โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

         “ การแพร่ระบาดของโควิดที่เกิดขึ้นในชุมชนแออัดครั้งนี้ ทำให้ชุมชนต้องมีมาตรการกักตัว ทุกคนจึงออกไปทำมาหากินไม่ได้ ไม่มีรายได้เพราะส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บ ไม่ได้ทำงานก็ไม่มีเงิน จากชีวิตที่ปกติเครียดอยู่แล้ว กลับต้องมากังวลว่าจะติดเชื้อกันเองในชุมชน จากความเป็นอยู่ที่หนาแน่น ทำให้ชีวิตยิ่งเครียดไปอีก …ผมกลัวว่าเขาอาจจะตัดสินใจแก้ปัญหาชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย…….” พงษ์สิทธิ์ กิจถาวรรัตน์ หนึ่งในอาสาสมัครกลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต ให้ความเห็นต่อการเข้ามารวบรวมผลผลิตและส่งต่อให้กับกลุ่มเปราะบางชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯและชานเมือง ซึ่งไม่ต่างกับอีกหลายๆ คน รวมทั้งเกษตรกรที่สมัครใจเข้ามาร่วมไม้ร่วมมือช่วยเหลือในวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้น “ถึงแม้การนำผลผลิตทางเกษตรส่งต่อให้ในชุมชน เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น แต่อาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการประทังชีวิต สำหรับระยะยาวแล้วพลเมืองไทยต้องมีสิทธิการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยได้ง่ายและทุกคน” พงษ์สิทธิ์ กล่าวย้ำ (สัมภาษณ์, 13 พฤษภาคม 2564)

         การรวบรวมและรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากเครือข่ายเกษตรกรในหลายจังหวัด ที่ได้รับผลจากการไม่สามารถระบายผลผลิตในพื้นที่ เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา อ่างทอง ลพบุรี สุรินทร์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ฯลฯ แล้วนำมาส่งต่อให้กับกลุ่มคนเปราะบางในกรุงเทพฯ และชานเมือง เพื่อนำไปบริโภคหรือสร้างครัวกลางในการทำอาหารแจกจ่ายให้กับคนในชุมชน ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยเหลือทั้งเกษตรกรและกลุ่มคนเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาทั้ง 3 ระลอกของการแพร่ระบาดในนาม “กลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต วิกฤตโควิด 19 เราจะไม่ทิ้งกัน”

ใครคือ กลุ่มคนเปราะบาง ?

         การแพร่ระบาดของโควิดในระลอก 3 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2546 เป็นต้นมา ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ได้เกิดการแพร่ระบาดในชุมชนแออัดหลายแห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่กันหนาแน่น บ้านที่มีเนื้อที่ไม่มากนักแต่ต้องอาศัยกินอยู่ร่วมกันหลายคน จึงเป็นเรื่องยากที่จะรักษาระยะห่างในการใช้ชีวิต ยิ่งเมื่อมีข่าวคนในชุมชนติดเชื้อโควิดได้ส่งผลกระทบภาวะความเครียดและหวาดระแวงกับผู้คนเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากปัญหาปากท้องและหนี้สิน ความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัยที่มักถูกเบียดขับด้วยการไล่รื้อ การไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานที่ต้องเผชิญกันอยู่แล้ว ความไม่มั่นคงทางอาชีพไม่ว่าแรงงานนอกระบบ หาบเร่แผงลอย คนงานก่อสร้าง เก็บของเก่า ตลอดจนแรงงานในภาคบริการ เช่น พนักงานทำความสะอาด พนักงานรักษความปลอดภัย เมื่อเกิดวิกฤตโควิด หลายคนต้องหยุดหรือทำงานลดน้อยลง ส่งผลต่อการขาดรายได้ที่จะมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและการเข้าถึงอาหาร กลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งมีเป็นจำนวนมากรวมไปถึงแรงงานข้ามชาติ

