ชุมชนการเคหะเป็นชุมชนเมืองกึ่งบ้านจัดสรร อยู่ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น มีประชาชนที่ย้ายมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย รองลงมาเป็นข้าราชการ ลูกจ้าง และรัฐวิสาหกิจ ประชาชนย้ายมาอาศัยจากทุกภาคของประเทศไทย และสิ่งที่ตามมา คือ ปัญหาขยะที่มีมากขึ้น ขยะตกค้าง สุนัขคุ้ยเขี่ยขยะ ขยะส่งกลิ่นเหม็น เกิดการทะเลาะกัน อีกทั้งยังมีการย้ายถังขยะจากจุดหนึ่งย้ายไปอีกจุดหนึ่ง
จากการประชุมร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น ทำให้เกิดการเรียนรู้การจัดการขยะและร่วมศึกษาดูงาน เกิดโครงการขยะเกิดที่ไหนกำจัดที่นั้น ทำให้ชุมชนสามารถจัดการขยะได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาขยะก็ยังจัดการได้ไม่ดีเท่าที่ควร
ปัจจุบัน ชุมชนการเคหะได้ดำเนินกิจกรรมต่อยอดจากกิจกรรมที่เคยทำ เกิดเป็นโคงการการจัดการขยะชุมชนการเคหะที่ต้นทางอย่างยั่งยืน โดยมีการทำงานร่วมกับมูลนิธฺเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เพื่อสนับสนุนการสานพลังเครือข่าย ในการขับเคลื่อนการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางอย่างยั่งยืน ดำเนินกิจกรรมดังต่อไปนี้
กิจกรรมที่ 1 : สวนสวย สุขภาพดี ขยะอินทรีย์
กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเริมและสนับสนุนให้สมาชิกครัวเรือนในชุมชน มีการปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภค ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สมาชิกครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการจัดการขยะอินทรีย์ มีการคัดแยกขยะในครัวเรือนของตนเอง และยังช่วยลดพฤติกรรมการทิ้งขยะอินทรีย์ลงในถังขยะมูลฝอยทั่วไป ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหากลิ่นเน่าเหม็น
กิจกรรมนี้ถูกจัดขึ้นเมื่อ วันที่ 12 มีนาคม 2564 ที่ศาลาชุมชนการเคหะ ซอย2 ถนนกลางเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยประธานชุมชนประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้สมาชิกครัวเรือนในพื้นที่ชุมชนการเคหะเข้าร่วมโครงการปลูกผักปลอดสารกินเองในครัวเรือนอย่างยั่งยืน และเชิญชวนให้มีการคัดแยกขยะอินทรีย์ ประเภทเศษอาหาร/เศษผัก/ผลไม้ ที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน ไม่นำมาทิ้งปะปนกับขยะมูลฝอยทั่วไป เพราะจะทำให้ขยะมีกลิ่นเน่าเหม็น (โดยจากเดิมมีจุดบริการถังทิ้งขยะอินทรีย์ของโครงการถังข้าวหมูฟื้นฟูชีวิต เทศบาลนครขอนแก่น จำนวน 2 จุดในพื้นที่ชุมชน เพื่อให้ทางเทศบาลได้เข้ามาเก็บรวบรวมและนำไปทำปุ๋ยหมัก/น้ำหมักชีวภาพต่อไป)
ส่วนคณะกรรมการชุมชน สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการเพาะปลูกผัก เช่น เมล็ดพันธุ์ผัก กระถาง ดิน ปุ๋ยคอก เป็นต้น ให้กับสมาชิกครัวเรือนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สำหรับใช้เพาะปลูกผักในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน เช่น เมล็ดพันธุ์ผัก กระถาง ดิน ปุ๋ยคอก บัวรดน้ำ สแลม สายยาง แกลบ ตะข่าย เป็นต้น เพื่อใช้เป็นจุดศูนย์กลางการเรียนรู้ร่วมกับสมาชิกครัวเรือนในชุมชน และสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนร่วมกันได้
อีกทั้งยังมีการจัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องของการนำเอาวัสดุรีไซเคิลมาประยุกต์ใช้เป็นวัสดุอุปกรณ์ในการเพาะปลูกผัก/ไม้ดอกไม้ประดับ ให้กับกลุ่มเด็กเยาวชน
ผลที่ได้รับจากกิจกรรม มีสมาชิกครัวเรือนในชุมชนให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภค เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จำนวน 50 ครัวเรือน และได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการขยะอินทรีย์ ที่สามารถนำกลับไปคัดแยกขยะในครัวเรือนของตนเองได้ ทำให้สมาชิกในชุมชนโดยส่วนใหญ่มีการลดพฤติกรรมการทิ้งขยะอินทรีย์ลงในถังขยะมูลฝอยทั่วไป และช่วยลดปัญหาขยะส่งกลิ่นเน่าเหม็นในพื้นที่ชุมชนได้
กิจกรรมที่ 2 : เศษกระดาษนี้มีมูลค่าด้วยการนำมาทำ “เปเปอร์มาเช่”
กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่จะถูกนำไปกำจัดทิ้ง นำขยะรีไซเคิลมาสร้างมูลค่า และนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ทำให้สมาชิกในชุมชนมีอาชีพ และรายได้เสริมให้กับครัวเรือน
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 สมาชิกชุมชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 10 คน ได้จัดฝึกอบรมให้ความรู้ในเรื่องของการทำเปเปอร์เปอร์มาเช่ จากเศษกระดาษ ให้กับสมาชิกในชุมชนที่มีความสนใจ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์ และออกแบบงานฝีมือจากขยะประเภทกระดาษ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกในชุมชน
กิจกรรมนี้นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะรีไซเคิลประเภทเศษกระดาษขยะรีไซเคิล ประเภทเศษกระดาษแล้วยังนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการสร้างสรรค์งานทำมือประเภท “เปเปอร์มาเซ่” และนำกลับไปใช้ประโยชน์ต่อได้
กิจกรรมที่ 3 : ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการคัดแยกขยะ
การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทาง เพื่อให้สมาชิกชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการคัดแยกขยะที่ต้นทางอย่างถูกต้อง และมีความตระหนักต่อปัญหาขยะในพื้นที่มากขึ้น
โดยในวันที่ 25 เมษายน 2564 ทางชุมชนได้มีจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือน ให้ความรู้ในการจัดการขยะให้ถูกวิธีทำให้ขยะลดลง โดยการเชิญวิทยากรจากหน่วยงานเทศบาลนครขอนแก่นมาบรรยายให้ความรู้ เพื่อให้สมาชิกในครัวเรือนในชุมชนได้เกิดความตระหนัก และมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อช่วยลดปริมาณขยะในพื้นที่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างสรรค์ไอเดียในการนำเอาขยะรีไซเคิลไปต่อยอดการใช้ประโยชน์โดยการนำไปใช้เป็นวัสดุ/อุปกรณ์ในการเพาะปลูกผัก และไม้ดอกไม้ประดับ และในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ทางชุมชนได้จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะพิษ/ขยะอันตราย โดยการเชิญวิทยากรจากหน่วยงานเทศบาลนครขอนแก่นมาบรรยายให้ความรู้แก่สมาชิกครัวเรือนในชุมชน
ผลที่ได้จากกิจกรรมนี้ทำให้สมาชิกชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการคัดแยกขยะที่ต้นทางอย่างถูกต้อง และมีความตระหนักต่อปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชนมากขึ้น สมาชิกครัวเรือนให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะเพิ่มมากขึ้น