โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

การปรับตัวของเกษตรกรในภูมินิเวศโคก

กรณีบ้านหนองเหล็ก ตำบลหนองเหล็ก อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ผศ.ดร.ธวัดชัย ธานี คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ภูมินิเวศโคก เป็นระบบนิเวศที่มีมากที่สุดและกระจายอยู่ทุกส่วนของภาค ในนิเวศย่อยโคกประกอบด้วย ป่าหัวไร่ปลายนาซึ่งเป็นป่าธรรมชาติและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ หรือทำไร่มันสำปะหลัง พื้นที่ทำนา ฝายและห้วย ที่สำคัญภูมินิเวศโคกเป็นต้นน้ำสายหลักและห้วยต่างๆ การไหลของน้ำจึงเริ่มต้นจากโสกซึ่งเป็นที่รับน้ำ ถัดไปเป็นฮ่อมและห้วย ถึงจะไหลลงสู่ลำน้ำ ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย และดินเค็ม การทำนาจึงถือเป็นหลัก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นสิ่งท้าทายต่อการทำนา

การจัดการนาข้าว

“ทำนาให้เมื่อยน้อยที่สุด โดยอาศัยการทำงานของระบบนิเวศ” เป็นตัวอย่างการจัดการนาในเนื้อที่ 10 บ้านหนองเหล็ก ตำบลหนองเหล็ก ตำบลโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ที่มีลักษณะพื้นที่อยู่ในภูมินิเวศโคก และได้เริ่มทดลองการทำนาที่คำนึงถึงลักษณะของภูมินิเวศโคก ในปี 2561 ถึงแม้ว่าการจัดการนาช่วง 2 ปีแรก(2561-2562) นั้นยังคงใส่ปุ๋ยเคมีเนื่องจากแปลงนาดังกล่าวเป็นนาของแม่ จึงไม่สามารถจัดการได้เต็มที่ พอเข้าช่วงปีที่ 3 (2563) ตัดสินใจร่วมงานวิจัย การปลูกข้าวไม่ใส่ปุ๋ยร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน โดย

ปี 2563 เลือกใช้พันธุ์ข้าวน่าน 59 และหอมมะลิ 105 และใช้วิธีการเปรียบเทียบระหว่างการทำนาหยอดและนาหว่าน ในเนื้อที่อย่างละ 1 ไร่ ดังภาพที่ 1 และภาพที่ 2 ซึ่งได้ผลผลิตข้าวน่าน 59 ประมาณ  600 กิโลกรัม ส่วนข้าวหอมมะลิ 105 ได้ผลผลิตที่ 300 กิโลกรัม

ปี 2564 ใช้พันธุ์ข้าวหอมใบเตย หอมมะลิ 105 และข้าวเหนียว โดยใช้เนื้อที่อย่างละ 1 ไร่ ด้วยวิธีทำในลักษณะนาหว่าน พบว่าผลผลิตข้าวหอมใบเตยได้ 440 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวหอมมะลิ 105 ได้ผลผลิตที่ 310 กิโลกรัมต่อไร่ และข้าวเหนียวได้ผลผลิตที่ 300 กิโลกรัมต่อไร่

ผลจากการวิจัยข้าวที่ผ่านมาใน 2 ปี กล่าวได้ว่า การทำนาที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หากเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ย่อมมีความสัมพันธ์กับปริมาณผลผลิตในแต่ละฤดูกาลผลิต

นอกจากนี้ได้มีการเปรียบเทียบผลผลิตกับแปลงนาข้างเคียงที่หว่านในวันเดียวกัน ปรากฏว่าข้าวแปลงข้างเคียงต้นข้าวบางส่วนตายไป ในขณะข้าวแปลงทดลองไม่ตายและยืนต้นได้ ภายใต้ความแล้งน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนา อย่างเช่น ผลผลิตข้าวหอมมะลิ 105 แปลงข้างเคียงได้ผลผลิต 200 กิโลกรัมต่อไร่ แต่แปลงทดลองได้ผลผลิต 310 กิโลกรัมต่อไร่  กล่าวได้ว่า การทำนาอินทรีย์ได้ผลผลิตในระดับที่น่าพอใจ ถึงแม้จะเผชิญกับภาวะแห้งแล้ง ดังภาพที่ 3

ภาพที่ 3 การเปรียบเทียบการปลูกข้าวกับแปลงข้างเคียง

การปรับปรุงบำรุงดิน

ภายใต้การจัดการแปลงนาอินทรีย์ที่ยังคงให้ผลผลิตได้ดี ถึงแม้เผชิญกับภัยแล้ง สิ่งสำคัญ คือการปรับดินให้สมบูรณ์ จากสภาพพื้นที่ทำนาเป็นดินทรายไม่ดูดซับน้ำ การปรับปรุงดินที่ดีจึงต้องหาอินทรียวัตถุมาเติมให้ดิน เพื่อช่วยดูดซับน้ำให้อยู่ในดิน

