ก่อนมาศึกษาเรียนรู้สาเหตุและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้สนใจและศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาและทรัพยากรในระดับภูมิภาคมาก่อน เมื่อย้อนกลับไปดูการศึกษาของนักนิเวศวิทยา นักภูมิศาสตร์ และนักประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่าภูมิภาคที่อยู่ในเขตร้อนชื้นมีความมั่นคงทางอาหาร ที่เกิดจากการวิถีระบบการผลิตที่หลากหลายทั้งชนิดพืชและสัตว์ อย่างกรณี การทำข้าวไร่ในระดับภูมิภาคอาเซียนที่พบในทุกสภาพพื้นที่ไม่ว่าที่สูง ที่โคก ที่ดอน ตลอดจนที่ลุ่มในพื้นที่น้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของทุกชาติพันธุ์ที่อาศัยในระบบนิเวศที่หลากหลายและแตกต่างกัน และผู้คนได้ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ก่อให้เกิดระบบการผลิตที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย
แต่เมื่อเข้าสู่ระบบการผลิตสมัยใหม่ที่เน้นการผลิตเชิงเดี่ยวที่ต้องการผลผลิตสูงมีการใช้เครื่องจักรกล ปุ๋ยและสารเคมี ทำให้ระบบการผลิตที่มีวัฒนธรรมหลากหลายนั้นถูกจำกัดและสูญหายหรือเปลี่ยนแปลงไป และการทำข้าวไร่บนดอยถูกมองว่าเป็นเรื่องล้าหลัง เป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ไม่มีประสิทธิภาพในการผลิต เช่นเดียวกับการทำข้าวไร่ในพื้นที่อื่นๆ ที่ถูกทำให้ลืมเลือนไปในที่สุด สิ่งเหล่านี้แลกกับการทำลายความมั่นคงทางอาหาร และทำให้เกษตรกรเหลือทางเลือกไม่กี่ทาง ผนวกกับการเผชิญวิกฤตในปัจจุบัน ไม่ว่าราคาข้าวตกต่ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรืออื่นๆ ที่ส่งให้ชาวนามีความเปราะบาง ดังนั้น คำถามก็คือ ชาวนาจะปรับตัวอย่างไร ? โดยเฉพาะประเด็นข้าวไร่
ภาคเกษตรกับความเปราะบางในปัจจุบัน
ในภาคการเกษตรสถานการณ์วิกฤตต่างๆ ได้ส่งผลต่อความเสี่ยงและความเปราะบาง ซึ่งเป็นเงื่อนไขและเป็นโจทย์สำคัญต่อการทำเกษตรกรรม ตัวอย่างเช่น
- เกษตรกรเข้าสู่ผู้สูงวัยมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา พบว่ากำลังแรงงานภาคเกษตรเปลี่ยนไปสู่ผู้สูงวัยมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีผู้สูงอายุในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น และสังคมเกษตรได้เข้าสู่ผู้สูงวัยก่อนสังคมเมือง ภาวะเช่นนี้ ใครจะมาเป็นแรงงานการผลิตหากภาคเกษตรยังคงต้องใช้แรงงานอย่างเข้มข้น
- การเข้าถึงที่ดินและระบบชลประทาน พบว่า ร้อยละ 80 ของเกษตรเข้าถึงหรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อทำการเกษตรไม่ถึง 20 ไร่ ในขณะที่พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ถูกจับจองและครอบครองโดยกลุ่มทุน และพื้นที่เกษตรกรรมที่เกษตรมีกรรมสิทธิ์นั้น สามารถเข้าถึงระบบชลประทานเพียงร้อยละ 26 ดังนั้น เกษตรกรของไทยส่วนใหญ่ยังคงทำเกษตรที่พึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ
- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่การเกษตรที่นอกระบบชลประทาน จะมีความเสี่ยงที่เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากโลกมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อการระบาดของโรคและแมลงและการเจริญเติบโตของต้นข้าว ที่จะทำให้ผลผลิตลดลงหรือต้นข้าวยืนต้นตาย หรือฝนที่ตกในแต่ละครั้งมีปริมาณมากขึ้นก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้ต้นข้าวถูกน้ำท่วมตาย เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยภาคใต้จะมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสูง
วิถีข้าวไร่ ทางเลือกในการตั้งรับปรับตัว
จากความเสี่ยงและความเปราะที่เกิดขึ้น เกษตรกรจำเป็นต้องมีการตั้งรับและปรับตัว และวิถีข้าวไร่เป็นทางเลือกหนึ่ง จากการศึกษาเรื่องข้าวไร่ พบว่า
- เป็นระบบการเกษตรที่ใช้ต้นทุนทางเศรษฐกิจในการผลิตที่ต่ำ เนื่องจากไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีในระบบการผลิต และใช้แรงงานไม่มากหากเทียบกับการผลิตแบบเข้มข้น แต่ให้ผลผลิตที่สูงบางแปลงให้ผลผลิตถึง 600 กิโลกรัมต่อไร่
- เป็นระบบผสมผสาน เป็นระบบนิเวศเกษตรที่มีความหลากหลาย การทำข้าวไร่ส่วนใหญ่จะปลูกร่วมกับพืชพันธุ์อื่นๆ หลากหลายชนิด เป็นระบบที่อาศัยความหลากหลายของสังคมพืช เป็นพลังการเกื้อกูลของธรรมชาติ ดังนั้น นอกเหนือจากการทำข้าวไร่แล้ว เกษตรกรยังมีสวนไม้ผล มีนาข้าว อันเป็นทางเลือกกระจายความเสี่ยงในการการเผชิญภาวะวิกฤต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ราคาผลผลิตตกต่ำ
- ข้าวไร่ตอบสนองเชิงวัฒนธรรม ประเพณีพื้นบ้าน ตอบคำถามทางเศรษฐกิจ เพราะมีความหลากหลายอยู่ในไร่ อันเป็นจุดแข็งที่คนยากจน เกษตรกรสามารถใช้เป็นฐานฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ และพึ่งตนเองได้ รวมทั้งในงานบุญประเพณีต่างๆ ข้าวไร่ได้เป็นส่วนประกอบสำคัญ
ข้าวไร่กับการตอบโจทย์ของชีวิตเกษตรกรในการปรับตัว
แนวทางที่จะทำให้ข้าวไร่เป็นทางเลือกในการตั้งรับปรับเพื่อตอบโจทย์ชีวิตเกษตรกร โดยการสร้างและขยายฐานพันธุกรรม ผ่านการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมระหว่างเกษตรกรด้วยกัน หรือการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่จากศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์มาปลูกและขยายผล ที่สำคัญต้องทำให้เกษตรกรเข้าถึงได้ง่าย และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้สามารถคัดเลือก ปรับปรุงพันธุกรรมที่เหมาะสมในแต่ละนิเวศได้ด้วยตนเอง
ที่สำคัญ ในยามที่เศรษฐกิจของโลกอยู่ในภาวะตกต่ำ และต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงและความเปราะบางที่มีต่อเกษตรกร ดังนั้น ระบบความหลากหลายในแปลงเกษตรผ่านวิถีข้าวไร่ ที่จะเชื่อมต่อภูมิปัญญาในอดีตกับการออกแบบในยุคปัจจุบัน จะเป็นคำตอบสร้างความมั่นคงทางอาหารและตั้งรับกับวิกฤตที่เกิดขึ้น