ตอนที่ 3 สร้างภูมิคุ้มกันชุมชนด้วยความมั่นคงทางอาหารของพื้นที่ท่ามกลางวิกฤตของประเทศแง่คิดมุมมองจากวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
หากตั้งคำถามถึง “ความมั่นคงทางอาหาร” ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ผ่านมุมมองของพี่น้องชุมชนบ้านหนองเต่า ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่แล้ว “ความมั่นคงทางอาหาร” สำหรับพวกเขาคือ การเข้าถึงอาหารที่หลากหลายไม่ว่าจากไร่นา สวน รวมถึงอาหารจากป่า สามารถหล่อเลี้ยงคนในชุมชนได้อย่างหมุนเวียนต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่า ความมั่นคงอาหารจึงเป็นความมั่นคงทางอาหารระดับของชุมชน ที่สัมพันธ์และผูกพันกับทรัพยากรดิน น้ำ ป่า หากพวกเขาประสบปัญหาภัยแล้ง หรือไฟไหม้ป่า ถือเป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบกับอาหารของชุมชนโดยตรง
หากทว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 นี้ สำหรับคนปกาเกอญอบ้านหนองเต่า ไม่ได้ส่งผลกระทบกับความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากชุมชนยังสามารถผลิตและมีอาหารสำหรับการบริโภคได้เป็นปกติ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิตในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่ไม่ได้รับผลกระทบในช่วงนี้มากเนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของการผลิต และยึดหลักการปลูกตามฤดูกาลทำให้ผลผลิตทยอยออกในช่วงฤดูกาลที่ผ่านมาจึงไม่มีปัญหาการกระจายผลผลิต
อย่างไรก็ตามในภาพรวมของชุมชนได้มีการสะท้อนถึงมิติด้านรายได้ว่าในระยะยาวอาจมีปัญหาหากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสยังคงอยู่ เนื่องจากชุมชนมีมาตรการเข้มงวดในมาตรการคัดกรองคนเข้า-ออกชุมชน ซึ่งบางครั้งกระทบกับการขนส่งผลผลิตเพื่อนำไปจำหน่ายที่ตลาดในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่อการมีรายได้ที่ลดลงของครัวเรือน
จากการคาดคะเนผลกระทบด้านรายได้ดังกล่าว รวมถึงการกลับบ้านของคนหนุ่มสาวที่ไปทำงานในเมืองด้วยผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 หลายเหตุผล เช่น นายจ้างเลิกจ้าง รายได้ลดลงไม่พอกับค่าครองชีพในเมือง และความกังวลในการเสี่ยงติดเชื้อไวรัส การตัดสินใจกลับบ้านจึงเป็นตัวเลือกอันดับแรกของพวกเขา แกนนำชุมชนมีการรวมตัวพูดคุยหารือกันถึงแนวทางในการจัดการร่วมกัน ทั้งเรื่องการวางแผนการจัดการแปลงการผลิต การเชื่อมโยงกันในเรื่องการแปรรูปมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาแนวทางการจัดการร่วมกันยังไม่ชัดเจน ประกอบกับจุดแข็งของชุมชนที่ยังคงมีคนหนุ่มสาวเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ ดังเช่นการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ในการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แม่วิน ซึ่งอาจต่างจากคนหนุ่มสาววัยทำงานทั่วไปที่มักจะกลับมาอยู่บ้านต่อเมื่อมีครอบครัว หรือกลับมาดูแลพ่อแม่
วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แม่วิน เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในชุมชนบ้านหนองเต่าทั้งด้านการผลิต การแปรรูป มาตรฐาน และการตลาด ได้มีการพูดคุยในการจัดการเพื่อปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ของชุมชนบนสภาวะวิกฤตของประเทศ ด้วยการพัฒนาและสนับสนุนต่อยอดและขยายแปลงต้นแบบ การสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์แปรรูปมากขึ้น เพื่อนำมายกระดับต้นทุนเดิมที่กลุ่มมีอยู่เดิม โดยเฉพาะพืชผักและผลไม้เมืองหนาวร่วมกับชุมชน โดยหลักคิดของชุมชนคือ การสร้างการเรียนรู้ผ่านแปลงต้นแบบการเกษตรในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่สอดคล้องสัมพันธ์กับนิเวศในพื้นที่ควบคู่กับความสามารถในการจัดการแปลงการผลิตแต่ละคน
ดังเช่น แปลงของนายธนาทร โนลอย สมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ ที่จัดสรรพื้นที่ 16 ไร่ ให้มีความหลากหลายเน้นการปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น เน้นความหลากหลายทั้งนาข้าว พืชผัก สลับกับการทำแปลงขั้นบันไดเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน รวมถึงการเลี้ยงวัว โดยมีการจัดการน้ำแบบระบบน้ำหยดที่ดึงน้ำมาจากสระน้ำเพื่อให้เกิดการประหยัดน้ำมากที่สุด เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำทำการเกษตรเป็นอย่างมาก
แปลงของธนาทรถือเป็นอีกต้นแบบหนึ่งในอีกหลายแปลงที่ชุมชนตำบลแม่วินวางแผนให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับสมาชิกในกลุ่ม และยกระดับให้เป็นการแลกเปลี่ยนในระดับชุมชนมากขึ้น รวมถึงเป็นหนึ่งในพื้นที่เรียนรู้สำหรับคนที่กลับบ้านได้สร้างอาหารและอาชีพจากระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งถือเป็นการปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกันในด้านอาหาร สุขภาพ รายได้ ต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ส่งกระทบต่อคนในชุมชน
# เกษตรกรรมยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร ทางรอดจากวิกฤต
# เกษตรกรรมยั่งยืนสู้วิกฤตโควิด 19
# ไทยรู้สู้โควิด