โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

หัวขบวน “สวนผักคนเมือง” ภาคอีสานจาก 3 จังหวัด อันได้แก่ขอนแก่น มหาสารคาม และสุรินทร์ ได้นัดมาพบและประชุมกันครั้งแรกที่บ้านสวนดินแลไม้ บ้านหนองเขื่อนช้าง ตำบลท่าสองขอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เพื่อบอกเล่าและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องราวการทำกิจกรรมเกี่ยวกับ “สวนผักคนเมือง” ที่ผ่านมาของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งร่วมกันมองไปข้างหน้าและกำหนดทิศทางของขบวนการสวนผักคนเมืองภาคอีสาน

กิจกรรมดังกล่าวถูกเรียกว่า “ตุ้มโฮมศูนย์ฝึกอบรมสวนผักคนเมือง สุรินทร์ มหาสารคาม ขอนแก่น ครั้งที่ 1” โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา

ตลอดช่วงเวลาหลายเดือนนับตั้งแต่พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา ชุมชนเมืองใน 3 จังหวัดดังกล่าวต่างขับเคลื่อนการทำงานเกษตรในเมือง ผ่านการจัดฝึกอบรมและก่อตั้งศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองของแต่ละจังหวัด ภายหลังจากที่สมาชิกจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมกิจกรรม “การฝึกอบรมพัฒนาศูนย์สวนผักคนเมือง: พื้นที่จังหวัดขอนแก่น สารคาม และสุรินทร์” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ที่ศูนย์ประชุมบ้านชุมแซง จังหวัดมหาสารคาม เมื่อช่วงวันที่ 6-7 พฤษภาคม 2567 และช่วงวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2567

“เราคิดบนฐานว่า ภาคอีสานมี 3 จังหวัดที่เป็นตัวต้นเรื่องการขับเคลื่อนสวนผักคนเมือง เลยคุยกันว่า ความก้าวหน้านอกเหนือจากสื่อสารกันในไลน์ จะได้มีโอกาสมาพบ บอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จ อุปสรรค ข้อติดขัดทั้ง 3 ศูนย์ 3 เดือนต่อครั้ง เป็นบทเรียนการขับเคลื่อนของแต่ละจังหวัด และถอดเป็นความรู้แผนงานที่จะขับเคลื่อนต่อ และการสื่อสารกับสังคมด้วย” ชัยสิทธิ์ แนวน้อย ผู้ประสานงานหลักโครงการสวนผักคนเมืองมหาสารคาม เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์หลักของการ “ตุ้มโฮม” หรือการมารวมตัวกันในครั้งนี้

เนื้อหาส่วนแรกที่มีการนำมาเล่าสู่และแลกเปลี่ยนกันก็คือเรื่องของกิจกรรมและประสบการณ์ที่แต่ละพื้นที่ได้ทำและพบเห็นมา

เริ่มจากเรื่องราวของจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้มีการจัดอบรมมาแล้ว 3 รุ่น โดยมีผู้เข้าร่วมจาก 18 ชุมชน รวม 105 ครัวเรือน เนื้อหาที่มีการถ่ายทอดออกไปประกอบด้วย เรื่องการออกแบบแปลงและการเตรียมพื้นที่ การเตรียมดินปลูก การจัดการแมลง การเตรียมวัสดุปลูก การให้น้ำและการบำรุงพืช

นอกจากนั้นยังได้มีการผลักดันการทำงานร่วมกับเทศบาล ชุมชนเทศบาลเมืองจำนวน 33 ชุมชน และสภาองค์กรชุมชน โดยมีการจัดประชุมกลุ่มกันทุกวันที่ 10 ของเดือน นอกจากมีการพบปะพูดคุย ยังมีการทำอาหารรับประทานร่วมกัน และนำผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปมาแจกจ่าย แบ่งปันกัน และจำหน่ายด้วย

ส่วนชุมชนเมืองในเขตเทศบาลนครขอนแก่น ที่ชุมชนบานโนนชัยได้มีการจัดอบรมเรื่องสวนผักมาแล้ว 2 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมจาก 4 ชุมชน จำนวน 32 คน เนื้อหาครอบคลุมทั้งเรื่องแนวคิดการปลูกอาหารและการจัดการขยะอินทรีย์ในบ้าน เรื่องการทำน้ำหมักจุลินทรีย์ การทำถุงปลูก การย้ายกล้าผัก การปลูกผักตามฤดูกาล ผักมิตรและผักศัตรู เรื่องโรคและแมลง เรื่องสารชีวภาพและการเพาะเชื้อ เป็นต้น

