โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

“ข่วงเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่” เป็นชื่อของตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจจะให้เป็นจุดกลางในการกระจายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในเชียงใหม่ และเป็นศูนย์รวมของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของ “เครือข่ายแม่กาดเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่-ลำพูน” ซึ่งความหมายของ “แม่กาด” ก็คือแม่ค้าหรือคนขายของนั่นเอง เครือข่ายแม่กาดฯ นี้จึงเป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรรายย่อยจากเชียงใหม่และลำพูนที่ผลิตผลผลิตและสินค้าอินทรีย์ แล้วนำผลิตผลหรือสินค้านั้นออกมาขายด้วยตนเอง ปัจจุบันสมาชิกเครือข่ายแม่กาดฯ มีจำนวน 68 ราย

ข่วงเกษตรอินทรีย์ฯ เกิดจากการที่เครือข่ายแม่กาดฯ ได้ลงความเห็นร่วมกันว่าจำเป็นจะต้องมี “ตลาดกลาง” เป็นของตนเอง เพื่อรองรับผลผลิตจากเกษตรกรอินทรีย์ในเชียงใหม่ รวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียงอย่างลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ตลาดนี้จึงมีลักษณะเป็นธุรกิจชุมชนที่เครือข่ายแม่กาดฯ สามารถบริหารจัดการตนเองและตัดสินใจกันเองได้ เป็นตลาดที่เน้นความเป็นธรรม นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดจำหน่ายผลผลิต เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยแล้ว ยังต้องการให้เป็นจุดแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล ข่าวสารทางด้านระบบเกษตรกรรมยั่งยืน การฟื้นฟูจัดการทรัพยากรธรรมชาติชุมชน สุขภาพชุมชน การศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ บทบาทหญิงชายและผู้บริโภค ตลอดจนช่วยเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค เพื่อลดช่องว่างระหว่างกัน ตลอดจนอาจพัฒนาไปสู่การร่วมกันสร้างสังคมอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

เส้นทางการก่อเกิดตลาดเกษตรอินทรีย์

จากสถานการณ์ปัญหาของภาคเกษตรกรรมอันเกิดจากการผลิตเชิงเดี่ยวและการใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก เชื่อมโยงมาถึงการก่อให้เกิดหนี้สินแก่เกษตรกร ปัญหาทรัพยากรถูกทำลาย พืชพันธุ์พื้นบ้านและความหลากหลายทางชีวภาพลดน้อยลง ตลอดจนปัญหาด้านสุขภาพอนามัย ทั้งของเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิต ซึ่งต้องสัมผัสกับสารเคมีจากการนำมาใช้ในนาไร่ ในขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรที่ถูกนำไปจำหน่ายอยู่ในตลาดก็เป็นผลผลิตที่ปนเปื้อนสารเคมี ผู้บริโภคขาดโอกาสที่จะเข้าถึงอาหารปลอดภัย

นั่นเองคือที่มาที่ทำให้ตลาดเกษตรอินทรีย์ถือกำเนิดขึ้น เพื่อมุ่งเน้นการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร พร้อม ๆ ไปกับการสร้างช่องทางให้ผู้บริโภคในเมืองและผู้บริโภคทั่วไปได้มีโอกาสที่จะเลือกรับประทานอาหารที่ปลอดภัย โดยปลอดจากการตกค้างของสารเคมี

หากไล่เรียงในเชิงประวัติศาสตร์อย่างย่นย่อ จุดกำเนิดของตลาดเกษตรอินทรีย์เริ่มขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2535 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกประเทศไทย ได้จัดงานสมัชชาเกษตรกรรมทางเลือกขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ใช้ชื่อว่า “สัปดาห์เกษตรทางเลือก” หนึ่งในกิจกรรมในงานคือการออกร้านจำหน่ายสินค้าจากผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม องค์กร และชาวบ้านที่ทำเกษตรทางเลือกเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกฯ สินค้าที่นำมาขาย เช่น สมุนไพรนานาชนิด เครื่องหวาย เสื่อ ผ้าย้อมสีธรรมชาติ ผักปลอดสารเคมี ข้าวกล้องและข้าวขาวจากนาธรรมชาติ ฯลฯ

