โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

        กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง จ.ยโสธร เป็นการรวมตัวของเกษตรกรรายย่อยที่พยายามรวบรวมพันธุ์พื้นบ้านในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในเรื่องของพันธุ์ข้าวซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทางกลุ่มได้พยายามทำให้เป็นรูปธรรมให้ชัด ปัจจุบันกลุ่มมีแปลงรวบรวมอนุรักษ์พันธุ์ข้าวทั้งหมดประมาณ 100 สายพันธุ์ทั้งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและพันธุ์ข้าวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่ประกอบด้วยพันธุ์ข้าวไร่และพันธุ์ข้าวนาปรัง โดยกลุ่มเริ่มจากการเก็บรวบรวมพันธุ์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

การค้นหาพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้พันธุ์แท้

        การค้นหาพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้พันธุ์แท้ของกลุ่มนั้นใช้เวลานานถึง 3 ปี ซึ่งการได้มาของพันธุ์ข้าวของกลุ่มนั้นได้ลงมือปฏิบัติที่ลงลึกกว่าของกรมการข้าว คือ กลุ่มไม่ได้เริ่มต้นเก็บเมล็ดพันธุ์ที่รวงข้าวแต่ได้เป็นเมล็ด จากนั้นนำมาแกะเป็นข้าวสารในลักษณะข้าวกล้อง โดยมีหลักสังเกตคือถ้าเป็นข้าวเหนียวต้องเป็นสีขาวขุ่น และอาจมีลักษณะประจำพันธุ์ที่อ้วนป้อม หรือ เล็กเรียว หรือ ยาวอ้วนใหญ่ จากนั้นนำเมล็ดมาเพาะเป็นต้นกล้าเพื่อนำมาปักดำในลักษณะดำต้นเดียว จำนวน 100 ต้น/สายพันธุ์ จากนั้นในปีต่อมากลุ่มจะเลือกพันธุ์ที่ปักดำในแต่ละพันธุ์ โดยเลือกเมล็ดที่ตรงตามสายพันธุ์ในเริ่มต้นเพื่อนำมาปลูกในแปลงในการคัดเลือกลักษณะที่ตรงกับความต้องการ เช่น ทนทานต่อโรคและแมลง ทนทานต่อสภาพอากาศ จำนวนการแตกกอ ปริมาณผลผลิต โดยขั้นตอนที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่กลุ่มปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน จนได้ข้าวแต่ละสายพันธุ์ที่มีลักษณะของพันธุ์แท้ที่มีข้อเด่นและข้อด้อย ดังเช่นบางพันธุ์ที่อาจจะลักษณะที่ให้ผลผลิตสูง แตกกอดีแต่อาจจะกินไม่อร่อยซึ่งถือเป็นลักษณะประจำพันธุ์ข้าวพื้นแข็งเป็นข้าวที่ไม่ค่อยนุ่ม

การปรับปรุงพันธุ์ข้าว

          นอกจากการค้นหาพันธุ์แท้ในพื้นที่แล้วทางกลุ่มได้ทำการปรับปรุงพันธุ์ใหม่ โดยพันธุ์ข้าวที่ทำการปรับปรุงอยู่ตอนนี้เป็นข้าวเหนียวสีแดง ซึ่งข้าวเหนียวสีแดงเดิมเป็นพันธุ์ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคนิยมรับประทานเนื่องจากข้าวนุ่ม หอม อร่อย เป็นข้าวเหนียวพันธุ์อายุยาวที่ต้องปลูกในพื้นที่ลุ่มมีน้ำขังถึงจะเหมาะสมกับช่วงอายุข้าว แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่สมาชิกในกลุ่มนั้นส่วนมากเป็นพื้นที่ดอนและมีความต้องการปลูกข้าวเหนียวแดงกินเพื่อที่ไม่ต้องซื้อ จึงได้มีการเรียกร้องจากสมาชิกว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้อายุข้าวเหนียวแดงนั้นสั้นลงแต่ยังคงความนุ่ม หอม อร่อยเหมือนเดิม ทางกลุ่มจึงได้ร่วมกันปรับปรุงพันธุ์ข้าวขึ้นมาเป็นพันธุ์ใหม่ ซึ่งตอนนี้กลุ่มทำมา 7 ปีหรือ 7 ช่วงอายุ โดยกลุ่มได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี และอาจารย์/นักวิชาการอิสระที่ที่เข้ามาช่วยเสริมความรู้ให้กับกลุ่ม ซึ่งหากปีนี้กลุ่มได้ผลผลิตข้าวเหนียวแดงก็จะครบปีที่ 7 ที่เป็นรุ่นสุดท้ายเพื่อนำไปขยายพันธุ์ให้กับสมาชิก/เครือข่ายที่ต้องการนำไปปลูกโดยทำควบคู่กับการเตรียมความพร้อมในการขึ้นทะเบียนพันธุ์

ศักยภาพพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง

          “เราจะเห็นศักยภาพของแต่ละสายพันธุ์เมื่อเราเอาพันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์ไปปลูกในพื้นที่มีการให้น้ำ/ปุ๋ย และมีสภาพแวดล้อมเดียวกันนั้นจะทำให้เราเห็นศักยภาพของข้าวแต่ละพันธุ์โดดเด่นขึ้นมา ที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ที่อยู่ในแปลงรวมกัน” เช่น ข้าวอายุเบา ซึ่งข้าวอายุเบาที่กลุ่มมีอยู่ตอนนี้เกือบ 30 สายพันธุ์ ซึ่งมีระดับเบามากจนถึงระดับที่อยู่ในกลุ่มพันธุ์ข้าวเบา ดังเช่นข้าวบางพันธุ์ออกเร็วมากเช่นข้าวเหนียวมะลิเบาที่เป็นพันธุ์ที่ออกเร็วมากโดยต้นเดือนกันยายนก็ได้เก็บเกี่ยวได้แล้ว นอกจากเห็นความแตกต่างของอายุข้าวแต่ละพันธุ์ กลุ่มยังได้เห็นศักยภาพของพันธุ์ที่มีความเฉพาะในเรื่องปริมาณผลผลิตและรสชาติ หากเปรียบเทียบกับพันธุ์ข้าวที่คนทั่วไปรู้จักเป็นหลัก เช่น ข้าว กข6 หรือข้าวมะลิ105 ทางกลุ่มก็จะมีพันธุ์ข้าวตระกูลข้าวเบาที่มีปริมาณผลผลิตสูงและกินอร่อย ยกตัวอย่างเช่น ข้าวเหนียวมะลิเบา ข้าวปล้องแอ้ว ข้าวดอหางฮี ข้าวสาวอุดร เป็นต้น

        นอกจากนี้ทางกลุ่มยังได้เรียนรู้ผ่านแปลงอนุรักษ์ในเรื่องลักษณะประจำพันธุ์ทางพิทยาศาสตร์โดยการบันทึกลักษณะประจำพันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์ ตั้งแต่เริ่มปลูกลงดินไปจนถึงเก็บเกี่ยว อย่างเช่นการบันทึกลักษณะใบข้าวที่มีความเฉพาะของสีและความกว้างยาวของใบต่างกัน, การเรียนรู้ลักษณะคอรวงข้าวที่มีความสั้นยาวต่างกัน, ลักษณะการเรียงเมล็ด ทรงกอ ความสูงของต้นข้าว เป็นต้น สิ่งที่เรียนรู้จากขั้นตอนนี้ทำให้กลุ่ม พบว่า การเป็นเจ้าของพันธุ์พืชหรือพันธุ์ข้าวนั้นจำเป็นต้องทราบลักษณะประจำพันธุ์ที่ชัดเจน หากมีคนสนใจต้องการเอาไปปลูกเราก็สามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นได้ว่าข้าวพันธุ์นี้มีลักษณะอย่างไร

        การเรียนรู้ของกลุ่มนั้นได้ทำให้เห็นประจักษ์ชัดเจนในสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่ใช่เห็นคนเดียว แต่ทำร่วมกันกับสมาชิกกลุ่ม (ประมาณ 50-60 ครัวเรือน) ที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานพันธุกรรมระดับพื้นที่ โดยการขับเคลื่อนดังกล่าวทำให้กลุ่มเห็นว่าการปลูกข้าวที่หลากหลายนั้นเป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคได้ เช่น หากผู้บริโภคหรือคนในเมืองที่มาพบและต้องการกินพันธุ์ข้าวแบบใด ก็สามารถระบุได้ว่า ข้าวพันธุ์ไหนที่ชอบ เป็นเมล็ดอวบหรือเมล็ดสั้นหรือเมล็ดเรียว ซึ่งหากผู้บริโภคชอบลักษณะข้าวแบบนี้ทางกลุ่มก็จะทำการขยายพันธุ์นั้นตอบสนองให้กับผู้บริโภคได้ โดยสอดคล้องกับการทำเรื่องตลาดขายตรงของกลุ่มผ่านตลาดนัดสีเขียวที่เปิดพื้นที่การเข้าถึงอาหารในทุกระดับ ดังนั้น หากผู้บริโภคต้องการกินแบบต่อเนื่อง กลุ่มก็จะผลิตส่งให้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นพื้นที่หนึ่งในการสร้างทางเลือกให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคได้จริง