การจัดการดินในแปลงทดลองนั้น ในปี 2563 ได้ใส่มูลสัตว์ลงไป ดังภาพที่ 4 ในช่วงปีที่ 2564 หลังการเก็บเกี่ยวได้ปลูกปอเทือง ถั่วพร้า ถั่วเขียว หลังเกี่ยวเอาเมล็ด จะไถกลบเพื่อเป็นปุ๋ยปรับปรุงดิน นอกจากการปลูกพืชตระกูลถั่วแล้ว ยังมีการปลูกพืชอื่นๆ เข้าไป เช่น แตงโม ข้าวโพด ฟักทอง พืชผักตามฤดูกาล ฯลฯ ดังภาพที่ 5 โดยอาศัยหลักการปลูกพืชร่วมที่มีระบบรากพืชที่ต่างกัน เช่น ปลูกฟักทองร่วมกับข้าวโพด ด้วยรากข้าวโพดจะหาธาตุอาหารข้างล่าง รากฟักทองหาธาตุอาหารด้านบน เป็นต้น

ซึ่งเป้าหมายการปลูกพืชหลังนานั้น เป็นการดึงธาตุอาหารให้อยู่บริเวณดินด้านบนมากที่สุดเนื่องจากรากข้าวจะหาธาตุอาหารในระดับความลึกไม่เกิน 30 เซนติเมตร และหากข้าวได้ธาตุอาหารที่เพียงพอ ต้นข้าวแข็งแรงเจริญเติบโตได้ดี เมล็ดข้าวสมบูรณ์

แต่หากดินไม่สมบูรณ์ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากชนิดหญ้า หากเป็นหญ้าหวายสามารถปรับปรุงดินได้โดยการปลูกปอเทือง นอกจากเพิ่มธาตุอาหารในดินแล้ว ยังช่วยลดการแพร่กระจายของหญ้าหวายด้วย

การจัดการน้ำในแปลงนา

การจัดการน้ำในแปลงทดลองนั้น ได้มีการทดลองให้น้ำด้วยระบบน้ำสปริงเกอร์ โดยต่อเครื่องสูบน้ำจากสระที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ ดังภาพที่ 6 แต่ไม่ได้ผลเนื่องจากหัวสปริงเกอร์อุดตัน จึงปรับการให้น้ำโดยการสูบน้ำเข้านาแทน แต่ก็เจอปัญหาหญ้าที่เจริญเติบโตดีมาก อย่างไรก็ตามช่วงใกล้เก็บเกี่ยวฝนตกลงมาทำให้หญ้ายุบตัว จึงยังได้ผลผลิตข้าวที่ดี ซึ่งต่อมาได้มีการขุดสระให้ลึกกว่าเดิม เพื่อให้สามารถจุน้ำได้ 3,500 ลูกบาศก์เมตรให้เพียงพอต่อการทำการเกษตร จากนั้นได้ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อใช้ในการสูบน้ำ และพื้นที่ขอบสระได้ปลูกพืชผักผสมผสาน

ภาพที่ 6 ทดลองใช้ระบบน้ำสปริงเกอร์ในนาข้าว

และได้มีการขุดเจาะบาดาล เพื่อให้มีน้ำใช้ช่วงฝนแล้ง ภาพที่ 7 โดยจะทยอยสูบน้ำจากบาดาลไปเก็บไว้ในสระ เพื่อให้มีน้ำตลอดช่วงการทำนา อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ไม่ได้สูบน้ำบาดาลขึ้นมา เนื่องจากปริมาณน้ำในสระมีเพียงพอในการทำนาและการปลูกพืชผักอื่นๆ อีกทั้งระบบนิเวศในแปลงนาเริ่มดีขึ้น จากการมีอินทรีย์วัตถุในดินมากพอในการดูดซับน้ำไว้ ถึงแม้บางช่วงฝนแล้งก็ตาม

ภาพที่ 7 ความสัมพันธ์ของการจัดการนิเวศแปลงนา

สถิติปริมาณน้ำฝนในพื้นที่

จากการเก็บข้อมูลในช่วงปี 2563-2564 ดังภาพที่ 8 ปริมาณน้ำฝนของจังหวัดมหาสารคาม ในปี 2564 อยู่ที่ 1,290 มิลลิเมตร ส่วนในปี 2563 อยู่ที่ 1,216 มิลลิเมตร ซึ่งไม่ต่างกันมาก แต่เกษตรกรส่วนใหญ่กลับมองว่าในปี 2564 เกิดความแห้งแล้งในฤดูการทำนา แต่เกิดภาวะน้ำท่วมในช่วงเก็บเกี่ยว และนี่ก็คือปรากฏการณ์ฝนที่ทิ้งช่วงที่ไม่สัมพันธ์กับการทำนาทำให้ผลผลิตข้าวเสียหาย ในขณะแปลงทดลองนั้น ยังให้ผลผลิตที่ปกติซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงดินที่ดีนั่นเอง

นอกจากเก็บสถิติปริมาณน้ำฝนในแปลงวิจัยแล้ว เพื่อให้สามารถจัดการแปลงนาให้สอดคล้องกับสภาพอากาศมากขึ้น ได้มีการดูข้อมูลพยากรณ์อากาศที่รายงานสภาพอากาศในช่วง 7 วัน เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจในการจัดการแปลงการผลิต เช่น ควรจะปลูกข้าว หรือ เกี่ยวข้าวเมื่อไหร่ เพื่อลดความเสี่ยงในการจัดการมากที่สุด

ภาพ 8 สถิติปริมาณน้ำฝนในพื้นที่

บทความแนะนำ