ส่วนที่ชุมชนเทพารักษ์ 5 ได้มีการเพิ่มแนวความคิดเองการปลูกผักเพื่อสร้างพื้นที่อาหารในครัวเรือน ผสานเข้าไปกับการทำโครงการ “ชุมชนน่าอยู เทศบาลเมืองขอนแก่น” ซึ่งผลลัพท์ที่ปรากฏเด่นชัดคือ พื้นที่ชุมชนเทพารักษ์ 5 เช่าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปลี่ยนมุมมองความคิดเดิมจากที่เคยเชื่อว่า ไม่สามารถปลูกผักได้ ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ และไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง กลายเป็นสามารถสร้างแปลงปลูกขึ้นมาได้ และเกิดผลผลิตให้เก็บกินจริงๆ

ทางด้านกิจกรรมของศูนย์ฝึกอบรมสวนผักคนเมือง จ.ขอนแก่น (ศูนย์ประสานงาน) นอกจากการทำหน้าที่หนุนเสริมและร่วมเป็นทีมจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับศูนย์ฝึกอบรมสวนผักคนเมืองชุมชนบ้านโนนชัยแล้ว ยังได้จัดการฝึกอบรมเสริมทักษะความรู้เรื่องการปลูกผักในเมืองให้กับเครือข่ายกลุ่มคนไร้บ้านและชุมชนริมรางรถไฟ จำนวน 20 คน ซึ่งกลุ่มเครือข่ายที่เข้าร่วมฝึกอบรม มีความมุ่งหวังที่จะนำความรู้ที่ได้ไปสร้างพื้นที่อาหารไว้บริโภคและปรับภูมิทัศน์ในชุมชนต่อไป นอกจากนั้นยังได้ทำกิจกรรมการแจกจ่ายกล้าไม้สำหรับผู้ที่ต้องการ และดำเนินงานด้านการให้ข้อมูลความรู้เรื่องการปลูกผักคนเมืองผ่านสื่อออนไลน์ เช่น Facebook สวนผักคนเมือง

สุดท้ายคือที่ชุมชนเมืองมหาสารคาม วิธีการในการจัดกิจกรรมฝึกอบรมได้เน้นเรื่องการพัฒนาและเสริมศักยภาพของแต่ละชุมชน ดังนั้นจึงมีการจัดอบรมให้กับคณะทำงานประจำศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองจาก 4 ชุมชนแบบเวียนกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้เกิดการฝึกเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ ตลอดจนบริหารจัดการในการจัดกิจกรรมด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดการอบรมไปแล้ว 3 ครั้ง/ชุมชน

ผลการดำเนินกิจกรรมในแต่ละชุมชนสวนผักคนเมืองของจังหวัดมหาสารคาม พบว่า แต่ละแห่งต่างมีประเด็นที่เป็นจุดแข็งหรือข้อปัญหาอุปสรรคแตกต่างกันไป สำหรับชุมชนเครือวัลย์ ที่มีลักษณะเป็นชุมชนเมืองและบ้านจัดสรร ได้เน้นกิจกรรมเตรียมดินปลูก เพื่อปลูกผักลงในกระถางและภาชนะต่าง ๆ เนื่องจากดินในช่วงฤดูฝนค่อนข้างแฉะ จึงไม่สามารถปลูกลงดินได้มาก และด้วยชุมชนนี้ได้ทำการปลูกผักบนโต๊ะปลูกผัก ตอนนี้พบว่าดินขาดอากาศ จึงแลกเปลี่ยนแนะนำให้ใช้เหล็กแหลม หรือไม้เสียบลงไปในดิน เพื่อให้ดินเกิดโพรงอากาศ เพิ่มปริมาณออกซิเจนภายในดิน

ขณะที่ชุมชนบ้านแมดที่มีลักษณะเป็นชุมชนเกษตรกรรมอยู่แล้ว ในชุมชนนี้จึงสามารถปลูกผักได้ทุกฤดูกาล และได้มีการทำการปลูกผักบนโต๊ะหรือแบบยกพื้น แต่ยังพบปัญหาเรื่องการปรุงดินให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูก เพราะพืชแต่ละชนิดมีความชอบดินที่แตกต่างกัน จึงต้องเรียนรู้ สังเกต เพื่อการปรับสูตรดินให้เหมาะสม

