โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

         มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมเริ่มดำเนินงานโครงการอาสาคืนถิ่นเมื่อปี 2556 โดยในช่วงการเริ่มต้นของโครงการนั้นทางมูลนิธิฯ ทำงานร่วมกับหลากหลายเครือข่ายภาคี ดังเช่นการดำเนินงานของโครงการนำร่องในพื้นที่ภาคเหนือนั้นได้ทำงานร่วมกับวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ สำหรับในพื้นที่ภาคอีสานนั้นได้ทำงานร่วมกับสถาบันการจัดการความรู้เกษตรกรรมยั่งยืนอีสานและเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน การทำงานของมูลนิธิฯ ได้ให้ความสำคัญในการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่บนฐานความเชื่อพลังคนรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ ได้ทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ภายใต้หลากหลายโครงการ

โครงการอาสาคืนถิ่น

         โครงการอาสาคืนถิ่นนั้นเกิดขึ้นจากการเริ่มเห็นแนวโน้มของคนคืนถิ่น โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิดเป็นปัจจัยผลักให้เกิดการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น การดำเนินงานภายใต้โครงการอาสาคืนถิ่นตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันได้รับคนรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 5 รุ่น ที่ตอนนี้ได้ขยายการทำงานร่วมกับ 90 ชุมชน กระจายในพื้นที่ 30 จังหวัด คนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการอาสาคืนถิ่นส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่กลับบ้านได้ระยะหนึ่ง (เฉลี่ยไม่ถึง 1 ปี) แต่มีความตั้งใจที่จะกลับไปอยู่กับชุมชน บางคนมีความรู้สึกเคว้งคว้างและต้องการที่จะมีเพื่อนในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงเป็นเหตุผลให้โครงการอาสาคืนถิ่นเป็นพื้นที่ที่สำคัญของคนรุ่นใหม่ที่จะกลับบ้านหรืออาสาคืนถิ่นได้มีพื้นที่เรียนรู้และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่ด้วยสถานการณ์ของอาสาคืนถิ่นหรือคนรุ่นใหม่กลับบ้านนั้นมีข้อท้าทายที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น  ก่อนการเกิดวิกฤติโควิดนั้น พบว่าการยอมรับของชุมชนนั้นค่อนข้างน้อยและมองภาพคนรุ่นใหม่กลับบ้านเชิงภาพลบ อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทำให้ทัศนคติของชุมชนเริ่มดีขึ้น

         ในการทำงานของโครงการใช้แนวคิดที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ 1) แนวคิดการอยู่รอด ซึ่งแนวคิดการอยู่รอดนั้นหมายถึงคนรุ่นใหม่อยู่ได้ในเชิงเศรษฐกิจอย่างน้อยในเรื่องของการเลี้ยงดูตนเองและท้ายที่สุดสามารถสนับสนุนครอบครัวได้จริง รวมถึงการอยู่รอดจากข้อท้าทายที่หลากหลายในชุมชนที่จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่มีฐานคิดหรือฐานจิตใจที่เข้มแข็งในการกลับมาอยู่บ้านได้จริงซึ่งการสร้างเพื่อนสร้างเครือข่ายที่อยู่ในชุมชนต่างๆ หรือในจังหวัดต่างๆ ถือเป็นแรงหนุนเสริมที่สำคัญที่จะทำให้คนที่กลับบ้านนั้นรู้สึกไม่โดดเดี่ยว และ 2) แนวคิดการอยู่ร่วม ซึ่งแนวคิดการอยู่ร่วมนี้มุ่งเพื่อที่จะทำอย่างไรให้คนที่กลับบ้านนั้นไม่ได้ทำเพื่อตัวเขาเพียงอย่างเดียวแต่ว่ามีบทบาทในการช่วยพัฒนาชุมชน ในการดำเนินโครงการในแต่ละรุ่นนั้นใช้เวลานาน 1 ปี โดยในช่วงเวลาดังกล่าวทางมูลนิธิฯ ได้เน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจประเด็นชุมชนผ่านการวิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหา และต้นทุนของแต่ละชุมชนว่ามีต้นทุนอะไรบ้างเพื่อนำมาต่อยอดทั้งในเชิงของอาชีพและในส่วนที่จะสนับสนุนตัวชุมชน

