โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

          หากมองการคืนถิ่นของภาคตะวันออกจะมีบริบทที่ต่างจากภาคอื่นๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตโควิด ด้วยภาคตะวันออกเป็นแหล่งตั้งนิคมและเขตอุตสาหกรรมที่ตั้งกระจายตัวในจังหวัดสำคัญ คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง ซึ่งแรงงานมีมาจากภาคอีสาน แรงงานต่างด้าวและคนในท้องถิ่นเอง ดังนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ผลกระทบที่เกิดกับแรงงานต่างถิ่นจะมีมากกว่าคนในท้องถิ่น เนื่องจากคนในท้องถิ่นเป็นแรงงานที่ไปเช้าเย็นกลับบ้านและยังคงอยู่กับครอบครัวซึ่งยังดำรงชีพด้วยการทำเกษตร แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือการถูกลดเวลาทำงาน ลดค่าแรงลง และระบบเกษตรของครอบครัวนี้เองที่สามารถปกป้องแรงกระทบจากวิกฤต

ระบบเกษตรกับฐานรองรับคนคืนถิ่น

          ฐานภาคเกษตรที่รองรับคนคืนถิ่นจากผลกระทบโควิดมี 2 ลักษณะ คือ

          1.ระบบเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นระบบที่ทำการผลิตเพื่อการค้า ระบบนี้ความสามารถรองรับคนคืนถิ่นในวิกฤตโควิดค่อนข้างน้อย เนื่องจากระบบเกษตรเป็นการผลิตที่อาศัยกลไกตลาด เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 64 ทำให้ตลาดต้องปิดตัวลง ผลผลิตไม่มีแหล่งขาย เกษตรกรที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว จึงได้รับผลกระทบรวมทั้งรองรับลูกหลานที่คืนถิ่นกลับมาได้น้อย

          2.ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ฐานเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีอยู่ในท้องถิ่นภายใต้การส่งเสริมการในสมาคมเกษตรกรรมทางเลือกที่ครอบคลุม 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา นครนายก สระแก้ว ปราจีนบุรี และชลบุรี ซึ่งเป็นระบบที่มีการจัดทั้งระบบตั้งแต่แปลงจนถึงการตลาด ทำให้ชุมชนมีศักยภาพรองรับทั้งตัวเกษตรกรและคนคืนถิ่น หรือลูกหลานที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานที่ลดแรงงาน หรือลดค่าจ้างลง และเกษตรกรไม่รู้สึกว่าเป็นผลกระทบ แต่กลับเป็นมุมบวกที่ระบบเกษตรยั่งยืนสามารถรองรับและทำให้ลูกหลาน รวมทั้งคนในครอบครัวอยู่รอดและผ่านวิกฤตโควิดไปได้

แนวทางสู่แปลงเกษตรยั่งยืนของคนคืนถิ่น

          การรับมือระดับชุมชน ชุมชนต้องมีกระบวนการพูดคุยปรึกษาหารือและมองวิกฤตที่เกิดให้เป็นมุมบวก มีแนวทางรับมือคนคืนถิ่น โดยวางแผนเชื่อมโยงคนคืนถิ่นเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มและใช้ชุดบทเรียนประสบการณ์การทำเกษตรยั่งยืนของกลุ่มมาหนุนเสริม เพื่อให้ชุมชนสามารถก้าวไปข้างหน้า เติบโตและมีความเข้มแข็งมากขึ้น

          ตัวอย่างในจังหวัดระยอง มีคนรุ่นใหม่กลับบ้าน และมาร่วมทำกิจกรรมท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้วให้เกิดบูรณการโดยใช้ความรู้เข้ามาสู่ระบบการจัดการ หรือมีมุมมองคนคืนถิ่นในการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับฐานสมาชิกเดิม หรือสนับสนุนกิจกรรมการท่องเที่ยวให้ขับเคลื่อนไปได้ เช่น ทำร้านกาแฟ ทำร้านอาหาร ในที่สุดคนคืนถิ่นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมการท่องเที่ยวของชุมชน

          สำหรับสมาคมเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา นอกจากเป็นองค์กรรวมตัวกันของเกษตรกรและมีต้นแบบการทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่เป็นตัวอย่างสำหรับคนที่อยากเริ่มทำเกษตร หรือคนคืนถิ่น ที่ต้องกลับมาจากวิกฤตโควิด ทางสมาคมถือเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ โดยมีแนวทางการรับมือที่เกิดขึ้น เช่น การสนับสนุนทั้งชุดความรู้ ระบบการผลิต การจัดการผลผลิต ที่สามารถทำให้คนคืนถิ่นจัดการได้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างของอำเภอสนามชัยเขต ปี 2563 ที่ผ่านมามีสมาชิกเพิ่มมากกว่า 100 ราย และมีคนคืนถิ่น หรือคนเรียนจบหางานไม่ได้มาร่วมมากกว่า 30 ราย ที่ยื่นขอสิทธิ์ในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินในการทำเกษตร ดังนั้น ทางเครือข่ายได้มีกระบวนการสนับสนุน หรือเชื่อมประสานกับคนเหล่านี้ในการเริ่มต้นทำเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้ประสบการณ์และต้นแบบที่มีอยู่ของเครือข่าย

          กล่าวได้ว่า ประเด็นสำคัญในการเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่หรือคนคืนถิ่น เพื่อการเข้าสู่ขบวนเกษตรยั่งยืนมีดังนี้

          1.คนในชุมชนต้องมองว่า คนคืนถิ่นหรือคนที่จะกลับมา เป็นขบวนที่เข้ามาหนุนเสริมกิจกรรมเกษตรกรรมยั่งยืนของชุมชน รวมทั้งเป็นพลังในการพัฒนาชุมชนในวิถีเกษตรยั่งยืน ที่ทำให้ครอบครัวและชุมชนมีความสุข

          2.ชุมชนต้องมีพื้นที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนเดิมและคนคืนถิ่นในการทำเกษตร ทั้งด้านทักษะเทคนิคการทำเกษตร การจัดการดิน น้ำ โรคและแมลง การจัดการผลผลิต การตลาด และคนคืนถิ่นต้องวิเคราะห์ความยั่งยืนทั้งการพึ่งตนเอง การแบ่งปันของชุมชนและสังคม และสามารถออกแบบวิถีชีวิตตามเป้าหมายชีวิตที่วางไว้  

          การรับมือระดับเครือข่าย โดยมีพื้นที่สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน มีชุดวิเคราะห์ตัวเอง ภายใต้การขับเคลื่อนงาน อย่างเช่น สมาคมเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทราได้ดำเนินการร่วมตามยุทธศาสตร์ภาคีภาคตะวันออก ซึ่งมี 5 ยุทธศาสตร์ที่ประกอบไปด้วย การจัดการฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืน การเรียนรู้บนฐานของชุมชน ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวและยุทธศาสตร์เมืองน่าอยู่ ซึ่งในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เหล่านี้ เครือข่ายภาคีภาคตะวันออกได้เปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่หรือคนคืนถิ่นเข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามยุทธศาสตร์

          นอกจากนี้มีกิจกรรม “โรงเรียนสายน้ำบางปะกงที่รัก” ในการพัฒนาคนรุ่นใหม่โดยมีกระบวนการอบรมที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้เกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกัน และมีมุมมองที่มากไปกว่าการมองตัวเอง แต่มีมิติทางด้านสังคม ชุมชน เป็นการสร้างพื้นที่จัดกระบวนให้คนคืนถิ่นหรือคนรุ่นใหม่

ข้อเสนอต่อรัฐต่อการรับมือคนคืนถิ่น

          ชุมชนได้วิเคราะห์ และออกแบบการที่จะดำเนินการและร่วมขบวนเครือข่าย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญรองรับคนคืนถิ่นจากสถานการณ์โควิด ทางกลับกันในแง่เศรษฐกิจรัฐมองว่าสถานการณ์โควิดเป็นวิกฤต แต่สำหรับชุมชนต้องมองให้เป็นโอกาส และเป็นข้อท้าทายที่สำคัญ ที่ชุมชนต้องแสดงให้รัฐเห็นว่า ความมั่นคงทางอาหารที่เชื่อมโยงกับอาหารปลอดภัย และระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ และรัฐต้องมีแนวนโยบายหนุนเสริมพัฒนาศักยภาพกลุ่มคนคืนถิ่นเหล่านี้ ให้สามารถตั้งต้นชีวิตในภาคการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น รวมทั้งการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ไม่ว่าที่ดิน แหล่งน้ำ ปัจจัยการผลิต และแหล่งเงินทุน ซึ่งรัฐต้องมีแนวดำเนินการอย่างจริงจัง

 

…………………………………………….

บทความแนะนำ