โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

          ข้าวไร่เป็นพืชเล็กๆ ตัวหนึ่งและไม่อยู่ในความสนใจของรัฐเท่าไรนัก เพราะผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจไม่สูง ที่สำคัญข้าวไร่มักถูกมองว่าเป็นพืชที่ทำลายสภาพแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงข้าวไร่เป็นพืชชีวิต ตัวอย่างการปลูกข้าวไร่ ที่ตำบลยาบหัวนา อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ซึ่งได้ปลูกข้าวไร่กันมายาวนาน แต่เมื่อมีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพด ชุมชนจึงเลิกปลูกข้าวไร่เพราะคิดว่าการปลูกข้าวโพดสามารถทำรายได้ให้กับครอบครัวได้ดีกว่าการทำข้าวไร่ 10 กว่าปีผ่านไป ถึงวันนี้ชุมชนต้องการกลับมาปลูกข้าวไร่อีกเพราะเป็นพืชอาหารที่สำคัญ แต่ปรากฏไม่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่หลงเหลือให้ปลูก ถึงแม้ได้ไปติดต่อที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวน่าน ก็ได้มาเพียง 5 ตันจากความต้องการของชุมชนถึง 50-60 ตัน นี่ถือเป็นวิกฤตเพราะไม่มีเมล็ดพันธุ์อยู่ในมือเกษตรกรเลย

การทำนากับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

          สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจและศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อจะได้จัดการหรือปรับตัวในปัจจุบันและอนาคตอีก 10-15 ปี คือ ต้องศึกษาลงลึกและชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นอย่างไร? เกิดตรงไหน? และมีผลกระทบอะไร? โดยศึกษาปริมาณน้ำฝนและการกระจายตัวของฝนในช่วงที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการปรับตัวในอนาคตได้

          จากอดีตในสภาวะปกติภาพรวมสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย จะมีฝนตกในปริมาณสูงและลดลง 2 ช่วง อย่างกรณีภาคอีสาน ช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคมฝนเริ่มตก แล้วจะลดลงมาเปลี่ยนมาเป็นแล้งหรือฝนทิ้งช่วงระยะหนึ่ง และฝนจะตกอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน-สิงหาคม ซึ่งชาวนาจะวางแผนเตรียมและเก็บเกี่ยวการทำนาได้สอดคล้องกับฤดูกาล

          แต่การศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน ช่วง 16 ปีที่ผ่านมา(2543-2558) เมื่อเก็บข้อมูลปริมาณน้ำฝนพบว่า ปริมาณน้ำฝนทั้งปีแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ บริเวณอีสานเหนือ จังหวัดนครพนมฝนตกในปริมาณมากกว่า 2,000 มิลลิลิตรต่อปี ในขณะที่อีสานตอนล่างอย่างจังหวัดนครราชสีมามีปริมาณน้ำฝนตกต่ำกว่า 1,000 มิลลิลิตรต่อปี จึงเห็นได้ว้า ปริมาณการตกของฝนแตกต่างกันถึงแม้จะอยู่ในภาคเดียวกัน และเมื่อศึกษาการกระจายตัวของฝนในช่วงฤดูการทำนา พบว่า ช่วงต้นฤดูการทำนา (กลางเดือนเมษายน-กลางเดือนมิถุนายน) หรือช่วงเริ่มปลูกข้าวจนข้าวเริ่มเติบโต การกระจายตัวของฝนกระจุกอยู่เพียงในบริเวณอีสานเหนือ ในขณะที่พื้นที่อีสานล่างการกระจายตัวของฝนต่ำ แต่พอปลายฤดูฝน หรือช่วงข้าวออกรวงจนกระทั่งเก็บเกี่ยว (ต้นเดือนตุลาคม-ปลายเดือนพฤศจิกายน) การกระจายฝนของอีสานเหนือลดน้อยลง แต่ฝนกลับมีการกระจายตัวปริมาณมากในอีสานตอนล่าง นี่เป็นความแปรปรวนของฝนที่เกิดขึ้น อย่างเช่น อีสานตอนล่างที่ฝนมีปริมาณและกระจายตัวต่ำในช่วงต้นการทำนา ส่งผลให้ชาวนาต้องขยับเวลาในการทำนาออกไปเพราะฉะนั้นการทำนาจึงไม่สามารถใช้รูปแบบหรือใช้พันธุ์ข้าวชนิดเดียวกันทั้งหมดได้ แต่ต้องศึกษาให้ลงลึกว่าแต่ละพื้นที่มีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปริมาณน้ำฝนเป็นอย่างไร? และส่งผลกระทบอะไร? การใช้พันธุ์ข้าวต่างๆ ของภาคอีสานจะใช้พันธุ์ข้าวชนิดเดียวกัน เช่น มะลิ 105 และ กข.6 เหมือนอย่างปัจจุบันที่กว่า 90 % ของการทำนามีข้าวสองสายพันธุ์นี้อีกไม่ได้

