โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

     ข่าวการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทรวงการคลังให้ข้อมูลว่า อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงจำนวนเกษตรกรและงบที่จะใช้ เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในปลายเดือนเมษายนนี้ 

แล้วเกษตรกรคือใคร และทำอะไร ???

         สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ให้ความหมายของ เกษตรกร ไว้คือ
         เกษตรกร (อ่านว่า กะ -เสด-ตฺระ -กอน) มาจากคำภาษาสันสกฤต ๒ คำ คือ เกฺษตฺร (อ่านว่า กเส-ตฺระ) แปลว่า ที่ดิน ที่นา กับ กร (อ่าน กะ -ระ) แปลว่า ผู้กระทำ ผู้สร้าง.  เกษตรกร จึงมีความหมายตรง ๆ ว่า ผู้ทำงานในที่ดินหรือที่นา หมายถึง ผู้ที่อาศัยที่ดินที่นา เพื่อเพาะปลูกพืชผล เลี้ยงสัตว์ ต่อมาขยายความรวมไปถึงผู้ที่ใช้แหล่งน้ำทำประมงด้วย เกษตรกรเป็นคำรวมที่ใช้เรียก ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ชาวประมง และผู้เลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า
         ในขณะที่พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ของ อ.เปลื้อง ณ นคร ได้ให้ความหมายว่าเกษตรกร คือ ผู้ทำไร่ไถนา และเกษตรกรรม คือ การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ รวมถึงการป่าไม้ และเหมืองแร่ ส่วนเกษตรกรรม แปลมาจากคำว่า agriculture (Agri/Ager) มาจากภาษากรีก หมายถึง ทุ่งหรือดินและ culture หมายถึง การปลูกหรือปฏิบัติ เมื่อมารวมกันจึงมีความหมายถึงการปฏิบัติเกี่ยวกับที่ดินเพื่อให้เกิดการผลิตหรือการใช้พื้นที่เพื่อให้เกิดผลผลิตขึ้นมา

แล้ว “เกษตรกร” และ “เกษตรกรรม” ที่เข้าข่ายได้รับการเยียวยาคือ ???

         กระทรวงการคลังให้ข่าวว่า กลุ่มเกษตรกรที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาในมาตรการดังกล่าวจะเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรฯ และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เท่านั้น โดยเป็นการจ่ายแบบครั้งเดียวรายละ 15,000 บาท ประมาณการจำนวนเกษตรกรที่จะได้รับการเยียวยาไว้คือ 9 ล้านครัวเรือน
         จากข้อมูล facebook ประชาสัมพันธ์กรมส่งเสริมการเกษตรในประเด็นการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า การประกอบการเกษตร หมายถึง การปลูกพืช การเลี้ยงปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์น้ำ การทํานาเกลือสมุทร การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ และเกษตรอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค หรือจําหน่ายหรือใช้งานในฟาร์ม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันดังต่อไปนี้ 1. การทํานาหรือทําไร่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ รวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งไร่ขึ้นไป 2.การปลูกผัก หรือการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ หรือการเพาะเห็ด หรือการปลูกพืชอาหารสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งงานขึ้นไป 3. การปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น หรือการปลูกสวนป่า หรือปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งไร่และมีจํานวนต้นตั้งแต่สิบห้าต้นขึ้นไป 4. การปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งไร่และมีจํานวนต้นตั้งแต่สิบห้าต้นขึ้นไป 5. การเลี้ยงแม่โคนม ตั้งแต่หนึ่งตัวขึ้นไป 6. การเลี้ยงโค หรือกระบือ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่สองตัวขึ้นไป 7. การเลี้ยงสุกร แพะ หรือแกะ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่ห้าตัวขึ้นไป 8. การเลี้ยงสัตว์ปีก ตั้งแต่ห้าสิบตัวขึ้นไป 9. การเลี้ยงสัตว์น้ํา หรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ํา อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน 10. การทํานาเกลือสมุทร บนเนื้อที่ตั้งแต่หนึ่งไร่ขึ้นไป 11. การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน 12. การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่นๆ หมายความว่า การเลี้ยงผึ้งพันธุ์ผึ้งโพรง ชันโรง ครั่ง จิ้งหรีด ด้วงสาคูไส้เดือนดิน ชีวภัณฑ์และอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน และ13. ประกอบการเกษตร อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ที่กําหนดตาม 1 ถึง 12 และมีรายได้ตั้งแต่แปดพันบาทต่อปีขึ้นไป

         และมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนคือ
         1.ครัวเรือนเกษตรกรผู้ขอขึ้นทะเบียนจะต้องเป็นผู้ประกอบการเกษตร เป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพรองก็ได้
         2.ครัวเรือนเกษตรกร 1 ครัวเรือน จะมีตัวแทนมาขอขึ้นทะเบียนได้เพียง 1 คน ในการพิจารณาว่าครัวเรือนใดขอขึ้นทะเบียนซ้ำซ้อนหรือไม่ เจ้าหน้าที่จะต้องชี้แจงรายละเอียดให้เกษตรกร ผู้ขอขึ้นทะเบียนรับทราบ ตามนิยามที่กําหนด
         3.เกษตรกรผู้ขอขึ้นทะเบียนต้องบรรลุนิติภาวะ และมีสัญชาติไทย กรณีที่เป็นนิติบุคคล จะต้องมีการมอบหมายผู้แทนมาขึ้นทะเบียน
          ในด้านจำนวนของเกษตรกร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุจำนวนไว้คือ 5.91 ล้านคน ขณะที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ประมาณการเบื้องต้นไว้ 9 ล้านคน และใช้เป็นตัวเลขของผู้จะได้รับช่วยเหลือเยียวยา หากทว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประมาณการว่า ครัวเรือนเกษตรมีจำนวนรวมกัน ประมาณ 13.57 ล้านครัวเรือน
         9 ล้านครัวเรือนที่รัฐบาลไทยตั้งไว้ว่าจะช่วยเหลือเยียวยาอาจจะน้อยเกินไปที่จะครอบคลุมผู้ที่ถูกเรียกว่า “เกษตรกร” ได้ครบถ้วน หากรัฐบาลยังยืนตัวเลข 9 ล้านคน คงมีเกษตรกรที่เดือดร้อนไม่ได้รับการเยียวยาเป็นจำนวนหลายล้านคน และเป็นโจทย์ให้รัฐบาลต้องแก้ปมกันต่อไป


บทความแนะนำ

ร่างกรอบแผนฯ 13 ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ได้ระบุถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร

เชื่อมั่นว่าระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและการอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้านเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดความเสี่ยงเรื่องรายได้ เป็นภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ชุมชนได้แบ่งปันแลกเปลี่ยนระหว่างรุ่นสู่รุ่นและระหว่างเครือข่ายภาคีต่างๆ : มัทนา อภัยมูล