โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 17 การทำเกษตรอินทรีย์ ภายใต้แนวคิดภูมินิเวศวัฒนธรรม

      ลักษณะการทำเกษตรกรรมยั่งยืนนั้นมีหลายรูปแบบที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่จะเลือกทำในรูปแบบใดนั้น มีความสัมพันธ์กับสภาพภูมินิเวศวัฒนธรรม ซึ่งได้แก่ ต้นทุนทรัพยากร ความถนัดทางการผลิตในฐานวัฒนธรรมของชุมชน แรงงานและลักษณะเครื่องทุ่นแรงในการผลิต และทำเลที่ตั้งชุมชนว่าเอื้อต่อการผลิตหรือไม่ ในการทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้แนวคิดภูมินิเวศวัฒนธรรมนั้น มีหลักการเบื้องต้น ดังนี้
— มุ่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยเพื่อครอบครัวและชุมชน และลดการซื้ออาหารจากข้างนอกไร่นา และชุมชน    
      ปัจจุบันการซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่มีจำหน่ายทั่วไปมาปรุงอาหารค่อนข้างเสี่ยงที่จะได้รับผลผลิตที่ปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตร การทำการเกษตรด้วยเกษตรอินทรีย์ ในระบบ นิเวศด้วยตนเองจะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว นอกจากนี้ยังเป็นการประหยัดรายจ่าย และเพิ่ม รายได้ด้วย
— เน้นการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์หลากหลายทางชีวภาพ ผสมผสาน เกื้อกูล และสมดุลในแปลงเดียวกัน
      การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ที่หลากหลายจะช่วยลดความเสี่ยงจากการทำลายของโรคแมลง การเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ การผันแปรของราคาสินค้าเกษตร ทำให้มีอาหาร หลากหลาย ชนิดบริโภค รวมทั้งมีรายได้ วันเดือน ปี และมีมรดกด้วยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีสังเคราะห์ทางการเกษตร ใช้การบริหารจัดการ โรคแมลง ศัตรูพืชด้วยการบริหารจัดการทางนิเวศ มองแมลงคือเพื่อน
— เน้นการพึ่งตนเอง ลดต้นทุน ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ประหยัด ไม่เผา หมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ทั้งจากการบริโภคและกิจกรรมในไร่นา
      เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ เป็นเกษตรรายย่อย เช่าที่ดินทำกิน หากทำการเกษตรที่เน้นการลงทุนสูง เน้นการพึ่งพิงปัจจัยการผลิตภายนอกไร่นา เน้นพึ่งพิงระบบตลาดเพื่อขาย และส่งออก ด้วยต้นทุนที่สูง แต่ระบบตลาดไม่เอื้อ จะเสี่ยงต่อการขาดทุน ทำให้มีหนี้ได้ การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ใช้ปัญญา ออกแรงน้อย ได้งานมาก ให้ธรรมชาติสัตว์ จุลินทรีย์ช่วยทำงาน ไม่เผา จะเป็นการพึ่งตนเองและลดต้นทุนการผลิต
— หญ้า พืชที่ขึ้นในไร่นาต่างมีประโยชน์ วัชพืชไม่มีในโลก
      หญ้าและพืชแต่ละชนิดต่างมีคุณค่าในตัว ให้คุณค่าทั้งเหมือนและต่างกัน พืชรากยาว จะช่วยดึงธาตุอาหารขึ้นข้างบน พืชรากสั้นก็ช่วยดึงอาหารหน้าดิน พืชบางชนิดช่วยไล่ แมลง บางชนิดช่วยดึงแมลง บางชนิดบำรุงดิน บางชนิดเป็นสมุนไพร บางชนิดเป็นทั้ง อาหาร ยา ความเชื่อประเพณีวัฒนธรรม และใช้เป็นปุ๋ย ฯลฯ