ผลกระทบในเบื้องต้น

          จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ตัวอย่างในพื้นที่อีสานตอนล่างที่มีความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝนที่ลดน้อยและกระจายตัวต่ำลง ส่งผลการเริ่มต้นปลูกข้าวที่ล่าช้าไป ปัญหาที่ตัวชาวนาเรียนรู้ได้เองว่า ฝนตกไม่เป็นไปตามฤดูกาลอีกต่อไป จึงได้ปรับตัวทำนาช้าจากเดิมเพื่อรอฝนตกและดินมีความชื้นที่เหมาะสม ซึ่งผลผลิตข้าวยังคงเจริญเติบตามคุณสมบัติที่เป็นพืชไวต่อช่วงแสง หากเป็นพันธุ์ข้าวดอกมะลิ 105 ที่จะออกดอกและผสมเกสรในช่วงกลางเดือนตุลาคม การเริ่มต้นทำนาที่ช้าไปส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ที่สำคัญช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวต้องเผชิญกับปริมาณน้ำฝนที่มีมาก ทำให้ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายทั้งข้าวล้ม ข้าวถูกน้ำท่วม หรือเมล็ดข้าวมีความชื้นสูง เป็นต้น เหล่านี้เป็นวิกฤตของชาวนาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

การวิเคราะห์ที่จะนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหา

          ดังนั้นในอนาคตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเกิดขึ้น จะตั้งรับปรับตัวกันอย่างไร? พันธุ์ข้าวที่ปลูกควรใช้พันธุ์อะไร?

          การศึกษาและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ชาวนาต้องเรียนรู้และศึกษาความเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝนและการกระจายตัวของฝนในพื้นที่ของตนเองตั้งแต่อดีตประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนการทำนาซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับตัว

          การเข้าใจคุณสมบัติสายพันธุ์ข้าวที่จะปลูก ชาวนามีความจำเป็นที่ต้องรู้จักและเข้าใจคุณสมบัติสายพันธุ์ เช่น พื้นที่อาศัยน้ำฝนพันธุ์ข้าวที่ใช้เป็นพันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสง คือ ต้องการแสงสั้นหรือช่วงกลางวันสั้นกว่ากลางคืนในช่วงข้าวออกดอก อย่างข้าวดอกมะลิ 105 จะออกดอกในช่วงวันที่ 20-26 ตุลาคม ซึ่งข้าวแต่ละชนิดออกดอกแตกต่างกัน แต่ในแต่ละภาคช่วงแสงก็จะต่างกัน อย่างภาคเหนือกับอีสานจะมีช่วงแสงเฉลี่ย 13 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่ภาคใต้มีช่วงแสง 12 ชั่วโมงต่อวัน จึงเห็นได้ว่าถ้าเอาพันธุ์ข้าวจากภาคใต้ไปปลูกภาคอีสาน ข้าวสายพันธุ์นั้นจะออกดอกไวกว่าภาคใต้ เนื่องจากช่วงแสงจะเป็นตัวบังคับการออกดอกของข้าว ส่งผลต่อผลผลิตที่แตกต่างกัน ดังนั้น ชาวนาต้องเลือกสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตน ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่

          ความสำคัญวันปลูก นอกจากการศึกษาเก็บข้อมูลปริมาณและการกระจายตัวของฝน รวมทั้งเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่ออกดอกก่อนที่ฝนจะหมด วันเริ่มต้นการปลูกข้าวนั้นต้องสังเกตความชื้นในดินที่ต้องเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของข้าว

          อย่างไรก็ตาม ชาวนาควรให้ความสำคัญต่อระบบการผลิตที่หลากหลาย ปลูกข้าวหลายสายพันธุ์โดยมีขอบเขตการปลูกแต่ละสายพันธุ์ให้ชัดเจนเพื่อรักษาคุณภาพและป้องกันการกลายพันธุ์ของข้าว และป้องกันความเสียหาย เป็นหลักประกันว่ามีข้าวกิน นอกจากนั้นต้องสังเกตปัจจัยเกี่ยวข้องด้านอื่นๆ เช่น ลักษณะของพื้นที่เป็นที่ราบ ลุ่ม หรือพื้นที่สูง เป็นต้น นั่นคือ การปรับตัวของชาวนาขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ทำความเข้าใจสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เรียนรู้ภูมิปัญญาแล้วค่อยมาวางแผนในการทำนา

บทความแนะนำ