่ยวและระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าหากมองในมุมของเกษตรกรส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบเกษตรเคมีเชิงเดี่ยวก็จะพบว่า มักผลิตเพื่อมุ่งขายเป็นหลัก เช่น เกษตรกรบางรายปลูกข้าวขายแต่ต้องซื้อข้าวกิน ปลูกพืชแต่ต้องซื้อผัก เป็นต้น ซึ่งบ่งชี้ถึงความไม่มั่นคงทางอาหารของครัวเรือนเกษตรกรเชิงเดี่ยวที่ต้องขายผลผลิตเพื่อมีรายได้มาซื้อหาอาหารอีกทอดหนึ่ง และเมื่อสถานการณ์โรคโควิดระบาดก่อให้เกิดการชะลอการซื้อขาย ปัญหาระบบขนส่ง และการปิดแหล่งจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร สภาวะเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรกลุ่มนี้อย่างมาก และประเมินได้ว่าจะได้รับผลกระทบต่อการเข้าถึงอาหารเช่นกัน เนื่องจากอาหารของเกษตรกรกลุ่มนี้พึ่งพาอาหารจากภายนอกไร่นาตนเองเป็นหลัก หากราคาอาหารเพิ่มขึ้นเกษตรกรก็ย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

    “พื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบทางด้านอาหารเลยยังคงผลิตอาหารได้เป็นปกติ พี่น้องยังเข้าถึงอาหารทุกมื้อไม่ได้ขาดแคลน อาจจะกระทบบ้างในด้านรายได้ และผลผลิตที่ผลิตตามแผนการตลาดเดิมบ้าง แต่คงเป็นช่วงต้นเมื่อเจอสถานการณ์แบบเฉพาะหน้าเช่นนี้ เพราะกลุ่มมีการวางแผนด้านการผลิตที่เป็นระบบและได้ปรับช่องทางการจำหน่ายร่วมกันใหม่” 
    “อาหารที่บ้านสมบูรณ์มีหลากหลาย ไม่ได้กังวลว่าจะต้องออกไปซื้อหาอาหารที่ไหนในสถานการณ์เช่นนี้”  

 คือคำตอบโดยรวมของพี่น้องเครือข่ายเกษตรเกษตรกรรมทางเลือกที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่และผลักดันนโยบายร่วมกันมามากกว่า 30 ปี เป็นการยืนยันจากประสบการณ์ชีวิตว่า ไม่ว่าจะเผชิญกับภาวะวิกฤตครั้งใด ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นความมั่นคงทางอาหาร และเป็นทางรอดจากทุกวิกฤตได้

สภาวการณ์วิกฤตเช่นนี้อาจถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้บริโภคและเกษตรกรเกิดความตระหนักต่อความมั่นคงทางอาหาร การพึ่งตนเองในการผลิตเพื่อการบริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพึ่งตนเองด้านอาหารของเมืองหรือชุมชนชนบทก็ตาม และ”ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน” คือทางรอดที่ถูกพิสูจน์มาตลอดว่าเป็นทางรอดที่แท้จริง

บทความแนะนำ

ประสบการณ์งานพันธุกรรมและการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดย รศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์