         กระบวนการทำงานของโครงการอาสาคืนถิ่นนั้นไม่ได้เจาะจงชุมชนใดชุมชนหนึ่งแต่จะเปิดรับคนรุ่นใหม่อายุ  20-35 ปี ที่ปัจจุบันได้ขยายเปิดรับคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือ กลาง และอีสาน เข้าร่วมโครงการ ในกระบวนการพัฒนาศักยภาพให้กับคนรุ่นใหม่ภายใต้โครงการอาสาคืนถิ่นนั้นได้จัดทำผ่านการสนับสนุนโครงการภายใต้แนวคิดอยู่รอดและอยู่ร่วมกับชุมชนที่เรียกว่า “โครงการ Live project” เพื่อที่จะให้อาสาคืนถิ่นได้สำรวจตัวเองว่ามีต้นทุนความรู้ มีศักยภาพในเรื่องใด ในชุมชนมีต้นทุนอะไรบ้าง และสามารถนำความรู้และต้นทุนที่ชุมชนมีอยู่นั้นมาประกอบทำโครงการ Live project ร่วมกับชุมชนได้อย่างไร ดังเช่นกรณีคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในพื้นที่อำเภอโขงเจียมที่มีต้นทุนของชุมชนในเรื่องเม็ดกระบกและได้มีต่อยอดนำมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อจำหน่ายผ่านการขายออนไลน์ เป็นต้น

