โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 28 เล่าเรื่อง “พืชร่วมยาง” จากป๊ะหลน หมัดหลี สู่ อภินันท์ หมัดหลี

     ถึงแม้การจากไปของป๊ะหรน หมัดหลี เจ้าของระบบเกษตรธาตุ 4 ผ่านไปกว่า 10 ปีแล้ว ถึงวันนี้เกษตรธาตุ 4 ยังเป็นที่รู้จัก กล่าวขานและสืบทอดมาสู่รุ่นลูกอย่างอภินันท์ หมัดหลี หรือบังนันท์ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ถึงความยั่งยืน และความอยู่รอดในวิถีเกษตรพืชร่วมยาง  

     เมื่อวันศุกร์ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เวทีเสวนาผักพื้นบ้านในสวนยางยั่งยืน “ฟื้นคลังยาและอาหารให้ชุมชน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563 บังนันท์ ได้มาร่วมเป็นวิทยากรนำเสนอประสบการณ์ บทเรียน พืชร่วมยางที่ได้รับการสานต่อมาจากผู้เป็นป๊ะ

ความหมายเกษตรธาตุ 4

     “เกษตรธาตุ 4” เกิดจากการค้นพบของป๊ะหรนที่เชื่อในหลักคิดว่า “ต้นไม้มีธาตุธรรมชาติ เช่นเดียวกับมนุษย์ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ หากธาตุทั้งสี่ในร่างการมนุษย์มีความสมดุลส่งผลให้สุขภาพแข็งแรง เช่นเดียวกับต้นไม้หากสร้างสมดุลของธาตุทั้ง 4 ซึ่งเป็นลักษณะของต้นไม้แต่ละชนิด จะทำให้ต้นไม้นั้นเจริญเติบโตแข็งแรงเช่นกัน” ป๊ะหรนนำพืชผลที่ต่างชนิด ต่างธาตุ มาปลูกไว้ในหลุมเดียวกัน เพื่อให้เกิดการพึ่งพาอาศัย เกื้อกูลระหว่างไม้ต่างชนิด วิธีการรู้ว่าต้นไม้ชนิดใดมีธาตุอะไร ให้นำส่วนใดส่วนหนึ่งของลำต้นมาเคี้ยว ถ้าเป็นรสฝาด ขม ถือเป็นธาตุดิน เช่น สะตอ เหรียง มะมุด / รสเฝื่อนเป็นธาตุลม เช่น ลางสาด ลองกอง / รสจืดเป็นธาตุน้ำ เช่น มะม่วง จำปาดะ มังคุด กล้วย อ้อย ชมพู่ / รสร้อนหรือเผ็ดเป็นธาตุไฟ เช่น ทุเรียน พริก ส้ม

     นอกจากการคำนึงถึงธาตุ 4 แล้ว ต้องคำนึงถึงระบบรากด้วย เนื่องจากพืชแต่ละชนิดจะมีความต้องการธาตุอาหารแตกต่างกัน ป๊ะหรนได้ปลูกทุเรียน มังคุดและลองกองในหลุมเดียวกัน ด้วยทุเรียนมีระบบรากตื้น แต่จะหาอาหารชอนไชไปไกลถึงบริเวณทรงพุ่มของต้น มังคุดระบบรากจะลึกหาอาหารในชั้นดินลึก ลองกองมีระบบรากฝอยหาอาหารบริเวณโคนต้น ด้วยระบบรากที่ต่างส่งผลต่อการหาอาหารในระดับต่างๆ ของชั้นดินจึงหมดกังวลเรื่องการแย่งอาหารกัน

เหตุที่สืบทอดเกษตรธาตุ 4 ถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน

  • กินดีอยู่ดี มีความสุข

     บังนันท์กล่าวว่า “สิ่งที่ป๊ะทำไว้นั้น ได้ส่งผลถึงวันนี้ ทุกครั้งที่เข้าไปในสวนจะมีความสุข มีความสนุก อากาศเย็นสบาย มีต้นไม้หลากหลายชนิด ยางพาราซึ่งใช้เมล็ดปลูกยังคงอยู่ ไม้ผลหลายชนิดที่ป๊ะปลูกต้นใหญ่มาก ป๊ะจะใช้เมล็ดปลูกทำให้ต้นไม้แต่ละชนิดมีรากแก้วหยั่งลึก ยางพาราที่ปลูกร่วมกับไม้หลากหลายชนิดสามารถเข้าไปกรีดยางได้ในช่วงเวลาเย็นๆ ไม่ต้องตื่นดึกๆ เหมือนการปลูกยางเชิงเดี่ยว พอกรีดยางเสร็จกลับมานอน เอาน้ำยางไปขายแล้วไปซื้ออาหารมากิน แต่ป่ายางที่มีพืชพรรณหลากหลายชนิด มีความร่มเย็นน้ำยางออกดี ไม่มีความกังวลเมื่อราคายางตกต่ำ ชีวิตครอบครัวอยู่ดีกินดี ด้วยความหลากหลายและการสร้างนิเวศที่ดีมีสัตว์ต่างๆ มาอาศัยทั้งนก กระรอก มีไม้ยืนต้นที่เรานำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ไม้พะยอม ตะเคียน มีไม้ที่เป็นเถาวัลย์เอามาทำเครื่องจักสานไว้ใช้ มีสมุนไพรไว้ใช้เมื่อเราเจ็บป่วย เราไม่ต้องกังวลว่าพันธุกรรมสูญหายไป เพราะระบบอยู่ในมือของเรา”

  • ไม่เสี่ยงต่อวิกฤตต่างๆ

     สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา เกษตรกรที่ทำในลักษณะป่ายางหรือการสร้างความหลากหลายพันธุ์พืชในแปลง ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีพืชผักเป็นอาหาร สามารถเก็บพืชผักต่างๆ ไปขายในชุมชนได้ และพืชบางชนิดสามารถเพิ่มเป็นมูลค่าได้ ความหลากหลายของพืชยังช่วยในการป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน ช่วยลดความแรงของลมป้องกันไม่ให้พืชเสียหาย ทำให้เก็บผลผลิตจากความหลากหลายของพืชพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี

ระบบเกษตรธาตุ 4 ต้องสืบทอดต่อไป

     ดังนั้นระบบเกษตรธาตุ 4 มีความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างอาหารให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและรักษาความหลากหลายของพันธุกรรมพื้นบ้าน จึงมาทำความเข้าใจถึงความเกื้อกูลกันระหว่างพืชกับพืช และพืชกับสัตว์ที่อยู่ร่วมกันได้ ทำอย่างไรให้มีทั้งผัก สัตว์ ไม้ยืนต้นอยู่ร่วมกันในแปลงเกษตร ถึงแม้แม้มีที่ดินเพียง 5 ไร่ ก็สามารถอยู่รอดและส่งลูกเรียนหนังสือได้ เป็นที่น่ายินดีที่ในปัจจุบันกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเปิดโอกาสให้ทุนกับเกษตรกรหันมาปลูกพืชร่วมยาง ถือว่าเป็นแนวทางที่ดี และเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง ที่สำคัญบทเรียนประสบการณ์พืชร่วมยาง ต้องมีการเล่าและส่งต่อกันไป

ขอบคุณคณภาพจาก https://siamrath.co.th/n/5935

บทความแนะนำ

ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร คนคืนถิ่น : บทเรียนและความร่วมมือการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ โครงการอาสาคืนถิ่น โดย นางสาวสุภาวดี เพชรรัตน์ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม