โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

        ถึงแม้จะมีมาตรการผ่อนคลายในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่สามารถเปิดให้นั่งกินในร้านอาหารได้ 50% เปิดสนามกีฬา สวนสาธารณะ และระบบขนส่งสาธารณะเดินทางข้ามจังหวัดได้ แต่เป็นที่รับรู้กันว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตคนใกล้ชิดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กิจการห้างร้านบริษัทหลายแห่งต้องปิดหรือลดการจ้างงานลงทำให้หลายคนไม่มีงานทำ ที่เป็นแรงงานรับจ้างก็มีการจ้างงานลดลง หากเป็นเกษตรกรผลผลิตทางเกษตรไม่สามารถจำหน่ายได้จากมาตรการปิดตลาดหรือไม่ราคาผลผลิตตกต่ำอย่างมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้การดำเนินชีวิตยากลำบากมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางในเมืองหลวงถึงแม้มีการปรับตัวแล้วก็ตาม จากวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ไม่ควรปล่อยให้สูญเปล่า แต่ควรเรียนรู้เพื่อวางแผนจัดการเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนของวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

        ประเด็นการเข้าถึงอาหารอย่างทั่วทุกคนกลายเป็นปัญหาหนึ่งในวิกฤตดังกล่าว จากตลาดสดที่ต้องปิดและรายได้ที่ลดลงจึงไม่สามารถหาซื้ออาหารเพื่อบริโภคได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีอาชีพรับจ้าง มีรายได้รายวัน ขณะเดียวกันช่วงสถานการณ์ดังกล่าวในหลายชุมชนที่ได้มีการรวมตัวกันเพื่อสร้างแหล่งอาหารโดยใช้พื้นที่ว่างหรือรกร้างมาปลูกผัก ซึ่งทำให้คนในชุมชนมีช่องทางการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น จึงกล่าวได้ว่า แปลงปลูกผักในเมืองได้มีบทบาทสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชุมชนได้ทั้งในภาวะปกติและยามเกิดวิกฤต

การสร้างเศรษฐกิจอาหารของชุมชนในภาวะวิกฤต

        ภายใต้การศึกษาวิจัยโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของคนเมือง กรณีศึกษา : เกษตรในเมืองกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ได้ศึกษาแปลงเกษตรในเมือง 4 พื้นที่ คือ สวนผักคนเมืองชุมชนบูรพา 7 แปลงผักนักสำรวจน้อย เคหะชุมชนทุ่งสองห้อง 327 กลุ่มคนงานสมานฉันท์ และชุมชนภูมิใจ พบว่าแปลงเกษตรในเมืองได้เป็นพื้นที่อาหารสำคัญของกลุ่มและคนในชุมชนได้ดีทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต

        กรณีสวนผักคนเมืองชุมชนบูรพา 7 เขตดอนเมือง ได้จัดสรรพื้นที่ว่างเนื้อที่ 400 ตารางเมตรบริเวณบ้านเช่าทำแปลงปลูกผัก เลี้ยงไก่ เพาะเห็ด ในช่วงวิกฤตโควิดแปลงผักได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารให้กับสมาชิกที่ปลูกผักจำนวน 13 ครัวเรือน และถูกแบ่งปันผลผลิตผักและไข่ไก่ให้คนอื่นๆ ในชุมชนอีก 30 คน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ที่สำคัญสมาชิกลดค่าใช้จ่ายการซื้อผักเพื่อบริโภคได้ถึงร้อยละ 50 ผักบางชนิดไม่ซื้อจากตลาดอีกเลย เช่น กะเพรา โหระพา ตะไคร้ กวางตุ้ง ชุนฉ่าย พริก มะนาว เห็ดนางฟ้า และสมาชิกมีไข่บริโภคประมาณ 15-20 ฟอง/ครัวเรือน/เดือน ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อไข่ไก่ 70-90 บาท/ครัวเรือน/เดือน จึงทำให้สมาชิกให้ความสำคัญของพื้นที่อาหารเพิ่มขึ้น จากเดิมที่การเพาะปลูกเน้นไปเพื่อการจำหน่ายก็เปลี่ยนมาเป็นการบริโภคอย่างเพียงพอในกลุ่ม และแบ่งปันคนในชุมชน