กิจกรรมดังกล่าวนี้ได้สร้างโอกาสให้ผู้บริโภคได้พบกับผู้ผลิต ขณะเดียวกัน งานสัปดาห์เกษตรทางเลือกทั้งงานก็ได้ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งเรื่องราวของระบบเกษตรกรรมทางเลือก กระบวนการผลิต การแปรรูป และแนวคิดการทำตลาดทางเลือกได้รับการเผยแพร่ออกสู่วงกว้าง ผ่านการนำเสนอในเวทีวิชาการในงานและนำเสนอขยายต่อโดยสื่อสารมวลชน โดยรวมแล้วจึงส่งผลการรับรู้ที่กว้างขวางขึ้น และก่อให้เกิดการมองเห็น “ทางเลือก” สำหรับทั้งกลุ่มผู้ผลิตและผู้บริโภคในเมือง จนกระทั่งนำไปสู่การสานต่อกิจกรรมตลาดทางเลือกในเวลาต่อมา

ช่วงปี พ.ศ. 2536 คำว่า “ตลาดทางเลือก” เริ่มเป็นที่สนใจของผู้บริโภค เกิดแนวคิด การนิยามความหมาย ตลอดจนการพยายามสร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้นจากหลายกลุ่มคน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชาวบ้าน มีความพยายามปรับกระบวนการทำงานจากการมุ่งเน้นการพัฒนาการผลิตของระบบเกษตรกรรมทางเลือกสู่การทำตลาดทางเลือกมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับฐานการผลิตสินค้าเกษตรทางเลือกในภูมิภาคด้วย

ศ.เสน่ห์ จามริก ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาในสมัยนั้น เป็นท่านแรกที่เสนอแนวคิดการทำตลาดทางเลือกเพื่อเป็นช่องทางให้แก่เกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมทางเลือกอยู่ โดยอธิบายแนวคิดการทำตลาดทางเลือกว่า ที่ผ่านมาตลาดที่มีอยู่เป็นตลาดที่ผู้บริโภคถูกบังคับ มีการโฆษณาชวนเชื่อที่เกินความเป็นจริง สังคมไทยกลายเป็นสังคมบริโภคนิยม ลุกลามจากเมืองใหญ่ไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผู้ผลิตตกอยู่ภายใต้ระบบบริโภคนิยม ซื้อยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี รถไถ เมล็ดพันธุ์ หนำซ้ำยังไม่สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่เป็นธรรม เชื่อมโยงมาสู่ปัญหาครอบครัว หนี้สิน การอพยพแรงงาน เป็นต้น

ในขณะที่ตลาดแบบใหม่ ผู้บริโภคไม่ถูกยัดเยียดข้อมูล ซื้อเฉพาะสิ่งที่ควรซื้อ ไม่ใช่ซื้อเพราะโฆษณาชวนเชื่อ ขณะเดียวกันผู้ผลิตก็ไม่ควรตกอยู่ในระบบการเกษตรแผนใหม่ที่ต้นทุนสูง และควรมีบทบาทในการกำหนดราคา มีอำนาจต่อรองที่เพิ่มมากขึ้น สร้างให้เกิดความสัมพันธ์เกื้อกูลระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลาดทางเลือกจึงควรทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ผลิตผู้บริโภคเข้าด้วยกัน เป็นระบบตลาดที่สร้างให้เกิดความเป็นธรรมด้านราคา เสนอสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ตลาดทางเลือกจึงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรด้วยการสร้างราคาที่เป็นธรรม ลดขั้นตอนพ่อค้าคนกลาง ขยายบทบาทเกษตรกรให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำการตลาด และสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค

ดังนั้น ตลาดทางเลือกจึงมีพัฒนาการและรากฐานจากการพัฒนาระบบเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งเป็นระบบเกษตรที่คำนึงถึงการฟื้นฟู รักษาระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม โดยมีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจที่มุ่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารในระดับครัวเรือนและสร้างรายได้ที่เป็นธรรมให้แก่เกษตรกร เป็นฐานสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัวและสังคมโดยรวม

จากการที่องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ได้คิดค้นแนวทางในการทำตลาดทางเลือกเพิ่มมากขึ้นตลอดช่วงเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่พยายามพัฒนาคุณภาพผลผลิตและเรียนรู้งานตลาดอย่างจริงจัง ในที่สุด จุดเล็ก ๆ เหล่านั้นก็ปรากฏตัวอยู่ในแต่ละจังหวัดของแต่ละภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นข่วงเกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่ ตลาดสีเขียวขอนแก่น ตลาดนัดสีเขียวมหาสารคาม ตลาดนัดสีเขียวจังหวัดสุรินทร์ ตลาดเขียวยโสธร เป็นต้น

พัฒนาการของตลาดอินทรีย์ในเชียงใหม่

การเกิดขึ้นของตลาดเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางพัฒนาการเดียวกันกับตลาดเกษตรอินทรีย์หรือตลาดสีเขียวที่อื่นๆ และเกิดขึ้นมาจากโจทย์ร่วมลักษณะเดียวกัน เพียงแต่ว่า เส้นทางการเกิดขึ้นและพัฒนาการก็มีความเฉพาะตัว

