โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

      หากย้อนไปในอดีตการคัดเลือกพันธุ์ทั้งพืชและสัตว์อยู่ในมือของเกษตรกรที่ทำหน้าที่คัดเลือกพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพ มีคุณสมบัติเหมาะสมจากแปลงเกษตร เพื่อเก็บไว้สำหรับฤดูการผลิตครั้งต่อไป แต่หลังจากเกิดกระบวนการพัฒนาประเทศสู่ความสมัยใหม่ในช่วง 50 ปี การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ได้เปลี่ยนบทบาทเป็นหน้าที่ของนักวิชาการ หรือหน่วยงานรัฐที่เกิดจากความร่วมมือของสถาบันต่างๆ ระหว่างประเทศ บทบาทเกษตรกรในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์จึงลดลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันที่มีการเปิดการค้าเสรี การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นและส่งเสริมบทบาทบริษัทเมล็ดพันธุ์ขนาดใหญ่ในการเข้ามาแทนที่บทบาทการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ของหน่วยงานรัฐ ยิ่งทำให้บทบาทของเกษตรในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์สูญหายไป

      จึงเห็นได้ว่าหน่วยงานรัฐอย่างศูนย์วิจัยข้าว งบประมาณในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวถูกลดเหลือเพียง 100 ล้านบาทซึ่งรวมไปถึงค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและอื่นๆ ในขณะที่มูลค่าข้าวทางเศรษฐกิจสูงประมาณ 500,000-600,000 ล้านบาท และในช่วงสิบปีที่ผ่าน รัฐใช้เงินจำนวน 100,000 ล้านบาทเพื่ออุดหนุนราคาสินค้าภาคเกษตรกรรม หรือในปี 2563 รัฐให้งบประมาณสำหรับช่วยเหลือชาวนา โรงสีและผู้ประกอบการ จำนวน 170,000 ล้านบาท ซึ่งกล่าวได้ว่า รัฐลดความสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวลดลง ในขณะทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่ออุดหนุนหรือช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านนโยบายอุดหนุนสินค้าเกษตร การประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือเงินเยียวยาเกษตรจากภัยพิบัติต่างๆ ถึงแม้จะเป็นส่วนดี แต่การช่วยเหลือดังกล่าวไม่ได้สร้างให้การดำรงชีวิตเกษตรกรยั่งยืนได้ ที่สำคัญกลับเปิดช่องทางและส่งเสริมให้บริษัทข้ามชาติด้านเมล็ดพันธุ์ เข้ามามีบทบาทในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กฎระเบียบและข้อตกลงระหว่างประเทศในการควบคุมและครอบครองเมล็ดพันธุ์ 

ที่มาของพันธุ์ข้าวจากชาวนานักปรับปรุงพันธุ์

      ในขณะที่บทบาทนักปรับปรุงพันธุ์จากหน่วยงานรัฐลดลง กลับเห็นบทบาทของกลุ่มชาวนาที่ตระหนักให้ความสำคัญ เข้ามาคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วยกลุ่มชาวนาเอง จนประสบความสำเร็จได้พันธุ์ข้าวที่ตรงตามความต้องการของชาวนา ชุมชนรวมถึงผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น

      เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรฮักน่าน จังหวัดน่าน เกิดจากการเก็บรวบรวมทั้งพันธุ์ข้าวและผัก โดยวางเป้าหมายเพื่อ การอนุรักษ์พันธุ์ การพัฒนาพันธุ์และการนำไปใช้ประโยชน์ จนถึงปี 2543 ได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวหวัน 1 ข้าวเหนียวหวัน 2 ขึ้นมาตามโจทย์ของหวัน เรืองตื้อ ที่เป็นหลักในการปรับปรุงพันธุ์ ที่ต้องการข้าวต้นเตี้ยไม่ล้ม กินอร่อย แต่เมื่อนำไปขยายปลูกได้ระยะหนึ่งจากลักษณะเมล็ดข้าวเหนียวหวัน 1 และ 2 มีขนาดใหญ่ส่งผลต่อการสีที่ยากขึ้น ทำให้โรงสีกดราคา จากนั้นในช่วงปี 2548 ได้นำปัญหาปรึกษาร่วมทั้งนักวิชาการ และกลุ่มชาวนา เพื่อให้การปรับปรุงพันธุ์ข้าวตอบโจทย์ชาวนาอย่างแท้จริง จึงได้พัฒนาพันธุ์ข้าวธัญสิรินขึ้นมา ซึ่งเป็นพันธุ์ กข.6 แต่ต้านทานโรคไหม้ ลำต้นแข็งต่อการหักล้ม แต่คุณภาพหุงต้มยังคงลักษณะ กข.6 แต่เมื่อนำไปปลูกระยะหนึ่งพบปัญหาต้นข้าวล้มหากมีพายุ หรือลมแรง อีกทั้งมีปัญหากับรถเกี่ยวเนื่องจากต้นข้าวที่สูงเกินไป จึงได้ร่วมกันพัฒนาพันธุ์ให้เป็นต้นเตี้ย แต่ยังพบปัญหาโรคขอบใบไหม้ จนปี 2559 ได้พัฒนาต่อยอดให้เป็นข้าวที่มีลักษณะต้นเตี้ย ต้านทานขอบใบแห้ง ต้านทานใบไหม้ ได้ผลผลิตดี รสชาติอร่อย นั่นคือข้าวพันธุ์น่าน 59 ขึ้นมาซึ่งเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรร่วมกันปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาตามความต้องการของตนเอง ซึ่งปัจจุบันข้าวพันธุ์น่าน 59 ได้กระจายไปทั้งภาคเหนือ และอีสาน ซึ่งคิดว่าเป็นสายพันธุ์ข้าวเหนียวที่เหมาะสมในปัจจุบัน

      เครือข่ายโรงเรียนชาวนาจังหวัดนครสวรรค์ ถึงแม้จะอยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและมีโรงสีใหญ่ แต่เป็นจังหวัดที่ไม่มีศูนย์วิจัยข้าว ช่วงปี 2558 ได้เข้าอบรมกันที่มูลนิธิข้าวขวัญ กลับมาวางเป้าหมายพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองจังหวัดนครสวรรค์ แต่ค้นหาพันธุ์ข้าวไม่เจอ มีแต่เอกสารที่บ่งบอกว่าจังหวัดนครสวรรค์มีข้าวพื้นบ้านอยู่ 48 สายพันธุ์ ซึ่งเมล็ดพันธุ์ถูกเก็บไว้ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว จากนั้นเริ่มคัดเลือกพันธุ์ข้าวจากสายพันธุ์ที่มีอยู่ อย่างเช่น มะลิ 105 แต่เมื่อนำมาคัดเลือกเพื่อให้ได้ลักษณะพันธุ์ที่ดีกลับพบว่าไม่มีความเหมาะสมเลย เช่น มีลักษณะเป็นข้าวปน เมล็ดมีสีขุ่น เวลาสีแล้วข้าวหัก ซึ่งหมายถึงชาวนานครสวรรค์ไม่ได้มีการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีมานานมาก จากนั้นได้มีการรวบรวมสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกันเองจากเครือข่ายและพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้มากว่า 400 สายพันธุ์เพื่อให้เป็นต้นทางสำหรับการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ และเริ่มปรับปรุงพันธุ์จนได้หอมเลืองลือ หอมเกยชัย ช่อราตรี และปีนี้ได้ชมมะนาดซึ่งคัดเลือกมาตั้งแต่ปี 2550 และเป็นสายพันธุ์ที่มีอายุสั้น มีความหอม รสชาตินุ่มเหนียวหนึบ และเป็นข้าวต้นสูง ในการปรับปรุงพันธุ์เน้นความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ อย่างข้าวช่อราตรีเป็นข้าวต้องการน้ำน้อย ทนแล้ง ผลผลิตดี เป็นข้าวอ่อน อายุสั้นสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ก่อนน้ำท่วมขัง ในพื้นที่อำเภอชุมแสง

