โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

            สุประวีณ์ หรือ ต่อง ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่กลับมาบ้านมานานกว่า 10 กว่าปีในการเข้ามาสานต่องานเกษตรกรรมยั่งยืนและกลับมาดูแลพ่อแม่ จากการปลูกฝังที่เห็นรุ่นพ่อทำเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนตั้งแต่เด็กได้เป็นแรงผลักที่สำคัญที่ทำให้ “ต่อง” ต้องการเข้ามาหนุนเสริมในการทำเกษตรของครอบครัว ปัจจุบันแม้ว่า “ต่อง” ยังไม่ได้ทำการเกษตรแบบเต็มตัวก็ตามแต่ก็ได้เข้ามาต่อยอดให้กับกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านโนนยางในด้านการแปรรูปและการตลาด ในช่วงที่ “ต่อง” กลับมาอยู่บ้านในระยะแรกนั้นได้เห็นว่ากลุ่มได้ทำการผลิตข้าวกล้องอินทรีย์แต่ยังไม่มีตลาดที่หลากหลาย “ต่อง” จึงเข้ามาพัฒนาช่องทางการตลาดโดยนำร่องระบายผลผลิตของกลุ่มผ่านทาง Facebook ในช่วงแรกด้วยปริมาณข้าวของกลุ่มยังมีไม่มากนักจึงสามารถทยอยจำหน่ายผลผลิตทั้งปีได้หมด แต่ในระยะหลัง “ต่อง” เริ่มมีการศึกษาการขายผ่านออนไลน์มากขึ้นเนื่องจากกลุ่มมีจำนวนสมาชิกที่ผลิตข้าวในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นทำให้การจำหน่ายผ่าน Facebook เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ กลุ่มจึงได้มีการเพิ่มช่องทางจำหน่ายผ่าน Line รวมถึงการต่อตรงกับผู้บริโภคโดยเฉพาะโรงแรมกับร้านอาหารที่รับซื้อข้าวของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามด้วยวิกฤติโควิดทำให้ผู้รับซื้อข้าวโดยเฉพาะกลุ่มที่รับซื้อข้าวเป็นหลักนั้นลดปริมาณการรับซื้อข้าวในขณะที่กลุ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้นทำให้กลุ่มต้องหาช่องทางการตลาดและรับมือกับผลผลิตของกลุ่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูป (เช่น ข้าวเกรียบว่าว ขนมทูเล่) ของกลุ่มก็ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยเฉพาะต้นปีที่ผ่านมาคือกลุ่มลูกค้าลดลงทำให้กลุ่มรับมือไม่ไหวจึงพักการทำขนมจากปกติจะทำทุกเดือนเพื่อนำไปฝากร้านปรับมาเป็น 3 เดือนทำขนม 1 ครั้ง เพื่อรับมือการจัดการระบายผลผลิตของกลุ่มเบื้องต้น ทางกลุ่มได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และพยายามหาช่องทางการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์เพิ่มขึ้น

การระบายข้าวของกลุ่มในช่วงโควิด

            ปัญหาการระบายข้าวของกลุ่มในช่วงโควิดวิดที่นอกจากผู้บริโภคลดปริมาณการซื้อแล้ว กลุ่มยังเผชิญกับปัญหาความความเข้าใจของผู้บริโภคในเรื่องราคาข้าวอินทรีย์ โดยเฉพาะผู้บริโภครายใหม่ที่มองว่าราคาสูงกว่าตลาดข้าวทั่วไปทำให้กลุ่มต้องทำงานรณรงค์สร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคควบคู่กับการจำหน่ายผลผลิต นอกจากนี้การระบายข้าวของกลุ่มที่ผ่านมาส่วนใหญ่อาศัยการขนส่งกับบริษัทขนส่งเป็นหลักโดยมีอัตราค่าขนส่งที่ 4 บาท/กก แต่ปัจจุบันอัตราค่าขนส่งเพิ่งขึ้นสูงมากเป็น 15 บาท/กก ทำให้ผู้บริโภคสะท้อนว่าแบกรับค่าขนส่งไม่ไหว ส่งผลให้ผู้บริโภคบางรายลดปริมาณการรับซื้อ บางรายหยุดการรับซื้อ อย่างไรก็ตามในช่วงวิกฤติโควิดนี้ทางไปรษณีย์ไทยร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ส่งข้าวจากเกษตรกรผ่านโครงการจากท้องนาส่งตรงถึงผู้บริโภคทั่วไทยในราคาประหยัดทำให้ผู้บริโภคบางส่วนที่หายไปเริ่มกลับมา โดยปริมาณข้าวในปี 2564 นี้ทางกลุ่มคาดการณ์จะมีปริมาณข้าวที่มาก รวมกับข้าวที่มีอยู่เดิมยังระบายไม่หมดทำให้กลุ่มยังคงต้องทำการประชาสัมพันธ์ควบคู่กับการหาช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มฐานผู้บริโภคในการรับซื้อข้าวให้หลากหลายมากขึ้น

 การกลับมาของคนรุ่นใหม่

            สถานการณ์คนคืนถิ่นในพื้นที่พบว่ามีคนรุ่นใหม่กลับบ้านเป็นจำนวนมาก ด้วยหลากหลายเหตุผลโดยเหตุผลหลักที่กลับมาส่วนใหญ่นั้นเนื่องจากถูกเลิกจ้างช่วงสถานการณ์โควิด “การกลับมาของคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องกลับมาทำการเกษตรไหม?” ถือเป็นอีกคำถามที่คนกลับบ้านมักได้ยินกัน จากข้อมูลการกลับมาในพื้นที่ของคนรุ่นใหม่พบว่า ส่วนใหญ่กลับมาทำร้านค้าขายของในชุมชน ทำให้ในชุมชนขณะนี้มีร้านค้าชุมชนรายใหม่เกิดขึ้นมาก อย่างไรก็ตามด้วยการเพิ่มขึ้นของร้านค้าในชุมชนนั้นสวนทางกับกำลังซื้อของคนในชุมชน ทำให้ร้านค้าชุมชนมีรายได้จำกัด บางรายเปิดร้านค้าไประยะหนึ่งแต่ท้ายที่สุดต้องปิดกิจการเพราะมีรายได้ที่ไม่ตอบโจทย์กับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน “ต่อง” ได้ชักชวนให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าร่วมกลุ่มปลูกผักอินทรีย์และร่วมแปรรูปผลผลิตกับกลุ่ม แต่ด้วยคนรุ่นใหม่มีมุมมองการทำการเกษตรและความถนัดในอาชีพที่ต่างกันจึงทำให้คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ยังมองไม่เห็นช่องทางในการตอบโจทย์เศรษฐกิจในการกลับมาทำการเกษตรในพื้นที่มากนัก

อ้างอิง: เสวนาสมัชชาเกษตรกรรมทางเลือกออนไลน์ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร” ครั้งที่ 3 คนคืนถิ่น: สถานการณ์ บทเรียน และแนวทางการขับเคลื่อน วันที่ 21 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30-16.30 น. ผ่านระบบ ZOOM

บทความแนะนำ