โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 8 : พากันเข้าป่ายางเก็บผักพื้นบ้านทำอาหารท้องถิ่น

           ในตอนที่ 4 เกษตรกรรมยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร : ทางรอดจากวิกฤต ได้นำเสนอป่าร่วมยางสถานะความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต โดยยกรูปธรรมแปลงป่าร่วมยางของณฐา ชัยเพชร ที่มีเนื้อที่ 12 ไร่ ตั้งอยู่บ้านคลองยอ ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ประกอบไปด้วยต้นยางพาราร่วมกับพืชอื่นๆ นับรวมกว่า 300 ชนิด มีทั้งไม้ยืนต้นจำพวก พยุง ยางนา ตะเคียนทอง ตำเสา ลูกเนียง สะตอ รังแข จำปูลิง เนียงนก หมากยอดเรียบ กระท้อนบ้าน พืชตระกูลหัว เช่น ข่า ขิง เปราะงาม กระทือทั้งแดงและขาว พืชสมุนไพร ไม้กินยอดและไผ่ต่างๆ โดยเฉพาะผักเหมียงที่เริ่มเอามาปลูกในปี 2554 นั้น ถึงวันนี้มีมากกว่า 1,000 ต้น ทำรายได้ในปี 2562 กว่า 50,000 บาท และพืชผักอื่นๆ อีกกว่า 20,000 บาท
           ครั้งนี้ ณฐา ชัยเพชร หรือจ๋า และนุชวรา  ปูรณัน หรือครูนุช  พากันเข้าป่ายางไปหุงหาอาหาร โดยคิดเมนูไว้ก่อนแล้วว่าจะทำ 3 เมนู คือ แกงเลียง ยำแตงโม และน้ำพริกโจร จึงได้เตรียมกระเทียม หอมแดง กะปิ และแตงโมผลโตเข้าไป จริงๆ แล้วแกงเลียงกับน้ำพริกโจรสามารถทำกินได้ทั้งปี แล้วแต่พืชผักที่มีในแต่ละฤดูกาล ข้อสำคัญคือต้องรู้จักรสชาติของพืชผักแต่ละชนิดสำหรับนำมาผสมผสานใส่ลงไปในแกงเลียง แล้วออกมาให้ครบทุกรสชาติ สำหรับปีนี้อากาศร้อน …..ถึงเดือนเมษายนแล้วฝนไม่ตก ผักเหมียงที่เคยทำรายได้มาปีนี้ต้นเริ่มแห้งเหี่ยว จึงจำเป็นต้องช่วยตัดแต่งต้นเอาใบออก เพื่อรอฝนตกมาต้นผักเหมียงจะแทงยอดมาใหม่ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ต้นผักเหมียงจะต้องตายเพราะความแห้งแล้ง ดังนั้นยอดหรือลูกผักเหมียงที่ถูกตัดทิ้งก็นำมาทำใส่แกงเลียง หรือทำอาหารอย่างอื่นๆ ได้ ลูกสุกเปลือกเหลืองเอามาคั่วกินรสชาติคล้ายถั่ว สำหรับเมนูทั้ง 3 ที่ทำในมื้อนี้ เน้นการทำได้ง่ายๆ แต่ต้องอร่อยและให้คุณค่าทางโภชนาการ

           เมนูที่ 1  “แกงเลียง” ยอดพืชผักต่างๆ ที่เก็บหรือเด็ดมาใส่ได้ในมื้อนี้มี ยอดหวาย ยอดเต้าร้าง ยอดผักเหมียง ดอกยายกั้ง ยอดหมากหมก ยอดชุมไก และผลอ่อนผักเหมียง นำมาใส่ลงในเครื่องแกงเลียงที่มีกะปิ พริกไทยอ่อน หอมแดงที่โขลกเตรียมไว้แล้วตั้งน้ำให้เดือด ยอดพืชผักทั้งหลายที่ใส่ลงไปนั้นช่วยขับลม ขับพิษไข้ บรรเทาอาการหวัด ช่วยเจริญอาหาร ที่สำคัญช่วยบำรุง