คุณค่าของพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

        ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนและสำนักงานปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ได้ส่งข้าวพันธุ์พื้นเมืองไปตรวจหาคุณค่าทางโภชนาการประมาณ 30 สายพันธุ์ ซึ่งในขณะนั้นพบว่า ข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีคุณค่าทางโภชนาการที่โดดเด่นแตกต่างกัน เช่น ข้าวก่ำน้อยเป็นข้าวเหนียวที่มีลักษณะลำต้นสีเขียว ริมขอบใบสีม่วง มีเปลือกและเมล็ดข้างในเป็นสีดำหรือสีม่วงแก่ ทำให้ข้าวพันธุ์นี้เด่นในเรื่องของสารรูทีนที่มีมากกว่าพันธุ์ข้าวอื่น

ทิศทางในการพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้าน

  • ต้องมีการอนุรักษ์พันธุกรรมพื้นบ้านต่อไปเพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังให้มองเห็นถึงความสำคัญว่าการที่เป็นเจ้าของพันธุ์ในฐานะที่เป็นเจ้าของผู้ผลิตนั้นไม่ได้ แต่การเป็นเจ้าของพันธุ์ของเกษตรกรต้องให้รู้จักพันธุ์ รู้จักลักษณะ รู้จักรสชาติ รู้จักความทนทาน รู้จักช่วงอายุ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องถ่ายทอดหรือส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังให้ได้ ถึงแม้ว่าเกษตรกรรายย่อยจะไม่มีทุนดำเนินการมากเหมือนกับหน่วยงานรัฐที่ดำเนินการอยู่ เกษตรกรก็ต้องพยายามให้มีการใช้ทุนน้อยที่สุดเท่าที่เราทำได้โดยวางการดำเนินการช่วยกัน
  • งานปรับปรุงพันธุ์มีความจำเป็นที่ยังคงต้องทำต่อไป เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ทางพื้นที่ของกลุ่มได้รับผลกระทบเช่นกันจากการที่มีฝนแล้งเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายในการจัดการพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับพื้นที่ ที่นอกจากความพยายามปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียวสีแดงให้มีอายุที่สั้นแล้ว สมาชิกกลุ่มยังได้เรียกร้องต่อว่าจะทำอย่างไรให้ได้พันธุ์ข้าวเหนียวแดงที่มีอายุสั้น และมีต้นที่เตี้ยลงเพื่อสะดวกในการจัดการแปลงนา อย่างไรก็ตามในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวของกลุ่มนั้นยังคงมีจุดอ่อนในเรื่องของเวลาที่ล่าช้าที่อาจใช้เวลาถึง 8-10 ปี แต่กลุ่มก็ยังพยายามที่จะทำต่อไปเพื่อสร้างทางเลือกให้กับผู้ผลิต
  • การคาดหวังว่าเกษตรกรรายย่อยต้องมาจัดการพันธุ์หรือจะมาผลิตพันธุ์เองทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่กลุ่มรองรับอยู่ตรงนี้คือเรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้ผลิตหรือจำหน่ายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือเครือข่ายที่สนใจในเรื่องพันธุ์ โดยกลุ่มไม่ได้เลือกพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งเป็นที่ตั้ง แต่กลุ่มตั้งเป้าผลิตเมล็ดพันธุ์อย่างน้อยปีละ 10 สายพันธุ์ แต่หนึ่งในนั้นคือพันธุ์ข้าวหลักที่พื้นที่มีความต้องการ ในช่วงที่ผ่านมาทางกลุ่มมีกำลังการผลิตประมาณ 30 ตัน/ปี ซึ่งยังที่ถือว่าจำกัดโดยยังไม่สามารถรองรับตลาดใหญ่ได้ โดยกลุ่มมุ่งผลิตให้กับเกษตรกรรายย่อยให้เข้าถึงพันธุ์ที่ดีที่กลุ่มมั่นใจได้ว่าควบคุมคุณภาพได้ และผลิตมาจากเงื่อนไขที่กลุ่มตกลงร่วมกัน

อ้างอิง: เสวนาออนไลน์ “ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และฐานทรัพยากร” ครั้งที่ 2 ศักยภาพพันธุกรรมพื้นบ้าน และทิศทางการพัฒนาในอนาคต วันที่ 14 มิถุนายน 2564 เวลา 09.30-12.30 น. ผ่านระบบ ZOOM

บทความแนะนำ