โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

            ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิดไม่ต่ำกว่า 10,000 และไต่ไปถึง 20,000 กว่าคน รวมถึงมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่าร้อยคนในแต่ละวัน ถึงแม้จะมีมาตรการล็อคดาวน์แต่ยังไม่สามารถหยุดการติดเชื้อลงไปได้ และยังสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางที่มีอาชีพหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินเก็บออม และไม่พร้อมที่จะอยู่ในบ้านเพื่อหยุดเชื้อด้วยต้องออกไปหารายได้ ถึงแม้จะหาเงินได้ยากลำบากมากขึ้นและยังต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิดที่อาจนำมาแพร่ให้กับคนในครอบครัวที่อาศัยกันหนาแน่นในชุมชนแออัดก็ตาม เช่นเดียวกันกับชุมชนที่ประสบปัญหาการไล่รื้อ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแห่งใหม่อย่างชุมชนภูมิใจ เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการใช้ชีวิตในวิกฤตที่เกิดขึ้น

ความเป็นมาชุมชนภูมิใจ

            ชุมชนภูมิใจเกิดจากการรวมตัวของสมาชิก 4 ชุมชนที่ถูกไล่รื้อในช่วงปี 2559-2560 คือ ชุมชนคลองเป้ง เขตวัฒนา ชุมชนเบนตาโพ เขตคลองสามวา ชุมชนอยู่เย็น เขตลาดพร้าว และชุมชนราษฎร์บัวขาว เขตสะพานสูง เพื่อนำที่ดินมาปรับปรุงเป็นพื้นที่ระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และสร้างสวนสาธารณะเพื่อเป็นที่พักผ่อนของคนเมือง ตามนโยบายจัดระเบียบชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลอง หรือที่ดินสาธารณะของกรุงเทพมหานคร รวมถึงการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในที่ดินเอกชน

            สถานการณ์ไล่รื้อชุมชนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นการขับไล่คนจนออกนอกเมือง โดยอ้างว่าเป็นผู้บุกรุกในที่ดินสาธารณะรวมทั้งที่ดินส่วนบุคคล และการไล่รื้อส่วนใหญ่ไม่มีความเป็นธรรม ใช้ความรุนแรง หน่วยงานรัฐหรือเอกชนเข้ารื้อถอนบ้านเรือนได้ตามอำเภอใจ ไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ในขณะที่คนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง หาบเร่แผงลอย เก็บหาซื้อของเก่า ซึ่งไม่ได้รับหรือไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการด้านต่างๆ ของรัฐอยู่แล้ว การไล่รื้อจึงเป็นการซ้ำเติมชีวิตของผู้คนในชุมชน

สร้างที่อยู่และวิถีชีวิตแห่งใหม่

            สมาชิกทั้ง 4 ชุมชนได้รวมตัวกันจากการส่งเสริมของเครือข่ายสลัม 4 ภาค และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และมาซื้อที่ดินในเนื้อที่ 12 ไร่ ที่ตั้งอยู่ในซอยประชาร่วมใจ 43 เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ บริเวณที่เรียกว่า “บึงนายพล” สำหรับสร้างที่อยู่อาศัย 145 ครัวเรือน และจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนในชุมชน เช่น สร้างแหล่งผลิตและกระจายอาหาร พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่วิ่งเล่นของเด็ก รวมถึงศูนย์ประสานงาน

            การสร้างที่อยู่แห่งใหม่นี้ ส่งผลให้ผู้คนต้องปรับตัวทั้งการหาซื้อที่ดิน หาสถานศึกษาสำหรับบุตรหลานที่ใกล้ชุมชนแห่งใหม่ รวมทั้งช่องทางอาชีพใหม่จากเดิมที่เคยออกรับจ้าง รับเหมาก่อสร้าง หาบเร่แผงลอย เปิดร้านขายของชำ เก็บหาซื้อของเก่าในพื้นที่ใกล้ชุมชน ซึ่งการปรับตัวที่เกิดขึ้น ล้วนเกี่ยวข้องกับสถานะทางเศรษฐกิจหรือการมีรายได้ที่เพียงพอกับรายจ่ายด้านต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

