โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

      วิกฤตที่เกิดขึ้นในประเด็นเรื่องราคาข้าวตกต่ำแต่ราคาอาหารที่แพงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบทั้งชาวนาและผู้บริโภค และถ้าพิจารณาดัชนีราคาหมวดอาหารพบว่าเติบโตกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคราคาสินค้าทั่วไป ซึ่งหมายถึง ดัชนีราคาอาหารมีแนวโน้มราคาที่จะแพงขึ้น ดังนั้นการผลิตอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ขบคิดหาสาเหตุของราคาข้าวที่ตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเฉพาะในปีนี้ (2564) หากเปรียบเทียบราคาแล้วตกต่ำสุดในรอบ 14 ปีทั้งที่ปริมาณผลผลิตข้าวไม่ได้สูงขึ้นแต่อย่างไร และสาเหตุสำคัญ คือ การส่งออกข้าวลดลง

รู้จักตลาดข้าว

      ตลาดส่งออกข้าวมี 2 ประเภท คือข้าวตลาดหลัก และข้าวตลาดเฉพาะ

  • ข้าวตลาดหลัก ซึ่งเป็นตลาดที่ประเทศไทยเคยส่งข้าวออกไปได้ในปริมาณมากมานาน เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวนึ่ง และข้าวขาว ซึ่งปริมาณข้าวขาวที่ส่วนใหญ่ปลูกในภาคกลางยังเป็นข้าวที่สามารถส่งออกได้สูง ในขณะที่ปริมาณการส่งออกข้าวชนิดอื่นๆ ปริมาณลดลง ข้อมูลในปี 2560-2561 ประเทศไทยสามารถส่งออกได้ 11 ล้านตัน ในปี 2563 เหลือเพียง 5-6 ล้านตัน สำหรับในปี 2564 คาดว่าคงอยู่ในปริมาณ 5 ล้านตันกว่า นั่นหมายถึง ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกข้าวหายไปกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวที่ส่งออกตกต่ำไปด้วยจาก 180,000 ล้านบาทลดลงเป็น 120,000 ล้านบาท
  • ข้าวตลาดเฉพาะ ประเภทข้าวที่ส่งออกในข้าวตลาดเฉพาะ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวหอมไทยอินทรีย์ ข้าวขาวอินทรีย์ ข้าวนึ่ง และกลุ่มข้าวสีซึ่งอาจจะอินทรีย์หรือไม่อินทรีย์ ข้าวตลาดเฉพาะถึงแม้จะส่งออกข้าวไปได้ในปริมาณไม่มาก แต่เริ่มได้รับความสนใจ และมีการเก็บข้อมูลอย่างจริงจังครั้งแรกในปี 2560 ซึ่งพบว่า

      ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มในการส่งออกเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะมีปริมาณส่งออกเพียง 10,000 ตันก็ตาม ประเภทข้าวที่ส่งออกตลาดข้าวเฉพาะ ร้อยละ 50 เป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และมูลค่าการส่งออกในปี 2560 มีจำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท และได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,750 ล้านบาทในปี 2564

      เช่นเดียวกัน หากดูสัดส่วนการส่งออกของข้าวตลาดเฉพาะคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.8 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งเพิ่มจากปี 2560 ที่มีมูลค่าส่งออกเพียงร้อยละ 0.6 และมีส่วนแบ่งในเชิงมูลค่าประมาณร้อยละ 1.8 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด ดังนั้น ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ถ้ามีการวางแผน มีการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีกลไกตลาดท้องถิ่น ตลาดต่างประเทศ แนวโน้มมูลค่าส่งออกอาจถึงร้อยละ 10 นั่นหมายถึงจะได้ปริมาณข้าวส่งออกที่เป็นข้าวตลาดเฉพาะราว 100,000 ตัน

