โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

       ในสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิดที่เกิดทั่วโลก มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคิดเรื่องระบบอาหารและการเกษตรใหม่ และเกษตรนิเวศมีความเป็นไปได้ในการทำการเกษตร เนื่องจากเกษตรนิเวศเป็นฐานวิทยาศาสตร์ที่ยั่งยืน เป็นวิธีการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีและพืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ. และเป็นวิถีการทำเกษตรที่ยั่งยืนมีความเป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

หลักการของเกษตรนิเวศ

       เกษตรนิเวศเป็นการทำเกษตรที่แตกต่างจากระบบเกษตรอุตสาหกรรมที่สามารถทำกิจกรรมในรูปแบบเดียวเหมือนกันทั้งหมด จนทำให้เกิดความเสียหายไปทั่วโลกในปัจจุบัน ทั้งนี้เกษตรนิเวศมีหลักการสำคัญคือ

  • ให้ความสำคัญกับนิเวศ เกษตรนิเวศเป็นการทำเกษตรที่คำนึงถึงความสอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละนิเวศท้องถิ่นซึ่งมีความแตกต่างกัน
  • มีการนำชีวมวลทั้งสารอาหาร ดิน น้ำ กลับมาใช้ใหม่ในแปลงการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของดินที่ต้องการดินที่มีชีวิตในการทำเกษตร
  • ต้องลดปริมาณการใช้ทรัพยากรจากภายนอกให้น้อยที่สุด แต่เพิ่มความหลากหลายของต้นไม้ พืชผัก และสัตว์ให้มากสุด การปลูกพืชที่หลากหลายสามารถป้องกันแมลงศัตรูพืชที่จะเข้ามาทำลายพืชผลได้ จึงไม่จำเป็นต้องซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเหมือนอย่างระบบเกษตรอุตสาหกรรม
  • หลักการสุดท้ายที่มีการตระหนักและให้ความสำคัญไม่นานมานี้ คือ หลักการทางสังคมซึ่งหมายถึง ต้องมีการจัดตั้งขบวนการเกษตรกร หรือองค์กรทางสังคม เช่น ขบวนการเกษตรกรรมทางเลือก ขบวนการชาวไร่ชาวนาระดับโลก เป็นต้น

เกษตรนิเวศกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

       FAO ได้ให้ความสำคัญโดยนำเสนอองค์ประกอบ 10 ประการเพื่อเป็นแนวทางการทำระบบเกษตรนิเวศ ประกอบด้วย มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Diversity) มีการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ (Co-creation and sharing of knowledge) มีการบูรณการเพื่อทำงานร่วม (Synergies) การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ (Efficiency) มีการนำชีวมวลกลับมาใช้ใหม่ (Recycling) มีความยืดหยุ่นต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Resilience) เป็นการส่งเสริมคุณค่าของมนุษย์และคุณค่าทางสังคม (Human and Social Values) มีประเพณีหรือวัฒนธรรมด้านอาหาร (Culture and food traditions) มีธรรมภิบาลอย่างรับผิดชอบ (Responsible governance) เป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสมานฉันท์ (Circular and solidarity economy) เหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่ FAO ได้ระบุไว้ ซึ่งสนับสนุนจุดยืนของขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาโลก หรือ La Via Campesina

ความสำคัญของเกษตรนิเวศ

       ในขณะที่มนุษยชาติกำลังเผชิญกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการเกษตร และความท้าทายด้านสุขภาพโดยเฉพาะสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านที่จะตามมา อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปีนี้จากการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศของยูเอ็น COP 26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก๊อตแลนด์ ได้มีการระบุถึงความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กำลังเผชิญอยู่ รวมถึงความท้าทายเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรในการผลิตทางเกษตร

       ขณะเดียวกันรัฐบาลเองมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ภายใต้นโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ที่สอดคล้องกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ที่กล่าวถึงประโยชน์ของการเกษตรนิเวศในแง่ของการเพิ่มพูนสุขภาพและอาหาร การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และลดการใช้ทรัพยากร ดังนั้น เกษตรนิเวศจึงมีความสำคัญในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนและประเด็นท้าทายด้านต่างๆ

สถานการณ์โควิดกับระบบอาหาร

       ระบบเกษตรอุตสาหกรรมนั้นมีความสัมพันธ์กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด รวมถึงความเจ็บป่วยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าการขาดสารอาหาร เป็นโรคอ้วน เป็นเบาหวาน รวมทั้งโรคหัวใจและมะเร็ง ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มคนที่เสียชีวิตจากโควิดส่วนหนึ่งเกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต่อสุขภาพ หรือกินอาหารที่มาจากระบบเกษตรอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมอาหารเป็นหลัก และมีรายงานที่แสดงให้เห็นว่า คนกินอาหารมากเกินไปและกินอาหารที่ไม่ถูกต่อสุขลักษณะและสุขภาพ อันหมายถึง อาหารกำลังฆ่าเรา เช่นกันคนที่เสียชีวิตจากโควิดมีสาเหตุจากการขาดภูมิต้านทาน เนื่องจากการกินอาหารที่มาจากอุตสาหกรรมนั่นเอง และเกษตรนิเวศนี้เองเป็นวิถีการสร้างอาหารที่มีคุณภาพที่ดีต่อสุขภาพ

       ระบบเกษตรนิเวศส่งผลต่อสุขภาพในสถานการณ์โควิดอย่างไร ? หากเปรียบเทียบกับระบบอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่มีการเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนระบบปิดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคสัตว์ได้ง่าย ตัวอย่างการเกิดไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู หรือแบคทีเรียนอีโคไล ซึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดจากการถ่ายทอดจากสัตว์สู่สัตว์ จากการเลี้ยงสัตว์อย่างใกล้ชิดในโรงเรือนปิดที่ทำให้เชื้อโรคกลายพันธุ์และมีพัฒนาการขึ้นมา แล้วแพร่กระจายออกภายนอกไปได้ง่ายมาก

       เช่นเดียวกับการแพร่ระบาดของโควิดที่มีเอกสารทางวิทยาศาสตร์เผยแพร่ออกมาว่าเกิดจากสมมุติฐาน 3 ประการ คือ

       สมมุติฐานที่ 1 เกิดจากการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยเชื้อไวรัสโควิดได้แพร่กระจายจากสัตว์ป่ามาสู่คนอาจเป็นตัวนิ่มหรือค้างคาว เนื่องจากสัตว์ป่าเหล่านี้ไม่มีที่อยู่อาศัยด้วยป่าถูกทำลาย เพื่อขยายพื้นที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยวผลิตอาหารสัตว์ สัตว์ป่าจึงมาอาศัยใกล้ชุมชน หรือพื้นที่เกษตรทำให้เชื้อไวรัสในสัตว์ใกล้ชิดกับมนุษย์และเกิดการแพร่กระจายสู่มนุษย์

       สมมุติฐานที่ 2 เกิดจากระบบอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เนื่องจากเป็นกระบวนการเลี้ยงในระบบปิดที่สัตว์อยู่กันอย่างแออัด และในปัจจุบันมีการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงในระบบอุตสาหกรรมมากขึ้นจึงเป็นเงื่อนไขให้ไวรัสมีการระบาดจากสัตว์ป่าที่เลี้ยงสู่มนุษย์ได้

       สมมุติฐานที่ 3 เกิดจากการแพร่กระจายจากห้องปฏิบัติการทดสอบวัคซีน ซึ่งสมมุติฐานเป็นที่ถกเถียงกัน ในกรณีของเชื้อไวรัสมีการวิจัยเพื่อพัฒนาเชื้อให้ทำหน้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อสู้หรือกำจัดการแพร่กระจายที่จะทำลายสัตว์เลี้ยง ซึ่งมีบริษัทอุตสาหกรรมปศุสัตว์สนับสนุนเงินทุนในการทำวิจัย ด้วยรู้ว่าสาเหตุการเกิดไข้หวัดนกต้นตอมาจากการเลี้ยงอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในระบบปิด และเป็นหนทางที่ทำให้บริษัทเหล่านั้นยังสามารถเลี้ยงสัตว์ในระบบอุตสาหกรรมได้ต่อไป

