โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 6 พันธุกรรมบนหน้าแกะ การวิวัฒน์พันธุ์ข้าวตามธรรมชาติ

         ในอดีตการทำนาของภาคใต้เมื่อถึงฤดูการเก็บเกี่ยวจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “แกะ” ในการเก็บข้าวแทนการใช้เคียวเหมือนภาคอื่นๆ แกะประกอบด้วยเหล็กที่ถูกตีให้บาง ฝังยึดในแผ่นไม้กระดานบางๆ รูปคางหมู มีด้ามไม้ไผ่สำหรับใช้นิ้วเกี่ยวจับ เวลาเก็บใช้นิ้วชี้เกี่ยวดึงรวงข้าวเพื่อให้คมมีด หรือตาแกะตัดรวงข้าวขาดทีละรวงๆ แล้วมาผูกมัดกันเป็น “เรียง” https://www.rakbankerd.com/vdo.php?id=2210

         การใช้แกะที่เป็นภูมิปัญญาเดิมนี้ อำนาจ เกตุขาว ชาวนาตำบลแหลมโตนด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้นำมาใช้ด้วยเห็นว่า การเก็บข้าวด้วยแกะ สามารถเห็นเมล็ดข้าวทุกรวง จึงสามารถเลือกรวงข้าวที่มีลักษณะแตกต่างจากรวงอื่นๆ ออกมา ไม่ให้ปะปนกับพันธุ์ที่ต้องการ และรวงที่แตกต่างนั้น ถ้าเห็นว่ามีลักษณะดีน่าสนใจ ก็นำไปปลูกต่อเพื่อคัดสายพันธุ์ขึ้นมา ข้าวทุกสายพันธุ์มีการพัฒนาสายพันธุ์ในตัวเขาเอง อย่างเช่น ในการปลูกข้าวเล็บนก ซึ่งเป็นข้าวเจ้าเมล็ดเล็กเปลือกมีสีฟาง เมื่อเก็บเกี่ยวอาจเกิดการผสมข้าม หรือมีการพัฒนาไปในลักษณะที่แตกต่างจากเดิม เช่น สีเปลือกเข้ม แกะเปลือกเมล็ดเป็นสีดำแต่ยังคงความเป็นข้าวเจ้า หากสังเกตก็จะเห็นลักษณะเด่นที่เกิดขึ้น แล้วก็เลือกสายพันธุ์นั้นมา เพื่อมาปลูกในระบบดำต้นเดียว และคัดเลือกผลผลิตที่ได้ ตามลักษณะสายพันธุ์เด่นที่สำคัญต้องใช้แกะในการเก็บข้าว ซึ่งใช้ระยะเวลาคัดเลือก 4-5 รอบ จะได้สายพันธุ์ที่นิ่ง โดยที่ไม่ต้องเขี่ยเกสรให้ผสม แต่ใช้การสังเกตและการจัดการปัจจัยทั้งสภาพดิน การปลูกให้เหมาะสม เราจึงเรียกว่า “พันธุกรรมบนหน้าแกะ”

ภาพ แกะ ภูมิปัญญาชาวนาตำบลแหลมโตนด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

