โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร

           ตอน 2 ศักยภาพพันธุกรรมพื้นบ้าน และทิศทางการพัฒนาในอนาคต: : ประสบการณ์งานพันธุกรรมและการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดย รศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์         

           พันธุกรรมพืชเป็นหัวใจสำคัญหรือเรียกได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติในเรื่องความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงของชีวิต ส่วนความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ได้เน้นด้านอาหารเนื่องจากสภาพพื้นที่นาของภาคใต้ลดลง ดังนั้นทางเลือกที่จะทำให้คนภาคใต้ให้เกิดความมั่นคงทางอาหารได้ก็คือข้าวไร่

พันธุ์ข้าวไร่เพื่ออนาคต

           จากการสำรวจรวบรวมพันธุ์ข้าวไร่เพื่อนำมาศึกษาประสิทธิภาพของเชื้อพันธุ์ว่าพันธุ์ข้าวไร่แต่ละพันธุ์มีจุดเด่นทางพันธุกรรมจุดไหนบ้าง ถ้าจะให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวโดยเฉพาะข้าวไร่นั้นจำเป็นต้องหาพันธุ์ข้าวไร่เพื่ออนาคต เหตุที่ใช้คำว่า “พันธุ์ข้าวเพื่ออนาคต” เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศเกษตร คือ ระบบนิเวศการเกษตรที่เหมาะสมปลูกข้าวไร่เริ่มสูญหายจากการถูกบุกรุกจากชุมชนเมืองหรือแหล่งอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาพันธุกรรมที่เหมาะสมกับระบบนิเวศที่ปลูกและเหมาะสมกับความต้องการบริโภคของเกษตรกร กับการใช้มาตรฐานควบคุมคุณภาพการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์หรือ GAP (Good Agricultural Practices) หรือ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีกับนวัตกรรมมาเสริมเนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะชวนคนมาปลูกข้าว ฉะนั้นการนำใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมสามารถที่จะสื่อได้ว่าอาชีพการทำนานั้นไม่ได้ทำงานหนักเหมือนอดีตที่ผ่านมา นอกจากการนำใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมแล้วอาชีพการเกษตรต้องมีการปรับเปลี่ยนโดยที่เกษตรกรต้องเป็นนักวิจัยด้วยตนเอง เพราะถ้าการหนุนเสริมจากนักวิจัยตามหน่วยงานต่างๆ นั้นถือเป็นเรื่องยากเนื่องด้วยภาระหน้าที่

เกษตรกรเป็นนักวิทยาศาสตร์

          เกษตรกรถือเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ เนื่องด้วยมีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์โดยที่เกษตรกรไม่รู้ตัว โดยที่การทำเกษตรต่อไปนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยน ที่เริ่มจากการหาพันธุกรรมที่เหมาะสมกับระบบนิเวศของพื้นที่ สภาพแวดล้อม และการนำใช้กระบวนการจัดการเข้าไปในระบบการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตและคุณภาพที่ต้องการ หากมองถึงการเปลี่ยนแปลงภายใต้วิกฤติโดยเฉพาะปัจจุบันมีวิกฤติต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งวิกฤติโควิด 19 หรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้น กรอบแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาปรับใช้ได้เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นว่าก่อนการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดวิกฤติถ้าหากผู้คนมีภูมิคุ้มกัน มีความเข้มแข็งทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ที่แม้ว่าเกิดวิกฤติอะไรขึ้นผู้คนก็จะสามารถปรับตัวได้เร็วและเกิดความเสียหายน้อย