       นอกจากนั้นแล้วยังเป็นความพยายามของกระทรวงกลาโหม ประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะพัฒนาอาวุธชีววิทยาที่มีอานุภาพในการทำลายล้างสูง ตัวอย่างเช่นในช่วงการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งมีคำสั่งห้ามทำวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเชื้อโรค จึงทำให้บริษัทอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของสหรัฐอเมริกาได้ไปร่วมมือกับห้องปฏิบัติการในเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีนแทน

       จากสมมุติฐานทั้ง 3 ข้อที่กล่าวถึงนี้ เห็นได้ว่ามีส่วนสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมปศุสัตว์และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นอย่างยิ่ง นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมการแพร่ระบาดของโควิดจึงเกี่ยวข้องกับระบบอาหาร กล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นส่วนทำให้เกิดเชื้อโรคใหม่ๆ ขึ้นมา นอกจากเป็นต้นตอการตัดไม้ทำลายป่าแล้วยังเป็นต้นเหตุของการเกิดอนุภาค pm 2.5 ด้วย

       ดังนั้น ต้องปรับระบบการเลี้ยงสัตว์ให้เป็นขนาดเล็ก หรือเป็นส่วนหนึ่งในระบบเกษตรนิเวศ แต่อาจมีคำถามว่าการทำฟาร์มขนาดเล็กสามารถผลิตเนื้อสัตว์เลี้ยงคนทั้งโลกได้หรือไม่ ? คำตอบก็คือ ไม่จำเป็นที่ต้องเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มขนาดใหญ่ แต่ให้เลี้ยงภายในฟาร์มขนาดเล็กแต่ละคน แล้วค่อยรวมกลุ่มหรือขยายร่วมกับเกษตรกรรายย่อยอื่นๆ ที่สำคัญการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มขนาดเล็กต้องมีการจัดการมูลสัตว์ที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยหมักเพื่อเป็นธาตุอาหารสำหรับการปลูกพืชที่เป็นอาหารสัตว์ หรือพืชอื่นๆ ในแปลงเกษตรโดยที่ไม่ต้องไปตัดไม้ทำลายป่า และนี่คือ ระบบการทำปศุสัตว์ควรอยู่ในมือของเกษตรกรรายย่อยแทนที่จะเป็นการเลี้ยงปศุสัตว์ในระบบอุตสาหกรรม

เกษตรนิเวศกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

       ความหลากหลายทางชีวภาพในแปลงเกษตรนิเวศนั้นสามารถรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุผลดังนี้

  • ระบบเกษตรนิเวศสามารถลดปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตร แต่สามารถกักเก็บคาร์บอนที่เกิดจากขบวนการสังเคราะห์แสงของพืชให้อยู่ในดินได้เป็นการบรรเทาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ รวมไปถึงการใช้เครื่องจักรกลหรือเครื่องมือขนาดเล็กในการผลิตด้วย และระบบการผลิตที่อยู่ในระบบท้องถิ่นมีการซื้อขายในระดับชุมชนหรือประเทศก็เป็นการลดการปล่อยก๊าซในระบบการส่งออกหรือนำเข้าอาหารจากการขนส่งระยะไกล
  • ระบบเกษตรนิเวศเป็นการทำเกษตรที่คำนึงและตระหนักถึงการใช้เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นที่มีความหลากหลายชนิดพันธุ์ ซึ่งจะช่วยให้พืชผลเจริญเติบโตและปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และถ้าอุณหภูมิในอากาศสูงขึ้นหรือร้อนไปสำหรับพืชผลบางอย่าง เกษตรกรสามารถปลูกต้นไม้เพื่อให้ร่มเงาและลดอุณหภูมิในพื้นที่แปลงเกษตรได้ และยังสามารถรักษาและกักเก็บความชื้นในดินไว้ได้มาก

