ตอนที่ 24 มองพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน ผ่านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ของชาวนา
การเปิดประเทศเพื่อค้าขายที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการนำประเทศเข้าร่วมในข้อตกลงด้านการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากผู้เชี่ยวชาญ การเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านไว้ตามศูนย์วิจัยข้าวต่างๆ เป็นเหตุให้บทบาทของชาวนาต่อการคัดเลือกปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าวลดลง ไปสู่บทบาทของผู้เชี่ยวชาญ องค์กรภาครัฐ ตลอดจนบรรษัทธุรกิจเมล็ดพันธุ์แทน แต่หากย้อนกลับไปราว 30 ปี ชาวนาจะเป็นผู้คัดเลือกพันธุ์ที่จะปลูกตามความเหมาะสมของนิเวศ แรงงาน ความชอบ การใช้ประโยชน์ อย่างเช่น ในพื้นที่ทุ่งเลือกปลูกข้าวอายุปานกลาง พื้นที่นาโคกเหมาะกับการปลูกข้าวเบา เช่น ข้าวป้องแอ้ว ข้าวดอฮี ข้าวหวิดหนี้ ข้าวขาวดอ ข้าวบักหม่วย ข้าวหมากขาม ข้าวดอดอกติ้ว ข้าวดอลาว ข้าวดอกดู่ ข้าวขี้ตม ส่วนพื้นที่นาทามจะปลูกข้าวพันธุ์หนักและข้าวขึ้นน้ำ เช่น ข้าวจ้าวลอย ข้าวเหนียวลอย ที่นาฮอมซึ่งเป็นพื้นที่ลาดเอียงลงจนถึงที่ลุ่มต่ำตรงกลางระหว่างที่โนน 2 ด้านจะปลูกข้าวอายุปานกลางและข้าวหนัก การเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับลักษณะนิเวศนี้ยังสอดคล้องกับเวลาและแรงงานในครัวเรือนด้วย เช่น เริ่มปักดำในพื้นที่นาโนนหรือนาโคกก่อน และใช้พันธุ์ข้าวอายุสั้น (ข้าวเบา) จากนั้นก็ทำนาที่ราบอายุปานกลาง (ข้าวกลาง) แล้วถึงไปทำนาที่ลุ่มน้ำท่วมใช้พันธุ์ข้าวที่มีอายุเก็บเกี่ยวนาน (ข้าวหนัก) ส่งผลให้สามารถทยอยการเก็บเกี่ยวจากข้าวเบา ข้าวกลางและข้าวหนัก
การรื้อฟื้นพันธุกรรมของชาวนา
การลดลงของความหลากหลายพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ส่งผลต่อการลดบทบาทของชาวนาจากที่เคยคัดเลือกพันธุ์ข้าวตามความเหมาะสมนิเวศและแรงงานในครัวเรือน หรือความต้องการของการบริโภค วัฒนธรรมและความเชื่อลงไปแล้วนั้น ผลกระทบจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสุขภาพ การพึ่งพาปัจจัยการผลิตดภายนอกและภาระหนี้สินมีตามมา ทำให้ชาวนาได้ร่วมกันรื้อฟื้นพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกลับคืนอีกครั้ง อย่างเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน ได้มีการนำพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกลับคืนมาสู่แปลงนาถึง 178 สายพันธุ์ แบ่งเป็นข้าวเจ้า 40 สายพันธุ์และข้าวเหนียว 138 สายพันธุ์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การตระหนักและให้ความสำคัญของพันธุกรรมท้องถิ่นได้กระจายไปยัง 4 ภาค เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์มากกว่าข้าว แต่รวมไปถึงพันธุ์ผักและสัตว์ มีการแปรรูปและจำหน่ายผลผลิตจากพันธุกรรมพื้นบ้าน ตัวอย่างเช่น
การตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ชุมชน คือเป้าหมาย
การรื้อฟื้นพันธุกรรมข้าว ผักและสัตว์ต่างๆ ที่กลับคืนมาสู่แปลงเกษตร ทำให้บทบาทเกษตรกรได้กลับมาในการดูแล คัดเลือก จัดการพันธุ์เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีสำหรับการนำไปปลูกและขยายพันธุ์ต่อไป ทำให้ลดต้นทุนการผลิตลง รวมไปถึงเกิดการแลกเปลี่ยนแบ่งปันพันธุกรรมซึ่งกันและกัน สำหรับแนวทางที่สำคัญคือ “การตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ชุมชน” ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเกษตรกรเพื่อให้พันธุกรรมพืช ผัก สัตว์มีการควบคุม ดูแล จัดการโดยเกษตรกรเอง