โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร

ตอน 2 ศักยภาพพันธุกรรมพื้นบ้าน และทิศทางการพัฒนาในอนาคต: ประสบการณ์งานพันธุกรรมและการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดย คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี

        สถานการณ์นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพันธุ์พืชที่สำคัญคือกรณีที่รัฐบาลสนใจจะเข้าร่วมความตกลงที่เรียกว่า CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยความตกลงนี้มีเงื่อนไขอยู่ ซึ่งที่จริงแล้วคือ FTA (Free Trade Area) หรือ เขตการค้าเสรี ปัจจุบันมีสมาชิกที่ร่วมตกลงร่วมกัน 11 ประเทศ (ประเทศที่ถอนตัวไปก่อนหน้านี้คือ สหรัฐอเมริกาในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์) แต่ใน 11 ประเทศนี้มี 4 ประเทศที่เข้าร่วมเจรจาแต่ยังไม่ให้สัตยาบรรณ ประกอบด้วย ประเทศมาเลเซีย บรูไน ซิลี และเปรู ส่วนประเทศที่ให้สัตยาบรรณประกอบด้วย ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เมกซิโก และแคนาดา

เงื่อนไขในการเข้าร่วม CPTPP

        การเข้าร่วม CPTPP มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพันธุ์พืช คือ ประเทศที่ต้องการเข้าร่วมต้องเป็นภาคีในอนุสัญญาที่เรียกว่า UPOV1991 ซึ่งหากประเทศไทยต้องการเข้าร่วมก็จะต้องเป็นภาคีในอนุสัญญานี้เช่นเดียวกัน อนุสัญญา UPOV1991 ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากเนื่องจากอนุสัญญานี้จะมีเงื่อนไขมากไปกว่าการให้สิทธิแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ที่มีมาแต่เดิมโดยให้การขยายสิทธิการผูกขาดให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ของบริษัทเมล็ดพันธุ์และนักปรับปรุงพันธุ์แต่ว่าการให้สิทธิผูกขาดนั้นเป็นการให้สิทธิผูกขาดเฉพาะส่วนที่เรียกว่าส่วนขยายพันธุ์ เช่น เมล็ดพันธุ์ กิ่ง หน่อ คือ ได้สิทธิผูกขาดเพียงผู้เดียวในกรณีที่บริษัทเมล็ดพันธุ์และนักปรับปรุงพันธุ์พัฒนาพันธุ์พืชใหม่ได้ แต่การให้สิทธิดังกล่าวยังไม่ตรงกับความต้องการบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่ได้มีการเรียกร้องให้ขยายการคุ้มครองเพิ่มขึ้น ซึ่งหากการเรียกร้องให้ขยายสิทธิให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นนั่นก็จะเป็นการเพิ่มในหลายเรื่องเช่นกัน ดังเช่นกรณีการขยายระยะเวลาสิทธิในการผูกขาดเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กฎหมายไทยที่กำหนดไว้แต่เดิม เช่น 15 ปี เป็น 20 ปี (ในบางกรณีหากเป็นพืชที่ปลูกแล้วให้ผลเพียงปีเดียวกฎหมายไทยกำหนดที่ 8 ปี)

ผลกระทบหากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP

        ข้อกังวลที่ถือได้ว่ากระทบต่อการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ และวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ดำรงชีพมาแต่เดิม มีดังนี้

  • ในกรณีเกษตรกรไปซื้อพันธุ์พืชของบริษัทปลูก เกษตรกรไม่สามารถนำพันธุ์ไปปลูกต่อได้ กล่าวได้ว่าเป็นสิทธิผูกขาดของบริษัท
  • หากเกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์หรือกิ่งพันธุ์มาปลูก และได้มีการเก็บพันธุ์พืชเหล่านั้นมาปลูกต่อหลังจากการกลายพันธุ์หรือผสมพันธุ์ หากบริษัทเห็นว่าพันธุ์พืชนั้นยังคงมีลักษณะพันธุ์ที่สำคัญของพันธุ์พืชใหม่ของบริษัทอยู่ก็จะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของบริษัทเมล็ดพันธุ์ ที่เรียกว่า EDV (Essentialize Derived varieties) หรือ อนุพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ หรือ พันธุ์ที่ยังคงมีลักษณะที่สำคัญของพันธุ์พืชบริษัท ซึ่งจะเกิดผลกระทบเป็นอย่างมาก ดังตัวอย่างเช่น หากเกษตรกรไปซื้อขนุน มะม่วง ทุเรียน ที่เป็นพันธุ์ของบริษัทแล้วนำมาเก็บพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นวิถีวัฒนธรรมนั้นจะถือว่าเป็นการละเมิดนักปรับปรุงพันธุ์ทำให้การเข้าถึงพันธุ์เข้าถึงได้ยากขึ้น โดยเฉพาะพันธุ์พืชท้องถิ่นที่เห็นในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นจากกระบวนการคัดเลือกกับวิถีการปรับปรุงพันธุ์แบบชาวบ้านที่ผ่านมาในอดีต
  • แม้ว่ากฎหมายไทยได้ระบุว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการนำพันธุ์พืชไปปรับปรุงพันธุ์เป็นพันธุ์พืชใหม่นั้นต้องทำการขออนุญาต และต้องแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่นำพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่าไปใช้ประโยชน์ แต่อนุสัญญา UPOV1991 ให้ตัดข้อกฎหมายนี้ออกไป นั่นหมายความว่า ในด้านหนึ่งในการยอมรับ UPOV1991 ก็จะทำให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชของชาวบ้านโดยหลีกเลี่ยงการแบ่งปันผลประโยชน์ และเป็นการเปิดทางให้บริษัทเข้ามาขอรับการคุ้มครองซึ่งคล้ายกับสิทธิบัตรของนักปรับปรุงพันธุ์พันธุ์พืชท้องถิ่นโดยไม่ต้องขออนุญาต ในขณะที่กลไกการคัดเลือกและการเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อของชาวบ้านก็จะถูกขัดขวางในการเข้าไปใช้พันธุ์พืชใหม่ ดังกรณีประเทศที่มีการใช้กฎหมายนี้ก็มีแนวโน้มให้บริษัทมีการผูกขาดมากขึ้น เช่น การออกกฎหมายนี้ในสหรัฐอเมริกาที่ได้ส่งผลกระทบต่อถั่วเหลืองและฝ้ายที่เป็นพันธุ์พืชพื้นบ้านของรัฐ 100% แต่เพียง 15 ปีเปลี่ยนเป็นของบริษัท 100% โดยอำนาจในการผูกขาดแบบนี้จะเป็นการเปลี่ยนสภาพการพัฒนาสายพันธุ์ทั้งของรัฐและของประชาชน จากที่เคยเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อกลายเป็นพันธุ์ของบริษัทแค่เพียงช่วงเวลา 15 ปีเท่านั้น

กระแสการคัดค้านจากคนรุ่นใหม่

          ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ถือเป็นกลุ่มคนหลักที่ได้ออกมาคัดค้าน CPTPP ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจและตระหนักในเรื่องพันธุกรรม ความมั่นคงทางอาหาร และอนาคตของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ ผ่านทางทวีตเตอร์ (Twitter) ที่ช่วยกันทวีตกันถึง 1.5 ล้านครั้ง จนเกิดกระแสคัดค้าน CPTPP ในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง

อ้างอิง: เสวนาออนไลน์ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร” ครั้งที่ 2 ศักยภาพพันธุกรรมพื้นบ้าน และทิศทางการพัฒนาในอนาคต วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เวลา 09.30-12.30 น. ผ่านระบบ ZOOM

บทความแนะนำ