       ดังนั้น เกษตรนิเวศจึงเป็นการทำเกษตรที่สามารถทำให้เกษตรกรสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีความแตกต่างกับระบบการเกษตรอุตสาหกรรมที่ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่า มีการใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ การใช้สารเคมีในการเกษตร และการขนส่งสินค้าไปขายทั่วโลก ซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของการเกิดก๊าซเรือนกระจกหรือสภาวะโลกร้อน

เกษตรนิเวศกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

       จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ซึ่งในทศวรรษนี้ทุกประเทศได้มีการดำเนินงานร่วมกัน แต่ก็ไม่มีความก้าวหน้าเท่าไรนัก อาจเนื่องจากวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นทำให้ต้องหยุดหรือชะลอการปฏิบัติการไป แต่สำหรับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้วิเคราะห์ให้เห็นได้ว่า เกษตรนิเวศเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำมาใช้เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่อุปสรรคสำคัญที่ต้องก้าวข้ามให้ได้ คือทำอย่างไรที่จะขยายเกษตรนิเวศให้มีการปฏิบัติการมากขึ้น ซึ่ง FAO ได้ตั้งเป็นคำถามเอาไว้

       ในที่สุดแล้วการยกระดับและขยายรูปธรรมการทำเกษตรนิเวศ บทบาทสำคัญอยู่ที่เกษตรกรทั้งในระดับครัวเรือนและขบวนการกลุ่ม และมีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าความสำเร็จทั่วโลกทั้งเอเชีย ลาตินอเมริกา และยุโรปที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการขับเคลื่อนโดยเกษตรกร ทั้งนี้มีเงื่อนไขและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. มีการจัดตั้งทางสังคมหรือขบวนการเกษตรกร เพื่อเป็นฐานในการขยายผลโดยไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งเป็นทางการแต่มีระเบียบวิธีในการขยายผลระดับแนวราบ เพื่อเพิ่มพูนวิธีการปฏิบัติของเกษตรนิเวศให้ขยายวง ซึ่งพบว่ากรณีความสำเร็จเกิดจากองค์กรเกษตรกร องค์กรชุมชน มีปฏิบัติการมากกว่าคนภายนอกไม่ว่าองค์กรรัฐ นักวิชาการที่เข้าไป
  2. ต้องมีวาทกรรม พบว่าเกษตรนิเวศที่ประสบสำเร็จในการขยายผล จำเป็นต้องมีการสร้างวาทกรรมที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดสู่เกษตรนิเวศได้
  3. บทบาทองค์กร/หน่วยงานภายนอก หน่วยงานภายนอกต่างๆ ไม่ว่า องค์กรของรัฐ NGOs นักวิชาการ สามารถเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมองค์กรเกษตรกร สร้างและพัฒนาแกนนำในท้องถิ่น
  4. การมีตลาดของเกษตร เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายและแลกเปลี่ยนผลผลิตในแปลง เช่น ตลาดสีเขียว ตลาดนัด ตลาดเกษตรกร ฯลฯ
  5. มีนโยบายสาธารณะที่เอื้อ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงยังไม่มีประเทศใดในโลกที่มีนโยบายที่เอื้อและสนับสนุนการทำเกษตรนิเวศ แต่หากต้องการให้เกษตรนิเวศมุ่งเป้าขยายผลและมีความสำเร็จนโยบายรัฐต้องสนับสนุน

       ที่สำคัญ ในปัจจุบันสามารถใช้วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิดมาสร้างโอกาสทั้งให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายสนับสนุนเกษตรนิเวศ และสร้างวาทกรรมเพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรนิเวศให้มากขึ้น เนื่องจากเกษตรนิเวศสามารถสร้างระบบอาหารที่ดีมีคุณภาพ เป็นทางออกในการปรับตัวและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตทางสังคมต่างๆ รวมทั้งเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

บทความแนะนำ