วิกฤตโควิดยิ่งต้องปรับตัว

            ตัวอย่างเสียงสะท้อนจากชุมชนภูมิใจ เช่น ณฐวรรษ ได้ตัดสินใจลาออกจากพนักงานขับรถสิบล้อรับจ้าง แล้วขายรถกระบะเพื่อมาซื้อรถเก่งสำหรับขับ grab car ด้วยเห็นว่าเป็นอาชีพอิสระและทำรายได้ให้ดี เริ่มต้นปลายปี 2562 ที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีรายได้หักค่าน้ำมันแล้ว 1,000 บาท/วัน แต่ทำได้เพียง 4 เดือน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต่อเนื่องกันมาจนถึงเดือนสิงหาคม รายได้เหลือเพียง 300-400 บาท/วัน “ผลกระทบจากโควิดทำให้รายได้ลดลงมาก ผู้โดยสารไม่มียิ่งมีการล็อคดาวน์ผู้คนก็ไม่ออกมาจากบ้านซึ่งได้ส่งผลต่ออาชีพโดยตรง ยิ่งต้องผ่อนค่างวดรถตกเดือนละ 8,400 บาท โชคยังดีที่ลูกมีงานให้ทำและภรรยามีรายได้ประจำก็พอประทังชีวิตไปได้ แต่ไม่มั่นใจรถที่ใช้อยู่อาจถูกยึดคืนสักวัน หากยังเป็นแบบนี้อยู่”

            ขณะที่ลักษณาและดำรง สองสามีภรรยาก่อนการแพร่ระบาดโควิด ลูกสาวส่งเงินให้เดือนละ 25,000 บาท และการระบาดของโควิดธุรกิจส่วนตัวที่ลูกสาวทำอยู่มีปัญหาด้านการเงิน จึงไม่สามารถส่งเงินให้ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563  ชีวิตแย่ตั้งแต่นั้นมา “ไม่มีรายได้ที่ลูกสาวเคยให้สำหรับใช้จ่ายอีกเลย แต่ลูกยังคงรับผิดชอบค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่บ้าน รวมทั้งเอาเงินเก็บมาใช้จนหมด ตัวเองจึงหันมาหารายได้เสริมด้วยการขายของออนไลน์และขายอาหารตามสั่งราคาถูกที่บ้านชั่วคราวในชุมชนภูมิใจ”

            สำหรับเตือนใจ เล่าว่า“รายได้ที่เป็นอยู่ตอนนี้เป็นรายได้วันต่อวัน ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและประหยัดสุดๆ เพราะต้องผ่อนทั้งรถ ทั้งที่ดินและบ้านที่กำลังสร้าง หมุนเงินกันไปยืมจากอีกที่ไปจ่ายอีกที่ ใครมีอะไรมาจ้างให้ทำก็ทำเพื่อพอมีเงินมา อีกทั้งอาชีพขับ grab food ของสามีมีรายได้ลดลง หรืออาจเป็นเพราะคนไม่ค่อยมีรายได้จึงไม่ค่อยสั่งอาหารกัน”

            เหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่างเรื่องราวการปรับตัวที่เกิดขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงย่อมเป็นวิกฤตของอีกหลายๆ คนและหลายๆ ครอบครัวที่ต้องเผชิญ

รายได้ลดส่งผลกระทบต่อการมีที่อยู่แห่งใหม่

            ความหวังของคนในชุมชนภูมิใจกับการมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยและที่ดินแห่งใหม่นั้น ได้ชะลอและถูกลดทอนลงเมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด รายได้ที่พอมีพอกินและพอที่จะผ่อนชำระค่าสร้างบ้านและที่ดินที่วางแผนไว้นั้นพลิกผันไปจากเดิม ส่งผลต่อการผ่อนชำระค่าที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ บางรายจำใจต้องลดหรือตัดชิ้นงานบางส่วนของที่อยู่อาศัยลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่อีก 14 รายสำหรับสมาชิกในเฟส 2 ของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยได้ขอยกเลิกสิทธิไป ถึงแม้ชุมชนได้รับความช่วยเหลือแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการชะลอเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับการผ่อนชำระค่าที่ดินและค่าก่อสร้างบ้านแล้วก็ตาม แต่ความไม่แน่นอนของรายได้ที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องตัดสินใจที่จะเลือกทางใดทางหนึ่งเพื่อความอยู่รอดกับวิกฤตที่เกิดขึ้น  