      ในขณะที่มูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนได้เริ่มต้นรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นบ้านจากท้องนาทั่วทุกภาคมาตั้งแต่ปี 2532 เพื่อนำมาปลูกทดสอบและได้เรียนรู้คุณลักษณะความแตกต่างของพันธุ์ข้าวในแต่ละสายพันธุ์ และถ้าหากสามารถนำข้อดีของแต่ละสายพันธุ์ออกมาแล้วมารวมไว้ในสายพันธุ์เดียวก็สามารถยกระดับหรือเพิ่มมูลค่าสายพันธุ์ใหม่นั้นได้ จากนั้นได้ไปเรียนรู้การปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ง่ายๆ แล้วนำมาขยายผลให้กับชาวนาที่มีความสนใจ ทำให้เกิดชาวนาที่เป็นนักปรับปรุงพันธุ์ขยายไปในพื้นที่ต่างๆ มูลนิธิข้าวขวัญจึงเป็นแหล่งเรียนรู้และอบรมให้กับชาวนา เพื่อที่จะกลับไปเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ตามความต้องการและเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ จึงเชื่อมั่นว่าชาวนาสามารถเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ดีได้

เห็นได้ว่า ชาวนาได้เข้ามามีบทบาทในการปรับปรุงและออกแบบพันธุ์ข้าวตามความต้องการของชาวนาเอง และการดำเนินงานดังกล่าวได้กระจายไปในทุกภาค ไม่ว่ากลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าว ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร กลุ่มชาวนาไทอีสาน ฯลฯ จึงเกิดสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น

คุณค่าข้าวในความหมายนักปรับปรุงพันธุ์

      การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยมือของชาวนากว่าจะได้มาแต่ละสายพันธุ์ที่ตรงตามความต้องการไม่ได้ง่ายนักต้องใช้ระยะเวลา ความตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างแท้จริง และสิ่งที่เกิดตามมา คือชาวนาเรียนรู้ให้ความสำคัญของความหลากหลายของพันธุกรรมข้าว ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ และมีการให้คุณค่าข้าวในความหมายอย่างลึกซึ้ง ด้วยความเชื่อมั่นว่า ชาวนาสามารถเป็นนักปรับปรุงพันธุ์ได้  ดังเช่น  “ข้าวออกแบบได้” อันหมายถึงข้าวเป็นพืชที่สามารถออกแบบให้มีคุณสมบัติตามที่ต้องการและใช้ประโยชน์ได้ แต่ที่สำคัญ คือ ต้องมีฐานความหลากหลายของพันธุกรรม และการออกแบบหรือปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ดี ต้องสามารถรองรับกับวิกฤตหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงข้อจำกัดของพื้นที่ทำนาและจำนวนชาวนาลดลง แต่ประชากรเพิ่มขึ้น “ข้าวคือชีวิต” ข้าวเป็นคุณสมบัติของแผ่นดิน ข้าวเป็นวัฒนธรรม ข้าวเป็นสิ่งสะท้องถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรต้องให้ความเคารพ ดังนั้น การปรับปรุงพันธุ์ข้าวต้องอยู่ในมือชาวนา และสามารถนำมาแบ่งปัน ใช้ประโยชน์ได้ ไม่ควรมีการผูกขาด แต่ต้องมีการปกป้องเพื่อให้ข้าวดำรงอยู่ตลอดไป “อัญมณีทางพันธุกรรม” ความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวที่ยังคงอยู่ปลูกและอนุรักษ์ไว้ในท้องไร่ท้องนาด้วยตัวชาวนา บางสายพันธุ์ถูกสืบทอดมาจากรุ่นปู่ รุ่นย่า ตา ยาย ข้าวแต่ละสายพันธุ์ให้คุณค่าประโยชน์ที่แตกต่างกันไป และมีกลุ่มเครือข่ายชาวนาให้ความสำคัญและศึกษาเรื่องข้าวอย่างจริงจัง ได้มีชาวนาที่เป็นนักปรับปรุงพันธุ์ ที่ต้องเอาใจใส่และมีความประณีตในการดูแลกว่าจะได้พันธุ์ข้าวตามที่ตัวเองหรือกลุ่มต้องการ

