โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 11 ความหมายและนัยยะของ “ความมั่นคงทางอาหาร”

            ในสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ความมั่นคงทางอาหาร เป็นคำที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้น การทำความเข้าใจต่อแนวคิด นิยาม ความหมาย และนัยยะของความมั่นคงทางอาหาร จึงเป็นเรื่องสำคัญ
            แนวคิดในเรื่อง “ความมั่นคงทางอาหาร” มีพัฒนาการที่ต่อเนื่องมายาวนาน การให้นิยามความหมายความมั่นคงทางอาหารในสังคมไทย โดยส่วนใหญ่จะใช้กรอบความคิดและตัวชี้วัดขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ที่ให้ความหมายของความมั่นคงทางอาหารไว้ว่า หมายถึงการที่คนทุกคนมีความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีโภชนาการ ทั้งในทางกายภาพและเศรษฐกิจในการตอบสนองต่อความต้องการและความพึงพอใจทางอาหารของพวกเขา เพื่อการมีชีวิตและสุขภาวะที่ดี ” (FAO, 2006) โดยมี 4 องค์ประกอบ คือ
           
การมีอาหารเพียงพอ หมายถึงความเพียงพอของปริมาณอาหารที่มีคุณภาพ ซึ่งอาจได้จากการผลิตภายในประเทศหรือการนำเข้า รวมทั้งความช่วยเหลือทางด้านอาหาร

การเข้าถึงอาหาร คือ การเข้าถึงทรัพยากรที่เพียงพอของบุคคลเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารที่เหมาะสมและมีโภชนาการ

การใช้ประโยชน์ด้านอาหาร คือ การใช้ประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับมิติของปริมาณอาหารที่เพียงพอ มีน้ำสะอาด มีสุขอนามัย และสุขภาพดี เพื่อที่จะเข้าถึงความเป็นอยู่ที่ดีทางโภชนาการ ซึ่งความต้องการทางกายภาพต้องได้รับการตอบสนอง

การมีเสถียรภาพทางอาหาร หมายถึง การที่ประชาชน บุคคล และครัวเรือนสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอตลอดเวลา ไม่ต้องเสี่ยงกับการเข้าไม่ถึงอาหารจากวิกฤตที่เกิดขึ้น เช่น วิกฤตจากสภาพภูมิอากาศ หรือจากการขาดแคลนอาหารในบางฤดูกาล

แม้ว่าแนวคิดและนิยามความหมายของ FAO จะใช้กันโดยทั่วไป แต่ก็มีแนวคิดในด้านความมั่นคงทางอาหารที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องที่สำคัญแนวคิดหนึ่งคือ แนวคิดในเรื่อง การทรงสิทธิด้านอาหาร” (Food Entitlement) ของอมาตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี 2541 ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิในการเข้าถึงอาหารและเสถียรภาพของอาหาร” ในระดับบุคคลและครัวเรือน

แนวคิดในเรื่องสิทธิทางอาหารมีรากฐานมาจากกรอบความคิดในเรื่องสิทธิมนุษยชน และปรากฏอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งทำให้การตีความและให้ความหมายความมั่นคงทางอาหารครอบคลุมไปถึงสิทธิด้านอาหาร ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือ การเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอต่อความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สอดคล้องกับวัฒนธรรม และการมีอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายถึงการมีอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของคนรุ่นนี้และในอนาคต การจัดการให้มีอาหารอย่างเพียงพอ คือ สามารถเลี้ยงตนเองได้โดยตรงจากทรัพยากรธรรมชาติทางการเกษตร หรือจัดให้มีอาหารเพียงพอผ่านระบบการแจกจ่าย การแปรรูป และการตลาดซึ่งมีระบบที่เหมาะสม การให้ความหมายในเรื่อง สิทธิทางอาหาร ของคณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่กำหนดไว้คือสิทธิของทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก ไม่ว่าโดยลำพังหรือร่วมกับผู้อื่นในชุมชนในการเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ หรือมีวิธีการสำหรับจัดซื้ออาหารที่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ตลอดเวลาทั้งในทางกายภาพและในทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้ความมั่นคงทางอาหารมีนัยยะเชื่อมโยงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการคำนึงถึงท้องถิ่น แม้ในการให้ความช่วยเหลือด้านอาหารในยามฉุกเฉินก็ต้องหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อผู้ผลิตและตลาดท้องถิ่น คำนึงถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และไม่ขัดกับวัฒนธรรมของผู้รับ ซึ่งถือเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่สำคัญในเบื้องต้น  

แนวคิดความมั่นคงทางอาหารมีพัฒนาการควบคู่ไปกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลงภายใต้โลกาภิวัตน์ ทำให้การค้าเสรีเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจ และสังคมโลก อาหารได้กลายเป็นสินค้า มีการเก็งกำไรทางการค้า รวมทั้งการแข่งขันทางการค้า ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตและการบริโภคของครัวเรือนและชุมชนเกษตรกรรายย่อย องค์กรชาวนาโลก(Via Campesina) ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง “อธิปไตยทางอาหาร (Food Sovereignty) โดยให้ความหมายว่าหมายถึงสิทธิของประชาชนที่จะกำหนดนโยบายเกษตรและอาหารของตนเอง ควบคุมการค้าและการผลิตทางการเกษตรภายในประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนให้เกิดการพึ่งพาตนเอง จำกัดการทุ่มตลาด และให้ชุมชนพื้นบ้านจัดการการใช้และมีสิทธิในทรัพยากรจุดเน้นหนักของแนวคิดนี้คือ เรื่องสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับได้ในทางวัฒนธรรม สิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การเน้นการค้าที่ให้ความสำคัญกับการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และรวมไปถึงการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรายย่อย หรือความเป็นประชาธิปไตยที่จะกำหนดและควบคุมนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารในทุกระดับ


บทความแนะนำ