ส่วนชุมชนตักศิลา 1 ที่เป็นชุมชนเมือง มีพื้นที่น้อย ได้ใช้วิธีขอใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างเปล่าในชุมชน และมีการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ โดยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6 ด้วย แต่ผลการลงมือปลูกยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน แต่ก็พอมีผลผลิตให้เก็บกิน รวมถึงได้ชื่นชมความงาม

และสำหรับศูนย์ประสานงานและศูนย์ฝึกอบรมสวนผักคนเมือง จ.มหาสารคาม (สวนดินแลไม้) ได้มีการพัฒนาพื้นที่ เพื่อรอเวลาเปิดสวนเป็นพื้นที่ฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ หลังจากพ้นช่วงฤดูฝนแล้ว

ในภาพรวม ชัยสิทธิ์ แนวน้อย ผู้ประสานงานหลักโครงการสวนผักคนเมืองมหาสารคาม และเจ้าของสวนดินแลไม้ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานตุ้มโฮมฯ ครั้งนี้ กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนฯ หลายๆ คนได้นำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในพื้นที่เป็นอย่างดี แต่ก็มีการเผชิญปัญหาที่ทำให้เกิดข้อติดขัดและทำให้ไม่ปรสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

“ความรู้เบื้องต้นที่ได้จากการอบรมของอาจารย์เกศศิรินทร์ แสงมณี (อาจารย์เติ้ล) ช่วยให้ทำได้เป็นพื้นฐาน แต่ว่าในเชิงเทคนิค เรื่องการจัดการช่วงหน้าฝน จะเป็นข้อจำกัด สอง ตัวโรคพืชของเมือง มีมด หอยทาก และกระรอก สุรินทร์เจอปัญหา 3 ตัวนี้มาขโมย การดูแลป้องกันยังเป็นข้อจำกัด ตัวสารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ไปเรียนมามันดี แต่มันต้องใช้อย่างต่อเนื่อง ใช้ป้องกันมากกว่าการแก้ ขณะที่วิถีคนเมืองไม่ได้ฉีดทุกวัน ก็เป็นข้อจำกัดศัตรูพืช 3 ชนิดนี้”   

ชัยสิทธิ์เล่าเสริมอีกว่า ด้วยช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงหน้าฝน ซึ่งยากต่อการปลูกผักกินใบจำพวกต้นหอม ผักชีฝรั่ง ผักชีลาว และสลัด รวมถึงมีข้อจำกัดในการดูแลป้องกันโรคพืชด้วย ซึ่งปัญหาเดียวกันนี้เกิดกับพื้นที่จังหวัดอื่นด้วยเช่นกัน นั่นจึงเป็นโจทย์ที่จะต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหากันต่อไป

สำหรับการสรุปภาพรวมการทำงานของเครือข่ายฯ ที่ได้จากงานตุ้มโฮมฯ ครั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า ความสำเร็จสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้เข้าอบรมมีความสุขในเชิงสร้างแรงสะเทือน โดยเฉพาะด้านการเรียนรู้ พร้อม ๆ ไปกับการสร้างแรงบันดาลใจ ในส่วนของแกนนำหรือผู้ดำเนินกิจกรรมเอง นอกจากจะได้พัฒนาตนเองแล้วยังได้รับการเสริมสร้างความมั่นใจ ดังนั้น แม้ยังมองไม่เห็นในประเด็นหลักใหญ่อย่างเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่ต้องสร้างขึ้นเอง รวมทั้งความคาดหวังในเรื่องของรายได้ แต่ก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวในเชิงความคิดและการเริ่มลงมือทำ

อย่างไรก็ตาม เรื่องของรายได้นั้น โดยส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่า การทำสวนผักคนเมืองจะเป็นเพียงรายได้เสริมเท่านั้น ไม่ใช่ช่องทางของรายได้หลัก

