โทรศัพท์

096 948 1913

อีเมล์

sathaiaan@gmail.com

เวลาเปิด

จันทร์ - ศุกร์: 9:00 - 17:00

ตอนที่ 25 ประสบการณ์ขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าวเพื่อการค้า โดย คุณดาวเรือง พืชผล กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร

หลักคิดในการทำเรื่องพันธุกรรมข้าวตั้งแต่เริ่มต้นคือ ต้องการให้ชาวนา ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยหรือผู้ผลิตเป็นเจ้าของพันธุ์ ซึ่งการเป็นเจ้าของพันธุ์ไม่ได้มองแบบผิวเผิน แต่เป็นการมองแบบลึกซึ้ง ต้องรู้จักลักษณะประจำพันธ์ รู้จักอายุ รู้จักช่วงการเก็บเกี่ยว รู้จักเวลา รู้จักการดูแลรักษา ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นเจ้าของพันธุ์ ด้วยแนวคิดนี้จึงเป็นที่มาของชื่อกลุ่มว่า วิสาหกิจกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง

กระบวนการพัฒนาพันธุกรรมข้าว

เนื่องด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำนาข้าว จึงทำให้เกิดการรวมตัวของชาวนาทำเรื่องการอนุรักษ์เก็บพันธุ์ข้าวทั้งพื้นเมืองและพันธุ์ข้าวทั่วไป รวมถึงพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อเอามาปลูกเพื่อเป็นฐานพันธุกรรม โดยภารกิจในกลุ่มมี 4 ด้าน ดังนี้ 1) รวบรวมอนุรักษ์สายพันธุ์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งตอนนี้มีอยู่ประมาณ 150 สายพันธุ์, 2) การคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์เพื่อให้ได้พันธ์แท้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำงานเชื่อมองค์ความรู้ทางวิชาการจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิชีวิถี และศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี, 3) การปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยกลุ่มได้พยายามสร้างพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ผลิตหรือบริบทของพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการปลูกข้าว โดยไม่มีพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ตัวเอง, และ 4) การผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้า เนื่องจากการผลิตเมล็ดพันธุ์และการควบคุมมาตรฐานพันธุ์ของกลุ่มมีคุณภาพเชื่อถือได้เพราะเป็นการผลิตโดยเกษตรกรด้วยกันเองที่มุ่งผลิตพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ

อย่างไรก็ตามในการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้านั้นยังคงมีนัยยะตั้งแต่เรื่องการรวมตัวของเกษตรกร เพื่อให้ได้พันธุ์มากพอที่เหลือใช้แล้วเอาพันธุ์ที่เหลือใช้ไปสร้างเศรษฐกิจให้กับกลุ่ม และสมาชิกที่สนใจเข้าร่วมกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ สำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มได้มีการสร้างความน่าเชื่อถือหลายรูปแบบ เช่น การวางเงื่อนไขการผลิตเมล็ดพันธุ์ ที่สมาชิกต้องผลิตเมล็ดพันธุ์ในระบบเกษตรอินทรีย์ กำหนดพื้นที่ปลูกได้ไม่เกิน 5 ไร่/พันธุ์/ครอบครัว ต้องนวดด้วยมือ เป็นต้น เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่มีสิ่งเจือปนน้อยที่สุด รวมถึงการนำเกณฑ์มาตรฐานการผลิตพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวมาวิเคราะห์ร่วมกับสมาชิกเพื่อนำมาปรับเป็นมาตรฐานการผลิตของกลุ่ม เช่น กลุ่มไม่อนุญาตให้มีพันธุ์ข้าวอื่นปนในการคัดชั้นพันธุ์หลัก ส่วนชั้นพันธุ์สำหรับจำหน่ายจะแบ่งออกเป็น 3 เกรด คือ เกรดดีมาก (ข้าว 1 กก. จะอนุญาตให้ข้าวอื่นปนได้ไม่เกิน 3 เมล็ด) เกรดดี (ข้าว 1 กก. อนุญาตให้ข้าวอื่นปนได้ไม่เกิน 2 เมล็ด) และเกรดพอใช้ (ข้าว 1 กก. อนุญาตให้ข้าวอื่นปนไม่เกิน 10 เมล็ด)

การขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าว

กลุ่มทำเรื่องพัฒนาพันธุ์ และผลิตเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน และเริ่มจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในปี 2556 โดยใช้ตราเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก อย่างไรก็ตามในช่วงดังกล่าวได้มีคนเริ่มทักท้วงว่าการจำหน่ายพันธุ์ข้าวแบบนี้จำหน่ายในระดับชุมชนได้ แต่ถ้าจำหน่ายที่อื่นหรือจำหน่ายเป็นจำนวนมากขึ้นนั้นผิดกฎหมายและมีโอกาสถูกจับ กลุ่มจึงได้มีการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยในช่วงแรกได้ทำงานเรื่องเมล็ดพันธุ์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และระยะหลังก็ขยับมาทำเรื่องโรงเรียนชาวนาร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) จากการทำงานร่วมกับหน่วยงานดังกล่าว ทางกลุ่มได้ขออนุญาตใช้โลโก้ของหน่วยงานเป็นผู้สนับสนุนในการผลิตพันธุ์ข้าวของกลุ่ม แต่พอทำไประยะหนึ่งก็พบว่ายังมีโอกาสเจอปัญหาเรื่องการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ดังนั้นกลุ่มร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกในระดับพื้นที่จึงมีข้อตกลงร่วมกันให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย

จากข้อตกลงดังกล่าว กลุ่มได้ยื่นจดทะเบียนเป็นองค์กรนิติบุคคลโดยใช้ชื่อว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง จากนั้นทำเรื่องขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าว 2 ประเภท คือ ใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า และใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า ซึ่งมีความยุ่งยากมากในการสมัครเพราะต้องสมัครผ่านทางออนไลน์และเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าวหลายฉบับที่ต้องแนบส่ง หากไม่มีองค์กรสนับสนุนก็คงทำไม่ได้ หลังจากได้ใบอนุญาตจากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรแล้ว กลุ่มได้เผชิญกับปัญหาใหม่ ภายใต้ พ.ร.บ.พันธุ์พืช ที่มีเงื่อนกำหนดให้ส่งตัวอย่างข้าวไปตรวจเพื่อประเมินว่าได้มาตรฐานหรือไม่ซึ่งทุกล๊อตที่ส่งไปจะเสียค่าตรวจตัวอย่างละ 600 บาท และไปส่งด้วยตนเอง เพราะกลุ่มต้องการผลการตรวจเร่งด่วนเพื่อนำมาประกอบการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

การขึ้นทะเบียนพันธุ์ข้าวมีข้อดี ที่ทำให้การผลิตพันธุ์ข้าวสามารถเติบโตไปข้างหน้าไม่ต้องติดขัดกับข้อกฎหมาย และสร้างความน่าเชื่อถือในการผลิตเมล็ดพันธุ์ของกลุ่ม แต่การได้มาซึ่งใบอนุญาตนั้นมีความยุ่งยาก และแม้ว่าได้ใบอนุญาตมาแล้วยังคงใช้เวลาในการส่งตรวจตัวอย่างข้าวที่ทำให้กลุ่มมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงช่วงเวลาในการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่กระชั้นเพราะต้องรอผลการตรวจจากศูนย์วิจัยข้าว จากข้อจำกัดดังกล่าว ทางกลุ่มจึงเสนอในเรื่อง “การรับรองพันธุ์ข้าว และการตรวจมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ควรให้มีการประเมินร่วมและรับรองภายในกลุ่ม โดยให้หน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุน เพราะกลุ่มเกษตรกรไม่ใช่ค้าแบบรายใหญ่ แต่เป็นเพียงหน่วยการผลิตขนาดเล็กที่สร้างเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรในพื้นที่”

อ้างอิง
เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พันธุกรรมท้องถิ่น: การขึ้นทะเบียนพันธุกรรม และวิสาหกิจโดยชุมชน” งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี พ.ศ.2563

บทความแนะนำ

ประกวด “ป่าเรียน ป่าเย็น” สวนทุเรียนแบบสวนสมรมซึ่งเป็นมรดกผสมผสานระหว่างวิถีธรรมชาติกับเกษตรกรรม อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ประเทศไทย