โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

การปรับตัวของเกษตรกรในภูมินิเวศทุ่งกุลาร้องไห้ 

        ภูมินิเวศทุ่ง มีลักษณะเป็นพื้นราบขนาดใหญ่เหมาะกับการทำนา ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ ทุ่งที่ใหญ่ที่สุดของอีสาน คือทุ่งกุลาร้องไห้ที่ตั้งอยู่ตรงส่วนกลางของภาค ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ ภูมินิเวศทุ่งมีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะขนาบด้วยทามและป่าโคก พรรณไม้ที่พบส่วนใหญ่เป็นไม้ทรงพุ่มเตี้ย เช่น สะแก หว้า ตะโก สะแบง พยอม กระทุ่ม หูลิง เสียว กระโดน ฯลฯ มีตั้งบ้านเรือนในพื้นที่สูงน้ำท่วมไม่ถึงที่เรียกว่า โคก ดอน และโนน ในช่วงฤดูฝนจะพบปู ปลา หอย กบ เขียด ฯลฯ หน้าแล้งชุมชนใช้ทุ่งสำหรับเลี้ยงสัตว์ การไหลของน้ำในนิเวศทุ่งจะเป็นหนอง กุด เลิง ห้วย ส่วนลักษณะดินนั้นจะเป็นดินทราย ดินร่วน ดินเค็มบางพื้นที่สามารถนำไปต้มเกลือได้

        การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นไม่ได้แตกต่างจากที่อื่นที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งปกติช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เริ่มมีฝนลงมา ถึงเดือนมิถุนายนชุมชนเริ่มทำนากัน แต่ปัจจุบันถึงเดือนมิถุนายนฝนยังไม่ตก ฝนจะตกในช่วงปลายฤดูการทำนา ดังนั้น ชุมชนต้องปรับทั้งวันเวลาและวิธีการทำนา เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น และ “การทำนาหยอด” เป็นทางเลือกหนึ่งที่ชุมชนในภูมินิเวศทุ่งกุลาร้องไห้ให้ความสนใจ

การปรับตัวด้วยการทำนาหยอด

        การทำนาในภูมินิเวศทุ่งกุลาร้องไห้ส่วนใหญ่ทำนาหว่านที่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์มากแต่ได้ผลผลิตน้อย เนื่องจากต้นข้าวขึ้นแน่น ส่งผลให้การสังเคราะห์แสงต้นข้าวไม่ดีพอ และทำให้มีแมลงเข้ารบกวนได้ง่าย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ทำให้การทำนาประสบปัญหา เช่น หว่านข้าวไปแล้วฝนไม่ตกต้องหว่านซ้ำ หรือต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดีทำให้ผลผลิตไม่ดี อีกทั้งพอถึงฤดูเก็บเกี่ยวฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมต้นข้าว  

        “การทำนาหยอด” เป็นทางเลือกในการทำนาซึ่งเป็นการจำลองนาดำ แต่ไม่ต้องเพาะกล้าโดยเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรในการหยอดข้าวแทน เหมาะกับสภาพพื้นที่ไม่มีระบบชลประทาน เนื่องจากเป็นการหยอดเมล็ดข้าวไว้แล้วรอให้ฝนตกลงมา แต่ต้องมีขั้นตอนการเตรียมแปลงที่ดี คัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสม

การเตรียมแปลง

        สำหรับการเตรียมแปลง กรณีวีระยุทธ สุวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกของเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีการรวมตัวกันทำนาอินทรีย์มานานกว่า 10 ปี โดยมีการปรับปรุงบำรุงดินจากการใช้อินทรียวัตถุต่างๆ และการปลูกพืชตระกูลถั่ว มีการจัดการแหล่งน้ำมีทั้งการขุดสระน้ำและเจาะบ่อบาดาลในแปลง เพื่อกักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อการทำเกษตร รวมถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินบนขอบสระ และที่ดินในแปลงนาหลังการเก็บเกี่ยว ด้วยการปลูกพืชผักหรือการปลูกพืชบำรุงดินต่างๆ

        นิเวศทุ่งกุลาร้องไห้ ขึ้นชื่อถึงความแห้งแล้งก่อนที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทรายถึงดินเค็ม สำหรับการเตรียมแปลง กรณีวีระยุทธ สุวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกของเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีการรวมตัวกันทำนาอินทรีย์มานานกว่า 10 ปี ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงดิน โดยการเติมอินทรียวัตถุลงไปในดิน โดยเฉพาะการปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น คือ ปอเทือง ถั่วเขียว และถั่วพร้า จากบทเรียนในการปลูกพืชตระกูลถั่ว พบว่า ในการปลูกปอเทืองต้องปลูกช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงกลางเดือนธันวาคม หากปลูกหลังจากน้้นมักประสบปัญหาหนอนเจาะกินฝักปอเทือง สำหรับถั่วพร้านั้นนอกจากช่วยปรับปรุงดินแล้ว ยังเป็นพืชคลุมดินและคลุมหญ้า โดยเฉพาะหญ้าหวายได้เป็นอย่างดี