— เน้นใช้พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ท้องถิ่น ปลูกพืชตามฤดูกาล ปลูกพืชหมุนเวียนปลูกพืชแซม ปลูกพืชผสมผสาน
      การทำเกษตรอินทรีย์ให้ความสำคัญต่อการเก็บรวบรวม คัดเลือก ปรับปรุงพันธุ์พืช สัตว์ จุลินทรีย์ท้องถิ่น เน้นการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ผสมผสาน ปลูกพืชตามฤดูกาล พืชหมุนเวียน ปลูกพืชแซม ปลูกพืชผสมผสาน พืชไล่แมลง พืชบำรุงดิน จะช่วยลดความเสี่ยง จากโรคแมลง ศัตรูพืช และภัยธรรมชาติ
— พัฒนาการแปรรูป อุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ของชุมชนและกิจการเพื่อสังคม
      หากมีผลผลิตเหลือจากการจำหน่าย หรือผลผลิตตามฤดูกาลมีมาก ควรจะแปรรูปด้วย วิธีการทางเกษตรอินทรีย์ และยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรมของชุมชน เพื่อรองรับคนหนุ่มสาวให้มีงานทำ และพัฒนาให้เป็นกิจการเพื่อสังคมในที่สุด
— ร่วมพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานที่สังคมให้การยอมรับ
      การมีระบบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ อย่างน้อยก็เพื่อช่วยประกันคุณภาพของผลผลิตแก่ผู้บริโภค และเป็นการสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จริง
— พัฒนาระบบตลาดที่เป็นธรรมและเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค
      เกษตรอินทรีย์จะคู่กับตลาดที่เป็นธรรม เป็นตลาดแนวนอนที่เกษตรกรและผู้บริโภค ในชุมชนท้องถิ่นต่างร่วมมือกันในการจัดการระบบอาหารของชุมชนทั้งด้านการผลิต แปรรูป ตลาด การรับรองมาตรฐาน รวมทั้งร่วมสร้างนโยบายที่เอื้อทั้งต่อเกษตรกร ผู้บริโภค สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่การจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น อย่างยั่งยืน
— พัฒนากลุ่ม เครือข่าย ชุมชน การให้โอกาสการมีส่วนร่วมทั้งหญิงและชาย
      เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การช่วยเหลือเกื้อกูล การกล่อมเกลาทางจิตวิญญาน การควบคุมคุณภาพสินค้า การสร้างกองทุนของสมาชิก การพัฒนาระบบผลิต แปรรูป ตลาด มาตรฐาน นโยบาย และกองทุน การจัดตั้งกลุ่มและเครือข่ายเป็นเรื่องที่สำคัญ
      จากหลักการทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้ภูมินิเวศวัฒนธรรมดังกล่าว เกษตรกรในหลายพื้นที่ ซึ่งรวมถึงโรงเรียน ที่ได้นำไปปรับใช้ในระบบการจัดการแปลงการผลิต ตัวอย่างเช่น โมเดลการปลูกผักร่วมกับเลี้ยงไก่แบบอินทรีย์ (ภาพ 1-4) ซึ่งเป็นรูปแบบที่มองถึงระบบห่วงโซ่อาหารจากการใช้ประโยชน์จากเศษอาหารเพื่อให้ไก่กิน ขณะที่ปล่อยไก่ให้กินหญ้าในแปลง ไก่ก็จะจิกกินทั้งหญ้าและแมลงที่อยู่ในแปลง ควบคู่กับการถ่ายมูลลงในแปลงด้วย เมื่อครบ 1 เดือนก็ย้ายไก่ไปสู่แปลงที่มีการเก็บเกี่ยวผักใหม่ ส่วนแปลงที่ปล่อยไก่ที่ผ่านมา ก็สามารถขึ้นแปลงปลูกผักต่อเป็นระบบหมุนเวียนแปลง

ภาพ 2 การปลูกพืชหมุนเวียน หลากหลายและตามฤดูกาล
 ภาพ 1 ตัวอย่างผังการผลิต:ปลูกผักร่วมเลี้ยงไก่
ภาพ 3 แผงกั้นไก่แบบยกได้
ภาพ 4 การขุดแปลง ทำร่องตรงกลางและใส่ปุ๋ยหมัก

   

 

 

 

 

           

      แนวคิดการผลิตนี้นอกจากสามารถผลิตพืชผักหลากหลายชนิด และไข่ไก่แล้ว ยังเป็นที่เรียนรู้ให้กับชุมชนที่สนใจด้านเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ เพื่อเป็นการขยายผลให้เกิดพื้นที่อาหารที่เอื้อตลอดห่วงโซ่การผลิตต่อการรับมือสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่กระทบระบบเกษตรและอาหารในปัจจุบันอีกด้วย

อ้างอิง: โครงการความร่วมมือเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเกษตรอินทรีย์. (2558). การเลี้ยงไก่อินทรีย์ร่วมกับการปลูกผักอินทรีย์ภายใต้แนวคิดภูมินิเวศวัฒนธรรม. มหาวิทยาลัยแม่โจ้

บทความแนะนำ