จุดเริ่มต้นตลาดเกษตรอินทรีย์ในภาคเหนือมาจากการที่โครงการพัฒนาองค์กรชุมชน โครงการเผยแพร่และพัฒนาเครือข่ายตลาดทางเลือก และศูนย์รวบรวมและจำหน่ายสินค้าปลอดสารเคมีอิ่มบุญ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกับชาวบ้าน จัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตผักปลอดสารพิษในปี พ.ศ. 2536 ในขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้านในจังหวัดอื่น ๆ ของภาคเหนือ เช่น พะเยา เชียงราย น่าน ฯลฯ ก็ได้คิดค้นและพัฒนางานตลาดทางเลือกอย่างต่อเนื่องและหนุนช่วยซึ่งกันและกันในรูปแบบการประสานงานของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคเหนือ

จากนั้นในปีต่อมา พ.ศ. 2537 กลุ่มชาวบ้านที่ทำการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์ร่วมกับองค์กรสนับสนุนสถาบันชุมชนเกษตรยั่งยืน ภายใต้มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน ก็ได้ร่วมกันเปิด “กาดนัดเกษตรอินทรีย์” ขึ้นเป็นครั้งแรกบริเวณตลาดคำเที่ยง ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านอิ่มบุญ จนเป็นที่มาของชื่อที่เรียกโดยทั่วไปว่า “กาดนัดอิ่มบุญ”

หลังจากนั้น ตลาดเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเชียงใหม่ยังมีการย้ายสถานที่อีกหลายครั้ง จนในที่สุดได้ย้ายมาอยู่ที่โครงการเจ เจ ฮ็อบบี้ มาร์เก็ต เชียงใหม่ โซน C โดยตลาดแห่งนี้มีชื่อเรียกขานในหมู่คนทั่วไปว่า “กาดนัดเกษตรอินทรีย์เจเจ” ซึ่งในยุคสมัยหนึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมเกษตรกรอินทรีย์ในเครือข่ายแม่กาดฯ ทั้งหมด

เมื่อแรกเริ่มเปิดตลาด จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมยังมีไม่มากนัก ในแต่ละสัปดาห์จึงมีการเปิดขายในช่วงเช้าวันเสาร์เท่านั้น แต่ต่อมาได้มีเกษตรกรเข้ามาร่วมจำนวนมากขึ้นถึง 30 ครอบครัว เวลาเปิดตลาดจึงขยายเพิ่มเป็นวันพุธอีกหนึ่งวัน ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการขยายตลาดไปยังพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ทั้งในโรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์ราชการ หมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก “กาดนัดเกษตรอินทรีย์เจเจ” อยู่ในพื้นที่ของเอกชน รวมถึงตลาดแห่งต่าง ๆ ด้วย ซึ่งทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการตนเองและตัดสินใจกันเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเช่าหรือการใช้สถานที่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็ตาม แต่สิทธิขาดเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับพื้นที่มักยังอยู่กับเจ้าของสถานที่มากกว่า สมาชิกเครือข่ายแม่กาดฯ จึงลงความเห็นร่วมกันว่าจำเป็นจะต้องมีตลาดกลางเป็นของตัวเอง

นั่นทำให้ข่วงเกษตรอินทรีย์ฯ ถือกำเนิดขึ้น และกลายเป็นตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญของทางเครือข่ายฯ โดยที่นอกจากจะมีบทบาทเป็นช่องทางให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตของตนเอง ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยแล้ว ยังมุ่งหวังให้เป็นสถานที่เรียนรู้ระหว่างคนเมืองและคนชนบทในภาคการเกษตร ลดช่องว่างระหว่างกัน

ส่วนตลาดเกษตรอินทรีย์ที่ตั้งอยู่ในโครงการเจ เจฯ ยังคงมีอยู่ แต่ไม่ถือว่าเป็นตลาดกลางด้านเกษตรอินทรีย์อีกต่อไปแล้ว อีกทั้งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นตลาดจริงใจ

ตลาดเกษตรอินทรีย์ในเชียงใหม่ปัจจุบัน

ปัจจุบัน ตลาดกลางด้านเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดเชียงใหม่ก็คือ “ข่วงเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่” หรือ Chiang Mai Organic Home ตั้งอยู่ริมถนนเลียบคลองชลประทาน ในเขตตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากกาดหรือตลาดต้นพยอมโดยมุ่งหน้าไปทางอุทยานหลวงราชพฤกษ์ สถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ประมาณ 2 กิโลเมตร

ตลาดแห่งนี้เริ่มเปิดมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555 จึงเท่ากับว่ามีอายุมากกว่า 12 ปีแล้ว ปัจจุบันตลาดเปิดทุกวันอังคาร พฤหัส และเสาร์ ระหว่างเวลา 14.00-18.00 น.