        เช่นเดียวกับกรณีแปลงผักนักสำรวจน้อย ชุมชนเคหะทุ่งสองห้อง 327 ขอใช้พื้นที่รกร้างของบริษัทในเนื้อที่ 800 ตารางเมตร สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารให้สมาชิกที่มาร่วมปลูกผักจำนวน 10 ครอบครัวประมาณร้อยละ 50 และถ้าเป็นเมนูอาหารที่มีผักเป็นหลัก เช่น ผักจิ้มน้ำพริก ผัดผัก สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารถึงร้อยละ 80 มีผักบางชนิดที่สมาชิกไม่ซื้อจากตลาดอีกเลย ได้แก่ มะเขือ พริก กะเพรา ชะอม เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ นิยมทานผักมากกว่าเนื้อสัตว์ ผลผลิตผักจากแปลงจึงช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารประมาณ 200 – 250 บาท/สัปดาห์ (เฉลี่ยวันละ 30 – 40 บาท) สมาชิกบางรายเก็บผักมัดเป็นกำไปขายในตลาดใกล้ชุมชนมีรายได้ 1,500 – 2,000 บาท/คน/เดือน เนื่องจากผลผลิตเพื่อการบริโภคและแบ่งปันในกลุ่มสมาชิก ใช้ผลผลิตในแปลงผักเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น

        สำหรับกลุ่มคนงานสมานฉันท์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนงานรับตัดเย็บเสื้อผ้า ได้ใช้พื้นที่ดาดฟ้าบนอาคารที่เช่าเป็นโรงงานเพื่อปลูกผักโดยทำเป็นแปลงขนาดเล็กและใช้วัสดุเหลือใช้รวมทั้งกระถางในเนื้อที่ 24 ตารางเมตร ที่เลือกชนิดผักตามความต้องการบริโภคของกลุ่มคนงาน ถือเป็นรูปแบบการปลูกผักในพื้นที่จำกัดที่ดูแลจัดการร่วมกันของกลุ่มคนงาน โดยจะนัดเวลาเย็นหลังเลิกงานหรือวันหยุดมาดูแล เวลาทำอาหารก็สามารถเก็บผักจากแปลงไปทำได้เลย แปลงผักที่นี้มีผลผลิตต่อเนื่องและสามารถเก็บมาบริโภคหากคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยเดือนละกว่า 1,000 บาท ยิ่งหากเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ปริมาณการปลูกผักบนดาดฟ้ามีจำนวนมากขึ้นเนื่องจากโรงงานมีงานที่ลดน้อยลงหรือไม่มีเลย ดังนั้นการประหยัดค่าใช้จ่ายที่แทบจะไม่มีรายได้จึงจำเป็นสุด ผักบนดาดฟ้าพอที่จะนำมาประกอบอาหารที่ร่วมกับการรับบริจาคพืชผัก ข้าวสารและวัตถุดิบในการปรุงอาหารจากกลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต

        ชุมชนภูมิใจ เขตคลองสามวา เป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อและมาสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ร่วมกัน จากสถานการณ์โควิดนอกจากทำให้การก่อสร้างชะลอตัว ที่สำคัญคือคนในชุมชนที่ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย รับจ้างรายวัน พนักงานทำความสะอาดและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย การอพยพโยกย้ายเพื่อหาที่อยู่แห่งใหม่บางคนต้องลาออกจากงานเดิม ทำให้รายได้ติดลบบางรายได้แทบเป็นศูนย์ หลายครอบครัวดิ้นรนหางานทำแต่ยากเต็มที่และตกอยู่ในภาวะหามื้อกินมื้อ จากที่เคยหาเช้ากินค่ำ แต่แกนนำได้ใช้พื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์มาทำแปลงปลูกผัก บางส่วนใช้พื้นที่ว่างรอบๆ บ้านชั่วคราว รวมทั้งที่ดินริมคลองที่ติดกับชุมชนปลูกผักพอที่จะเก็บมาทำอาหารในบางมื้อ แต่ด้วยชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับหนองน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่าบึงนายพลและมีลำคลองย่อยซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนอย่างดี คนในชุมชนจึงหาอาหารธรรมชาติแล้วแบ่งปันมาทำกินกัน พอที่จะลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ แต่อาหารไม่เพียงพอมากนักทัั้งจากพื้นที่ชุมชนอยู่ระหว่างดำเนินก่อสร้างจึงไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสร้างแหล่งอาหารได้อย่างเต็มที่ ผนวกกับความไม่มั่นคงทางอาชีพ ดังนั้น ช่วงโควิดชุมชนภูมิใจและโรงช้างต้องพึ่งพาอาหารจากการบริจาคภายนอก แต่จะนำวัตถุดิบนั้นมาทำอาหารจำหน่ายราคาถูกให้คนในชุมชน และนำรายได้สำหรับการซื้อวัตถุดิบทำอาหารต่อไปหากไม่ได้รับการบริจาค

        กล่าวได้ว่าการใช้พื้นที่ว่างหรือรกร้างนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างแหล่งอาหารนั้น สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารและเป็นแหล่งอาหารหลักของชุมชนได้เป็นอย่างดี แต่ที่มากกว่านั้นได้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ลดความเครียดเป็นเสมือนพื้นที่สุขภาวะของชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุได้มาปลูกผัก ออกกำลังกาย รู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง จากที่ต้องอยู่บ้านเฉยๆ ให้ลูกหลานดูแล การมาปลูกผักทำให้สุขภาพแข็งแรง  ได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านไม่รู้สึกเหงา และการทำกิจกรรมด้วยกันยังสร้างความสัมพันธ์เกื้อกูลกับคนในชุมชน โดยเฉพาะในช่วงระบาดของโควิด

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

        การพัฒนาระบบเกษตรในเมืองจึงเป็นการสร้างพื้นที่อาหารสำหรับคนเมือง ทำให้เกิดการพึ่งตนเองด้านอาหาร ลดรายจ่ายค่าอาหารไปได้มากโดยเฉพาะผัก มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสำหรับการบริโภคและแบ่งปัน จึงเป็นเศรษฐกิจอาหารที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานที่สร้างโดยคนเมือง และมีบทบาทสำคัญในช่วงเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดโควิดที่มีข้อจำกัดการเข้าถึงอาหาร แต่ได้สร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือน กลุ่มและชุมชนอย่างแท้จริง รวมถึงเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ในหลายกรณีเกิดการแบ่งปันที่ดิน (Land Sharing) ทำให้คุณค่าของการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเป็นพื้นที่อาหารที่ชุมชนมีสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีความหลากหลาย เป็นการสร้างระบบนิเวศเมืองให้เกิดความสมดุลมากขึ้น และในกรณีสวนผักคนเมืองชุมชนบูรพา 7 และแปลงผักนักสำรวจน้อย เคหะชุมชนทุ่งสองห้อง 327 พื้นที่อาหารได้มีบทบาทในการแบ่งปันผลผลิตให้กับคนในชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบางและคนที่เข้าไม่ถึงอาหาร เป็นการช่วยเหลือแบ่งปันที่ทำให้ชีวิตอยู่รอดในภาวะวิกฤต หรือการช่วยเหลือแบ่งปันกันในกลุ่มคนงานสมานฉันท์ และชุมชนภูมิใจ ชุมชนโรงช้าง ถือเป็นการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันที่สร้างขึ้นในระดับกลุ่มเล็กๆ เป็นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่ต้องมียกระดับและสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งในการร่วมมือทางการเมืองและการกำหนดนโยบาย เพื่อสร้างเศรษฐกิจแห่งการแบ่งปันให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทความแนะนำ

การเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นวิถีรักษาความหลากหลายพันธุกรรมพืช ….แต่การส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยว และการจำกัดสิทธิการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นปัจจัยทำให้พันธุกรรมพืชลดลง : สุพจน์ หลี่จา