บทเรียนการทำงานร่วมกับคนคืนถิ่น

  • ข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการดำเนินโครงการฯ พบว่า 95% ของคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการยังคงอยู่ในชุมชนและยังมีความมุ่งมั่นตั้งใจในเชิงของการพัฒนาชุมชน ที่ขณะเดียวกันได้เกิดเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีการหนุนเสริมผลิตภัณฑ์ระหว่างสมาชิก อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลา 1 ปีของโครงการนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยบริบทข้อท้าทายที่หลากหลายและต้องอยู่ในภาวะความกดดันในหลายเรื่อง แต่สิ่งที่คนรุ่นใหม่ได้พยายามที่จะสื่อสารกับสังคมในแง่การกลับบ้านของคนรุ่นใหม่นั้นไม่ใช่ว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีทางเลือกแต่ว่าต้องการกลับไปแบบมีตัวตน ซึ่งที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่พยายามที่จะใช้การสื่อสาร ผ่านงานต่างๆ เช่น การจัดงานงาน “โฮมเฮา พวกเราคืนถิ่น” ที่พูดถึงเรื่องคนคืนถิ่นในภาคอีสาน ขณะเดียวกันคือการให้พื้นที่แสดงผลิตภัณฑ์/ผลงานของคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในการทำงานร่วมกับชุมชนว่าเป็นอย่างไรบ้าง
  • ความเข้มแข็งของเครือข่ายเพื่อให้มีเพื่อน พี่น้อง ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ จากการทำงานของมูลนิธิฯ พบว่า การอยู่คนเดียวภายใต้สถานการณ์ท้าทายนั้นค่อนข้างหดหู่ไม่มีกำลังใจ ดังนั้นการมีเครือข่ายเพื่อให้มีเพื่อนช่วยหนุนเสริมซึ่งกันและกันจะทำให้คนรุ่นใหม่สามารถอยู่รอดอยู่ร่วมได้ค่อนข้างมีความมั่นคงมากขึ้น นอกจากการมีเครือข่ายแล้วทางมูลนิธิฯ ได้ให้ความสำคัญในกระบวนการการติดตามหนุนเสริมผ่าน “ทีมพี่เลี้ยงคืนถิ่น” เพราะว่าในการไปอยู่ในช่วงระยะแรกในพื้นที่/ชุมชนของคนรุ่นใหม่ในเวลา 1 ปีนั้นถือว่าเป็นช่วงที่คนรุ่นใหม่มักเจอกับภาวะท้อ ไม่มีกำลังใจ และไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางใด โดยบทบาทของพี่เลี้ยงคืนถิ่นนี้จะเข้าไปหนุนเสริมทั้งพลังใจและทักษะความรู้ ดังเช่นคนรุ่นใหม่บางคนที่เข้าไปอยู่ในชุมชนแล้วไม่รู้ว่าจะเข้ากับชุมชนอย่างไร ทางทีมพี่เลี้ยงก็จะไปเพิ่มเติมในเรื่องทักษะการทำงานร่วมกับชุมชน หรือว่าบางคนสำรวจว่าชุมชนมีต้นทุนที่น่าสนใจแต่ไม่รู้ว่าจะทำเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้อย่างไร ทางทีมพี่เลี้ยงก็จะเข้าไปหนุนเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
  • โครงการนี้ถือเป็นพื้นที่เชื่อมให้คนที่กลับบ้านมาร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และมีความเป็นกัลป์ญาณมิตรที่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ
  • การพัฒนาที่จะให้คนรุ่นใหม่อยู่รอดและอยู่ร่วมผ่านโครงการอาสาคืนถิ่น ในช่วงเวลา 1 ปีนั้นค่อนข้างยากที่การกลับไปทำเกษตรอย่างเดียวอาจอยู่ไม่ได้ในเชิงเศรษฐกิจทั้งหมด ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างทางเลือกเพื่อหารายได้หลากหลายช่องทางเพื่อที่จะให้คนคืนถิ่นได้ปรับชีวิตอยู่ร่วมกับชุมชนได้ โดยการทำงานของมูลนิธิฯ ภายใต้โครงการอาสาคืนถิ่นนั้นได้สนับสนุนค่ายังชีพให้กับคนคืนถิ่น ประมาณ 4,000-6,000 บาท/เดือน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6-9 เดือน (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนในแต่ละปี) คนคืนถิ่นส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการนั้นมีความสนใจหลากหลายในการเข้าไปพัฒนาชุมชน บางคนกลับชุมชนเพื่อไปทำเกษตรกรรมยั่งยืน บางคนทำงานหัตถกรรม ดังนั้นกระบวนการในการที่จะเข้าไปเติมความรู้ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้มีความสัมพันธ์กับความสนใจของแต่ละรายที่มีความสนใจที่แตกต่างกัน ในขณะที่การผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่เรื่องราวของอาสาคืนถิ่นก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกันในการเผยแพร่เรื่องราวของคนรุ่นใหม่ว่าสามารถอยู่รอดและอยู่ร่วมในชุมชนได้อย่างไร

         กล่าวสรุป คือ การทำงานร่วมกับคนคืนถิ่นผ่านโครงการอาสาสมัครคืนถิ่นนี้คือเป็นโมเดลในก้าวแรกที่สำคัญในการที่จะเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับบ้าน รวมถึงองค์กรที่ทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เพื่อนำไปต่อยอดในเชิงกระบวนการของการถอดความรู้ รวมถึงประเด็นเรื่องการสื่อสารก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับบ้านแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรก็จะได้เห็นว่ามีเพื่อนที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ที่สามารถเป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้กับคนที่สนใจ และขณะเดียวกันถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในการที่จะกลับบ้านให้เห็นภาพหรือช่องทางในการกลับไปเริ่มต้นได้จริง

อ้างอิง: เสวนาสมัชชาเกษตรกรรมทางเลือกออนไลน์ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร” ครั้งที่ 3 คนคืนถิ่น: สถานการณ์ บทเรียน และแนวทางการขับเคลื่อน วันที่ 21 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30-16.30 น. ผ่านระบบ ZOOM

บทความแนะนำ