ปันอาหาร ปันชีวิตกับกลุ่มคนเปราะบาง

         ในปีนี้การดูแลเรื่องกลุ่มคนเปราะบางเรามีความชัดเจนและมีความลึกมากขึ้น เนื่องจากว่าเงินบริจาคก็ไม่ได้มีมากเราก็เลยว่าเราจะช่วยเหลือชุมชนที่มีกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มแรก คือคนที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านอยู่ในชุมชน กลุ่มที่สอง คือกลุ่มคนที่ตกงาน 100% ไม่มีงานทำต้องหยุดงาน กลุ่มที่สาม ก็คือกลุ่มคนที่ตกงาน ลดเวลางานและรายได้ลดลง 50% ขึ้นไป  (https://www.facebook.com/cityfarmthailand/) การดำเนินงานของ “กลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต” วิกฤตโควิด 19 เราจะไม่ทิ้งกัน เป็นความร่วมมือของเครือข่ายสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และมูลนิธิสุขภาพไทย โดยขอรับบริจาคอาหารและเงินทุน ภายใต้แนวคิด การเชื่อมโยงเกษตรกรผู้ผลิตอาหารอินทรีย์แล้วนำไปส่งต่อให้กับกลุ่มคนเปราะบาง เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่ดี มีคุณภาพ (https://www.facebook.com/groups/) โดยกลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต ทำหน้าที่ประสานกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มคนไร้บ้าน และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ เพื่อสำรวจจำนวนคนที่เดือดร้อนแล้วนำไปคำนวณปริมาณอาหารที่เพียงพอตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

         จากนั้นประสานกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เพื่อซื้อผลผลิตในราคามิตรภาพ อย่างกรณีกลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี กนกพร ดิษฐกระจันทร์ ผู้ประสานงานกลุ่มฯ เล่าให้ฟังว่า “นอกจากผลผลิตของกลุ่มตัวเองที่มีสมาชิกกว่า 40 คน ในอำเภอเมือง อู่ทอง ดอนเจดีย์ แล้ว ยังไปรับซื้อผลผลิตของเครือข่ายกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่รู้จักกันในอำเภอบ้านโป่ง สวนผึ้ง และปากท่อ จังหวัดราชบุรี เพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตที่เพียงพอ ถึงแม้จะอยู่ต่างจังหวัดกัน แต่ในวันที่รวบรวมผลผลิตก็จะช่วยๆ กัน เครือข่ายกองทุนฟื้นฟูฯ จะมีอาสาสมัครช่วยประสานสมาชิกแล้วนัดจุดที่เอาผลผลิตมารวมกัน….” (สัมภาษณ์, 4 พฤษภาคม 2564) เช่นเดียวกับสมาชิกของกลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง สมาชิกจะนำผลผลิตมารวบรวมที่บ้านกนกพร เพื่อรอส่งต่อให้กับกลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต สำหรับราคาที่รับซื้อจากเกษตรกรนั้นจะซื้อในราคาต้นทุนที่เกษตรกรเองจำหน่ายให้ได้ อย่างเช่น คะน้าซื้อในราคา 40 บาท/กิโลกรัม ข้าวหอมปทุมซื้อในราคาเพียง 35 บาท/กิโลกรัม เกษตรกรยินดีที่จะขายในราคาดังกล่าวเพราะรู้และเข้าใจถึงภาวะความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น บางครั้งสมาชิกมีผลผลิตปริมาณเยอะก็บริจาคให้มา ไม่ต่างกับเครือข่ายเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ ที่ยื่นความเกื้อกูลแบ่งปันให้แก่กัน กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นได้ด้วยความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานของเครือข่ายเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้สิทธิการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพของทุกคน

วิกฤตโควิดกับความเหลื่อมล้ำของสังคม

         การเกิดขึ้นของวิกฤตโควิดในระยะปีกว่า ได้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะในเมืองหลวงที่ผู้คนจำนวนมากใช้ชีวิตทำมาหากินเพื่อความอยู่รอดในแต่ละวัน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด หลายคนตกอยู่ในสภาพตกงานไม่มีรายได้ บ้างกลายเป็นคนไร้บ้านเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า

         และการแบ่งปันอาหารให้กับกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นการช่วยเหลือในระยะสั้น สำหรับระยะยาวต้องมีหน่วยงานเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง ควรมีนโยบายที่ชุมชนสามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานที่จำเป็น ไม่ว่าด้านที่อยู่อาศัย การศึกษาที่มีคุณภาพ การเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดอาชีพหลากหลายที่สอดรับกับชุมชน และการมีพื้นที่ส่วนกลางในการสร้างแหล่งอาหารของชุมชน เพื่อนำไปสู่การดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเท่าเทียม เป็นธรรมและเสมอภาค

บทความแนะนำ