โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 13 บทบาทรัฐต่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย คุณอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ภาคการเกษตรเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก หากมองถึงบทบาทของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ผ่านมานั้นได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการเกษตรขึ้นมาโดยมีรองปลัดกระทรวงเกษตรเป็นประธาน และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นฝ่ายเลขา นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอีก 2 คณะ โดยคณะกรรมการชุดแรกเป็นคณะทำงานในการร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการและพัฒนาข้อมูลองค์ความรู้ทั้งเจ้าหน้าที่และเกษตรกร และคณะกรรมการชุดที่สองเป็นคณะทำงานจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการเกษตร

นอกจากการจัดตั้งคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ในการขับเคลื่อนดังกล่าวได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ.2560-2564) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ย่อย คือ 1) การรวบรวม พัฒนา และสร้างฐานข้อมูล องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, 2) การเพิ่มความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง, 3) การมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาให้เกิดการเติบโตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, และ 4) การเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการเกษตร

หากมองเรื่องการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นั้นได้เน้นเรื่องการเพิ่มความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพราะการรับรู้และการตื่นตัวของเกษตรกรยังคงจำกัด ในยุทธศาสตร์ของการเพิ่มความสามารถในการปรับตัวนั้นจะเน้นในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะน้ำเป็นปัจจัยหลักในการทำการเกษตร ทำให้ต้องมีการเน้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังได้มีการเน้นเรื่องการใช้ของที่ดินอย่างยั่งยืนให้มีประสิทธิภาพและลดการทำลายหน้าดินควบคู่กับการสร้างเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้นำมาใช้ในการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน หรือว่าการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ หากทำได้ก็จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการกำหนดมาตรการชดเชยที่เกิดจากภัยพิบัติหรือเกิดจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลากหลายเพื่อให้เกษตรกรได้เข้าถึง ยกตัวอย่างเช่น การเกิดภัยแล้ง น้ำท่วมหรือการเกิดโรคแมลงระบาดที่เกิดขึ้นนั้น การประกันภัยพืชผลถือว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามพัฒนารูปแบบการประกันภัยให้มีความหลากหลายและตอบรับโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งเรื่องของภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด หรือการประกันในบางเรื่อง เช่น การประกันภัยทุเรียน ที่ให้การประกันในลักษณะที่เกิดจากพายุฤดูร้อนในช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่การประกันภัยดังกล่าวยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก เพราะการประกันในลักษณะนี้ต้องจ่ายเบี้ยประกันที่ยังสูงอยู่สำหรับเกษตรกร

งานศึกาด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การทำงานของหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้มีงานศึกษาเกี่ยวกับการปรับตัวของเกษตรกรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย เพื่อจัดทำเป็นชุดความรู้ในการสร้างความตระหนักและเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดหรือจัดทำแผนการปรับตัวให้เข้ากับบริบทแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีงานศึกษาที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น ดังต่อไปนี้

  • การจัดทำฐานข้อมูล Water Footprint ด้านการเกษตรที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งเป็นข้อมูลเรื่องการใช้น้ำและประสิทธิภาพของการใช้น้ำในพืช เพื่อนำไปกำหนดหรือวางนโยบายเรื่องการกำหนดปริมาณน้ำสำหรับการปลูกพืชในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำ

  • การศึกษาผลของการปรับตัวของเกษตรกรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการนำใช้การเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ โดยทำการศึกษาในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งผลการศึกษาพบว่าการทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เพราระบบการผลิตดังกล่าวเป็นการสร้างแหล่งอาหารให้กับครัวเรือนโดยที่ไม่ต้องไปหาซื้อจากที่อื่น

  • งานวิจัยเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการจัดการนาข้าว ที่มีการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวเป็นพืชอื่น เช่น ข้าวโพด ถั่วเขียว ซึ่งจากการศึกษาพบว่าถั่วเขียวเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดและเป็นพืชที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุด ทำให้ในอนาคตอาจมีการส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกถั่วเขียวทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งจะก่อประโยชน์ให้กับเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม

  • งานวิจัยเรื่อง Carbon Footprint ในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรร่วมกับหลายจังหวัด และต้นทุนส่วนเพิ่มในการลดก๊าซเรือนกระจกจากการลดพื้นที่การทำนาข้าว โดยการทำนาปรังแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้น้ำน้อย ช่วยลดต้นทุนและสร้างผลตอบแทนได้มาก รวมทั้งยังสามารถลดก๊าซเรือนกระจกด้วย การทำนาเปียกสลับแห้งเป็นการควบคุมน้ำที่เผยแพร่ให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ให้นำไปปฏิบัติ แต่ว่าอาจมีข้อจำกัดในบางพื้นทีเพราะการทำนาเปียกสลับแห้งต้องมีการปรับนาให้ราบเรียบเพื่อที่จะควบคุมน้ำได้ดี และต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทาน

  • การปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

  • การดูแลคุณภาพของดิน และการกำจัดเศษสิ่งวัสดุหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิต

  • โครงการสนับสนุนการจัดทำแผนการปรับตัวของภาคการเกษตรและแผนบูรณาการในการปรับตัวแห่งชาติซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง UNDP และ FAO ในการประเมินความเปราะบางและการจัดทำแผนการปรับตัว ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร อุดรธานีและสงขลา

  • โครงการ Establishment Sustainable Consumption and Production in Thailand ซึ่งเป็นโครงการร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ที่เน้นเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งศึกษาในพื้นที่นำร่อง 2 พื้นที่คือ อ.แม่แจ่ม และ อ.นาน้อย เพื่อให้เกษตรกรเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ลดการเผา

  • โครงการปลูกข้าวนาเปียกสลับแห้ง โดยร่วมมือกับ GIZ ในการศึกษาพื้นที่ 6 จังหวัดในภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท อ่างทอง ปทุมธานี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และสุพรรณบุรี

  • โครงการจัดการชีวมวลร่วมกับ GIZ เป็นการลดเผาเศษวัสดุเหลือใช้จากฟางข้าว เศษอ้อย และเศษข้าวโพด (อยู่ระหว่างการเริ่มต้นโครงการ)

  • โครงการ Supporting the Integration of the Agricultural Sector into the National Adaptation Plans (NAPs-Ag.) in Thailand ระยะที่สองร่วมกับ UNDP และ FAO (อยู่ระหว่างการเริ่มต้นโครงการ)

อ้างอิง
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “เกษตรกรรมกับการเปลี่ยน ปรับ รับมือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2563

บทความแนะนำ

การเกษตรของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นวิถีรักษาความหลากหลายพันธุกรรมพืช ….แต่การส่งเสริมเกษตรเชิงเดี่ยว และการจำกัดสิทธิการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นปัจจัยทำให้พันธุกรรมพืชลดลง : สุพจน์ หลี่จา