โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 22 ชุมชนเกื้อกูลชาวนาอินทรีย์

ชุมชนเกื้อกูลชาวนาอินทรีย์ เป็นโครงการย่อยหนึ่งของโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งเชิงบูรณาการอย่างเป็นระบบบนฐานพื้นที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ หรือเรียกชื่อย่อว่า โครงการสันทรายโมเดล ซึ่งดำเนินโครงการโดยวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2560 เป็นต้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจฐานราก การพัฒนาสังคมที่เป็นธรรม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศเกษตร วัฒนธรรมที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงของเกษตรกร การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรและผู้บริโภค การมีความมั่นคงปลอดภัยและอธิปไตยทางอาหารของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเน้นการปฏิบัติการ่วมกันทุกภาคส่วนในพื้นที่ ได้แก่ เกษตรกร โรงเรียน โรงพยาบาล นักศึกษา สถาบันการศึกษา ร้านอาหาร หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรทางศาสนา ธนาคาร และสื่อมวลชน โครงการนี้เป็นโครงการที่ใช้แนวคิด ทฤษฎี และปรัชญา เป็นกรอบนำทางหรือกำกับการทำงานที่หลากหลาย ประกอบด้วย แนวคิดที่ยึดพื้นที่เป็นศูนย์กลางพัฒนา แนวคิดการพึ่งตนเอง  แนวคิดวิจัยและพัฒนา แนวคิดวิสาหกิจชุมชน แนวคิดเศรษฐกิจชุมชน แนวคิดเกษตรอินทรีย์ แนวคิดตลาดที่เป็นธรรมและชุมชนเกื้อกูลเกษตรกร แนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคม แนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง ทฤษฎีระบบ และปรัชญาเศรษฐกิจ

โครงการชุมชนเกื้อกูลชาวนาอินทรีย์เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ตำบลหนองแหย่ง และวิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวตำบลหนองแหย่ง โดยจากการศึกษาชุมชนเบื้องต้นพบว่า พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่เป็นนาข้าว (ประมาณ 2,470 ไร่) พันธุ์ข้าวที่นิยมเป็นข้าวเหนียวสันป่าตอง 1, แม่โจ้ 1, กข 6 และข้าวเจ้าหอมมะลิ โดย 97% ของผลผลิตจำหน่ายเป็นข้าวเปลือกดิบ มีต้นทุนการทำนาเฉลี่ยที่ 6,000 บาท/ไร่ และมีรายรับประมาณ 5,100 บาท/ไร่ จากตัวเลขจะเห็นว่าชาวนามีรายรับน้อยกว่ารายจ่ายด้วยสาเหตุที่สำคัญคือ มากกว่า 70% ส่วนใหญ่เช่าที่นา และเกษตรกรเลือกปลูกพันธุ์ข้าวสันป่าตอง 1 ที่มีต้นทุนการผลิตสูงหากเทียบกับพันธุ์ข้าวอื่น ประกอบกับราคาข้าวตกต่ำที่เกษตรกรจำหน่ายข้าวเปลือกเกี่ยวสดราคาที่ต่ำมาก เพียงกิโลกรัมละ 5-6 บาท แต่กลับกันหากซื้อข้าวเหนียวมีราคาสูงถึง 25-30 บาท/กิโลกรัม จากผลต่างของราคาซื้อและราคาขายมากกว่า 20 บาทที่พ่อค้าคนกลางเป็นผู้ได้รับส่วนต่างดังกล่าวนี้ไป คำถามคือ “เป็นธรรมกับชาวนาและผู้บริโภคไหม” หากการทำนาแล้วขาดทุนคงไม่มีพ่อแม่ชาวนาคนไหนอยากให้ลูกหลานมาสานต่อการทำนาที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะส่งเสริมให้ไปประกอบอาชีพอื่น ถึงขั้นมีเกษตรกรบางรายได้สะท้อนว่า “อาชีพชาวนาคงจะหายไปพร้อมกับพวกเขา”

นอกจากการศึกษาบริบทของชุมชนดังข้างต้น ทางโครงการได้ร่วมกันคิดวิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อค้นหาแนวทางแก้ปัญหา การศึกษาดูงาน การทำแผนปฏิบัติการและวางแผนการปลูกข้าว การปรับปรุงพัฒนาโรงสีข้าว การจัดทำแผนซื้อข้าว การพัฒนาหน่วยจัดการกลาง การติดตามเพื่อยกระดับและแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินงานของโครงการชุมชนเกื้อกูลชาวนาอินทรีย์ตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดพื้นที่รูปธรรมเบื้องต้น 3 ด้าน ดังต่อไปนี้

  • ด้านการผลิต: ชาวนาพื้นที่ตำบลหนองแหย่ง อำเภอสันทราย สามารถผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์จำนวน 65 ไร่ และข้าวปลอดภัย จำนวน 145 ไร่ โดยสมาชิกวิสาหกิจโรงสีข้าวฯ สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ราคาสูงกว่าจากท้องตลาด 20 สตางค์/กก.
  • ด้านการแปรรูป: วิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวฯ ได้ซื้อข้าวเปลือกเหนียวพันธุ์แม่โจ้ 2 และหอมมะลิจากสมาชิกสำหรับจำหน่ายทั้งปีมากกว่า 40 ตัน
  • ด้านการตลาด: เกิดกลไกหรือรูปแบบและระบบตลาดซื้อขายระหว่างวิสาหกิจโรงสีข้าวฯ กับหน่วยจัดการกลางผลผลิตเกษตรอินทรีย์ และโรงพยาบาลอำเภอสันทราย ซึ่งเป็นกลไกความร่วมมือของเกษตรกร ผู้บริโภค และภาคีที่เกี่ยวข้องในการผลิต การแปรรูป และตลาดเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่อำเภอสันทราย โดยมีเป้าหมายคือ การสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากผ่านการซื้อขายข้าวโดยตรงตรงในราคาที่เป็นธรรมระหว่างชาวนาและผู้บริโภคในพื้นที่

จากผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้น เป็นการสะท้อนถึงกรอบการทำงานในการขยายแนวคิด ชุมชนเกื้อกูลชาวนาอินทรีย์ ที่ถือเป็นต้นแบบนำร่องในการทำงานขยายพื้นที่รูปธรรมเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในระบบองค์รวมที่ไม่ได้มองแยกส่วน แต่เกื้อกันทั้งตลอดห่วงโซ่การผลิตและการตลาดที่เชื่อมทำงานร่วมกับชุมชนในการขับเคลื่อนร่วมกันในการสร้างชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนได้จริง

อ้างอิง

ชุมชนเกื้อกูลชาวนาอินทรีย์: รูปธรรมของพลังความเชื่อมั่นและศรัทธาของภาคีต่อแนวคิดการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อการจัดการตนเอง และพึ่งตนเองด้านอาหารปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ และเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน. (2561). โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งเชิงบูรณาการอย่างเป็นระบบบนฐานพื้นที่อำเภอสันทราย มหาวิทยาลัยแม่โจ้.

https://www.facebook.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A5-sss-170189240235743/

บทความแนะนำ