“หลาย ๆ พื้นที่อย่างสุรินทร์ ขอนแก่น กลุ่มเป้าหมายได้มาเข้าร่วม ชวนให้คนเมืองทดลองทำ ทดลองปลูก และเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง ส่วนหนึ่งยังไม่เห็นถึงความมั่นคงทางด้านอาหารที่ต้องสร้างขึ้นเอง ความไม่ปลอดภัยของอาหารที่เขาเจออยู่ กินอยู่ประจำ ตรงนี้ช่วยย้ำให้เขาสร้างทางเลือกของเขาเองส่วนหนึ่ง แต่พอพื้นที่คุยกันเรื่องรายได้ ก็คาดหวังจะไปแตะเรื่องของรายได้ หลายๆ คนเริ่มจะขายได้ 5 บาท 10 บาท ก็มีความสุข แต่ถามว่ารายได้มันเป็นรายได้หลักไหม ไม่ใช่ ถ้าทำสวนแบบคนเมืองให้เป็นรายได้หลัก อันนี้คิดไปผิดทางเลย มันต้องเป็นเพียงรายได้เสริม เพราะเริ่มมีชาวบ้านเอาไปทดลองทำ มีรายได้เข้ามาบ้างแล้ว” ชัยสิทธิ์ บอกเล่าผสมผสานไปกับการแสดงความคิดเห็น

อีกข้อสรุปสำคัญที่ออกจากงานตุ้มโฮมฯ ครั้งนี้ก็คือ การเล็งเห็นว่า งานเกษตรในเมืองมีความต้องการนโยบายที่ร่วมสนับสนุนด้วย อย่างน้อยในเรื่องของการใช้พื้นที่ อย่างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ว่างเปล่า เรื่องงบประมาณ และเรื่องการหนุนเสริมความรู้และทรัพยากรที่จำเป็น เช่น บุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ

และสำหรับทิศทางข้างหน้าของขบวนการสวนผักคนเมืองภาคอีสาน มีข้อสรุปว่าต้องการให้เกิด “พื้นที่ที่มีชีวิตและความฝัน” ใน 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

  1. พื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร โดยมุ่งขยายทั้งแนวคิดและพื้นที่การปลูกผัก ให้ทั้งชุมชน วัด และโรงเรียนมีการใช้พ้นที่ดินว่างในการปลูกพืชอาหาร
  2. พื้นที่สร้างรายได้ ไม่ว่าจะรายได้เสริมหรือรายได้หลักก็ตาม
  3. พื้นที่การแลกเปลี่ยนและแบ่งปัน

นอกจากการประชุม แลปเปลี่ยนและปรึกษาหารือกันแล้ว ในงานตุ้มโฮมฯ ครั้งนี้ เจ้าของสวนดินแลไม้  ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ศูนย์เรียนรู้สวนผักคนเมืองของชุมชนเมืองมหาสารคาม ยังได้ชักชวนสมาชิกเครือข่ายฯ กว่า 20 คนที่มาร่วมงาน ช่วยกันทำโต๊ะปลูกผักจากอิฐบล็อกผสมกับเสาเหล็กในราคาประหยัดไม่เกิน 2,000 บาท ขนาดกว้าง 1.2 เมตร ยาว 6 เมตร พร้อมกับสาธิตและอธิบายเทคนิควิธีทำโดยที่ไม่ต้องพึ่งช่าง รวมทั้งนำผลผลิตที่ปลูกไว้ภายในศูนย์ฯ อาทิ พริก ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ มะละกอ ทำอาหารทานร่วมกันอีกด้วย

สำหรับงานตุ้มโฮมฯ ครั้งที่สอง กำหนดที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคม ปีนี้ ที่จังหวัดสุรินทร์ และครั้งสุดท้ายเดือนมกราคมปีหน้า ที่จังหวัดขอนแก่น 

“ขอนแก่นวางแผนจะชวนทั้ง 3 ศูนย์ฯ และผู้บริโภคในเมืองมากิน มาช้อป มาเวิร์กชอป เป็นเวิร์กชอปของผู้บริโภคในเมืองที่เป็นแฟนคลับออร์แกนิก เครือข่ายตลาดเขียวขอนแก่น และคนที่สนใจทำสวนผักในเมืองมาเรียนรู้สวนผักคนเมืองที่ศูนย์ฯ” นั่นคือแผนงานสำหรับตุ้มโฮมฯ ครั้งสุดท้าย ก่อนงบประมาณสนับสนุนโครงการสวนผักคนเมืองจะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2568

บทความแนะนำ