ตอน 1 วิพากษ์และข้อเสนอต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13: “การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดแผนทุกระดับ” โดย คุณนันทวัน หาญดี ผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคตะวันออก
การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสะท้อนให้เห็นภาพการวิเคราะห์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ผ่านกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ที่เป็นแผนที่ชี้นำในการกำหนดประเด็นและเป้าหมายที่วางไว้แล้วก็เชื่อมต่อกับแผนยุทธศาสตร์ชาตินั้น มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ภาพการสะท้อนของภาคประชาสังคมที่ผ่านมาได้เป็นการตอกย้ำเรื่องการมีส่วนร่วมที่ถือเป็นหัวใจสำคัญนั้นยังไม่สามารถบรรลุเท่าที่ควร “ภาคตะวันออกถือเป็นพื้นที่รูปธรรมที่สะท้อนถึงผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาที่เรียกว่า การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่มีจำกัด การพัฒนาภาคตะวันออกที่ให้ความสำคัญต่อการเติบโตของจีดีพี แต่วันนี้เกิดอะไรขึ้นกับภาคตะวันออก วันนี้เราพบว่าฐานทรัพยากรของภาคตะวันออกเสื่อมโทรมถูกทำลาย และมีปัญหาเรื่องมลพิษที่เพิ่มมากขึ้น” ประเด็นความเหลื่อมล้ำคิดว่าเป็นเรื่องที่ชัดเจนเพราะว่าสุดท้ายเศรษฐกิจของตะวันออกก็ขึ้นอยู่บนพื้นฐานของอุตสาหกรรม แต่เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องด้วยเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาว โดยเฉพาะขยะมลพิษที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ของตะวันออกซึ่งเป็นภาระที่สังคมรวมทั้งคนตะวันออกที่ต้องแบกรับ หากพิจารณาถึงกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ทางเครือข่ายฯ มีความเห็นต่อประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้
การให้ความสำคัญกับการเติบโตของ GDP
หลังจากที่ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ เครือข่ายฯ ได้มองกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 ว่า มิติเรื่องของความยั่งยืน การบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาจมีเพิ่มขึ้น แต่หลังจากได้พิจารณาร่วมกับเครือข่ายฯ แล้วพบว่า กรอบแผนพัฒนาฯ ยังเป็นชุดความคิดเดิมดังเช่นแผนพัฒนาที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งที่ชัดเจนของกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 คือยังคงให้ความสำคัญกับการเติบโตของจีดีพี (Gross Domestic Product-GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ถึงแม้ว่าจะมีการนำประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ประเด็นทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม แต่หมุดหมายที่ทางสภาพัฒน์ได้กำหนดเป้าหมายนั้นยังคงกรอบของการพัฒนาที่ว่า “พลิกโฉมประเทศไทยสู่ เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” ซึ่งมองได้ว่าสภาพัฒน์ได้นำเรื่องเศรษฐกิจเป็นกรอบหลักในการพัฒนาแผนฯ ซึ่งขัดกับมุมมองของเครือข่ายฯ ที่ว่ากรอบแนวคิดที่จะสร้างความยั่งยืน การสร้างความเสมอภาคได้นั้นไม่ควรจะอยู่ในกรอบความคิดชุดเดิมที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ควรนำใช้หลักคิดแนวเศรษฐศาสตร์ในการพัฒนาที่สมดุลของความยั่งยืนในทุกมิติ รวมทั้งการวิเคราะห์ศักยภาพและข้อจำกัดของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะรองรับการพัฒนาของประเทศไทยใน 5 ปีข้างหน้า ควบคู่กับการวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและข้อจำกัดของสังคมไทย โดยความเห็นของเครือข่ายต่อการพัฒนานั้นควรเป็นการพัฒนาที่กระชับและเป็นการพัฒนาที่พูดถึงการให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม และชีวิตผู้คน รวมทั้งเรื่องของการรับมือกับวิกฤติโลกร้อนให้ชัดเจนขึ้น
การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ทางเครือข่ายฯ เห็นสอดคล้องกับกับสภาพัฒน์ในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำและความยากจนข้ามรุ่น แต่ควรมีความชัดเจนของการดำเนินการหรือมาตรการที่จะดำเนินการ ดังเช่นเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ควรชี้ชัดในระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้ เรื่องทรัพย์สินมรดกในระบบอัตราก้าวหน้า นอกจากนี้ควรมีการระบุถึงเป้าหมายที่มุ่งสู่รัฐสวัสดิการที่จะทำให้คนในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ขาดโอกาสหรือกลุ่มคนเปราะบางสามารถได้รับการดูแล มีโอกาสและความเสมอภาค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการขจัดปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม
การมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน
ประเด็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืนถือเป็นเรื่องที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจที่หมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ แต่ควรมีแนวทางการดำเนินการอย่างไรให้ชัดเจนเพื่อบรรลุเป้าหมายแบบมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เช่น ภายในปี 2593 ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำที่มีแผนชัดเจนและมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำใช้หลักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมที่ให้ความสำคัญทุกมิติ และให้ความสำคัญถึงศักยภาพในการรองรับกิจกรรมการพัฒนาที่มีนโยบายและมาตรการนำใช้อย่างจริงจัง รวมทั้งประเด็นการห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งการวิเคราะห์ของสภาพัฒน์ในเรื่องนี้ยังมีค่อนข้างน้อยด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยได้เปิดรับขยะเข้ามาในประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งหากประเทศไทยต้องการให้บรรลุเป้าหมายสู่สังคมคาร์บอนต่ำ การนำเข้าขยะจึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งจัดการเพื่อลดการเกิดมลพิษจากขยะเหล่านี้
การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น
การส่งเสริมเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นให้เข้มแข็งเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ใช่ให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่แต่จะทำอย่างไรให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่สามารถกระจายสู่เศรษฐกิจขนาดเล็ก กลาง ในท้องถิ่นแล้วสร้างความเข้มแข็งให้มากขึ้น เรื่องของการส่งเสริมกิจการธุรกิจสีเขียวหรือการสร้างงานสีเขียวนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยการดำเนินการนี้จะต้องมีกองทุนของรัฐที่เข้ามาสนับสนุน เพื่อเป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจให้กับชุมชนมากขึ้น
อ้างอิง: เสวนาออนไลน์ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร” ครั้งที่ 1 วิพากษ์และข้อเสนอต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.30-12.30 น. ผ่านระบบ ZOOM