        ดังนั้น ในการเตรียมดินเพื่อหยอดข้าว มีไถกลบตอซัง หรือพืชตระกูลถั่ว หรือวัชพืชในแปลง ซึ่งโดยภาวะปกติแต่เดิมช่วงเดือนเมษายนฝนเริ่มตก ชาวนาก็เริ่มทำนากันแต่หากฝนทิ้งช่วงก็ต้องเริ่มต้นทำนาใหม่ แต่ทุกวันนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฝนจะตกในเดือนเมษายน แล้วทิ้งช่วงไป ดังนั้น เมื่อฝนตกลงมาครั้งแรกจะปล่อยให้หญ้าขึ้นจนเต็มแปลงแล้วค่อยไถกลบ 2-3 รอบ วิธีนี้เรียกว่า การล่อหญ้า หรือจะไถกลบตอซัง พืชตระกูลถั่วเหมือนกับการไถกลบหญ้า จากนั้นจึงจะเริ่มหยอดข้าว โดยใช้เครื่องหยอดเว้นร่องให้ห่าง 25-30 เซนติเมตร ในช่วงเดือนมิถุนายน หรือต้นกรกฏาคม ซึ่งต้องดูข้อมูลการพยากรณ์อากาศควบคู่กัน แล้วไปเก็บเกี่ยวช่วงปลายตุลาคมหรือต้นพฤศจิกายน

เครื่องมือหยอดข้าว

        สำหรับการทำนาหยอดข้าวนั้น เครื่องมือหยอดข้าวยังต้องพึ่งพิงจากภายนอก  กรณี โครงการศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งนำโดยคุณสินสมุทร ศรีแสงปาง ได้มีการนำใช้เครื่องมือทุ่นแรงในการจัดการแปลงนาให้กับสมาชิก เช่น เครื่องกำจัดวัชพืชและข้าวที่ขึ้นนอกแถวโดยไม่ต้องใช้ยาคุมหรือยาฆ่าหญ้า แต่จะช่วยพรวนดินเพิ่มออกซิเจนให้รากข้าว และมีรถหยอดข้าวติดระบบนำร่อง GPS ที่เวลาหยอดข้าวแล้วจะเป็นแนวเส้นที่ตรงมาก มีความแม่นยำไม่เหยียบทับรอยเดิม บวกกับมีลูกกลิ้งหน้าหลังทำให้นาเรียบเสมอกัน และการนำใช้เทคโนโลยีการปรับนาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling) ทำให้แปลงนาต่างระดับกันไม่เกิน 2 เซนติเมตร ข้อดีคือฝนตกแค่ 1 ชั่วโมง น้ำก็กระจายทั่วทั้งแปลง

        สำหรับคุณวีระยุทธ ได้ใช้แปลงนาตนเองที่บ้านสำราญ ตำบลหนองแคน อำเภอปทุมรัตน์ เพื่อทดลองการทำนาหยอดในเนื้อที่ 4 ไร่ และใช้พันธุ์ข้าวเหนียวเทพสิรินทร์ โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องหยอดจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีหัวหยอด 8 แถว หลักการสำคัญ คือการหยอดในช่วงที่ดินแห้ง เพื่อให้เกิดความงอกที่สม่ำเสมอ ควบคู่กับการดูข้อมูลสภาพอากาศในแต่ละช่วงว่าควรเริ่มหยอดข้าวในช่วงใด ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณวีระยุทธให้ความสำคัญ โดยเริ่มมีการสังเกตและบันทึกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งวันเวลาที่ฝนตกและปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละครั้ง การดูข้อมูลสภาพอากาศในแต่ละสัปดาห์จากศูนย์ผลิตพันธุ์ข้าวที่มีการแจ้งให้ข้อมูลผ่านกลุ่มไลน์ เพื่อได้วางแผนว่าจะเริ่มทำนาได้เมื่อไร

ผลการใช้วิธีการหยอดข้าว

        ผลการทดลองทำนาหยอดที่ผ่านมา สำหรับคุณวีระยุทธ พบว่า สามารถประหยัดเมล็ดพันธุ์ และข้าวทนต่อความแห้งแล้งได้ดีกว่านาหว่าน ได้ผลผลิตที่ดีอย่างข้าวเหนียวเทพสิรินทร์ให้ผลผลิต 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ รวมทั้งช่วยควบคุมการเกิดวัชพืชได้พอสมควร หากมีวัชพืชเกิดขึ้นก็จะใช้มือในการถอนออก ควบคู่กับการควบคุมระดับน้ำในแปลง โดยใช้โซล่าเซลล์สูบน้ำจากบ่อบาดาล เพื่อบรรเทาน้ำไม่เพียงพอจากฝนทิ้งช่วง หลังจากการเก็บเกี่ยวได้มีการปลูกพืชหลังนาดังที่กล่าวข้างต้น เช่นเดียวกับโครงการศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ที่พบว่ได้ผลผลิตข้าวที่ดี

นาหยอดทางเลือกที่ต้องเรียนรู้

        อย่างไรก็ตาม รูปแบบการทำนาหยอดที่เกิดขึ้นต้องมีการศึกษาและทดลองเพิ่มเติม เพื่อหาความเหมาะสมทั้งชนิดพันธุ์และวิธีการทำ ในขณะเดียวกันชุมชนในภูมินิเวศทุ่งกุลาร้องไห้ ยังต้องให้ความสำคัญต่อการปรับระบบแปลงการผลิตที่ต้องมีการจัดการแหล่งน้ำทั้งใต้ดินและบนดิน สร้างความหลากหลายของชนิดพืชผักที่มีความเหมาะสมสอดคล้องและนำมาปลูกทั้งในพื้นที่ขอบสระ หรือจัดสรรพื้นที่นาบางส่วนมาปลูก รวมทั้งการปลูกพืชหลังนา และต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมและหลากหลายสายพันธุ์มาปลูกด้วยวิธีนาหยอด

ขอขอบคุณ
-คุณสินสมุทร ศรีแสนปาง โครงการศรีแสงดาวหมู่บ้านนาหยอด
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=JCngM UphGPc
-คุณวีระยุทธ สุวัฒน์ เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดร้อยเอ็ด

บทความแนะนำ