ภายใต้วัตถุประสงค์ที่มากกว่าการเป็นจุดขายสินค้าอย่างตลาดทั่วไป สถานที่แห่งนี้จึงต้องมีกิจกรรมทั้งด้านธุรกิจและด้านสังคม/นโยบาย มีบทบาททั้งมิติทางการตลาด ในเรื่องการจัดหาสินค้าเกษตรอินทรีย์ การบริการ อาหาร และนันทนาการทางวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็มีบทบาทด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน เป็นสถานที่พบปะ เรียนรู้ ทำกิจกรรม และวัฒนธรรมชุมชน โดยที่การดำเนินการทั้งทางการตลาด (ธุรกิจ) และแหล่งการเรียนรู้ชุมชน (สังคม) เกี่ยวร้อยเป็นเนื้อหาเดียวกัน ให้สาธารณชนต่างเห็นภาพเป็นหนึ่งเดียว และคาดหมายว่า “ข่วงเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่” จะกลายเป็น “ชุมชนเกษตรยั่งยืน” ในที่สุด

นอกจากข่วงเกษตรอินทรีย์ฯ แล้ว ในจังหวัดเชียงใหม่ยังมีตลาดเกษตรอินทรีย์อีก 8 แห่ง ดังนี้

  1. ตลาดจริงใจ ถนนอัษฏาธร ตำบลป่าตัน อำเภอเมือง เปิดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 06.30-15.00 น.
  2. ธนาคาร ธกส. (สำนักงานใหญ่) เชียงใหม่ ทุกบ่ายวันศุกร์ เวลา 13.00-17.00 น.
  3. กาดนัดศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ หน้าศาลากลางหลังเก่า ทุกวันจันทร์ เวลา 11.00-16.00 น.
  4. โรงเรียนดาราวิทยาลัย ภายในโรงอาหารฝั่งประถม เปิดขายเฉพาะช่วงโรงเรียนเปิด ทุกวันพุธ เวลา 14.00-17.00 น.
  5. ตลาดสดหนองหอย โซนเกษตรอินทรีย์ มุมในสุดด้านข้างแผงขายเนื้อ ทุกวัน เวลา 07.00-17.00 น.
  6. กาดนัดบ้านครูลาวัลย์ หน้าร้านพุทธรักษาสมุนไพร หลังมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ทุกวันจันทร์ เวลา 06.00-10.00 น.
  7. ข่วงสุขภาพฝาง ข้างแฟลตตำรวจ ทุกวันศุกร์ เวลา 06.00-10.00 น.
  8. กาดนัดข้างไปรษณีย์อำเภอพร้าว ทุกวันจันทร์ เวลา 06.00-12.00 น.

ในตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ทั้ง 9 แห่งนี้ แต่ละแห่งจะมีจำนวนเกษตรกรของเครือข่ายฯ ที่เข้ามาขายสินค้าไม่เท่ากัน โดยตลาดขนาดเล็กอาจมีเกษตรกรเพียงประมาณ 4-5 ราย ขนาดกลางประมาณ 15-20 ราย และขนาดใหญ่ประมาณ 30 รายขึ้นไป

 

แนวความคิดที่สำคัญและโครงสร้างการบริหารจัดการ

สำหรับการบริหารจัดการตลาดเกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องอยู่ภายในกรอบแนวคิดเรื่องการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งมีสาระสำคัญหลัก 3 ประการ ได้แก่