พันธุ์ข้าวไร่ในสภาพร่มเงา

          จากการศึกษาพันธุ์ข้าวไร่พันธุ์ร่มเงาที่ได้รับการสนับสนุนวิจัยจากมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนเมื่อปีที่ผ่านมา ได้มีการนำพันธุ์ข้าวพันธุ์ร่มเงาซึ่งเป็นพันธุ์ที่ทำการศึกษามาระยะหนึ่งไปทดสอบปลูกในพื้นที่ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร และไปเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมรายชั่วโมง พบว่า ปกติแล้วช่วงเดือนมิถุนายนนั้นเป็นช่วงต้นฝนของภาคใต้ที่มักมีอุณหภูมิสูงมาก (อุณหภูมิเฉลี่ย 35 องศาเซลเซียส) ซึ่งถ้าหากนำไปเปรียบเทียบตัวเลขอุณหภูมิในแปลงทดลองกลางแจ้ง คือ แปลงมะพร้าว แปลงปาล์มน้ำมัน และแปลงยางพารา ที่ได้มีการนำเอาพันธุ์ข้าวไร่ที่คัดเลือกพันธุ์มาแล้ว 4 ปีมาทดลองในแปลงปลูกของเกษตรกร แล้วก็ศึกษาอุณหภูมิในพื้นที่ดังกล่าวจะพบว่าอุณหภูมิในแปลงกลางแจ้งนั้นสูง ในขณะที่แปลงมะพร้าว แปลงปาล์มน้ำมัน และแปลงยางพารามีอุณหภูมิต่ำ โดยพันธุ์ข้าวที่ใช้เป็นพันธุ์ข้าวที่คัดภายใต้ตาข่ายกรองแสง 50%, 60%, 70% และอาศัยพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ซึ่งผลการศึกษาพบเบื้องต้นว่า การปลูกข้าวไร่พันธุ์ร่มเงาในสวนยางพารานั้นต้องปลูกช่วงยางพาราผลัดใบเพราะว่าช่วงฤดูปลูกข้าวปกติจะมีปริมาณความเข้มของแสงต่ำ แต่ขณะที่สวนมะพร้าว สวนปาล์มน้ำมัน พบว่าปลูกข้าวได้ ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบความเข้มของแสงกับอุณหภูมิจะเห็นได้ว่าปริมาณแสงกลางแจ้งที่ได้รับแสง 100% นั้น ในสวนปาล์มน้ำมันจะได้รับแสง 58% สวนมะพร้าว 54% และสวนยางพาราเพียง 16% (ภาพ 1) เพราะฉะนั้นในฤดูปลูกข้าวปกติ ข้าวไร่ไม่สามารถโตได้ในแปลงยางพาราจึงทำให้ต้องขยับไปปลูกในช่วงยางพาราผลัดใบ

ภาพ 1 ความเข้มของแสงและอุณหภูมิเฉลี่ยแปลงข้าวไร่ที่ปลูกกลางแจ้ง แปลงปาล์มน้ำมัน และแปลงมะพร้าวพื้นที่ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

การจำลองนิเวศใหม่ให้กับพืช

          “จากการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิดังกล่าวเราสามารถที่จะจำลองระบบนิเวศใหม่ให้กับพืช” จากภาพ 2 ได้แสดงถึงการปรับตัวของข้าวไร่ที่ปลูกในสภาพร่มเงา โดยการปรับตัวของข้าวใน 1 สายพันธุ์จะเห็นได้ว่าในปีที่ 1 จะได้ขนาดเมล็ดต่อรวงของแต่ละสายพันธุ์มีความใกล้เคียงกัน พอเข้ามาในช่วงปีที่ 2, 3, 4 ข้าวจะมีการปรับตัวที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเกษตรกรนำพันธุ์ข้าวที่มีนำมาจำลองสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับนิเวศได้ดังเช่นข้าวที่นาชะอัง ที่พบว่าแม้ว่าข้าวที่ปลูกกลางแจ้งจะวางระบบน้ำก็ยังได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงถึง 40 องศาเซลเซียส ที่ส่งผลให้ข้าวมีใบแห้งตาย แต่ในขณะเดียวกันอายุข้าวในแปลงปาล์มน้ำมัน แปลงมะพร้าว และแปลงยางพารา พบว่ายังเติบโตได้ดี