ภาพเมนูยำแตงโม

          เมนูที่ 2 “ยำแตงโม” เป็นเมนูเหมาะเจาะน่ากินในช่วงอากาศร้อนแรงเช่นนี้ วิธีทำก็ง่ายๆ ยอดไม้ที่นำมาใส่ คือยอดมะม่วงหิมพานต์ และยอดจิกที่มีรสฝาดมันและเปรี้ยวนิดๆ เมื่อใส่กะปิกับเกลือ และพริกสด คลุกเคล้าด้วยกันก็จะได้รสชาติ หวาน เค็ม ฝาด เผ็ดอย่างลงตัว เมนูนี้ดับกระหาย แก้หวัดได้ดี ยอดจิกกับยอดมะม่วงหิมพานต์ช่วยอาการท้องเสีย ชะลอความชรารวมทั้งมีสารป้องกันมะเร็ง
          เมนูที่ 3 “น้ำพริกหยำ หรือน้ำพริกโจร” มีเรื่องเล่ากันว่าชื่อนี้ได้มาจากวิธีการทำ เป็นการทำน้ำพริกที่ง่ายมาไม่ต้องตำ นำส่วนผสมมาคลุกเคล้าหรือหยำเข้าด้วยกัน รวดเร็วเหมือนถูกโจรปล้นเลยทีเดียว การทำเมนูนี้เพียงแค่เอายอดใบชะมวงที่มีรสเปรี้ยวมาแทนมะนาว คลุกเคล้าไปกับหอมแดง กะปิ กระเทียมและพริกสดเท่านั้น

           ทั้งสามเมนูทำง่ายๆ หากมียอดผักต่างๆ ที่เก็บหาได้ในป่ายาง และยอดผักที่เก็บหามาทำเมนูอาหารนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลต่างๆ อาหารที่กินก็จะได้รสชาติตามแต่ฤดูกาล สำหรับมื้อนี้ เมนู 3 อย่าง มีองค์ประกอบของพืชผักจากแปลงป่ายาง จำนวน 11 ชนิด และข้าวที่นำมาหุงกินเป็นข้าวไร่ ชื่อดอกไม้ ซึ่งปลูกไว้ในแปลงต้นยางอายุไม่เกิน 3 ปี ข้าวดอกไม้นี่เป็นข้าวอายุสั้น (ข้าวเบา) มีกลิ่นหอมเหมือนดอกไม้ รสชาติมัน หวาน นุ่ม เหมาะกับการกินกับน้ำพริก และแกงเลียง  นอกจากนั้นพิเศษตรงที่ได้มีการเก็บไข่ไก่บ้านที่เลี้ยงไว้แบบปล่อยมาต้มกิน ทำให้รสชาติอาหารมื้อกลางวันนี้อร่อยสุดๆ

           นี่คือความมหัศจรรย์ของความหลากหลายของพืชพันธุ์ที่ปลูกร่วมในป่ายาง “ช่วงนี้ยางพาราราคาต่ำมาก อากาศก็ร้อนทำให้ผักเหมียงที่เคยเด็ดยอดไปขายทำเงินเป็นกอบเป็นกำก็ขายไม่ได้ ยิ่งมีโรคโควิด 19 ระบาด ทำให้ช่องทางการตลาดที่เราเคยส่งยอดผักเหมียงไปถึงกรุงเทพฯ หรือไปขายตลาดต่างๆ ก็ทำไม่ได้รวมถึงพืชผักอื่นๆ ด้วย ที่เราขายได้เฉพาะคนในชุมชนคลองยอ รายได้เราลดลงราว 50 เปอร์เซนต์ แต่รายจ่ายสำหรับการซื้ออาหารของครอบครัวเราไม่เยอะ เพราะเราสามารถเก็บหาพืชผักมากินได้ เรามีข้าวตลอดทั้งปีเพราะเราปลูกข้าวไร่ด้วย” ณฐา ชัยเพชร หรือจ๋า สะท้อนให้เห็นต่อสถานการณ์ความแห้งแล้งและโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้ และคนในชุมชนคลองยอเองก็หันมาให้ความสนใจที่จะนำพืชผักพื้นบ้านกลับมาปลูกในแปลงยางพารา รวมถึงบริเวณที่ว่างรอบๆ บ้าน ภายใต้วิกฤตที่เกิดขึ้นก็มีโอกาสดีที่จะขยายและฟื้นฟูพันธุกรรมพืชผักพื้นบ้านในระบบป่าร่วมยางให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป

หมายเหตุ : ดอกยายกั้ง คือ ดอกเข็มป่า / ยอดชุมไก คือยอดผักหวานป่า
ขอขอบคุณ : ณฐา ชัยเพชร ที่สร้างสรรค์เมนูทั้ง 3 ออกมาอย่างน่ากิน และนุชวรา  ปูรณัน หรือครูนุช ที่ช่วยถ่ายทำวีดีโอและตัดต่อให้เป็นเรื่องเป็นราว

บทความแนะนำ