  • การพึ่งพาตนเองและเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีองค์ประกอบเริ่มจากการผลิตอาหารที่ใช้กระบวนการทางธรรมชาติเพื่อบริโภคในครอบครัวก่อน เน้นการลดรายจ่าย ใช้ปัจจัยการผลิตและทรัพยากรในท้องถิ่นทำการเกษตรที่มีระบบเหมือนกับป่าธรรมชาติ เสริมสร้างความหลากหลายทางชีวิภาพให้พื้นที่ให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศตามหลักการของห่วงโซ่อาหารที่ประกอบไปด้วย “ผู้ผลิต-ผู้บริโภค-ผู้ย่อยสลาย” ใช้และพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม ท้ายที่สุดคือมีการแปรรูปและจำหน่ายที่ตลาดชุมชนของตนเองก่อน
  • การใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาดและรู้คุณค่า นั่นคือ (1) ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ในกระบวนการผลิต แปรรูป ตลอดทุกขั้นตอน (2) มีการรวบรวม พัฒนา ปรับปรุงพันธุกรรมพืช สัตว์ จุลินทรีย์ท้องถิ่น (3) เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินอย่างต่อเนื่อง โดยหมุนเวียนทรัพยากรในไร่นาให้เกิดประโยชน์สูงสุด (4) ถือว่าวัชพืชเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และ (5) พื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการศึกษา ทดลอง และวิจัยอย่างต่อเนื่อง
  • การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนฐานองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาคน องค์กร และเครือข่าย ในมิติต่างๆ ดังนี้ (1) สร้างโอกาสในการมีส่วนร่วมแบบรอบด้าน ให้ความสำคัญบทบาทหญิงชาย (2) สร้างและพัฒนาองค์กรมาตรฐานอินทรีย์ท้องถิ่นที่ชุมชนและสังคมเชื่อมั่น (3) สร้างและพัฒนาองค์กรเกษตรกรและผู้บริโภค ยกระดับเป็นเครือข่ายและสถาบัน “ชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน” รวมทั้ง (4) มีการพัฒนาแผนชุมชนยั่งยืน

สำหรับความหมายของ “ชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน” ในกรอบแนวคิดที่เครือข่ายฯ ยึดถือ จะครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ที่ดีของกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้บริโภคในการจัดการระบบเกษตร ระบบตลาด ระบบการแปรรูป ระบบตลาดที่เป็นธรรม ระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายคือ การเพิ่มพูนความสามารถของคนในชุมชน ความมั่นคงและอธิปไตยด้านอาหาร การพึ่งตนเอง ความเป็นธรรม และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืน

ส่วนหลักการสำหรับตลาดที่เป็นธรรมของสินค้าเกษตรกรรมยั่งยืน มีประเด็นที่สำคัญดังนี้

– ให้ความสำคัญในการบริโภคเองก่อน ไร่นาของตนเองคือตลาด หลังจากนั้นจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนแก่ผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันเป็นอันดับแรก หากยังคงมีสินค้าเหลืออยู่ จึงค่อยขยับไปขายในชุมชนอื่นที่อยู่ห่างไกลทีละน้อย

– ต้องให้การผลิตกับการตลาดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ใช่ให้ตลาดนำการผลิตสถานเดียว                          

– จำหน่ายผลผลิตที่ใช้กระบวนการผลิต การแปรรูป ทางธรรมชาติ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์และสารเคมีสังเคราะห์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช

– ใช้หีบห่อที่เน้นความสะอาด ประหยัด ใช้วัสดุท้องถิ่น และอนุรักษ์ธรรมชาติ

– ซื้อและจำหน่ายสินค้าในราคายุติธรรม

– กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตลาด

– ใช้ค่าใช้จ่ายในด้านการตลาดให้น้อยลง

– เน้นรูปแบบการตลาดแบบขายตรง ระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค

– ส่งเสริมการซื้อสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรรายย่อยโดยตรง

– คิดเสมอว่าเกษตรกรและผู้บริโภคคือเพื่อนกัน     

แนวคิดและหลักการเหล่านี้คือแนวทางที่ข่วงเกษตรอินทรีย์ฯ ยึดมั่นในการดำเนินการ โดยที่ในส่วนของโครงสร้างการดำเนินงานสามารถแยกได้เป็น 2 ระดับ ได้แก่

1) ระดับเครือข่ายแม่กาดเกษตรอินทรีย์จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน

ในการเข้าสู่กาดนัดอินทรีย์ เกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมขายสินค้าจะต้องผ่านขั้นตอนการฝึกอบรม และเป็นสมาชิกของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่อาจมีอยู่แล้วหรือจัดตั้งขึ้นใหม่ และผ่านการตรวจประเมินแปลงรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม หรือที่เรียกว่า “พีจีเอสข่วงเกษตรอินทรีย์” ก่อนเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายแม่กาดเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่-ลำพูน

2) ระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์

เกษตรกรที่เข้าร่วมจำหน่ายสินค้าในกาดนัดเกษตรอินทรีย์จะต้องเป็นสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์และผ่านการรับรองผลผลิต

เอกสารอ้างอิง

นิศาชล ลีรัตนากร. (2556). รูปแบบการบริโภคสีเขียวของผู้บริโภคในจังหวัดเชียงใหม่. ฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.

วลัยพร อดออมพานิช และสุภา ใยเมือง. ตลาดทางเลือก หุ้นส่วนเพื่อสังคมใหม่. 2539.

สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน. (มปป.). จะสร้างตลาดชุมชนเกษตรอินทรีย์ได้อย่างไร.

บทความแนะนำ