ทางรอดความเป็นอยู่ช่วงวิกฤต

            ถึงแม้ชุมชนต้องเผชิญปัญหากับรายได้ที่ไม่มั่นคงในแบบที่ชุมชนเรียกว่า “งานหาย รายได้หด” หรือ “หาเช้า กินค่ำ” หรือแม้กระทั่ง “หามื้อ กินมื้อ” แต่ชีวิตต้องอยู่รอดท่ามกลางความเสี่ยงของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด โดยชุมชนมีแนวทางทั้งการจัดการตนเอง และการช่วยเหลือจากภายนอก เช่น

  • ใช้จ่ายอย่างประหยัดและพึ่งพิงหาอาหารจากแหล่งธรรมชาติ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีอยู่รอบๆ ชุมชนที่มีปลาธรรมชาติหลากหลายชนิด การเก็บหาพืชผักอย่างสะเดา ขี้เหล็ก รวมทั้งพยายามปลูกพืชผักในพื้นที่ว่างที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ รวมทั้งบริเวณพื้นที่รอบๆ บ้านชั่วคราว เพื่อนำมาทำอาหารบริโภคในครัวเรือนและแบ่งปันให้กับคนในชุมชนด้วยกัน ซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายค่าอาหารลงไปได้
  • รวมกลุ่มเพื่อหนุนเสริมและช่วยเหลือกันและกัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักของการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของชีวิตและชุมชน การรวมตัวของสมาชิกในชุมชนภายใต้เครือข่ายสลัม 4 ภาค นอกจากทำให้ชุมชนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและที่อยู่อาศัยโดยที่ไม่ต้องถูกไล่รื้อเหมือนที่ผ่านมา ชุมชนยังได้รับการสนับสนุนยกระดับพัฒนาทั้งด้านคุณภาพชีวิต การมีอาชีพที่จะมีรายได้เสริมในครัวเรือน ล้วนเกิดจากการรวมกลุ่มของคนในชุมชน ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น
  • การได้รับแบ่งปันอาหารจากเครือข่ายภาคประชาชน อย่างกลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) รวมถึงเครือข่ายสลัม 4 ภาค สำหรับชุมชนภูมิใจได้นำสิ่งของที่ได้รับบริจาคส่งต่อให้กับสมาชิกและชุมชนใกล้เคียง และตั้งครัวกลางเพื่อทำอาหารสำเร็จจำหน่ายในราคา 10-20 บาท หรือแจกจ่ายให้กับผู้ที่เดือดร้อน รายได้ที่เกิดขึ้นถูกนำมาสมทบเป็นกองกลางสำหรับการซื้อวัตถุดิบในการทำอาหารของครัวกลางต่อไป การแบ่งปันและตั้งครัวกลาง ช่วยในการลดรายจ่ายไปได้ อย่างข้าวสาร น้ำปลา น้ำมันที่ได้รับบริจาคมานั้น สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าดังกล่าวลงประมาณ 1-2 เดือน/ครัวเรือน
  • การรับความช่วยเหลือภายใต้นโยบายและโครงการของรัฐ ซึ่งแต่ละครัวเรือนจะเลือกและตัดสินใจความช่วยเหลือที่ตรงตามคุณสมบัติที่กำหนดมาเพื่อเข้ารับสิทธิ์ในโครงการหรือมาตรการต่างๆ เช่น โครงการช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการคนละครึ่ง เราชนะ เป็นต้น

            ดังนั้น ในภาวะวิกฤตชุมชนกลุ่มคนเปราะบางจะอยู่รอดได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องคำนึงและตระหนักถึงความเดือดร้อนต่อการดำรงชีวิตโดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเปราะบางในการได้รับสิทธิและเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ อย่างทั่วถึง แต่สำหรับระยะยาวรัฐต้องสนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินรกร้างมาเป็นพื้นที่เกษตรสำหรับเป็นแหล่งอาหารบริโภคในครัวเรือนและชุมชน รวมถึงมีสวัสดิการด้านต่างๆ ที่ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมให้ดีทั่วหน้า นอกเหนือจากการพึ่งพาตนเองด้านอาหารโดยการสร้างแหล่งอาหารในชุมชน และการช่วยเหลือเกื้อกูลและแบ่งปันกันและกันของคนในชุมชน

บทความแนะนำ