 ข้อเสนอสำหรับชาวนานักปรับปรุงพันธุ์

      ท่ามกลางวิกฤตการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะงบประมาณของหน่วยงานรัฐที่ลดลง และบทบาทของนักปรับปรุงพันธุ์ตกอยู่กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติที่ออกแบบการปรับปรุงพันธุ์เพื่อการค้ามากขึ้น ที่สำคัญการปรับปรุงพันธุ์ข้าวแต่ละสายพันธุ์ต้องใช้ระยะเวลานาน รวมทั้งเมื่อชาวนาได้ปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาแล้ว ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนพันธุ์เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เหล่านี้เป็นข้อท้าทายสำหรับชาวนานักปรับปรุงพันธุ์ จึงมีข้อเสนอสำคัญต่อกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสำหรับชาวนา ดังนี้

  • ทิศทางการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยชาวนา ฐานสำคัญที่จะทำให้การปรับปรุงพันธุ์ข้าวของชาวนาเข้มแข็งและยั่งยืนได้นั้น ต้องมาจากการระบบการผลิตที่ยั่งยืนหรือระบบเกษตรนิเวศที่ไม่ใช่เป็นการผลิตในระบบเชิงเดี่ยว และต้องรักษาความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์อันเป็นฐานทรัพยากรพันธุกรรม รวมทั้งมีการรวมกลุ่มของชาวนา ในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชน
  • การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ต้องการมีส่วนร่วมของชาวนา หน่วยงานราชการ หน่วยงานท้องถิ่น นักวิจัย นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนถึงการใช้ประโยชน์และการแปรรูป โดยต้องคำนึงถึงความต้องการการใช้ประโยชน์ของทุกภาคส่วนร่วมกัน และเลือกใช้พันธุ์ที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกันลักษณะนิเวศของพื้นที่ ควบคู่กับวัฒนธรรมและประเพณีในชุมชนนั้นๆ หรือการออกแบบพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละจังหวัด รวมทั้งวางแผนศึกษาการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่สามารถรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นล่วงหน้าไปอย่างน้อย 10 ปี
  • หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องปรับบทบาท เพื่อพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยปรับกระบวนการวิจัยที่มีชาวนาและภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งต้องปรับแก้กฎหมาย และการให้บริการต่างๆ เช่น การเข้าถึงพันธุกรรมข้าวที่หลากหลายในศูนย์เมล็ดพันธุ์ การขึ้นทะเบียนพันธุ์ การรับรองพันธุ์ การตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ ที่ชาวนาสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อมุ่งเน้นให้การปรับปรุงพันธุ์ดำรงอยู่ในมือชาวนามากกว่าการปล่อยสู่มือของภาคเอกชนหรือบริษัทข้ามชาติด้านเมล็ดพันธุ์

      แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับชาวนานักปรับปรุงพันธุ์ก็คือ ต้องเป็นคนที่ตั้งใจ มุ่งมั่น ต้องบันทึกสังเกตการเจริญเติบโตของข้าว ต้องรู้คุณสมบัติพันธุ์ที่จะนำมาปรับปรุง ต้องมองไปข้างหน้า ต้องมีเทคนิคในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ที่ง่าย ภายใต้ความแปรปรวนของพันธุกรรมและงบประมาณของรัฐต่อการสนับสนุนด้านปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ลดลงไป รวมทั้งความพยายามของบริษัทยักษ์ใหญ่ในการเข้ามาครอบครองพันธุกรรม

ผู้ร่วมเสวนา :
คุณนพดล มั่นศักดิ์  เครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์
คุณสุขสันต์ กันตรี   มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี
คุณคนึงจิต บัดแก้ว เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรฮักน่าน จ.น่าน
คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี
ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.บุญรัตน์ จงดี  นักวิชาการอิสระ

ดำเนินรายการโดย คุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล

บทความแนะนำ