โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

         การส่งต่องานคนรุ่นใหม่ของชุมชนแม่ทาเกิดจากวิสัยทัศน์ของรุ่นพ่อแม่ที่จะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่โดยผ่านหลักคิดเกษตรกรรมยั่งยืนที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานควบคู่กับการรักษาทรัพยากรดินน้ำป่าในพื้นที่ ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นหัวใจในขับเคลื่อนชุมชนแม่ทามาอย่างยาวนานกว่า 30 กว่าปีที่ส่งต่อรุ่นต่อรุ่นสืบกันมาถึงปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่นั้นได้มีการยกระดับการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มวิสาหกิจออร์แกนิคชุมชนแม่ทาเพื่อให้เป็นกลุ่มองค์กรที่เป็นนิติบุคคลและเป็นที่ยอมรับทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการทำงานของกลุ่มนั้นได้ทำงานเชื่อมกับองค์กรที่อยู่ในพื้นที่กว่า 30 องค์กร ตัวอย่างองค์กรที่คนรุ่นใหม่ทำงานร่วมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สถาบันการพัฒนาทรัพยากรและเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา และสหกรณ์เกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทาที่ริเริ่มโดยคนในชุมชนตั้งแต่รุ่นพ่อแม่

การเคลื่อนงานคนรุ่นใหม่ในพื้นที่

         การกลับมาของคนรุ่นใหม่ในชุมชนแม่ทานั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากกระแสของการกลับบ้านที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่เป็นความตั้งใจของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับมาชุมชนที่เริ่มทยอยกลับบ้านในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาด้วยเห็นภาพสำเร็จของรุ่นพี่ในการเคลื่อนงานเกษตรกรรมยั่งยืน และเห็นแนวทางว่ากลับมาแล้วควรทำอย่างไรหรือเข้ามาต่อยอดในการทำงานได้ ในการกลับมาของคนรุ่นใหม่ได้ให้ความสำคัญของการรวมกลุ่มโดยเข้าร่วมขบวนกับรุ่นพี่ในการพัฒนาและต่อยอดการทำงานของชุมชน เนื่องด้วยการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่มีความหลากหลายวิธีคิดและมีความถนัด/ความชอบที่ต่างกันทำให้มีมิติในการจัดการระบบเกษตรในพื้นที่แตกต่างออกไป ดังตัวอย่างการพัฒนาช่องทางการตลาดที่หลากหลายมากขึ้นที่แต่เดิมมีเพียงการจำหน่ายผลผลิตที่ตลาดเขียวในเมืองเชียงใหม่ โดยช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่ที่คนรุ่นใหม่ริเริ่ม เช่น การจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ การจำหน่ายผลผลิตในห้างสรรพสินค้า/ร้านค้าเพื่อสุขภาพ และการตลาดระบบสมาชิก (Community Support Agriculture: CSA) รวมถึงการรวบรวมผลผลิตที่ร่วมมือกับสหกรณ์เกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทาในการกระจายผลผลิตผ่านช่องทางดังที่กล่าวมา ในการทำงานของกลุ่มนั้นได้แบ่งทีมการทำงานตามความถนัด/ความชอบของแต่ละคนควบคู่กับการทำงานกับคนรุ่นพ่อแม่ที่มีวิสัยทัศน์ องค์ความรู้และมีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาให้กับทีมงานคนรุ่นใหม่

         นอกจากนี้กลุ่มยังทำเรื่อง Café การรวบรวมผลผลิต การแปรรูป (เช่น แป้งมันม่วง เต้าหู้ถั่วเหลือง ฯลฯ โดยเน้นวัตถุดิบในพื้นที่เป็นหลัก) รวมถึงการร่วมทุนกับมูลนิธิสายใยแผ่นดินกับกลุ่มเครือเซนทรัลในการเปิดระดมทุนจากสาธารณะเพื่อซื้อที่ดินขนาด 9 ไร่ ในการทำเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับคนรุ่นใหม่เข้ามาทดลองใช้ชีวิตบนพื้นฐานการทำเกษตรกรรมยั่งยืน ที่ปัจจุบันกำลังก่อสร้างสร้างเพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีที่ดินทำกินสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อผลิตอาหารของตัวเอง

การจัดการผลผลิตของชุมชน

         ด้วยการจัดการด้านตลาดของกลุ่มนั้นมีความหลากหลายทำให้กลุ่มได้มีการวางแผนการผลิตร่วมกันของสมาชิกให้มีความสัมพันธ์กับรายการสั่งซื้อล่วงหน้าของผู้รับซื้อแต่ละราย สำหรับการบรรจุภัณฑ์ของกลุ่มนั้นในช่วงแรกของการดำเนินการกลุ่มยังไม่มีสถานที่เฉพาะของกลุ่ม สมาชิกจึงได้รวมตัวบรรุผลผลิตบริเวณใต้ถุนบ้านของแกนนำ แต่หลังจากกลุ่มเป็นที่ยอมรับในการเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ทำให้มีหลากหลายองค์กรให้การสนับสนุนในการทำงานของกลุ่ม เช่น การสนับสนุนสถานที่บรรจุภัณฑ์และห้องเย็นในการเก็บผลผลิตของกลุ่มจากหน่วยงานเอกชน การสนับสนุนโรงเรือนการผลิตจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เป็นต้น ในส่วนการกระจายผลผลิตของกลุ่มนั้นกลุ่มจะเลี่ยงการขนส่งผักใบข้ามจังหวัดเนื่องจากเสียหายง่ายและไม่คุ้มกับการจัดการ แต่จะเน้นจัดส่งเฉพาะในจังหวัดเท่านั้น โดยผลผลิตที่ขนส่งระยะทางไกลส่วนใหญ่จะเน้นผลผลิตที่เสียหายน้อย เช่น กะหล่ำปลี แครอท แตงกว่า ฟักทอง มันเทศ เป็นต้น

แนวทางการเคลื่อนงานร่วมกับชุมชน

         การสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชนในการจัดการตนเองในเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน การจัดการทรัพยากร ถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่ปัจจุบันชุมชนแม่ทาได้จัดทำแผนงานโดยยึดหลัก 4Ts มาขับเคลื่อนในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย 1) Trade คือการค้าขาย 2) Training คือการสร้างคนรุ่นใหม่ผ่านการฝึกอบรมโดยหลักสูตรอบรมบ่มเพาะคนรุ่นใหม่เพื่อให้เป็นผู้นำชุมชนในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ 3) Tour คือการรับคนที่ทำงานด้านการเกษตรหรือสนใจด้านการเกษตรเข้ามาเรียนรู้เรื่องของจิตใจผ่านหรือที่เรียกว่า Journey learning และ 4) Trust คือการบริหารจัดการกลุ่มแบบ Trust ที่ปัจจุบันกลุ่มกำลังศึกษาดูว่าต้องมีการบริหารจัดการอย่างไรบ้าง

อ้างอิง: เสวนาสมัชชาเกษตรกรรมทางเลือกออนไลน์ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร” ครั้งที่ 3 คนคืนถิ่น: สถานการณ์ บทเรียน และแนวทางการขับเคลื่อน วันที่ 21 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30-16.30 น. ผ่านระบบ ZOOM

บทความแนะนำ

ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร คนคืนถิ่น: กลับใต้ร่วมสร้างระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ภาคใต้ โดย คุณกำราบ พานทอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้