ภูมิปัญญาภิวัฒน์

         “เป็นการนำภูมิปัญญาเดิม มาผสานกับความรู้ใหม่ และทดลองซ้ำ” อำนาจ ได้กล่าวถึงขั้นตอนการคัดพันธุ์ข้าวจากพันธุกรรมหน้าแกะ มาสู่พันธุ์ข้าวใหม่ ทั้งนี้ข้อสำคัญคือ ในการทำนา ชาวนาต้องรู้จักลักษณะสายพันธุ์ข้าวที่ตัวเองปลูก และต้องสังเกตพันธุ์ข้าวที่เติบโตและมีความแตกต่างจากลักษณะสายพันธุ์เดิม การใช้แกะในการเก็บเกี่ยว เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่เห็นความต่าง แล้วนำมาผสานกับความรู้ใหม่ โดยการนำรวงที่คัดมา แล้วแกะเปลือกเลือกเมล็ดที่ต้องการ นำไปดำต้นเดียว เป็นขั้นตอนการคัดเลือกพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์แท้ เช่นเดียวกัน เมื่ออำนาจได้เจอลักษณะสายพันธุ์ใหม่ เปลือกเมล็ดสีเข้ม แกะเปลือกเมล็ดสีดำ ในแปลงข้าวเล็บนก จากนั้นนำมาคัดถึง 5 รอบการผลิต ได้พันธุ์ข้าวที่เรียกว่า “เล็บนกดำ” มีลักษณะความสูงต้น 180 เซนติเมตร แผ่นใบกว้าง บางรวงมี 17 ระแง้ ผลผลิต 400-600 กิโลกรัมต่อไร่ ลักษณะสีเปลือกเข้ม เมล็ดสีดำอมม่วง เยื่อเมล็ดหนา หุงสุกมีกลิ่นหอมใบเตย เป็นข้าวนุ่มปานกลาง

ภาพ ข้าวเล็บนกดำ

ทำนาต้องคำนึงความหลากหลายสายพันธุ์ นำความรู้ใหม่ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาเดิม

         จังหวัดพัทลุงได้ชื่อว่าเป็นเหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของภาคใต้ มีพื้นที่เหมาะสมต่อการทำนา มีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านหลากหลายสายพันธุ์ แต่นั่นได้กลายเป็นอดีต อาชีพทำนาได้มีการเปลี่ยนแปลงลดลงไป พื้นที่นาถูกปรับให้เป็นพืชเศรษฐกิจ อย่างยางพาราและปาล์มน้ำมัน ยังคงมีชาวนาที่สืบทอดการทำนาอยู่ไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่ก็ผลิตเพื่อบริโภคในครอบครัว ถึงแม้จะมีการสนับสนุนให้ชาวนาทำนา และใช้พันธุ์พื้นบ้านไม่ว่า สังข์หยด เล็บนกก็ตาม ด้วยภาวการณ์เช่นนี้ คนพัทลุงรวมไปถึงคนใต้ส่วนใหญ่ ต้องซื้อข้าวจากภาคอื่นๆ มากิน

         พันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่หลากหลายสายพันธุ์ ก็ได้หายไปจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำเกษตร เช่นเดียวกับวิธีการทำนา ที่ได้นำเครื่องจักรมาใช้ แกะที่ใช้ในการเก็บข้าวก็หายไป มีรถเกี่ยวเข้ามาแทน ดังนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งที่เกษตรกรในภาคใต้ ควรตระหนักและให้ความสำคัญกับการทำนา โดยคำนึงความหลากหลายสายพันธุ์ที่เคยมี แล้วนำกลับมารื้อฟื้นหาคุณค่า การใช้ประโยชน์ ลงมือทำนาอีกครั้ง เช่นเดียวกันกับการใช้เครื่องมือทำนา ต้องให้ความสำคัญกับการเก็บข้าวด้วยแกะ ที่ทำให้ชาวนาสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีคุณภาพเก็บไว้ รวมถึงคัดเลือกสายพันธุ์ที่ต่างออกมาแต่หากเห็นว่าสายพันธุ์นั้นมีข้อเด่น ก็ต้องทำหน้าที่ในการคัดพันธุ์ให้ได้พันธุ์แท้และนิ่ง ซึ่งต้องนำความรู้ใหม่มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม เช่นนี้ ชาวนาก็สามารถเป็นเจ้าของพันธุ์ข้าวได้ สามารถพัฒาสายพันธุ์ให้เป็นสมบัติของลูกของหลาน และสามารถเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป อันเป็นทางเลือก ทางรอดรักษาความเป็นชาวนาได้

อ้างอิง เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรม ความหลากหลายที่ท้าทายสถานการณ์ปัจจุบัน
วันที่ 3 มิถุนายน 2563
มหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563

บทความแนะนำ