“ข้าวไร่” ศักยภาพที่พัฒนาในช่องทางข้าวตลาดเฉพาะ

      “ข้าวไร่” จึงเป็นช่องทางหนึ่งในการยกระดับให้เป็นข้าวส่งออกในข้าวตลาดเฉพาะ ซึ่งชาวนาเองจะได้ราคาข้าวค่อนข้างสูงกว่าราคาข้าวตลาดทั่วๆ ไป รวมถึงข้าวตลาดหลัก อย่างเช่น หอมมะลิส่งออกตลาดข้าวหลัก 25 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าเป็นข้าวหอมอินทรีย์ในข้าวตลาดหลักจะราคา 44 บาทต่อกิโลกรัม ราคาข้าวขาวอินทรีย์ในตลาดข้าวหลัก 51 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในข้าวตลาดทั่วไปราคา 55 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น

      ดังนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงลักษณะพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องทำควบคู่กับการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเพื่อให้เห็นความสำคัญของข้าวไร่ เช่น การจัดเวทีชิมข้าวและเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง นำมารวมกับการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ในประเด็นคุณค่าทางด้านโภชนาการ การปลูกในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

      ในขณะเดียวกัน รัฐต้องให้ความร่วมมือในการประกันราคาให้กับข้าวไร่ โดยเฉพาะการเปิดซื้อขายล่วงหน้าซึ่งใช้งบประมาณไม่มาก รัฐจะรับซื้อข้าวที่เปิดในข้าวตลาดเฉพาะในราคาที่กำหนด ถ้าขายได้ในราคาที่สูงกว่าสามารถขายได้เลย แต่ถ้าขายได้ราคาต่ำกว่ารัฐต้องเข้ามารับซื้อแล้วไปทำตลาด

จังหวัดชุมพร ศักยภาพการผลิตด้านเกษตร

      จากข้อมูลภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคใต้ในปัจจุบัน พบว่าอยู่ในช่วงถอยห่างออกจากค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวทั้งประเทศในทุกกลุ่มจังหวัด ถึงแม้หลังจากปี 2558-2559 มีกลุ่มจังหวัดฝั่งอ่าวไทยที่มีมวลรวมต่อหัวเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ได้สูงมากนัก ในขณะที่ฝั่งอันดามันได้หันไปส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิดก็ทำให้ได้รับผลกระทบไปซ้ำอีก

      สาเหตุสำคัญที่ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคใต้ตกต่ำลง คือ ราคายางพาราซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ตกต่ำมาหลายปี รวมไปถึงพืชสำคัญอื่นๆ ไม่ว่า กาแฟ ทุเรียนหมอนทอง มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน มังคุด ซึ่งมีแนวโน้มลดลงสัมพันธ์กับราคายางพารา ทางออก คือต้องกระจายผลผลิตสินค้าเกษตรอื่นๆ ให้มากขึ้น และเศรษฐกิจท้องถิ่นควรมาทำหน้าที่กระจายความเสี่ยงเหล่านี้

      หากกลับมาดูเฉพาะจังหวัดชุมพร ปรากฏว่าผลผลิตมวลรวมอยู่ในระดับสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ในขณะที่ชุมพรมีพื้นที่ทำเกษตรเพียงร้อยละ 10 ของพื้นที่ทำเกษตรของภาคใต้ แต่มูลค่ารายได้หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงถึงเป็นร้อยละ 20

      เพราะฉะนั้นการมีพืชอื่นๆ เสริมเข้ามาในพื้นที่ของจังหวัดชุมพร อย่างเช่น “ข้าวไร่” ก็จะเสริมความแข็งแกร่ง ในแง่รองรับกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ และเส้นทางการเติบโตของชุมพร จึงเป็นเส้นทางที่มีความมั่นคงที่ไม่ลดลงตามราคายางพาราที่ลดลงต่อเนื่องกว่า 10 ปี และข้าวไร่ ที่มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์จึงมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ ขึ้นมาให้อยู่ในช่องทางข้าวตลาดเฉพาะได้โดยต้องทำงานกับผู้บริโภคควบคู่กันไป

บทความแนะนำ