          จากการทำการทดลองเรื่องข้าวไร่มา 20 กว่าปี ในพื้นที่การปลูกสภาพกลางแจ้งและมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าบางช่วงที่ข้าวออกดอกนั้นอยู่ในช่วง 38-39 องศาเซลเซียส ที่ทำให้ผลผลิตลดลงทุกปี คำถามคือ “แล้วจะทำอย่างไร?” ซึ่งถ้าหากมีการส่งส่งพันธุ์ข้าวชุดนี้ไปให้เกษตรกรในพื้นที่ก็จะได้ผลผลิตน้อยลงเช่นกัน จากการทำงานส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวกินในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดชุมพรก็มักจะเจอคำตอบว่าว่า “ไม่มีพื้นที่ปลูกข้าวเนื่องจากพื้นที่ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ยืนต้นประเภทอื่นเป็นหลัก” และเพื่อเป็นการตอบโจทย์ให้กับชุมชนในพื้นที่ทางทีมวิจัยได้มีการเชิญชวนเกษตรกรปลูกข้าวในสภาพร่มเงาที่จะเอาพันธุ์ข้าวให้กับเกษตรกรที่มีสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และพืชยืนต้นชนิดอื่นไปปลูกข้าวเพื่อบริโภคครัวเรือน โดยมองภาพอนาคตของเกษตรกรที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเพราะมีอุณหภูมิสูง ดังเช่น สวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพารานั้นต้องมีการเว้นระยะห่างระหว่างแถวให้มากขึ้น เพื่อทำให้มีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน ถ้าเราเว้นระยะห่างระหว่างแถวของพืชหลักมากขึ้น เกษตรกรก็จะสามารถนำพันธุ์ข้าว, พืชผัก, พืชไร่ปลูกระหว่างแถวของพืชหลักเพื่อให้มีความมั่นคงทางอาหาร

ภาพ 2 การปรับตัวของข้าวไร่ที่ปลูกในสภาพร่มเงา

การสร้างความหลากหลายในแปลงการผลิต

          จากการทดลองโมเดลแปลงการผลิตให้มีความหลากหลายในพื้นที่ 3 แปลงๆ ละ 1 ไร่ในระหว่างแถวของมะพร้าว (ภาพ 3) โมเดลแรก คือ ปลูกพริกไทย ผักเหลียง และเลี้ยงไก่หลุม, โมเดลที่สอง คือ ปลูกพริกไทย ข้าวไร่ และเลี้ยงหมู, ส่วนโมเดลที่สาม คือ ปลูกพริกไทย หญ้าเนเปีย และเลี้ยงโคขุน จากการศึกษาพบว่าแปลงการผลิตทั้ง 3 โมเดลมีปริมาณผลผลิตมะพร้าวทั้งผลเล็ก กลาง ใหญ่ที่เพิ่มขึ้นถึง 34-35%, เกษตรกรมีรายได้ต่อครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตในแปลงที่มีความหลากหลายทั้งพริกไทย ผักเหลียงและจากการเลี้ยงสัตว์ มากกว่ารายได้ที่ปลูกมะพร้าวเพียงอย่างเดียว รวมถึงแปลงการผลิตมีธาตุอาหารในดินที่เพิ่มขึ้น การสร้างความหลากหลายในแปลงการผลิตที่มีทั้งพืชและสัตว์ถือเป็นโมเดลการผลิตที่เอื้อให้เกิดความมั่นคงและยืนมากขึ้น โดย “การปรับเปลี่ยนนั้นไม่ต้องปรับเปลี่ยนทีเดียวทั้งระบบก็ได้ แต่เราค่อยปรับทีละไร่ หากไร่แรกเห็นผลก็ขยับเป็นไร่ที่ 2 และ 3…. เพราะว่าการปรับเปลี่ยนระบบในแต่อย่างนั้นอาศัยต้นทุน ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่เกษตรกรสามารถศึกษาและก็ทำได้”

ภาพ 3 โมเดลทดลองการผลิตให้มีความหลากหลาย

อ้างอิง: เสวนาออนไลน์ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร” ครั้งที่ 2 ศักยภาพพันธุกรรมพื้นบ้าน และทิศทางการพัฒนาในอนาคต วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เวลา 09.30-12.30 น. ผ่านระบบ ZOOM

บทความแนะนำ