สถานการณ์วิกฤติโควิดที่ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่… โดยเฉพาะข้อจำกัดในการเข้าถึงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น หรือการกักตุนอาหารที่ถือเป็นภาพไม่คุ้นชินของสังคมไทย ที่ได้สะท้อนถึงภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารของคนเมืองที่ส่วนใหญ่พึ่งพาธุรกิจการค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่เป็นหลัก เนื่องจากตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในเรื่องความหลากหลายของชนิดอาหารทั้งอาหารสดและแปรรูปโดยผ่านรูปแบบร้านค้าให้ทันสมัย ดังนั้นหากเกิดการชะงักของสายพานอาหารในระบบตลาดดังกล่าวก็ยากที่จะเลี่ยงกระทบต่อคนส่วนใหญ่
หากมองกลับกันในฝั่งของเกษตรกรผู้ผลิตอาหารก็สามารถมองได้หลายมิติโดยผ่านระบบการเกษตร 2 ระบบ คือ ระบบเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว และระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าหากมองในมุมของเกษตรกรส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบเกษตรเคมีเชิงเดี่ยวก็จะพบว่า มักผลิตเพื่อมุ่งขายเป็นหลัก เช่น เกษตรกรบางรายปลูกข้าวขายแต่ต้องซื้อข้าวกิน ซึ่งเป็นภาพของการเป็นเกษตรกรที่ไม่มีความมั่นคงทางอาหาร ที่สัมพันธ์ต่อมิติสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในระดับไร่นา และชุมชน
หากระบบการผลิตของเกษตรกรเป็นแบบนี้ในสถานการณ์แบบนี้ก็ประเมินได้ว่าได้รับผลกระทบต่อการเข้าถึงอาหารเช่นกัน เนื่องจากอาหารของเกษตรกรกลุ่มนี้พึ่งพาอาหารจากภายนอกไร่นาตนเองเป็นหลัก นั่นก็แปลได้ว่าหากราคาอาหารเพิ่มขึ้นเกษตรกรก็ย่อมได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่างไรก็ตามสภาวการณ์เช่นนี้อาจถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกษตรกรกลุ่มนี้เกิดความตื่นตัวในการผลิตเพื่อการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ดังเช่นเกษตรกรที่มีการผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ที่มีหลักเบื้องต้นในการผลิตเพื่อให้มีอาหารบริโภคก่อน โดยปฏิเสธการใช้สารเคมีทางการเกษตรในทุกขั้นตอนของการผลิตจนถึงจำหน่ายในตลาด ซึ่งกล่าวได้ว่าสถานการณ์วิกฤตโควิด ก็ไม่สามารถทำให้ความมั่นคงอาหารถดถอยลง
“พื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบทางด้านอาหารเลยยังคงผลิตอาหารได้เป็นปกติ พี่น้องยังเข้าถึงอาหารทุกมื้อไม่ได้ขาดแคลน อาจจะกระทบบ้างในด้านรายได้ แต่ไม่มากเพราะกลุ่มมีการวางแผนด้านการผลิตที่เป็นระบบและได้ปรับช่องทางการจำหน่ายร่วมกัน” “อาหารที่บ้านสมบูรณ์มีหลากหลาย ไม่ได้กังวลว่าจะออกไปซื้อหาอาหารที่ไหนในสถานการณ์เช่นนี้ ”คือ คำตอบโดยรวมของพี่น้องเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่ ที่ศรัทธาและร่วมกันขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในระดับพื้นที่มามากกว่า 20 ปี