โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ฐานที่ 1 การพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้านในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

สถานการณ์

            นางศุภามาส แจ้งสนาม แม่หญิงเกษตรกรจากกลุ่มเกษตรกรรมทางเลือก ภูมินิเวศทุ่งกุลาร้องไห้ กล่าวถึงปัญหาว่าปี 2544-45 ชุมชนเกิดปัญหาน้ำท่วม ไม่มีเมล็ดพันธุ์ ต้องชื้อใช้ทุกปีและโดนโก่งราคา และต้องซื้อปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้เกิดควานสนใจปรับปรุงเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านใช้เอง เนื่องจากพันธุ์พื้นบ้านไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี จนปัจจุบันมีการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านไว้ 15 สายพันธุ์ ด้วยเห็นว่า “เมล็ดพันธุ์คือหัวใจของเกษตรกรและเป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานที่สำคัญยิ่งใน การพัฒนาระบบเกษตรเพื่อพึ่งตนเองได้ของเกษตรกร” ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ก็ได้นำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาใช้ในการคัดเลือกและเก็บ รักษาอีกด้วย

            Mr. Palash Chandra Baral นักวิจัยจากองค์กรอูบินิค ประเทศบังคลาเทศ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าในปี 2531 เริ่มค้นคว้าเรื่องพันธุกรรมและเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน แต่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้ เพราะไม่มีเมล็ดพันธุ์อย่างพอเพียง จากงานวิจัยพบว่าเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้วเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านสูญหายไปจำนวน 15,000 สายพันธุ์ และใน 18 ปีที่ผ่านมาได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ เพื่อพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้านในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมีการพิจารณาว่าในการทำเกษตรกรรมนั้น สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญมี 3 ประการ คือ เมล็ดพันธุ์ ดิน และน้ำ ถ้าไม่มี 3 อย่างนี้ทำเกษตรไม่ได้ และจากประสบการณ์ 18 ปีที่พัฒนาทางเลือกในการแก้ปัญหา พบว่า 1) มีชุมชนเกษตรกรรมที่ทำการผลิตโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ที่ชื่อว่า “นายากริชิ” 2) มีศูนย์รวบรวมเมล็ดพันธุ์ชุมชนจำนวน 7 แห่ง

ประเด็นหลักจากการแลกเปลี่ยน

       1. พันธุ์ลูกผสม พืชจีเอ็มโอ เป็นปัจจัยที่ทำลายท้องถิ่น
       2. สิ่งท้าทายคือ ทำอย่างไรจะกระตุ้นชุมชน เกษตรกร ให้ร่วมมือกันในการปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่น
       3. ควรพิจารณาถึงคุณภาพ ปริมาณ และความยั่งยืนของอาหาร รวมทั้งการกระจายและการเข้าถึงอาหารด้วย
       4. ควรมีกระบวนการทำงานเสริมสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องพันธุกรรมพื้นบ้าน โดยให้ความสำคัญในมิติทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น เช่น วิถีชีวิตและวัฒนธรรมเกี่ยวกับข้าว (แม่โพสพ)
       5. แนวทางการพัฒนาพันธุกรรมข้าวไม่จำเป็นต้องเน้นความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ แต่ให้คุณค่าทางวัฒนธรรมและชีวิต เช่น ไม่จำเป็นต้องทำให้ข้าวเป็นพันธุ์นิ่งที่บริสุทธิ์แต่ให้เป็นธรรมชาติ และควรคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพทางภูมิศาสตร์ของท้องถิ่น
       6. ควรให้ความสำคัญทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและระบบนิเวศ
       7. ควรส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในกระบวนการพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้านในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
       8. เกษตรกรควรเป็นผู้ผลิตอาหารเพื่อการบริโภคของตัวเอง ไม่ใช่บรรษัทข้ามชาติ

บทความแนะนำ