ตอนที่ 10 ตำนานข้าวหอมมะลิ
เมล็ดข้าวทุกเม็ด และพันธ์ุข้าวทุกสายพันธุ์ล้วนมีตำนานซ่อนอยู่ เรื่องราวของข้าวหอมมะลิก็เช่นกัน ประวัติและความเป็นมาของสายพันธุ์ข้าวนี้ได้รับการบันทึกไว้โดยเอกสารของทางราชการ และถูกเก็บไว้ในความทรงจำของผู้คนจำนวนหนึ่ง
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก โดยภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เป็นเป้าหมายสำคัญของสหัฐ ทั้งนี้ในด้านหนึ่งเพื่อสร้างพันธมิตรของสหรัฐในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ และในอีกด้านหนึ่งเพื่อขยายบทบาทในทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเอง เพื่อใช้ประเทศเหล่านี้เป็นฐานสำหรับวัตถุดิบและเป็นตลาดสำหรับสหรัฐอเมริกา ไปพร้อมๆกันด้วย
สหรัฐอเมริกาจึงได้ส่งทั้งความช่วยเหลือทางวิชาการและเงินทุนมายังภูมิภาคเอเชียอาคเณย์ ในกรณีประเทศไทยนั้น รัฐบาลไทยและสหรัฐได้ตกลงที่เรียกว่า ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอเมริกา ทั้งนี้องค์การบริหารความร่วมมือระหว่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตันได้ส่ง ดร.โรเบิร์ต แอล. เพนเดลตัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพันธุกรรมในประเทศเขตร้อน จากมหาวิทยาลัยจอร์นฮอบกินส์ พร้อมด้วย ดร.เอช. เลิฟ ผู้เชี่ยวชาญการปรับปรุงพันธ์พืชจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล มาช่วยเหลือไทยในการบำรุงพันธุ์ข้าว และจัดตั้งกองข้าวเมื่อปี 2493
“โดยขั้นแรกได้เรียกพนักงานจากท้องถื่นต่างๆ เข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการบำรุงพันธุ์ข้าว เรื่องดินและเรื่องปุ๋ย แล้วให้กลับออกไปปฏิบัติการเรื่องการทดลองพันธุ์ข้าวและทดลองปุ๋ยยังท้องถิ่นที่ประจำอยู่ พนักงานที่ได้รับการอบรมรุ่นแรกนี้ได้แสดงความสามารถทันทีที่กลับไปถึงท้องถิ่น นพักงาน 37 คน จาก 35 อำเภอ ได้รวบรวมรวงข้าวจากชาวนา 938 แห่งทั่วประเทศ เป็นจำนวนกว่า 120,000 รวงหรือสายพันธุ์ วึ่งนับว่ามากเป็นประวัติการณ์ เพื่อส่งมาทำการคัดเลือกพันธุ์ตามสถานีทดลองต่างๆในปีต่อไป”
ในครั้งนั้น ข้าวดอกมะลิ หรือที่คนไทยเรียกกันสั้นๆ ติดปากในเวลาต่อมาว่า ข้าวหอมมะลิ ถูกรวบรวมมา 199 รวง โดยรวบรวมมาจากอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ได้มีการบันทึกไว้ว่าข้าวพันธุ์นี้มีที่มาจากบ้านแหลมประดู่ ชุมชนซึ่งตั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และอ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ไปปลูกที่บางคล้าเมื่อปี 2488
ที่มา : หนังสือหอมกลิ่นมะลิข้าวมะลิหอม ผู้เขียน วิฑูร เลี่ยนจำรูญ และนิรมล ยุวนบุณย์