ตอนที่ 2 ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน : สร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างระบบอาหารชุมชนมั่นคง เรียนรู้จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดอนเจียง ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ภาพการหลั่งไหลกลับบ้านของแรงงานในเมืองนับหมื่นเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2563 หลังคำสั่งปิดสถานที่ต่างๆ สะท้อนว่า การกลับภูมิลำเนาที่มั่นใจได้ว่าอย่างน้อยก็มีอาหารพอเลี้ยงชีวิตได้เป็นทางเลือกของพวกเขาที่ดีกว่าการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงที่ปราศจากการจ้างงานแล้ว
คำถามคือ “ระบบเกษตรแบบใดจะรองรับการกลับมาของคนเหล่านี้ได้ และเศรษฐกิจของชุมชนจะเป็นอย่างไร”
ประสบการณ์การเกษตรของกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดอนเจียง ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวีดเชียงใหม่ คือ ส่วนหนึ่งของคำตอบต่อคำถามนี้
“เกษตรกรรมยั่งยืนเป็นระบบการผลิตทางเลือกของเกษตรกรที่ต้องการออกจากระบบการเกษตรกระแสหลักที่พึ่งปัจจัยการผลิตและการตลาดจากภายนอกไร่นาที่มุ่งการผลิตเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด ซึ่งตรงข้ามกับการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับการผลิตที่เอื้อต่อการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารของครัวเรือน คุณภาพชีวิต และสร้างความสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและสังคม”
ข้อความดังกล่าวเป็นหลักคิดสำคัญในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในระดับพื้นที่ที่ปรับเปลี่ยนการผลิตมุ่งสู่ความยั่งยืนในหลายมิติที่มากกว่าการยกระดับคุณภาพของผลผลิตเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยมุมมองของเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมองว่าการทำเกษตรดังกล่าวเป็นรูปแบบการผลิตที่ทำได้ยาก รวมถึงเกษตรกรบางรายที่เคยอยู่ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนก็หันกลับมาทำเกษตรเคมีเชิงเดี่ยวเช่นเดิม ด้วยเหตุผลว่าระบบดังกล่าวไม่สามารถตอบโจทย์เชิงเศรษฐกิจได้จริง ทำให้การขยายแนวคิดเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนยังคงทำได้อย่างจำกัด อย่างไรก็ตามยังคงมีเสียงจากพี่น้องเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกที่เชื่อมั่น ศรัทธา และภูมิใจว่าการทำเกษตรกรรมยั่งยืนนั้นเป็นทางเลือกและทางรอดของเกษตรกรและสังคมได้จริงทั้งในแง่ความมั่นคงทางด้านอาหาร การฟื้นฟูระบบนิเวศ การสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชนและกับผู้บริโภค การมีสุขภาพและมีสิ่งแวดล้อมที่ดี คนในชุมชนสามารถเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพ และสามารถอยู่ได้จริงในเชิงเศรษฐกิจ
กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดอนเจียง ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพี่น้องเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคเหนือ ที่มีการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในระดับพื้นที่มากกว่า 20 ปีนั้น เป็นอีกเสียงหนึ่งที่เชื่อมั่นและศรัทธาในแนวคิดเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
ลุงอนันต์ สมจักร์ แกนนำกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดอนเจียง ได้ให้หลักคิดในการทำเกษตรอินทรีย์ว่า “การทำเกษตรอินทรีย์ ต้องทำให้ครบวงจรทั้งด้านการผลิต แปรรูป มาตรฐาน ตลาด ต้องมีการวางเป้าหมายที่ชัดเจน โดยควบคู่กับการวางแผนด้านการผลิตที่มีความหลากหลายทั้งพืชและสัตว์ การวางผังไร่นาที่สอดคล้องกับระบบนิเวศในพื้นที่ มีการรวมกลุ่ม และที่สำคัญต้องมีการวางแผนด้านการเงินด้วยถึงจะอยู่รอด” ลุงอนันต์ เริ่มทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2541 โดยการส่งเสริมของสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 22 ราย ซึ่งทำการผลิตโดยนำแนวคิดเช่นเดียวกับลุงอนันต์มาเป็นหลักในการเป็นเกษตรกร
ผลคือ สมาชิกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดอนเจียงสามารถปลดหนี้เดิมจากการทำเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว บางรายมีเงินออมสามารถซื้อที่ดินทำการเกษตรเพิ่ม ดังเช่นลุงอนันต์ซึ่งแต่เดิมทำการผลิตในที่ดินของพ่อจำนวน 1 ไร่ครึ่ง แต่หลังจากทำเกษตรอินทรีย์ก็สามารถมีเงินออมซื้อที่ดินเป็นของตนเองมีทั้งหมด 7 ไร่ครึ่ง โดยแบ่งพื้นที่ทำการผลิต ข้าว ถั่วเหลือง กล้วยน้ำว้า พืชผักตามฤดูกาล พืชพื้นบ้าน เลี้ยงวัว หมู ไก่ เป็ด และปลา เพื่อให้มีอาหารของครอบครัวและชุมชน รวมทั้งมีรายได้อย่างต่อเนื่อง และนอกจากการผลิตแล้ว ทางกลุ่มยังได้ส่งเสริมให้สมาชิกมีการแปรรูปให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าวกล้อง เต้าหู้ ชาสมุนไพร ข้าวแคบ เป็นต้น
ปัจจุบันผลผลิตของกลุ่มนอกจากเป็นอาหารคุณภาพดีให้กับครอบครัว ลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารที่เคยเป็นตัวเลขของรายจ่ายอันดับต้นๆ แล้ว ระบบอาหารของชุมชนยังเปลี่ยนไปจากการต้องพึ่งพาอาหารที่ไม่รู้แหล่งผลิตจากภายนอกกลายเป็นคนในชุมชนได้รับอาหารปลอดภัย คุณภาพดี และราคาถูกที่ไม่ต้องขนส่งระยะไกล และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สร้างกำลังใจให้กับกลุ่มคือ กลุ่มได้ส่งผักสดให้กับโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ตำบลสบเปิง ซึ่งหมายถึงลูกหลานของพวกเขาได้บริโภคอาหารอินทรีย์ แม้ว่ากลุ่มจะต้องลดราคาลงเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณของโรงเรียนและศพด.
ผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของกลุ่มยังได้สร้างเศรษฐกิจฐานรากของครอบครัวและชุมชนจากการนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในเมืองที่ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ซึ่งสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดอนเจียงได้ร่วมกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่และองค์กรพัฒนาเอกชนจัดตั้งและดำเนินการจนเป็นแหล่งกระจายผลผลิตและอาหารของเครือข่ายที่เชื่อมโยงสร้างความสัมพันธ์แบบเกื้อกูลกับผู้บริโภคในเมือง เช่น ที่ข่วงเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ทุกวันอังคารและพฤหัสบดี ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ทุกวันจันทร์ และตลาดนัดจริงใจมาร์เก็ตทุกวันเสาร์ รวมถึงการจำหน่ายผลผลิตให้กับร้านค้าเพื่อสุขภาพในเมือง
หลักคิดและหลักปฏิบัติในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของลุงอนันต์และกลุ่มได้ถูกทดสอบแล้วว่า เป็นคำตอบของการเกษตรและการสร้างเศรษฐกิจให้กับคนที่กลับมาจากเมืองได้จริง ด้วยพวกเขาได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่ในชุมชน ดังเช่น กุ้ง สุพรรณี สมจักร และเบนท์ กฤษฎา ธรรมรักษา คนรุ่นใหม่ที่ผันตัวเองจากการทำงานในเมืองมาทำการเกษตรของพ่อแม่ที่เป็นสมาชิกของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ดอนเจียง คนหนุ่มสาวทั้งสองเริ่มต้นแบบไม่มั่นใจในระบบการผลิตแบบนี้ แต่หลังจากได้รับคำปรึกษาจากพ่อแม่ และแกนนำกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งสองมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น
“หากถามว่าทุกวันนี้อยู่ได้จริงกับการทำเกษตรอินทรีย์หรือไม่ ขอตอบว่าอยู่ได้จริง แต่ต้องมีการวางแผนด้านการผลิต การเงิน อย่างรอบคอบ ว่าจะสามารถเพิ่มรายได้จากช่องทางใดบ้าง หากจำหน่ายผักสดอย่างเดียวและไม่หลากหลายอาจมีรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ดังนั้นต้องมีการปรับผลผลิตให้มีความหลากหลายและความต่อเนื่องทั้งผักสด การแปรรูปเป็นสิ่งสำคัญ”
ปัจจุบันทั้งกุ้งและเบนท์ เป็นแกนนำของคนรุ่นใหม่ของกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านดอนเจียงในการพัฒนาช่องทางการตลาดให้กับกลุ่ม โดยทำงานเชื่อมกับโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในการส่งผักสดสำหรับอาหารกลางวัน รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาการแปรรูปของกลุ่มร่วมกับทีมคนรุ่นใหม่ในชุมชน
ที่มา : ธันวา จิตต์สงวน, 2543. การพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน: บทวิเคราะห์จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม. ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาองค์กรชุมชนอย่างยั่งยืน. รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ 15-17 พฤศจิกายน 2543
ธันวา จิตต์สงวน, บัณฑิณี สูตรสุคนธ์, และวิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย, 2543. รายงานการวิจัย แนวทาง และนโยบายในการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน กรณีศึกษาภาคเหนือ. ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิฑูรย์ เรืองเลิศปัญญากุล, 2545. รายงานวิจัยแนวทางการพัฒนาเกษตรยั่งยืน. โครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรรายย่อยภูมินิเวศน์ภูพาน
Weil. R. R, (2533). Defining and Using the Concept of Sustainable Agriculture. J. AgronE. duc1. 9:126-13